ข้ามไปเนื้อหา

เกาะดอนแท่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เกาะดอนแท่น ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2501

เกาะดอนแท่น ชาวบ้านเรียก เกาะดอนแห้ง หรือ เกาะกลาง ในแผนที่เส้นเขตแดนในแม่น้ำโขงที่เขียนตามสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศสเรียกว่า หาดเกาะหลวง (Hat Coh Luang) เป็นเกาะในอดีตกลางแม่น้ำโขง จากหลักฐานในสมัยหลังปรากฏว่าคงมีเกาะนี้ระหว่าง พ.ศ. 2446–2528 เกาะนี้ตั้งอยู่ระหว่างชายแดนไทยกับลาว ใกล้ฝั่งไทย

ประวัติ

[แก้]

ใน ชินกาลมาลีปกรณ์ มีชื่อ เกาะหลวง ซึ่งเชื่อว่าคือเกาะดอนแท่น กล่าวถึงเจ้ามหาพรหมได้นำพระพุทธสิหิงค์มาเมืองเชียงราย เพื่อทำเลียนแบบ จากนั้นจึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มายังเมืองเชียงแสน เพื่อกระทำพิธีสวดพุทธาภิเษกที่เกาะดอนแท่น ยังระบุว่ามีพระมหาเถระหลายองค์ได้มากระทำพิธีอุปสมบทให้แก่กุลบุตรหลายครั้งในระหว่างรัชสมัยพญาคำฟู (พ.ศ. 1881–1888) และพระเมืองแก้ว (พ.ศ. 2038–2068)

พงศาวดารฉบับราษฎร์พื้นเชียงแสน มีการกล่าวถึงการสร้างวัดพระแก้ว วัดพระคำ เมื่อ พ.ศ. 1925 ความว่า "เมื่อ พ.ศ.1929 พระมหาเถรสิริวังโส นำพระพุทธรูปชื่อพระแก้ว กับพระคำ เข้ามายังเชียงแสน เมื่อพบภูมิประเทศที่ดอนแท่น (กลางแม่น้ำโขง) ก็พอใจ ขออนุญาตจากมหาเทวี สร้างวิหารวัดพระคำไว้ด้านเหนือ วิหารวัดพระแก้วไว้ด้านใต้"[1]

ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ระบุว่าเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนมักจะมากระทำพิธีทางพุทธศาสนา มาสักการะเจ้าผู้ครองเมืองตามโบราณราชประเพณีบนเกาะแห่งนี้ การสถาปนาวัดต่างๆ หลายวัดบนเกาะดอนแท่น เช่นระบุว่า พระมหาเถรเจ้าศิริวังโสได้นำพระพุทธรูปมา 2 องค์ จึงได้สร้างวัดพระแก้ว และวัดพระคำบนเกาะดอนแท่น เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสององค์ เมื่อ พ.ศ. 1930 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพญาแสนเมืองมา (พ.ศ. 1929-1944) และวัดที่สร้างขึ้นบนเกาะดอนแท่นมีจำนวน 10 วัด ปรากฎชื่อวัดพระทองทิพ

ใน พงศาวดารโยนก เรียกเกาะดอนแท่นว่า เกาะดอนแท่น เกาะบันลังตระการ หรือ ปักลังกทิปะกะ กล่าวว่าเกาะแห่งนี้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาในการทำพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธสิหิงค์และบวชกุลบุตร เช่นเดียวกับที่กล่าวอ้างในชินกาลมาลีปกรณ์ มีพระราชวังซึ่งพญาแสนภูทรงสร้างอยู่ทางทิศเหนือของเกาะ ซึ่งปัจจุบันสันนิษฐานว่าคือบริเวณสถานีตำรวจภูธร อำเภอเชียงแสน ที่ทำการอำเภอเชียงแสน และอาจจะอีกบางส่วนในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) พญาแสนภูประทับอยู่ในพระราชวังบนเกาะดอนแท่นจนสวรรคต และตั้งพระบรมศพบนเกาะดอนแท่นระยะหนึ่ง[2]

บ้างสันนิษฐานว่าเกาะนี้น่าจะถล่มจมลงในแม่น้ำโขงก่อน พ.ศ. 2347 อันเป็นช่วงที่เมืองเชียงแสนถูกเผาทำลายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อไม่ให้เป็นที่ซ่องสุมกำลังพลของทหารพม่า

จากข้อมูลการสัมภาษณ์คนท้องถิ่น ณ พ.ศ. 2540 เกาะมีความกว้างสุดประมาณ 40 เมตร ความยาวประมาณ 600 เมตร สภาพเป็นเนินทราย มีต้นไม้ขึ้นใหญ่น้อย เช่น ต้นงิ้วและต้นไคร้ ทางด้านเหนือและบริเวณที่คอดเกือบส่วนปลายของเกาะจะเป็นชายหาดที่ถูกกัดเซาะ จนเหลือแต่หินกรวดเต็มไปหมด บริเวณหัวเกาะส่วนที่คอดด้านตะวันออกจะมีน้ำวน และบริเวณหัวเกาะส่วนที่คอดด้านทิศตะวันตกจะเป็นคุ้งน้ำ ในฤดูแล้งชาวเชียงแสนจะนำวัวควายมาเลี้ยงบนเกาะนี้

ภายหลังเนินทรายบนเกาะค่อย ๆ หายไปจากการที่มีการขุดดินเพื่อร่อนหาทอง รวมถึงการกัดเซาะของแม่น้ำโขง จากภาพถ่ายทางอากาศเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2530 และข้อมูลแผนที่ในเขตประเทศไทยรวบรวมถึง พ.ศ. 2532 ก็ไม่ปรากฏเกาะนี้แล้ว

โบราณวัตถุ

[แก้]

การค้นพบพระพุทธรูปกลางลำน้ำโขงเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ. 2479 พบเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่โผล่ขึ้นมากลางน้ำ ใกล้กับสถานีตำรวจภูธรอำเภอเชียงแสน ต่อมามีการค้นพบพระรัศมีสำริดขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่งจากลำน้ำโขงหน้าเมืองเชียงแสน เชื่อว่าเป็นรัศมีของ พระเจ้าล้านตื้อ (พระเจ้าทองทิพย์) เศียรพระที่พบเมื่อ พ.ศ. 2479 ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน มีการคำนวณกันว่าพระเจ้าล้านตื้อน่าจะสูงถึงกว่า 9 เมตร[3]

พ.ศ. 2488 พบเสาวิหารขนาดใหญ่จำนวน 2–3 ต้นล้มทับกัน[4] จมอยู่ในแม่น้ำโขงลึกประมาณ 4 เมตร ที่บริเวณสามแยกหน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอเชียงแสน ต่อมา พ.ศ. 2489–2490 พบพระกรรณของพระพุทธรูปประทับนั่งขนาดใหญ่[5]

15–16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 พบพระพุทธรูปขนาดเล็ก และพระพิมพ์ขนาดย่อม ศิลปะเชียงแสนหลายองค์

16 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว มีการขุดการค้นพบพระพุทธรูปขนาดใหญ่กลางแม่น้ำโขง ขนาดหน้าตักกว้าง 1.22 เมตร และสูงราว 3 เมตร น่าจะเป็นพระประธานของวัดสำคัญ (วัดหลวง) บ้างเชื่อว่าเป็น พระเจ้าล้านตื้อ พระพุทธรูปใน ตำนานเชียงแสน[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. เพ็ญสุภา สุขคตะ. ""ล้านนาศึกษา" ใน "ไทยศึกษาครั้งที่ 13" (3) แกะรอยปริศนาเกศโมลี เมืองเชียงแสน ตอนที่ 1". มติชนสุดสัปดาห์.
  2. "เวียงหนองหล่ม(ล่ม) หรือ เกาะแม่ม่าย". เทศบาลตำบลโยนก.
  3. "ส่อเป็นเรื่อง! ลาวท้วงไทยล่องเรือส่องสแกน-งมหา "พระเจ้าล้านตื้อ" กลางแม่น้ำโขง หวั่นกระทบเขตแดน". ผู้จัดการออนไลน์.
  4. ""ครูบาดังเชียงแสน"ชี้พระพุทธรูปโบราณพบในหาดทรายน้ำโขงฝั่งลาวคาดอยู่บนเกาะดอนแท่นในตำนาน". สยามรัฐ.
  5. ปริวรรต ธรรมาปรีชากร. "ตามรอย "พระเจ้าล้านตื้อ" พระพุทธรูปแห่งลำน้ำโขง". ศิลปวัฒนธรรม.
  6. "รู้จักพระเกศโมลี "เปลวรัศมี" ปริศนาแห่งเชียงแสน ร้อยกว่าปียังหาองค์พระพุทธรูปไม่พบ". สนุก.คอม.