ข้ามไปเนื้อหา

ฮิจิกาตะ โทชิโซ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฮิจิกะตะ โทะชิโซ)
ฮิจิกาตะ โทชิโซ
ชื่อเล่นรองหัวหน้าปีศาจ (鬼の副長, oni no fukuchou)
เกิด31 พฤษภาคม ค.ศ. 1835(1835-05-31)
ฮิโนะ (อำเภอทามะ แคว้นมูซาชิ)
เสียชีวิตมิถุนายน 20, 1869(1869-06-20) (34 ปี)
ป้อมปราการโกเรียวกาคุ ฮาโกดาเตะ สาธารณรัฐเอโซะ
รับใช้ญี่ปุ่น
รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ
สาธารณรัฐเอโซะ
ประจำการ1863-1869
ชั้นยศฟูกูโจ (รองหัวหน้า)
รองรัฐมนตรีทหารบก
หน่วยชินเซ็งงูมิ
การยุทธ์สงครามโบชิง

ฮิจิกาตะ โทชิโซ (ญี่ปุ่น: 土方 歳三โรมาจิHijikata Toshizō 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1835 – 20 มิถุนายน ค.ศ. 1869) เป็นอดีตรองหัวหน้ากลุ่มตำรวจพิเศษ "ชินเซ็งงูมิ" ของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ ผู้มีสมญานามว่า "รองหัวหน้าปิศาจ" (ญี่ปุ่น: 鬼の副長โรมาจิoni no fukuchōทับศัพท์: โอนิ โนะ ฟูกูโจ) ซึ่งหลังจากรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะล่มสลาย เขาได้เข้าร่วมกับกองทัพของสาธารณรัฐเอโซะในการต่อต้านการฟื้นฟูสมัยเมจิจนกระทั่งเสียชีวิตในการรบ ในแวดวงนักดาบญี่ปุ่นนับถือกันว่าฮิจิกาตะเป็นนักดาบผู้มีพรสวรรค์อันยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ทำให้เป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวละครสำคัญอย่าง ตัวละครใน โกลเดนคามุย ฮิจิกาตะ โทชิโร่ จาก กินทามะ และตัวละครรับเชิญพิเศษ จาก ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน: ปริศนาปราการ 5 แฉก

ภูมิหลัง

[แก้]

ฮิจิกาตะ โทชิโซ มีชื่อจริง (อิมินะ) ว่า "โยชิโตโยะ" เกิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1835 ที่หมู่บ้านอิชิดะ อำเภอทามะ แคว้นมูซาชิ (พื้นที่นครฮิโนะ มหานครโตเกียวในปัจจุบัน) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 6 คน โดยเขาเป็นคนสุดท้อง พ่อของเขาเป็นชาวนาผู้ขยันขันแข็ง ซึ่งเสียชีวิตก่อนฮิจิกาตะเกิดได้เพียง 3 เดือน ต่อมาเมื่ออายุได้ 6 ปี แม่ของเขาเสียชีวิตลงอีกคนหนึ่ง ซ้ำร้ายพี่ชายคนโตก็เกิดตาบอด ฮิจิกาตะจึงต้องไปอยู่ในความอุปการะของพี่ชายคนรองและพี่สะใภ้

ในวัยเด็กนั้นฮิจิกาตะมีนิสัยไม่ดีนัก และถูกกล่าวขวัญว่าเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับทุกอย่างยกเว้นกับเพื่อนและครอบครัวของตัวเอง นิสัยดังกล่าวของเขาได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อนักดาบอายุ 21 ปีคนหนึ่งจากแคว้นไอซุ ผู้เป็นที่รู้จักจากการต่อต้านกลุ่มนักปฏิรูป ได้ถูกบังคับให้ฆ่าตัวตายโดยการเซ็ปปูกุ (คว้านท้องตัวเอง) เมื่อฮิจิกาตะได้เข้าร่วมงานศพของชายผู้นั้น ปรากฏว่าเขาได้ร้องไห้ให้แก่ผู้ตายต่อหน้าคนอื่นด้วย

ฮิจิกาตะใช้ชีวิตในวัยเด็กอยู่ในร้านขายยาของครอบครัว ขณะเดียวกันก็ใช้เวลาว่างฝึกหัดเพลงดาบด้วยตัวเอง ต่อมาฮิจิกาตะได้พบกับคนโด อิซามิ ผู้สืบทอดเพลงดาบเท็นเน็นริชินรีวรุ่นที่ 4 แห่งโรงฝึกชิเอกัง โดยรู้จักผ่านทางซาโต ฮิโกโงโร พี่เขยของเขาซึ่งเป็นผู้จัดการโรงฝึกแห่งนี้ และได้เข้าเป็นศิษย์ในสำนักดาบชิเอกังเต็มตัวในปี ค.ศ. 1859 ถึงแม้ว่าฮิจิกาตะจะมิได้สำเร็จวิชาดาบเท็นเน็นริชินรีวอย่างสมบูรณ์ แต่กล่าวกันว่าวิชาดาบของที่นี่เป็นพื้นฐานหลักที่ฮิจิกาตะใช้พัฒนาวิชาดาบ "ชินเซ็งงูมิเก็นจุตสึ" ในเวลาต่อมา

ก่อตั้งชินเซ็งงุมิ

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1863 ฮิจิกาตะและคนโด อิซามิ ได้ร่วมกันตั้งกลุ่มชินเซ็งงูมิขึ้น โดยคนโดเป็นผู้นำกลุ่มร่วมกับเซริซาวะ คาโมะและนีมิ นิชิกิ ส่วนฮิจิกาตะมีฐานะเป็นหนึ่งในรองหัวหน้ากลุ่ม กลุ่มชินเซ็งงูมิทำงานรับใช้รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะในฐานะหน่วยตำรวจพิเศษในนครหลวงเกียวโต ภายใต้การสั่งการของมัตสึไดระ คาตาโมริ ไดเมียวแห่งแคว้นไอซุ ทำหน้าที่ต่อต้านกลุ่มนักปฏิรูปต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม เซริซาวะและนีมิได้เริ่มก่อเรื่องต่อสู้ เมาเหล้าอาละวาด และข่มขู่กรรโชกต่าง ๆ ในนครเกียวโต ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กลุ่มชินเซ็งงูมิเสื่อมเสียชื่อเสียง จนกระทั่งมีคนตั้งฉายาในทางลบให้กับกลุ่มว่า "ฝูงหมาป่าแห่งมิบุ" (ญี่ปุ่น: 壬生狼โรมาจิmiburōทับศัพท์: มิบูโร) ฮิจิกะตะพบหลักฐานการก่อเรื่องของนีมิมากพอและได้สั่งให้นีมิคว้านท้องตนเอง หลังจากนั้นไม่นานเซริซาวะและสมาชิกที่อยู่ฝ่ายเขาได้ถูกลอบสังหาร คนโดได้ขึ้นเป็นหัวหน้ากลุ่มชินเซ็งงูมิแต่เพียงผู้เดียว โดยมีฮิจิกาตะและยามานามิ เคซูเกะเป็นรองหัวหน้ากลุ่ม

กลุ่มชินเซ็งงูมิมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 140 คน ซึ่งนอกจากจะเป็นซามูไรแล้วยังมีพ่อค้าและชาวนาจำนวนมากเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มด้วย เพราะเกรงว่าวิถีชีวิตของตนจะถูกคุกคามหากเกิดการล่มสลายของรัฐบาลโชกุนขึ้น กลุ่มชินเซ็งงูมิได้ออกกฎต่าง ๆ ในช่วงที่สถานการณ์ของเกียวโตอยู่ในภาวะตึงเครียด และฮิจิกาตะก็เป็นที่รู้จักจากการบังคับใช้กฎดังกล่าวอย่างเข้มงวด จนกลายเป็นที่มาแห่งสมญานาม "รองหัวหน้าปิศาจ" (ญี่ปุ่น: 鬼の副長โรมาจิoni no fukuchōทับศัพท์: โอนิ โนะ ฟูกูโจ) แม้ในกลุ่มชินเซ็งงูมิเองก็มีการใช้กฎควบคุมวินัยของกลุ่มอันมีชื่อว่า "เคียวกูจูฮัตโตะ" (ญี่ปุ่น: 局中法度ทับศัพท์: Kyokuchū Hatto) โดยมีฮิจิกาตะเป็นผู้ควบคุมอย่างเคร่งครัด คนที่ละทิ้งกลุ่มหรือหักหลังกลุ่มจะต้องรับโทษคว้านท้องตัวเองเท่านั้น กฎดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้กับยามานามิ เคซูเกะซึ่งเป็นเพื่อนเก่าคนหนึ่งของฮิจิกาตะเนื่องจากเขาได้พยายามออกจากกลุ่มชินเซ็งงูมิในปี ค.ศ. 1865

ดาบคู่ใจของฮิจิกาตะคือ "อิซูมิ โนะ คามิ คาเนซาดะ" (和泉守兼定) เป็นดาบที่ตีขึ้นในยุคเอโดะโดยสุดยอดช่างตีดาบผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น กล่าวกันว่าฮิจิกาตะยังเป็นผู้พัฒนาวิชาดาบสำหรับใช้เป็นแนวทางมาตรฐานการต่อสู้ของกลุ่มชินเซ็งงุมิอันมีชื่อว่า "ชินเซ็งงูมิเก็นจุตสึ" อีกด้วย

ฮิจิกาตะได้เลื่อนเป็นซามูไรระดับฮาตาโมโตะในปี ค.ศ. 1867 พร้อมกันกับสมาชิกหน่วยชินเซ็งงุมิทั้งหมด[1] และได้ยศเป็นขุนนางชั้น "โยริไอกากุ" (寄合格) ในช่วงต้น ค.ศ. 1868[2]

มรณกรรม

[แก้]
ป้อมโกเรียวกากุ สมรภูมิแห่งสุดท้ายในชีวิตของฮิจิกาตะ โทชิโซ

หลังจากคนโด อิซามิ หัวหน้ากลุ่มชินเซ็งงูมิยอมจำนนต่อกองทัพในนามของพระจักรพรรดิและถูกประหารชีวิตในวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1868 (นับตามปฏิทินจันทรคติของญี่ปุ่นคือวันที่ 25 เดือน 4) ฮิจิกาตะจึงกลายเป็นผู้นำกลุ่มชินเซ็งงูมิในการต่อต้านรัฐบาลใหม่ครั้งสุดท้าย หลังจากพักอยู่ที่แคว้นไอซุได้ระยะหนึ่ง เขาจึงนำหน่วยชินเซ็งงุมิไปยังเซ็นได เพื่อสมทบกับกองเรือของเอโนโมโตะ ทาเกอากิ[3] ฮิจิกาตะตระหนักดีว่าสงครามที่เขาเข้าร่วมด้วยนั้นเป็นสงครามที่ไม่มีวันชนะ ครั้งหนึ่งเขาได้กล่าวกับมัตสึโมโตะ เรียวจุง นายแพทย์ในกองทัพนั้นว่า "ข้าไม่ได้เข้าสนามรบเพื่อจะได้ชัยชนะ แต่เพราะหากถึงคราวที่รัฐบาลโทกูงาวะต้องอับปางลง ย่อมเป็นเรื่องน่าละอายหากไม่มีใครสักคนยอมล่มจมไปพร้อมกับรัฐบาลนั้นด้วย นั่นคือเหตุผลว่าทำไมข้าต้องไป ข้าจะสู้ในการศึกที่เยี่ยมยอดที่สุดในชีวิตของข้า เพื่อพลีชีพให้แก่ประเทศนี้"

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1868 ฮิจิกาตะและโอโตริ เคซูเกะนำกองทัพฝ่ายโทะกุงะวะยึดครองป้อมโกเรียวกากุ (ป้อมดาวห้าแฉก) ในการรบที่ฮาโกดาเตะ และดำเนินการกวาดล้างผู้ต่อต้านในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เมื่อมีการประกาศตั้งสาธารณรัฐเอโซะในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ฮิจิกาตะก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองรัฐมนตรีกระทรวงทหารบก[4] กองทัพฝ่ายพระจักรพรรดิดำเนินการโจมตีเอโซะต่อเนื่องทั้งทางบกและทางทะเล จนกระทั่งเมื่อมาถึงจุดสุดท้ายแห่งความขัดแย้งของการปฏิวัติ ในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1869 (นับตามปฏิทินจันทรคติของญี่ปุ่นคือวันที่ 11 เดือน 5) ฮิจิกาตะได้เสียชีวิตระหว่างการรบบนหลังม้าจากการถูกกระสุนปืนเข้าที่สำคัญบริเวณด้านหลังส่วนล่างของเขา หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ ป้อมโกเรียวกากุก็ตกเป็นของกองทัพฝ่ายพระจักรพรรดิ กองทัพทั้งหมดของสาธารณรัฐเอโซะได้ยอมจำนนต่อรัฐบาลเมจิในที่สุด

ร่างของฮิจิกาตะถูกฝังที่ใดนั้นไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่ได้มีการตั้งป้ายหลุมศพของเขาไว้ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานีรถไฟฟ้าอิตาบาชิในกรุงโตเกียว โดยอยู่ถัดจากป้ายหลุมศพของคนโด อิซามิ ที่ป้ายจารึกบทกวีลาตายของฮิจิกาตะ ซึ่งเขาได้มอบให้อิชิมูระ เท็ตสึโนซูเกะ ก่อนที่ตนจะเสียชีวิตไม่นาน ใจความว่า

"แม้ร่างข้าอาจทับถมลงบนเกาะเอโซะ แต่ดวงจิตข้าจะปกป้องผู้เป็นนายเหนือหัว ณ เบื้องบูรพาทิศ"

หมายเหตุ

[แก้]

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

[แก้]
  • Hijikata Toshizō and Okita Sōji. Hijikata Toshizō, Okita Sōji zenshokanshū edited by Kikuchi Akira. Tōkyō : Shin Jinbutsu Ōraisha, 1995. ISBN 4404023065.
  • Itō Seirō. Hijikata Toshizō no nikki. Tokyo: Shin Jinbutsu Ōraisha, 2000. ISBN 440402861X
  • Kikuchi Akira, et al. Shashinshū Hijikata Toshizō no shōgai. Tōkyō : Shin Jinbutsu Ōraisha, 2001. ISBN 4404029306
  • Miyoshi Tōru. Senshi no fu: Hijikata Toshizō no sei to shi. Tōkyō: Shueisha, 1993. ISBN 4087480011 ISBN 408748002X.
  • Tanaka Mariko and Matsumoto Naoko. Hijikata Toshizō Boshin senki. Tōkyō : Shin Jinbutsu Ōraisha, 1976.
  • "Moe Yo Ken" ('Burn, My Sword') by Shiba Ryoutarou (http://moeyoken.blogspot.com/2009/01/1.html) Entire fictional biography of Toshizo (link no longer active)
  • Hillsborough, Romulus. Shinsengumi: The Shōgun's Last Samurai Corps. North Clarendon, Vermont: Tuttle Publishing, 2005. ISBN 0804836272.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]