ข้ามไปเนื้อหา

อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Alexander Calder 1947.
อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์

อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์ หรือ แซนดี้ คาลเดอร์ (อังกฤษ: Alexander Calder หรือ Sandy Calder) (22 กรกฎาคม ค.ศ. 1898 - 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1976) เป็นประติมากรของขบวนการลัทธิเหนือจริงคนสำคัญของสหรัฐอเมริกาของคริสต์ศตวรรษที่ 20 คาลเดอร์มีชื่อเสียงจากการเป็นผู้ริเริ่มการสร้าง “ประติมากรรมจลดุล[1][2] (mobile sculpture) นอกจากประติมากรรมจลดุลแล้วคาลเดอร์ก็ยังสร้างงานที่เป็น “ประติมากรรมศักยดุล”[3] หรือ “ประติมากรรมสถิต”[4] (stabile), จิตรกรรม, ภาพพิมพ์หิน, ของเล่น, พรมทอแขวนผนัง และ เครื่องประดับด้วย

วัยเด็ก

[แก้]

คาลเดอร์ผู้เกิดที่ลอว์ตันในรัฐเพนซิลเวเนียในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่22 กรกฎาคม ค.ศ. 1898 มาจากครอบครัวที่เป็นศิลปิน อเล็กซานเดอร์ สเตอร์ลิง คาลเดอร์ บิดาของคาลเดอร์เป็นประติมากรผู้มีชื่อเสียงผู้สร้างงานประติมากรรมสำหรับติดตั้งในที่สาธารณะหลายชิ้นส่วนใหญ่ในฟิลาเดลเฟีย ส่วนปู่ประติมากร อเล็กซานเดอร์ มิลน์ คาลเดอร์ เกิดที่สกอตแลนด์และอพยพมาฟิลาเดลเฟียในปี ค.ศ. 1868 งานที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ของวิลเลียม เพนน์บนหอตึกเทศบาลเมืองฟิลาเดลเฟีย นาเนตต์ เลเดอเรอร์ คาลเดอร์มารดาของคาลเดอร์เป็นจิตรกรภาพเหมือนอาชีพผู้ได้รับการศึกษาจากสถาบันฌูเลียนและซอร์บอร์นในกรุงปารีสราวระหว่างปี ค.ศ. 1888 ถึงปี ค.ศ. 1893 ต่อมานาเนตต์ย้ายไปอยู่ที่ฟิลาเดลเฟียเมื่อไปพบกับอเล็กซานเดอร์ สเตอร์ลิง คาลเดอร์ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ที่สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งฟิลาเดลเฟีย[5] บิดามารดาของคาลเดอร์สมรสกันเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1895 พี่สาวคนโตมาร์กาเร็ต หรือ เพ็กกี้ คาลเดอร์เกิดในปี ค.ศ. 1896 ต่อมาเมื่อสมรสก็เปลี่ยนชื่อเป็น มาร์กาเร็ต คาลเดอร์ เฮย์ส และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์[6]

ในปี ค.ศ. 1902 เมื่ออายุได้สี่ปีคาลเดอร์ก็เป็นแบบเปลือยให้กับประติมากรรม “The Man Cub” ที่สร้างโดยบิดาที่ในปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ในปีเดียวกันคาลเดอร์ก็สร้างงานหนึ่งในงานชิ้นแรกๆ เสร็จเป็นช้างที่ทำด้วยดินเหนียว[7]

สามปีต่อมาเมื่อคาลเดอร์อายุได้เจ็ดปีและเมื่อพี่สาวอายุได้เก้าปี สเตอร์ลิง คาลเดอร์ก็ล้มป่วยด้วยวัณโรค บิดามารดาจึงไปรักษาตัวอยู่ที่ฟาร์มปศุสัตว์ที่ออราเคิลในแอริโซนาทิ้งลูกๆ ไว้ให้อยู่ในความดูแลของเพื่อนของครอบครัวอยู่ปีหนึ่ง[8] ครอบครัวกลับมาพบกันอีกครั้งในเดือนมีนาคมปี ค.ศ. 1906 และพักอยู่ที่ฟาร์มในแอริโซนาจนถึงฤดูใบไม้ร่วงปีเดียวกัน[9]

จากแอริโซนาครอบครัวคาลเดอร์ย้ายไปอยู่ที่แพซาดีนาในรัฐแคลิฟอร์เนีย ห้องใต้หลังคาของบ้านกลายเป็นห้องทำงานประติมากรรมห้องแรกของคาลเดอร์ เมื่อได้รับเครื่องมือชุดแรก คาลเดอร์ใช้เศษลวดทองแดงที่พบตามถนนและลูกปัดจากตุ๊กตาของพี่สาวในการทำเครื่องประดับ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1907 มารดาก็นำคาลเดอร์ไปชมเทศกาลพาเหรดดอกไม้ประจำปีแห่งแพซาดีนา (Tournament of Roses Parade) ที่คาลเดอร์ได้ดูการแข่งรถม้าสี่ตัว เหตุการณ์ดังว่าต่อมากลายมาเป็นผลงานละครสัตว์ของคาลเดอร์[10]

ในปี ค.ศ. 1909 เมื่อเรียนอยู่ชั้นสี่คาลเดอร์ก็สลักรูปสุนัขและเป็ดจากแผ่นทองเหลืองเป็นของขวัญวันคริสต์มัสสำหรับบิดามารดา ประติมากรรมที่ทำเป็นสามมิติและเป็นจลนศิลป์ที่เคลื่อนไหวได้ เพราะจะเคลื่อนไหวเมื่อแตะเบาๆ งานประติมากรรมเหล่านี้มักจะได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นตัวอย่างผลงานสมัยแรกที่แสดงถึงแนวความสามารถของคาลเดอร์[11]

ในปี ค.ศ. 1910 เมื่อการพักฟื้นของสเตอร์ลิง คาลเดอร์สิ้นสุดลง ครอบครัวก็ย้ายกลับไปฟิลาเดลเฟีย เมื่อคาลเดอร์ไปเข้าศึกษาอยู่ที่สถาบันเจอร์มันทาวน์อยู่ระยะหนึ่งและต่อมาโครทัน-ออน-ฮันสันในรัฐนิวยอร์ก[12] ในโครทันระหว่างที่ศึกษาในขั้นมัธยมคาลเดอร์ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับจิตรกร เอเวอเรตต์ ชินน์ ที่คาลเดอร์สร้างระบบที่ใช้พลังแรงดึงดูดสำหรับรถไฟกล ที่คาลเดอร์บรรยายว่า:

เราแล่นรถไฟบนรางไม้ที่ยึดไว้ด้วยเข็มแหลม; เจ้าก้อนเหล็กก็แล่นลงไปตามทางลาดแข่งกับรถ เราถึงกับจุดไฟในรถบางตู้ด้วยเทียน[13]

หลังจากโครทันครอบครัวคาลเดอร์ก็ย้ายไปสปุยเทนเดวิลในบร็องซ์ เพื่อให้ไปอยู่ใกล้กับห้องทำงานที่ถนนสายสิบที่สเตอร์ลิง คาลเดอร์เช่าไว้ทำงาน ขณะที่พำนักอยู่ที่สปุยเทนเดวิลคาลเดอร์ก็เข้าศึกษาที่โรงเรียนมัธยมยองเคอร์

ในปี ค.ศ. 1912 สเตอร์ลิง คาลเดอร์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าผู้ทำการแทนของแผนกประติมากรรมของการแสดงนิทรรศการนานาชาติปานามาแปซิฟิกในซานฟรานซิสโก[14] คาลเดอร์เริ่มแสดงงานประติมากรรมในนิทรรศการที่จัดขึ้นในปี ค.ศ. 1915 ระหว่างที่ศึกษาอยู่ในระดับไฮสกูลระหว่างปี ค.ศ. 1912 ถึงปี ค.ศ. 1915 ครอบครัวคาลเดอร์ก็ย้ายไปมาระหว่างนิวยอร์กกับแคลิฟอร์เนีย ในบ้านที่อยู่ใหม่แต่ละที่บิดามารดาก็จะยกห้องใต้หลังคาไว้ให้เป็นห้องทำงานของคาลเดอร์ ในตอนปลายของสมัยเด็กคาลเดอร์พักอยู่กับเพื่อนในแคลิฟอร์เนียขณะที่บิดามารดาย้ายกลับไปนิวยอร์ก เพื่อจะได้เรียนจบได้ที่โรงเรียนมัธยมโลเวลล์ในซานฟรานซิสโก คาลเดอร์จบการศึกษาในปี ค.ศ. 1915

สมัยแรก

[แก้]
“จลดุลแดง” ค.ศ. 1956 ทำด้วยแผ่นโลหะร้อยด้วยเส้นโลหะทาสีพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งมอนทรีออล

แม้ว่าบิดามารดาจะสนับสนุนคาลเดอร์ให้เป็นผู้มีความสร้างสรรมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่สนับสนุนให้ลูกเป็นศิลปินเพราะเป็นอาชีพที่ลำบากในการทำมาหากิน ในปี ค.ศ. 1915 คาลเดอร์ตัดสินใจเข้าเรียนสาขาวิศวกรรมเครื่องกลหลังจากได้ศึกษาเกี่ยวกับพื้นฐานจากเพื่อนร่วมชั้นชื่อไฮด์ หลุยส์ที่โรงเรียนมัธยมโลเวลล์ สเตอร์ลิง คาลเดอร์จัดให้คาลเดอร์เข้าศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีสตีเฟนส์ที่โฮโบเคนในนิวเจอร์ซีย์

คาลเดอร์เข้าเล่นในทีมฟุตบอลในปีแรกที่เป็นนักศึกษาและทำการฝึกกับทีมไปจนตลอดสี่ปี แต่ไม่ได้ลงเล่นแข่งขัน นอกจากฟุตบอลแล้วคาลเดอร์ก็ยังเล่นลาครอสที่ดูจะมีความสำเร็จมากกว่า และเป็นสมาชิกของสมาคมภราดรภาพเดลทา เทา เดลทา คาลเดอร์มีความสามารถในวิชาคณิตศาสตร์

ในฤูดูร้อนของปี ค.ศ. 1916 คาลเดอร์ใช้เวลาห้าอาทิตย์ในการฝึกที่ศูนย์ฝึกทหารสำหรับพลเรือนแพลทส์เบิร์ก ในปี ค.ศ. 1917 คาลเดอร์ก็เข้าอยู่ในกองทหารเรือในสังกัดกองทหารฝึกสำหรับนักศึกษา (Student’s Army Training Corps) ที่สถาบันเทคโนโลยีสตีเฟนส์และได้รับแต่งตั้งให้เป็น “guide of the battalion” ซึ่งทำให้คาลเดอร์กล่าวว่าทำให้:

ผมเรียนการพูดจากมุมปากและไม่สามารถจะแก้ได้มาตั้งแต่บัดนั้น[15]

คาลเดอร์ได้รับปริญญาจากสถาบันเทคโนโลยีสตีเฟนส์ในปี ค.ศ. 1919 ในช่วงเวลาสองสามปีต่อมาคาลเดอร์ก็ทำงานเกี่ยวกับการวิศวกรรมอยู่หลายหน้าที่ที่รวมทั้งเป็นวิศวกรไฮดรอลิคส์และคนเขียนแบบสำหรับบริษัทนิวยอร์กเอดิสัน แต่คาลเดอร์ก็ไม่พอใจกับหน้าที่ใดที่ทำ

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1922 คาลเดอร์ทำงานเป็นพนักงานดับเพลิงในห้องเครื่องของเรือขนส่งผู้โดยสาร “เอช. เอฟ. อเล็กซานเดอร์” ขณะที่เรือแล่นออกจากซานฟรานซิสโกไปยังนครนิวยอร์ก คาลเดอร์ได้มีโอกาสทำงานบนดาดฟ้าเรือตามริมฝั่งกัวเตมาลาและได้มีโอกาสได้เป็นทั้งพระอาทิตย์ขึ้นทางหนึ่งและพระจันทร์ตกอีกซีกหนึ่งของฟากฟ้าตรงข้ามที่คาลเดอร์บรรยายไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติว่า:

เช้าวันหนึ่งเมื่อทะเลเรียบ, นอกฝั่งกัวเตมาลา เมื่อนั่งอยู่บนเก้าอี้ — ขดเชือก — ผมก็เริ่มเห็นก้อนไฟสีแดงเพลิงทางด้านหนึ่ง และ พระจันทร์ที่ดูเหมือนเหรียญเงินอีกด้านหนึ่งของฟากฟ้า

เมื่อ “เอช. เอฟ. อเล็กซานเดอร์” จอดที่ท่าซานฟรานซิสโกคาลเดอร์ก็จะเดินทางขึ้นไปอเบอร์ดีนที่รัฐวอชิงตันไปเยึ่ยมพี่สาวกับพี่เขยเค็นเนธ เฮย์ส คาลเดอร์สมัครงานเป็นผู้คุมเวลาที่ค่ายโค่นไม้ ภูมิทัศน์ป่าเขาเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คาลเดอร์เขียนจดหมายไปถึงบ้านไปขอสีและแปรง ไม่นานหลังจากนั้นคาลเดอร์ก็ตัดสินใจย้ายกลับไปนิวยอร์กเพื่อไปพยายามสร้างตัวเป็นศิลปิน

อาชีพศิลปิน

[แก้]

เมื่อทำการตัดสินใจเป็นศิลปินแล้วคาลเดอร์ก็ย้ายกลับไปนิวยอร์กและไปสมัครเป็นนักศึกษาที่สหพันธ์นักศึกษาศิลปะแห่งนิวยอร์ก ขณะที่เป็นนักศึกษาคาลเดอร์ก็ทำงานให้กับ “National Police Gazette” ที่งานชิ้นหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้ทำในปี ค.ศ. 1925 คือร่างภาพคณะละครสัตว์ริงลิงบราเธอร์สและบาร์นัมและเบลีย์ คาลเดอร์มีความรู้สึกดึงดูดกับละครสัตว์ซึ่งเป็นหัวข้อที่มาปรากฏในงานหลายชิ้นที่มาสร้างต่อมา

ในปี ค.ศ. 1926 คาลเดอร์ย้ายไปปารีสไปเปิดห้องศิลป์ที่มงต์ปาร์นาส ด้วยการคำแนะนำของพ่อค้าของเล่นชาวเซอร์เบียคาลเดอร์ก็สร้างของเล่นแบบที่เคลื่อนไหวได้ แม้ว่าจะไม่ได้พบกับพ่อค้าผู้นั้นอีกแต่คาลเดอร์ก็ส่งงานของเล่นไปแสดงที่ Salon des Humoristes ตามคำยุยงของเพื่อนประติมากรโฮเซ เดอ ครีฟท์ ต่อมาในฤดูใบไม้ผลิปีเดียวกันคาลเดอร์ก็เริ่มสร้าง “Cirque Calder” ซึ่งเป็นงานละครสัตว์ย่อส่วนที่ทำจากลวด, เส้นด้าย, ยาง, ผ้า และ สิ่งของที่หาได้ คาลเดอร์ออกแบบให้ใส่กระเป๋าเดินทางได้ (ในที่สุดก็มีด้วยกันห้าใบ) ละครสัตว์ของคาลเดอร์จึงเป็นงานเคลื่อนที่ และทำให้คาลเดอร์สามารถใช้ในการแสดงได้ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป คาลเดอร์ให้การแสดงสดที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน (Improvisation) ที่ใช้บรรยากาศของการแสดงละครสัตว์จริงอย่างเต็มที่ ในที่สุดงาน “Cirque Calder[1] เก็บถาวร 2007-07-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน[2] เก็บถาวร 2008-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (มักจะแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะอเมริกันวิทนีย์) ก็กลายเป็นงานที่เป็นที่นิยมกันในหมู่ชาวปารีสกลุ่มอาวองการ์ด จนคาลเดอร์สามารถหารายได้จากการขายตั๋วเพื่อช่วยจ่ายค่าเช่าบ้านได้[3] เก็บถาวร 2008-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน[4]

“ชาย” ซึ่งเป็น “ประติมากรรมสถิต” โดยคาลเดอร์, มอนทรีออล

ในปี ค.ศ. 1927 คาลเดอร์ย้ายกลับไปยังสหรัฐอเมริกา ไปออกแบบของเล่นที่ทำด้วยไม้แบบผลักหรือดึงที่เคลื่อนไหวได้สำหรับเด็กที่ได้รับการผลิตระดับอุตสาหกรรมโดยบริษัทผลิตภัณฑ์กูลด์ที่วิสคอนซิน

ในปี ค.ศ. 1928 คาลเดอร์ก็จัดงานแสดงศิลปะของตนเองที่หอแสดงภาพในนครนิวยอร์ก และในปี ค.ศ. 1934 คาลเดอร์ก็มีงานแสดงโดยลำพังตนเองในพิพิธภัณฑ์เป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาที่สมาคมเรอเนสซองซ์ของมหาวิทยาลัยชิคาโก

ในปี ค.ศ. 1929 คาลเดอร์ก็มีงานแสดงประติมากรรมลวดโดยลำพังของตนเองในปารีสที่ห้องแสดงภาพบิลลิเอต์ จิตรกร ฌูลส์ ปาส์แซง เพื่อนของคาลเดอร์จากคาเฟส์ มงต์ปาร์นาส เป็นผู้เขียนบทนำให้

ในเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 1929 ขณะที่เดินทางจากปารีสไปยังนิวยอร์ก คาลเดอร์ก็พบลุยซา เจมส์เหลนของนักประพันธ์อเมริกัน เฮนรี เจมส์ และนักปรัชญา วิลเลียม เจมส์ ทั้งสองสมรสกันในปี ค.ศ. 1931

ขณะที่พำนักอยู่ในปารีสคาลเดอร์ก็พบและเป็นเพื่อนกับจิตรกรอาวองการ์ดหลายคนที่รวมทั้งโคอัน มีโร, ฌอง อาร์พ และ มาร์เซล ดูชองป์ เมื่อไปเยี่ยมห้องศิลป์ของปิเอต์ มงดริอองในปี ค.ศ. 1930 มงดริอองก็สร้างความ “ประหลาดใจ” ในคาลเดอร์หันมารับศิลปะนามธรรม

Cirque Calder” เป็นงานที่ทำให้เห็นถึงความสนใจของคาลเดอร์ในทั้งประติมากรรมลวด และ จลนศิลป์[16] และยังคงใช้ความรู้ทางวิศวกรรมในการสร้างดุลยภาพของประติมากรรมและใช้ในการพัฒนาประติมากรรมที่ที่ดูชองป์เรียกว่า “ประติมากรรมจลดุล” หรือ “Mobile” ซึ่งเป็นคำพ้องในภาษาฝรั่งเศสว่า “Mobile” และ “Motive” คาลเดอร์ออกแบบตัวละครในละครสัตว์ที่ห้อยลงมาด้วยเส้นด้าย แต่การผสมระหว่างสิ่งที่คาลเดอร์ทดลองเพื่อที่จะพัฒนาขึ้นมาเป็นประติมากรรมนามธรรมแท้ๆ เกิดขึ้นหลังจากเมื่อคาลเดอร์ไปเยี่ยม ปิเอต์ มงดริออง เมื่อคาลเดอร์เริ่มสร้างงาน “จลนศิลป์” ขึ้นเป็นชิ้นแรกโดยใช้เครื่องไขและระบบการดึงด้วยรอก

เมื่อมาถึงปลายปี ค.ศ. 1931 คาลเดอร์ก็หันไปทำงานประติมากรรมที่อ่อนช้อยขึ้นที่มาจากการเคลื่อนไหวของอากาศภายในห้อง จากงานนี้ก็เป็นกำเนิดของ “ประติมากรรมจลดุล” ของคาลเดอร์ที่แท้จริง ในขณะเดียวกันคาลเดอร์ทำการทดลองการสร้าง “ประติมากรรมสถิตเชิงนามธรรม” ที่รับน้ำหนักตัวเองได้ที่ฮันส์ อาร์พเรียกว่า “ประติมากรรมศักยดุล” (stabile) เพื่อแยกจาก “ประติมากรรมจลดุล

คาลเดอร์และลุยซาย้ายกลับสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1933 เพื่อมาตั้งหลักแหล่งมีครอบครัวในฟาร์มเฮาส์ที่ซื้อไว้ที่ร็อกซเบอร์รี, คอนเนตทิคัต (บุตรีคนแรกแซนดราเกิดในปี ค.ศ. 1935 และลูกสามคนที่สองแมรีในปี ค.ศ. 1939) คาลเดอร์ยังคงทำการแสดง “Cirque Calder” และเริ่มทำงานร่วมกับมาร์ธา แกรมในการออกแบบฉากบัลเลต์และสร้างเวทีเคลื่อนที่สำหรับการแสดง “Socrate” โดยเอริค ซาตีในปี ค.ศ. 1936.

งานประติมากรรมสำหรับสาธารณชนชิ้นแรกที่ได้จ้างให้ทำเป็งานประติมากรรมจลดุลคู่ที่ออกแบบสำหรับโรงละครที่เปิดในปี ค.ศ. 1937 ที่พิพิธภัณฑ์เบิร์คเชอร์ที่พิทท์สฟิลด์, แมสซาชูเซตส์

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง คาลเดอร์พยายามอาสาสมัครเป็นทหารเรือแต่ถูกปฏิเสธ คาลเดอร์จึงทำงานประติมากรรมต่อ แต่ความที่โลหะเป็นสิ่งที่ขาดแคลนระหว่างสงครามคาลเดอร์จึงหันไปสร้างงานที่ทำงานแกะไม้แทนที่

งานแสดงศิลปะย้อนหลังครั้งแรกของคาลเดอร์จัดขึ้นในปี ค.ศ. 1938 ที่ห้องแสดงภาพจอร์จ วอลเตอร์ วินเซนต์ สมิธที่สปริงฟิลด์, แมสซาชูเซตส์ ในปี ค.ศ. 1943 พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่เป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงศิลปะย้อนหลังครั้งแรกของคาลเดอร์โดยการจัดการโดยเจมส์ จอห์นสัน สวีนีย์ และ มาร์เซล ดูชองป์

คาลเดอร์เป็นหนึ่งในบรรดาประติมากร 250 คนที่แสดงงานในนิทรรศการประติมากรรมสากลครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งฟิลาเดลเฟียในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1949 งาน “ประติมากรรมจลดุลสากล” (International Mobile) กลายเป็นงานชิ้นเอกของงานและมาแขวนอีกในปี ค.ศ. 2007 ที่ที่แขวนไว้แต่เดิมในปี ค.ศ. 1949.


ในคริสต์ทศวรรษ 1950 คาลเดอร์หันไปมุ่งมั่นกับการสร้างงานประติมากรรมขนาดยักษ์ ตัวอย่างก็ได้แก่ “.125” ที่สร้างขึ้นสำหรับท่าอากาศยานนานาชาติจอห์น เอฟ. เคนเนดีในปี ค.ศ. 1957, “La Spirale” สำหรับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติในกรุงปารีสในปี ค.ศ. 1958 และ “L'Homme” (“ชาย”) สำหรับ Expo '67 ในมอนทรีออล ประติมากรรมขนาดใหญ่ที่สุดที่คาลเดอร์สร้างสูง 20.5 เมตรชื่อ “El Sol Rojo” สำหรับกีฬาโอลิมปิกในเม็กซิโกซิตี

“The three wings” ค.ศ. 1967, สวีเดน

ในปี ค.ศ. 1962 คาลเดอร์ก็ย้ายมาทำงานที่ห้องศิลป์ใหม่ที่คาร์รัวออกแบบงานเชิงอนาคตที่มองลงไปยังหุบเขาของเชฟรีเยร์ในแองดร์-เอต์-ลัวร์ในฝรั่งเศส ระหว่างที่ทำคาลเดอร์ก็ไม่ลังเลที่แจกงานจลดุลให้เพื่อน และถึงกับอุทิศ “ประติมากรรมศักยดุล” ให้แก่เมืองที่ตั้งอยู่หน้าวัดซึ่งเป็นประติมากรรมที่เป็นอิสระจากแรงดึงดูด

คาลเดอร์สร้างประติมากรรมศักยดุลและประติมากรรมจลดุลส่วนใหญ่ในโรงงานบีมองต์ตูร์ในฝรั่งเศส รวมทั้ง “L'Homme” ที่ทำด้วยเหล็กกล้าไร้สนิมสูง 24 เมตรที่บริษัทนิคเคิลอินเตอร์แนชันนัล (Inco) ของแคนาดาจ้างให้ทำสำหรับงานนิทรรศการสากลแห่งมอนทรีออลในปี ค.ศ. 1967 งานขั้นสุดท้ายสร้างจากหุ่น จำลองที่สร้างโดยคาลเดอร์โดยแผนกค้นคว้าทดลองที่ออกแบบให้ได้ตามสัดส่วน โดยมีคาลเดอร์เป็นผู้ควบคุมดูแลกระบวนการหล่อทั้งหมด และถ้าจำเป็นคาลเดอร์ก็จะแก้งานไปด้วย ประติมากรรมศักยดุลทั้งหมดสร้างด้วยเหล็กกล้าคาร์บอนและทาสีส่วนใหญ่เป็นสีดำนอกจากตรงที่เป็นตัวแบบที่เป็นเหล็กกล้าไร้สนิมบริสุทธิ์ จลดุลทำด้วยอะลูมิเนียมและทำด้วยดิวราลูมิน

ในปี ค.ศ. 1966 คาลเดอร์ตีพิมพ์งาน “อัตชีวประวัติด้วยภาพ” (Autobiography with Pictures) โดยความช่วยเหลือของลูกเขย จีน เดวิดสัน

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1969 คาลเดอร์เข้าร่วมในพิธีการอุทิศงานประติมากรรมศักยดุล “La Grande Vitesse” ที่ตั้งอยู่ที่แกรนด์ แรปิดส์, มิชิแกน ประติมากรรมชิ้นนี้ได้ชื่อว่าเป็นประติมากรรมสำหรับสาธารณชนชิ้นแรกในสหรัฐอเมริกาที่สร้างโดยเงินทุนของรัฐบาลกลาง จากองค์การกองทุนเพื่อศิลปะแห่งชาติ (National Endowment for the Arts) ซึ่งเป็นองค์การของรัฐบาลกลางที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ภายใต้โครงการ “ศิลปะเพื่อสถานที่สาธารณะ”

คาลเดอร์สร้างงานประติมากรรมชื่อ “WTC Stabile” หรือที่เรียกว่า “ใบพัดบิด” (“Bent Propeller”) ในปี ค.ศ. 1971 เพื่อติดตั้งหน้าทางเข้าของหอเหนือของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เมื่อแบตเตอรีพาร์คซิตี้เปิดขึ้นประติมากรรมชิ้นนี้ก็ถูกย้ายไปติดตั้งระหว่างถนนเวซีย์และเชิร์ช[17] ประติมากรรมถูกทำลายพร้อมกับเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน ค.ศ. 2001[18]

ในปี ค.ศ. 1973 คาลเดอร์ได้รับจ้างให้เขียนดีซี-8-62ทั้งลำเป็น “ผ้าใบบินได้” สำหรับสายการบินแบรนนิฟอินเตอร์แนชันนัล ในปี ค.ศ. 1975 คาลเดอร์ก็เขียนลำที่สองเสร็จครั้งนี้เป็นเครื่องโบอิง 727-227สำหรับโอกาสวาระครบรอบสองร้อยปีของสหรัฐอเมริกา (United States Bicentennial)

ในปี ค.ศ. 1975 คาลเดอร์ได้รับงานจ้างจากบีเอ็มดับเบิลยูให้เขียนBMW 3.0 CSLที่กลายมาเป็นยานยนตร์คันแรกในโครงการ “รถศิลปะบีเอ็มดับเบิลยู” (BMW Art Car)

คาลเดอร์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1976 ไม่นานหลังจากการเปิดแสดงนิทรรศการผลงานย้อนหลังที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะอเมริกันวิทนีย์ ขณะที่ยังทำโครงการทาสีเรือบินลำที่สามชื่อ “Tribute to Mexico”

อนุสรณ์

[แก้]

สองเดือนหลังจากการเสียชีวิต คาลเดอร์ก็ได้รับเครื่องรัฐอิสริยาภรณ์เหรียญแห่งอิสรภาพของประธานาธิบดีซึ่งเป็นงรัฐอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดสำหรับพลเรือนที่มอบโดยประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาผู้ในขณะนั้นคือเจอรัลด์ ฟอร์ด แต่ผู้แทนของครอบครัวคาลเดอร์ประท้วงพิธีการรับเมื่อวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1977 เพื่อ “ประกาศความจำนงในการสนับสนุนการยกโทษให้แก่ผู้หนีทหารในสงครามเวียดนาม[19]

ในปี ค.ศ. 1987 ครอบครัวคาลเดอร์ก็ได้ก่อตั้งมูลนิธิคาลเดอร์ขึ้น ที่ไม่แต่เพียงเป็นองค์การตัวแทนอย่างเป็นทางการของคาลเดอร์ แต่ยังเป็นองค์การในการ “บริหารโครงการ, ร่วมมือจัดงานแสดง และตีพิมพ์งาน[ของคาลเดอร์] และให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ เช่นประวัติ, การรวบรวมงาน และ การบูรณปฏิสังขรณ์งานของคาลเดอร์” ด้วย[20] ผู้แทนเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของคาลเดอร์ในสหรัฐอเมริกาสำหรับมูลนิธิคาลเดอร์คือสมาคมสิทธิของศิลปิน (Artists Rights Society)[21]

ในปี ค.ศ. 2003 เป็นเวลาเกือบ 30 หลังจากการเสียชีวิตของคาลเดอร์ งานไม่มีชื่อของคาลเดอร์ขายได้ในราคา 5.2 ล้านเหรียญสหรัฐโดยคริสตีส์[22]

ระเบียงภาพ

[แก้]

งานบางชิ้น

[แก้]
  • Dog (1909), folded brass sheet; this was made as a present for Calder's parents
  • The Flying Trapeze (1925), oil on canvas, 36 x 42 in.
  • Elephant (c. 1928), wire and wood, 11 1/2 x 5 3/4 x 29.2 in.
  • Two Acrobats (ca. 1928), Brass wire, painted wood base, Honolulu Academy of Arts
  • Aztec Josephine Baker (c. 1929), wire, 53" x 10" x 9". A representation of Josephine Baker, the exuberant lead dancer from La Révue Nègre at the Folies Bergère.
  • Untitled (1931), wire, wood and motor; one of the first kinetic mobiles.
  • Feathers (1931), wire, wood and paint; first true mobile, although designed to stand on a desktop
  • Cone d'ebene (1933), ebony, metal bar and wire; early suspended mobile (first was made in 1932).
  • Form Against Yellow (1936), sheet metal, wire, plywood, string and paint; wall- supported mobile.
  • Object with Yellow Background (1936), Painted wood, metal, string, Honolulu Academy of Arts
  • Mercury Fountain (1937), sheet metal and mercury
  • Devil Fish (1937), sheet metal, bolts and paint; first piece made from a model.
  • 1939 New York World's Fair (maquette) (1938), sheet metal, wire, wood, string and paint
  • Necklace (c. 1938), brass wire, glass and mirror
  • Sphere Pierced by Cylinders (1939), wire and paint; the first of many floor standing, life size stabiles (predating Anthony Caro's plinthless sculptures by two decades)
  • Lobster Trap and Fish Tail (1939), sheet metal, wire and paint (suspended mobile); design for the stairwell of the Museum of Modern Art, New York
  • Black Beast (1940), sheet metal, bolts and paint; freestanding plinthless stabile)
  • S-Shaped Vine (1946), sheet metal, wire and paint (suspended mobile)
  • Sword Plant (1947) sheet metal, wire and paint (Standing Mobile)
  • Snow Flurry (1948), sheet metal, wire and paint (suspended mobile)
  • .125 (1957), steel plate, rods and paint
  • La Spirale (1958), steel plate, rod and paint, 360" high; public monumental mobile for Maison de l'U.N.E.S.C.O., Paris
  • Teodelapio (1962), steel plate and paint, monumental stabile, Spoleto, Italy
  • Man (1967) stainless steel plate, bolts and paint, 65' x 83' x 53', monumental stabile, Montreal Canada
  • La Grande Vitesse (1969), steel plate, bolts and paint, 43' x 55' x 25', Grand Rapids, Michigan
  • Eagle (1971), steel plate, bolts and paint, 38'9" x 32'8" x 32'8", Olympic Sculpture Park, Seattle, Washington
  • White and Red Boomerang (1971), Painted metal, wire, Honolulu Academy of Arts
  • Stegosaurus (1973), steel plate, bolts and paint, 50' tall, Wadsworth Atheneum, Hartford, Connecticut
  • Cheval Rouge (Red Horse)[5] (1974), red painted sheet metal, at the National Gallery, Washington, D.C.
  • Flamingo (1974), red painted steel, at the Federal Plaza, Chicago, Illinois
  • The Red Feather (1975), black and red painted steel, 11' x 6'3" x 11'2", The Kentucky Center
  • Untitled (1976), aluminum honeycomb, tubing and paint, 358 1/2 x 912", National Gallery of Art Washington, D.C.
  • Mountains and Clouds (1976), painted aluminum and steel, 612 inches x 900 inches, Hart Senate Office Building

อ้างอิง

[แก้]
  1. มะลิฉัตร เอื้ออานันท์. “พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ” สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2545
  2. "ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-15. สืบค้นเมื่อ 2010-01-12.
  3. มะลิฉัตร เอื้ออานันท์. “พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ” สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2545
  4. "ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-15. สืบค้นเมื่อ 2010-01-12.
  5. Herbert Palmer Gallery - Nanette Calder[ลิงก์เสีย]
  6. Hayes, Margaret Calder, Three Alexander Calders: A Family Memoir. Middlebury, VT: Paul S Eriksson, 1977.
  7. Calder, Alexander and Davidson, Jean, Calder, An Autobiography with Pictures. New York: Pantheon Books, 1966, p. 13.
  8. Calder, Alexander and Davidson, Jean, Calder, An Autobiography with Pictures. New York: Pantheon Books, 1966, p. 15.
  9. Calder Foundation
  10. Calder, Alexander and Davidson, Jean, Calder, An Autobiography with Pictures. New York: Pantheon Books, 1966, pp. 21-22.
  11. Hayes, Margaret Calder, Three Alexander Calders: A Family Memoir. Middlebury, VT: Paul S Eriksson, 1977, p. 41.
  12. Calder, Alexander and Davidson, Jean, Calder, An Autobiography with Pictures. New York: Pantheon Books, 1966, pp. 28-29.
  13. Calder, Alexander and Davidson, Jean, Calder, An Autobiography with Pictures. New York: Pantheon Books, 1966, p. 31.
  14. "Calder Foundation". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-26. สืบค้นเมื่อ 2010-01-12.
  15. Calder, Alexander and Davidson, Jean, Calder, An Autobiography with Pictures. New York: Pantheon Books, 1966, p. 47.
  16. มะลิฉัตร เอื้ออานันท์. “พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ” สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2545
  17. Wenegrat, Saul (2002-02-28). "Public Art at the World Trade Center". International Foundation for Art Research. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-07-27.
  18. Lives and Treasures Taken, The Library of Congress Retrieved 27 July, 2007.
  19. Presidential Medal of Freedom website: Frequently Asked Questions page
  20. "Calder Foundation website: Trustees page". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-15. สืบค้นเมื่อ 2010-01-12.
  21. "Calder Foundation website: Copyright and Disclaimers page". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-25. สืบค้นเมื่อ 2010-01-12.
  22. Auction Results: Alexander Calder's Untitled

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Calder, Alexander. An Autobiography With Pictures. Pantheon Books, 1966, ISBN 978-0-394-42142-1
  • Guerrero, Pedro E. Calder at Home. The Joyous Environment of Alexander Calder. Stewart, Tabori & Chang, New York, 1998, ISBN 1-55670-655-3
  • Prather, Marla. Alexander Calder 1898 - 1976. National Gallery of Art, Washington D.C., 1998, ISBN 0-89468-228-8, ISBN 0-300-07518-9
  • Rosenthal, Mark, and Alexander S. C. Rower. The Surreal Calder. The Menil Collection, Houston, 2005, ISBN 0-939594-60-9
  • Rower, Alexander S. C. Calder Sculpture. Universe Publishing, 1998, ISBN 0-7893-0134-2

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์