ข้ามไปเนื้อหา

เกาะบราวน์ซี

พิกัด: 50°41′24″N 1°58′16″W / 50.690°N 1.971°W / 50.690; -1.971
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

50°41′24″N 1°58′16″W / 50.690°N 1.971°W / 50.690; -1.971

แผนที่เกาะบราวน์ซี

เกาะบราวน์ซี (อังกฤษ: Brownsea Island) หรือ แบรงก์ซี (Branksea Island) เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในทะเลสาบพูล นอกเขตเมืองพูล จังหวัดดอร์เซต สหราชอาณาจักร ชื่อของเกาะมีที่มาจากภาษาอังกฤษยุคแองโกล-แซกซัน Brūnoces īeg หรือตามภาษาอังกฤษปัจจุบัน Brūnoc's island เกาะบราวน์ซีรู้จักกันดีในฐานะเป็นที่ตั้งค่ายลูกเสือแห่งแรกของโลกโดยโรเบิร์ต เบเดน โพเอลล์ ในปี พ.ศ. 2450 ยังผลให้มีการลูกเสือแพร่หลายในปีถัดมา ปัจจุบันเกาะอยู่ในความดูแลของมูลนิธิแห่งชาติเพื่อสถานที่ประวัติศา่สตร์และความงามธรรมชาติ หรือเนชันนัลทรัสต์[1] เกาะบราวน์ซีมีคู่แฝดคือ เกาะตาตีอู ในประเทศฝรั่งเศส[2]

ข้อมูลทั่วไป

[แก้]

เกาะบราวน์ซีเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเกาะทั้งหมด 8 เกาะ ที่ตั้งในทะเลสาบพูล ในเขตอำเภอเพอร์เบก (Purbeck) จังหวัดดอร์เซต แต่สามารถเข้าถึงได้จากทางอำเภอพูลและบอร์นมัท[3][4] บนเกาะเป็นป่าประกอบด้วยต้นสนและโอ๊กประมาณ 500 เอเคอร์ หรือ 1260 ไร่โดยประมาณ นอกจากนี้ยังมีทุ่งหญ้า แอ่งน้ำจืดสองแอ่ง มาบน้ำเค็ม หาดกรวด และลานต้นกก ในเวลาฤดูร้อนจะมีนกมาหากินจำนวนมาก ทำให้มีการสร้างบังไพรสำหรับใช้ดูนก[5] พื้นดินของเกาะประกอบด้วยดินทรายผสมตะกอนทับถมจากซากพืชซากสัตว์ที่ตายแล้ว บนเกาะเป็นที่ตั้งของปราสาทบราวน์ซี ซึ่งเป็นป้อมปราการสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ ปัจจุบันปราสาทไม่ได้เปิดให้เข้าชม เนื่องจากให้บริษัทห้างสรรพสินค้าจอห์นลูอีส (John Lewis Partnership) เช่าเป็นโรงแรมสำหรับพนักงาน

นอกเหนือจากพืชพรรณ บนเกาะยังมีสัตว์จำนวนหนึ่ง อาทิ กระรอกแดง ซึ่งอยู่รอดบนเกาะนี้ได้ด้วยเหตุที่ไม่มีกระรอกเทาอาศัยบนเกาะ และเนื่องจากการที่มีคนจำนวนหนึ่งอาศัยบนเกาะ ร่างกายของกระรอกแดงมีเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium leprae ซึ่งก่อให้เกิดโรคเรื้อนในคน[6] นอกเหนือจากกระรอกแดงแล้ว บนเกาะยังมีกวางซิกา ซึ่งว่ายน้ำไปมาระหว่างเกาะและหมู่บ้านอาร์นในเขตตำบลสวอนเนจ นกยูง นกนางนวลแกลบ และนกทะเลชนิดอื่น


ประวัติ

[แก้]

ยุคแรก

[แก้]

หลักฐานที่บันทึกว่ามีมนุษย์อาศัยบนเกาะบราวน์ซีแรกสุดอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 ในเวลานั้นมีการสร้างสถานปลีกวิเวกและโรงอุโบสถสำหรับบูชาพระเจ้า ต่อมาในปี พ.ศ. 1558 พระเจ้าคนุตมหาราชนำทัพไวกิงยกพลขึ้นบก ตั้งค่ายปล้นสะดมเรือที่ผ่านไปมาและชุมชนรอบข้าง[7] ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 11 บรูโน คหบดีชาวตำบลสตัดแลนด์ (Studland) ครั้นรัชสมัยพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิตยึดครองอังกฤษ เกาะนี้ก็ตกเป็นทรัพย์สินร่วมกับน้องชายต่างมารดาคือโรเบิร์ต เดอ มอร์เทน ล่วง พ.ศ.1697 สมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ผู้สร้างปราสาทโดเวอร์ ก็มีการมอบสิทธิ์ให้ชาวเกาะยึดเอาของจากเรืออัปปางที่ถูกซัดเกยตื้น[8]

ยุคทิวดอร์และสงครามกลางเมือง

[แก้]
ปราสาทบราวน์ซี หรือปราสาทแบรงก์ซี ปัจจุบันเป็นโรงแรม

ในสมัยพระเจ้าเฮนรีที่ 8 มีการยุบอาราม เพื่อนำทรัพย์สินขายใช้ในการศึกสงคราม พระองค์เห็นความสำคัญของเกาะในฐานะจุดยุทธศาสตร์ จึงมีพระราชโองการให้สร้างป้อมปราการขนาดย่อมขึ้นบนยเกาะนอกเหนือจากป้อมปราการริมฝั่งตามหัวเมืองต่าง ๆ ป้อมเหล่านี้เรียกว่า ปราสาทเฮนริเชียน (Henrician Castle) สำหรับป้อมปราการบนเกาะนั้น คือ ปราสาทบราวน์ซี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2090 เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 8 สิ้นพระชนม์ ราชสมบัติตกแก่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ปราสาทและเกาะถูกยกให้กรมวังคนสนิทชื่อเซอร์คริสโตเฟอร์ แฮตตัน (Christopher Hatton) เมื่อ พ.ศ. 2119[9]

ต่อมาในสมัยสงครามกลางเมืองอังกฤษ เมืองพูลเข้ากับฝ่ายรัฐสภากระทำรัฐประหารราชบัลลังก์ของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 1 เกาะนี้เป็นหนึ่งในสถานที่ซ่องสุมผู้คน โทมัส ไพรด์ (Thomas Pride) ใช้เกาะนี้เป็นสถานที่เตรียมการยึดรัฐสภา[10] ต่อมา โรเบิร์ต เคลย์ตัน ข้าหลวงนครลอนดอน (ไม่ใช่ผู้ว่าราชการกรุงลอนดอน) ครอบครองเกาะจนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.2250 จากนั้นเกาะตกเป็นสมบัติของวิลเลียม เบนสัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในยุคนี้เองที่ปราสาทกลายสภาพจากป้อมปราการเป็นนิวาสสถาน[11]

ยุคอุตสาหกรรม

[แก้]

ฮัมฟรีย์ สเติร์ต (Humphrey Sturt) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซื้อเกาะนี้และปรับปรุงให้น่าอยู่อาศัย สิ้นเงินราว 50,000 ปอนด์ทองคำ[12] ต่อมาเกาะตกทอดถึงบุตรของสเติร์ต และถูกขายต่อให้แก่วิลเลียม วอฟ (William Waugh) อดีตจ่าทหารแห่งกองทัพอังกฤษด้วยราคา 13,000 ปอนด์ ด้วยหวังว่าจะได้แหล่งดินขาวในการทำเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพสูงเทียบเคียงกับดินจากหมู่บ้านฟูร์ซบรูก (Furzebrook)[13] แต่คุณภาพดินที่ได้เหมาะกับเครื่องสุขภัณฑ์ฺในห้องน้ำเท่านั้น ในตอนต้นมีคนงานถึง 200 คน แต่ต่อมาโรงงานก็ถูกปิดร้างในปี พ.ศ.2430[14] ในปัจจุบันมีร่องรอยโรงเผาหม้อดินที่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ บริเวณเดียวกันนั้นมีซากบ้านเรือนสำหรับคนงานพัก ชื่อหมู่บ้านแมรีแลนด์ และเศษหม้อดินแตก ในบริเวณด้านเหนือของเกาะมีบ่อดิน ซึ่งจะขนมาใช้ในการปั้นโดยรถราง ด้านตะวันออกของเกาะ วอฟได้สร้างโบสถ์เซนต์แมรี่ขึ้นตามชื่อของภรรยา โบสถ์นี้ใช้เป็นสถานที่บูชาสำหรับเยาวชนและบุคคลที่เข้าค่ายลูกเสือในสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบัน

โบสถ์เซนต์แมรี สร้าง พ.ศ.2397

หลังจากกิจการเครื่องปั้นดินเผาของวอฟล้มละลาย เขาเป็นคนหนี้สินล้นพ้นตัวและต้องลี้ภัยไปยังสเปน เจ้าหนี้ได้ยึดเกาะนั้นขายทอดตลาดให้แก่จอร์จ คาเวนดิช-เบนติงก์ (George Cavendish-Bentinck) องคมนตรีในสมัยนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2416 เบนติงก์ทำการเกษตรโดยเอาวัวเจอร์ซีย์ขึ้นมาเลี้ยงบนเกาะรวมถึงปลูกพืช เขาประดับประดาทางเดินตามเกาะด้วยรูปปั้นแบบอิตาเลียนเรเนอซองส์ ตราบจนปี พ.ศ.2424 สำมะโนประชากรระบุว่ามีประชาชนอาศัยบนเกาะ 270 คน ส่วนใหญ่เป็นคนงานปั้นหม้อ[15] เมื่อเบนติงก์เสียชีวิตในปี พ.ศ.2434 เกาะถูกขายให้เคนเนท โรเบิร์ต บัลโฟร์ (Kenneth Robert Balfour) หลังจากนั้นบนเกาะจากเดิมที่ใช้ตะเกียงน้ำมันก็เริ่มใช้ไฟฟ้าส่องสว่างแทน แต่แล้วปราสาทบราวน์ซีที่ตั้งตระหง่านอยู่ถูกไฟไหม้ในปี พ.ศ.2439 เป็นผลให้ปราสาทถูกสร้างใหม่ ห้าปีให้หลัง บัลโฟร์ขายเกาะนี้อีกครั้งหนึ่ง[16]

ปัจจุบัน

[แก้]
ศิลาอนุสรณ์ลูกเสือโลก[17]

ชาลส์ แวน ราลเต (Charles van Raalte) ซื้อเกาะและปราสาทบราวน์ซีต่อจากบัลโฟร์เพื่อใช้เป็นบ้านพักวันหยุด มีบุคคลสำคัญอาทิ กูลเยลโม มาร์โกนี แวะมาพักอาศัยที่ปราสาท[18] โรเบิร์ต เบเดน-โพเอลล์ ทหารกองทัพอังกฤษ สมาชิกสภาขุนนาง และเพื่อนสนิทของแวนราลเตขอใช้เกาะเป็นสถานที่จัดค่ายลูกเสือกับเด็กชายอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมาจากพื้นเพทางสังคมรวมไปถึงถิ่นที่อยู่ที่แตกต่างกัน บางส่วนมาจากกโรงเรียนชายล้วนในกรุงลอนดอน บางส่วนมาจากคนในท้องถิ่น เช่นจากตำบลปาร์กสโตน อำเภอพูล และ ตำบลวินตัน อำเภอบอร์นมัท[19] ค่ายถูกจัดระหว่างวันที่ 1 - 8 สิงหาคม พ.ศ.2450 บรรดาเด็ก ๆ ถูกกำหนดให้ทำกิจกรรมกลางแจ้ง อาทิ การอยู่ค่ายพักแรม การสังเกตการณ์ พืชพรรณและนานาสัตว์ การช่วยชีวิต และอุดมการณ์ความรักชาติ เมื่อค่ายนี้ประสบผลสำเร็จตามความปรารถนา ปีต่อมาเบเดน-โพเอลล์ได้เผยแพร่หนังสือ การลูกเสือสำหรับเด็กชาย (Scouting for Boys) เป็นผลให้เกิดกองลูกเสือในหลายประเทศ บนเกาะนั้นมีการตั้งค่ายลูกเสือเป็นประจำทุกปีสืบเนื่องจนถึง พ.ศ.2477 ดังเหตุผลที่จะอธิบายต่อไป

บนเกาะ ณ เวลานั้น มีสวนครัวและฟาร์มวัวนม ทำให้มีอาหารรับประทานตลอดเวลาไม่ต้องนำขึ้นมาจากฝั่ง บรรดาคนงานโรงงานปั้นหม้อ แม้ว่าโรงงานจะปิดไปแล้ว ก็ยังอาศัยเกาะเป็นที่เลี้ยงชีพรับใช้เจ้าของเกาะ[20] ไม่นานนัก แวนราลเตถึงแก่กรรมที่กัลกัตตา ประเทศอินเดีย ภรรยาของเขาประมูลขายเกาะนี้ในปี พ.ศ.2470 สองปีต่อมาแมรี บอแนม-คริสตี (Mary Bonham-Christie) ประมูลเกาะได้ในราคา 125,000 ปอนด์ เจ้าของคนใหม่สั่งขับไล่บรรดาผู้พักอาศัยกลับไปยังแผ่นดินใหญ่ และปล่อยให้พื้นที่การเกษตรกลับคืนเป็นป่าและทุ่งหญ้าตามธรรมชาติ ล่วงปี พ.ศ. 2477 ป่าบนเกาะถูกไฟเผาทำลายจนเกือบหมด มีเฉพาะปราสาทและกลุ่มอาคารด้านตะวันออกเท่านั้นที่ไม่ถูกไฟไหม้ นางบอนแนม-คริสตีทราบถึงเหตุการณ์จึงสั่งห้ามคนนอกขึ้นเกาะตราบจนสิ้นชีวิตในปี พ.ศ. 2504 ด้วยเหตุที่เธอเป็นคนแล้งน้ำใจอย่างกล้า จึงถูกขนานนามว่า ปีศาจแห่งบราวน์ซี[21] หลานของบอนแนม-คริสตีจ่ายภาษีมรดกโดยการยกเกาะบราวน์ซีให้แก่รัฐบาล ชาวเมืองรอบ ๆ ที่ทราบข่าว นำโดยเฮเลน บรอเทอร์ตัน (Helen Brotherton; พ.ศ.2457 - 2552) ก็เป็นกังวลว่าเกาะนี้จะถูกขายให้แก่นายทุนเพื่อใช้สร้างอสังหาริมทรัพย์ จึงได้ขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิแห่งชาติเพื่อสถานที่ประวัติศาสตร์และความงามธรรมชาติให้เข้าซื้อเกาะ แต่มูลนิธิมีเงื่อนไขว่าจะซื้อถ้ามีเงินลงขันเพียงพอ สุดท้ายมูลนิธีซื้อเกาะได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2505 ด้วยราคา 100,000 ปอนด์[22] มูลนิธิแห่งชาติได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากบริษัทจอห์นลูอิส และมูลนิธีชีวิตป่าดอร์เซต จึงได้ให้หน่วยงานทั้งสองได้รับสิทธิ์เช่าช่วงเกาะบางส่วน มูลนิธิชีวิตป่าดูแลเกาะทางตอนเหนือ บริเวณที่เป็นป่า มาบ และทุ่งต้นกก ส่วนบริษัทจอห์นลูอิสใช้สิทธิ์ครอบครองปราสาทบราวน์ซีเพื่อใช้เป็นโรงแรมสำหรับพนักงาน ต้นกุหลาบพันปีที่ขึ้นอยู่เต็มและไม่ได้มีมาแต่เดิมก็ถูกถางทิ้ง ป่าที่รกชัฏเกินไปก็ถูกถางเป็นแนวกันไฟ สุดท้ายปีต่อมา โอลาฟ เบเดน-โพเอลล์ ภรรยาของโรเบิร์ต บิดาแห่งการลูกเสือโลก พร้อมด้วยอดีตสมาชิกค่ายลูกเสือแห่งแรกของโลก ได้เปิดเกาะนี้พร้อมกับค่ายลูกเสืออย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2506 เกาะที่แต่เดิมถูกห้ามเข้าก็เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าได้ (มีค่าเข้าชมจำนวนหนึ่ง) ลูกเสือและเนตรนารีที่เคยถูกห้ามขึ้นเกาะทำกิจกรรมก็ได้สิทธิ์คึนมาด้วย จวบจนปัจจุบันมีผู้ขึ้นชมเกาะปีละประมาณ 110,000 คน[23]

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ไฟฉายขนาดใหญ่ตั้งไว้ที่ด้านตะวันตกของเกาะเพื่อลวงเครื่องบินของกองบินลุฟต์วัฟเฟอ ออกจากเขตเมืองบอร์นมัทและพูล ในการนี้มีการทำลายบ้านพักของคนงานปั้นหม้อจนเหลือแต่เศษอิฐในปัจจุบัน[24] ตั้งแต่ปี พ.ศ.2507 มีการจัดแสดงละครกลางแปลงเป็นประจำทุกปี โดยนำบทละครของวิลเลียม เชคสเปียร์ มาเล่น

เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2550 มีการฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปีการลูกเสือโลก โดยมีลูกเสือและเนตรนารีจากทั่วโลก พร้อมด้วยบรรดาผู้สืบสันดานของโรเบิร์ต โพเอลล์เข้าร่วม[25]

ประมวลภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. National Trust. Brownsea Island
  2. "Dorset Twinning Association List". The Dorset Twinning Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 June 2012. สืบค้นเมื่อ 1 August 2013.
  3. OS Explorer Map OL15 – Purbeck & South Dorset. Ordnance Survey. 2006. ISBN 978-0-319-23865-3.
  4. "Election Maps". Ordnance Survey. สืบค้นเมื่อ 31 March 2010.
  5. Brownsea Island National Trust Guide, 1993
  6. "UK red squirrels carry 'a form of leprosy' - scientists". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2016-11-11. สืบค้นเมื่อ 2016-11-13.
  7. Sydenham (p.384)
  8. Sydenham (p.385)
  9. Legg (p.28)
  10. Legg (p.33)
  11. Legg (p.37–38)
  12. Legg (p.41)
  13. "Grand industrial plans". National Trust for Places of Historic Interest or Natural Beauty. 2008. สืบค้นเมื่อ 6 October 2008.
  14. "Part 3 – Mining and quarrying on Brownsea Island". University of Southampton. 2008. สืบค้นเมื่อ 6 October 2008.
  15. Legg (p.72)
  16. "Agriculture and art". National Trust for Places of Historic Interest or Natural Beauty. 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 September 2008. สืบค้นเมื่อ 6 October 2008.
  17. http://www.spanglefish.com/bettyclay/index.asp?pageid=572414
  18. "Marconi, a favourite guest". National Trust for Places of Historic Interest or Natural Beauty. 2008. สืบค้นเมื่อ 6 October 2008.
  19. Woolgar, Brian; La Riviere, Sheila (2002). Why Brownsea? The Beginnings of Scouting. Brownsea Island Scout and Guide Management Committee (re-issue 2007, Wimborne Minster: Minster Press). ISBN 1-899499-16-4.
  20. "Ordinary life on the island". National Trust for Places of Historic Interest or Natural Beauty. 2008. สืบค้นเมื่อ 6 October 2008.
  21. Legg (p.108)
  22. Legg (p.130)
  23. Legg (p.30)
  24. Legg (p.118)
  25. "Scouts in centenary celebrations". BBC News. 1 August 2007. สืบค้นเมื่อ 6 October 2008.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Bugler, John; Drew, Gregory (1995). A history of Brownsea Island. Dorset County Library. ISBN 0852167652.
  • Sydenham, John (1986) [1839]. The History of the Town and County of Poole (2nd ed.). Poole: Poole Historical Trust. ISBN 0-9504914-4-6.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]