ข้ามไปเนื้อหา

เกษียรสมุทร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รูปปั้นตำนานกวนเกษียรสมุทร ที่ชั้นขาออก สนามบินสุวรรณภูมิ

เกษียรสมุทร เป็นทะเลของน้ำนมตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู[1] เป็นวรรณกรรมมหาภารตยุทธและในภควัตปุราณะ ซึ่งเล่าเรื่องถึงครั้งที่พระอินทร์เสด็จลงมาบนโลกและได้พบกับฤๅษีทุรวาสที่รับดอกไม้สักการะจากพระแม่ปาราวตี แต่ฤๅษีเห็นว่าหากตนคล้องดอกไม้จากพระแม่คงจะไม่เหมาะสม จึงได้ถวายดอกไม้นั้นแก่พระอินทร์ เมื่อพระอินทร์รับแล้วก็ทรงมอบแก่พระชายาอีกต่อหนึ่ง แต่ด้วยกลิ่นของดอกไม้ทำให้พระชายามึนเมาจึงทิ้งไป ฤๅษีเห็นดังนั้นก็โกรธจึงสาปแช่งพระอินทร์และบริวารให้อ่อนกำลังลงและพ่ายแพ้ในสงคราม เมื่อสาปแช่งดังนี้แล้วฤๅษีก็เดินจากไป พลันกำลังของเทวดาก็ลดลงกึ่งหนึ่ง และเมื่ออสูรทราบข่าวพระอินทร์โดนสาปแช่งจึงได้ยกทัพไปตีสวรรค์ ทำให้พระอินทร์พ่ายแพ้ และเพื่อฟึ้นคืนกำลังจึงต้องทำการกวนเกษียรสมุทรให้เกิดน้ำอมฤตที่เมื่อดื่มกินจะเป็นอมตะและกำลังมากขึ้นกว่าที่เคยมี[2]

พระนารายณ์ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในการย้ายภูเขามันทรคีรี ซึ่งเป็นภูเขาที่เป็นแหล่งกำเนิดมณีนพรัตน์มาไว้เกษียรสมุทร แต่เนื่องจากเทวดาฝ่ายเดียวไม่สามารถกวนเกษียรสมุทรให้สำเร็จได้จึงต้องชักชวนอสูรมาด้วย โดยเทวดาออกอุบายว่าจะแบ่งน้ำอมฤตครึ่งหนึ่งให้

ในการกวนเกษียรสมุทร ได้ใช้ภูเขามันทรคีรีเป็นแกนกลาง โดยมีพระนารายณ์ประทับนั่งบนภูเขามัทรคีรี และได้แบ่งภาคของพระองค์ กลายเป็นเต่ากุรมะรองรับอยู่ใต้เขา ใช้พญานาควาสกุรีใช้ต่างเชือกพันรอบเขา โดยให้ฝ่ายเทวดาดึงที่ฝั่งหาง ให้ฝ่ายอสูรดึงที่ฝั่งหัว ทั้งสองฝ่ายก็ช่วยกันดึงไปมา ระหว่างที่กวนเกษียรสมุทร พญาวาสุกรีที่ถูกดึงไปมาก็เกิดเวียนหัวจึงสำรอกพิษร้ายกระเด็นไปโดนเหล่าอสูรเป็นที่ปวดแสบปวดร้อนจึงเป็นเหตุให้เหล่าอสูรมีหน้าตาผิวพรรณตะปุ่มตะป่ำนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ระหว่างที่กวนเกษียรสมุทรดำเนินไปได้ 1,000 ปี ได้เกิดสิ่งมงคลออกมากจากสมุทร 14 สิ่ง ลอยออกมา ตามลำดับ ดังนี้

  1. หม้อบรรจุพิษ หะราหระ
  2. วัวกามเธนุ
  3. ม้าอุจไฉศรพัส
  4. ช้างเอราวัณ
  5. เพชรเกาสตุภมณี
  6. ต้นกัลปพฤกษ์
  7. หอยสังข์
  8. ธนูหริธนู
  9. พระจันทร์เสี้ยว
  10. พระลักษมี
  11. พระนางวารุณี พร้อมสุราเมรัย
  12. เหล่านางอัปสร
  13. เทวะแพทย์ พระธันวันตริ
  14. คนโถบรรจุน้ำอมฤต ที่เทวะแพทย์เป็นผู้ถือ

แต่เมื่อกวนจนได้น้ำอมฤตมาแล้วเทวดาก็ออกอุบายหลอกอสูรเพื่อให้พวกตนได้ดื่มน้ำอมฤตก่อน แต่ราหูได้แปลงตนเป็นเทวดาทำให้ได้ดื่มน้ำอมฤต แต่พระอาทิตย์กับพระจันทร์ทราบเรื่องจึงฟ้องพระนารายณ์ พระนารายณ์จึงขว้างจักรตัดราหูขาดเป็นสองท่อนแต่ไม่ตายเพราะได้ดื่มน้ำอมฤตทำให้เป็นอมตะแล้ว ราหูจึงโกรธแค้นพระอาทิตย์กับพระจันทร์เมื่อเจอกันครั้งใดก็จะอมพระอาทิตย์กับพระจันทร์ ซึ่งวรรณกรรมนี้ถูกถ่ายทอดมาเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนในบริเวณสุวรรณภูมิที่เชื่อว่าจันทรุปราคาและสุริยุปราคาเกิดจากราหูอมพระจันทร์และพระอาทิตย์เอาไว้ ความเชื่อในวรรณกรรมนี้ปรากฏให้เห็นได้เช่น บนผนังกำแพงคตของนครวัดและประติมากรรมชั้นขาออกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ[3][4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. นิธิ เอียวศรีวงศ์: กวนเกษียรสมุทร
  2. [http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=murder-serialkiller&date=16-10-2014&group=3&gblog=14 ตำนานเกษียรสมุทร
  3. "รู้ไหมทำไม สนามบินสุวรรณภูมิถึงต้องมีประติมากรรม "กวนเกษียรสมุทร"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-21. สืบค้นเมื่อ 2015-11-24.
  4. ตำนานกวนเกษียรสมุทร