ฮฺวาหมาน
ฮฺวาหมาน 花鬘 | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ภรรยาของกวนสก | |||||||||
ชื่อภาษาจีน | |||||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 花鬘 | ||||||||
อักษรจีนตัวย่อ | 花鬘 | ||||||||
| |||||||||
ยุคในประวัติศาสตร์ | ยุคสามก๊ก |
ฮฺวาหมาน (จีน: 花鬘; พินอิน: Huāmán) เป็นตัวละครสมมติในยุคสามก๊กของจีน ปรากฏในงิ้วปักกิ่งเรื่องหลงเฟิ่งจิน (龍鳳巾) เป็นบุตรสาวของมันอ๋อง (กษัตริย์ของชนเผ่าลำมัน) เบ้งเฮ็กและจกหยง เป็นภรรยาของกวนสก[1]
ในงิ้วปักกิ่งหลงเฟิ่งจิน
[แก้]ในการแสดงงิ้ว เมื่อจูกัดเหลียงยกทัพไปรับกับเบ้งเฮ็กกษัตริย์แห่งชนเผ่าลำมัน ครั้งหนึ่งฮฺวาหมานเคยต่อสู้กับกวนสกแต่พ่ายแพ้และตกจากหลังม้า กวนสกไม่อาจทำใจสังหารฮฺวาหมานได้จึงปล่อยตัวฮฺวาหมานกลับไปยังค่าย ต่อมากวนสกพลาดท่าถูกจับเป็นเชลย กวนสกและฮฺวาหมานหลงรักกันและกัน แต่เนื่องจากทั้งคู่อยู่คนละฝ่ายกันจึงหมั้นหมายกันเองอย่างลับ ๆ ภายหลังฮฺวาหมานถูกทัพจ๊กก๊กจับเป็นเชลยบ้าง ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงที่จะทำการแลกเปลี่ยนเชลยศึก
ท้ายที่สุดเมื่อเบ้งเฮ็กยอมสวามิภักดิ์ต่อจ๊กก๊ก จูกัดเหลียงได้ทราบเรื่องความสัมพันธ์ของกวนสกและฮฺวาหมานก็รู้สึกประทับใจ จูกัดเหลียงจึงทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในงานแต่งงานกับทั้งคู่เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย
ในยุคปัจจุบัน ฮฺวาหมานได้ปรากฏตัวในวิดีโอเกมเกี่ยวกับสามก๊กและค่อย ๆ เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น
วิจารณ์ตัวบท
[แก้]ทั้งบันทึกประวัติศาสตร์จดหมายเหตุสามก๊กในศตวรรษที่ 3 และนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 ไม่มีการระบุถึงฮฺวาหมาน มีการกล่าวถึงฮฺวาหมานเฉพาะในงิ้วปักเรื่องเรื่องหลงเฟิ่งจินเท่านั้น
นอกจากนี้ในนิทานพื้นบ้านเกี่ยวกับกวาน อิ๋นผิง (關銀屏) มีการกล่าวถึงฮฺวาหมานด้วยชื่อว่าฮฺวาจงซิ่ว (花中秀) และเป็นภรรยาน้อยของกวนสกถัดมาจากเป้า ซานเหนียง (鮑三娘), หวาง เถา (王桃) และหวาง เยฺว่ (王悅) ทั้งหมดเป็นทหารหญิงใต้บังคับบัญชากวาน อิ๋นผิงบุตรสาวของกวนอู
ในนวนิยายเรื่องฮฺวากวานสั่วจฺว้าน (花關索傳) ซึ่งแต่งในช่วงศักราชเฉิงฮฺว่า (成化) ในยุคราชวงศ์หมิง กวนสกแต่งงานกับเป้า ซานเหนียง และสองพี่สองหวาง เถากับหวาง เยฺว่ รวมมีภรรยาทั้งหมด 3 คน แต่ตลอดทั้งเรื่องไม่มีการกล่าวถึงฮฺวาหมาน[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 沈伯俊、譚良嘯 (1989). 三國演義辭典 (初版 ed.). 巴蜀書社. ISBN 7-80523-152-4. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-02. สืบค้นเมื่อ 2016-05-24.
- ↑ 中央研究院 (1981). 中央研究院國際漢學會議論文集: 思想與哲學組(上下册). 中央研究院. ISBN 9785666712450.