ข้ามไปเนื้อหา

อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2567

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2567
อุทกภัยใหญ่ในอำเภอเมืองเชียงราย
เดือนกันยายน พ.ศ. 2567
วันที่17 สิงหาคม พ.ศ. 2567[1] – ปัจจุบัน
ที่ตั้งประเทศไทย
เสียชีวิต45 คน

นับตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567 ได้เกิดอุทกภัยฉับพลันและดินถล่มในหลายจังหวัดของประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศไทยจากอิทธิพลพายุไต้ฝุ่นยางิและพายุซูลิก[2] ในปัจจุบัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รายงานว่าอุทกภัยได้ส่งผลกระทบในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ มีผู้เสียชีวิต 45 คน และประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 1.4 แสนครัวเรือน[3]

ภูมิหลัง

[แก้]

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เกิดฝนตกต่อเนื่องและปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ด้วยอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านทางตอนบนของภาคเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จึงทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่องแทบทุกวันและตกหนักถึงหนักมากในช่วงวันที่ 17–21 สิงหาคม พ.ศ. 2567 โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝนที่ตกในพื้นที่ภูเขาสูง ทำให้มีปริมาณฝนตกสะสมเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีปริมาณน้ำฝนมหาศาลไหลลงสู่ลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำสาขาอย่างรวดเร็ว[1]

อุทกภัย

[แก้]

เดือนสิงหาคม

[แก้]

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ในจังหวัดเชียงราย เกิดอุทกภัยฉับพลันจากน้ำป่าไหลหลากใน 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเทิง อำเภอเวียงชัย อำเภอแม่ลาว อำเภอขุนตาล อำเภอป่าแดด อำเภอพญาเม็งราย อำเภอเชียงแสน และอำเภอแม่สาย ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,665 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ในอำเภอเชียงแสน น้ำในแม่น้ำรวก แม่น้ำคำ แม่น้ำกกไม่สามารถระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้ และอำเภอขุนตาล ลำน้ำอิงท่วมพื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ[4] พุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย สั่งการให้ทุกอำเภอเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากน้ำล้นตลิ่งอย่างต่อต่อเนื่อง พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์และกำลังพลพร้อมให้ความช่วยเหลือทันทีเมื่อได้รับการร้องขอ[5]

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ในจังหวัดเชียงราย เกิดอุทกภัยฉับพลันจากฝนตกต่อเนื่องที่ตำบลแม่ใส อำเภอเมืองพะเยา ส่งผลให้น้ำป่าไหลเข้าท่วมพื้นที่ ประชาชนต้องเร่งขนทรัพย์สินและข้าวของเครื่องใช้ไปเก็บไว้ที่สูงพื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต[6]

ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดอุทกภัยฉับพลันที่ตำบลห้วยผา อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน หน่วยงานรัฐเข้าไปซ่อมแซมและฟื้นฟู รวมถึงตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ล้มทับเส้นทางจนสายไฟฟ้าแรงสูงขาด เพื่อเปิดเส้นทางในการสัญจรตามปกติ พร้อมสั่งให้เฝ้าระวังเนื่องจากหลายพื้นที่ยังมีฝนตก[7]

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ในจังหวัดเพชรบูรณ์ เกิดอุทกภัยฉับพลันจากน้ำป่าไหลหลากที่ตำบลห้วยโป่ง อำเภอหนองไผ่ และตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก ส่งผลกระทบ 650 ครัวเรือน กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพชรบูรณ์เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ทั้งกำลังพล เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักร เพื่อรับสถานการณ์ในพื้นที่ ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เตรียมรับสถานการณ์[8]

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ในจังหวัดเชียงราย มีรายงานผู้เสียชีวิต 2 คนจากอุทกภัยฉับพลันในช่วงผ่านมาที่อำเภอเทิง และอำเภอดอยหลวง[9] ขณะเดียวกัน มีนักเรียน 146 คนติดอยู่ภายในโรงเรียนเวียงแก่นวิทยาคมที่อำเภอเวียงแก่น เนื่องด้วยถนนเส้นบ้านหลู้–บ้านหล่ายงาวน้ำท่วมไม่สามารถสัญจรได้จากน้ำป่าไหลหลาก[10]

ในจังหวัดน่าน เกิดอุทกภัยฉับพลันจากน้ำป่าสีแดงขุ่นไหลหลาก ส่งผลให้สะพานสลิงบ้านดวงคำได้รับความเสียหายและประชาชนอำเภอทุ่งช้างได้รับผลกระทบ ชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เตือนประชาชนใกล้แม่น้ำยกของขึ้นที่สูง และให้เตรียมพร้อมทั้งเครื่องอุปโภค บริโภค พร้อมสั่งให้ทุกตำบลตั้งโรงครัวทำอาหารแจกจ่ายประชาชนที่ประสบภัยบรรเทาความเดือดร้อน[11]

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ในจังหวัดน่าน เขตเศรษฐกิจในอำเภอเมืองน่านยังมีอุทกภัยเป็นวงกว้าง รวมทั้งวัดภูมินทร์ ซึ่งชาวบ้านบางคนระบุว่าไม่เคยเห็นน้ำท่วมวัดภูมินทร์มาก่อน สุรพล เธียรสูตร นายกเทศบาลเมืองน่าน กล่าวว่า เป็นอุทกภัยครั้งนี้มากที่สุดในรอบ 100 ปี[12] ขณะเดียวกัน โดยเฉพาะชุมชนบ้านท่าลี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่ถูกน้ำท่วมสูง บางจุดท่วมสูงถึง 3 เมตร เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักสุดในอำเภอเมืองน่าน[13]

ในจังหวัดแพร่ เกิดอุทกภัยจากแม่น้ำยมไหลท่วมที่อำเภอเมืองแพร่ ส่งผลให้ย่านเขตเศรษฐกิจ ศูนย์ราชการและชุมชนโดยรอบเป็นบริเวณกว้าง ถนนหลายสายไม่สามารถสัญจรได้ รวมถึงโรงเรียนประกาศให้หยุดเรียนชั่วคราว ชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้กำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพร้อมกำลังพลเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้[14]

เดือนกันยายน

[แก้]

เมื่อวันที่ 11 กันยายน ในจังหวัดเชียงราย เกิดอุทกภัยใหญ่ในอำเภอเมืองเชียงราย ทำให้บริเวณห้าแยกอนุสาวรีย์พญามังรายมหาราช ถูกน้ำท่วมมากจนรถไม่สามารถสัญจรได้ จึงทำให้ปิดเส้นทางการจราจร ใน ถนนพหลโยธินที่สะพานข้ามแม่น้ำกก ถนนเลี่ยงเมืองเชียงรายด้านตะวันตกที่สะพานข้ามแม่น้ำกก (ฮ่องอ้อ) ถนนเวียงบูรพาที่สะพานเฉลิมพระเกียรติ ส่วน ถนนแม่ฟ้าหลวงที่สะพานแม่ฟ้าหลวง และถนนกลางเวียงที่สะพานขัวพญามังราย สามารถสัญจรได้บางส่วน ทั้งนี้ทางจังหวัดได้ขอความร่วมมือให้เลี่ยงเส้นทางดังกล่าว

ส่วนอำเภอแม่สาย ก็ท่วมหนักบริเวณตลาดสายลมจอยในเขตด่านถาวรแม่สายก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน จึงทำให้สองฟากฝั่งในอำเภอแม่สาย และจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ทางการมีศูนย์พักคอยช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมกับนำอาหารแจกจ่ายผู้ประสบภัยจากผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นยางิในครั้งนี้[15]

เมื่อวันที่ 23–24 กันยายน แม่น้ำปิงรับน้ำป่าจากหลายอำเภอ[16] ทำให้แม่น้ำปิงมีระดับน้ำสูงขึ้นเรื่อย ๆ และเลยระยะวิกฤตในวันที่ 24 กันยายน [17] ระดับน้ำสูงขึ้นและทะลักเข้าท่วมตัวเมืองจากท่อระบายน้ำในบริเวณโดยรอบ โดยที่ระดับน้ำเริ่มคงตัวในช่วงเช้าของวันที่ 25 กันยายน

ปฏิกิริยา

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี พระราชทานเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง เพื่อช่วยเหลือในการทำความสะอาดบ้านเรือนผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดเชียงราย[18]

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์บนเฟซบุ๊ก ระบุว่า ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือและมีความเป็นห่วงและกังวลใจ พร้อมส่งกำลังใจแก่ผู้ประสบภัยทุกครอบครัวและเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังขณะนี้[19] ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วยืนยันว่าสถานการณ์อุทกภัยในปัจจุบันไม่รุนแรงเท่าอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ. 2554[20]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 หาคำตอบ! สาเหตุน้ำท่วมหนัก 5 จังหวัดภาคเหนือช่วง ส.ค. – ไทยพีบีเอส
  2. พายุซูลิกเข้าไทยแล้ว ประกาศเตือนฉบับ 13 เตือนระวังฝนถล่ม 48 จังหวัด
  3. ปภ.สรุปอุทกภัย 6 จังหวัด ตาย 22 คน เดือดร้อน 21,824 ครัวเรือน – ไทยพีบีเอส
  4. “เชียงราย” ยังจม 9 อำเภอ ปภ.เร่งช่วย ยังไม่มีคนเจ็บ-ตาย – ไทยพีบีเอส
  5. สรุปสถานการณ์น้ำท่วม จ.เชียงราย ผู้ว่าฯ สั่งติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด – กรุงเทพธุรกิจ
  6. ภาคเหนือยังอ่วม ฝนตกหนักน้ำท่วมชุมชน-พื้นที่การเกษตร – สำนักข่าวไทย
  7. วิกฤต! เชียงราย-พะเยาชาวบ้านอุ้มเด็กลุยน้ำรับอาหารประทังชีวิต – ไทยพีบีเอส
  8. เพชรบูรณ์อ่วม! ฝนถล่ม 3 ตำบล น้ำท่วมหนัก 650 ครัวเรือนเดือดร้อน – มติชน
  9. น้ำท่วมเชียงรายดับ 2 นาข้าวจมบาดาล 1.5 หมื่นไร่ – เวิร์คพอยท์
  10. น้ำท่วมเชียงรายวิกฤต ครูแจ้งมีเด็กนักเรียน 146 คน ติดอยู่ในโรงเรียน กลับบ้านไม่ได้ – สนุก.คอม
  11. น้ำท่วมเชียงราย-น่าน! น้ำป่าท่วมสูง-สะพานขาด เสียชีวิตแล้ว 2 ราย – พีพีทีวี
  12. เขตเศรษฐกิจตัวเมืองน่านยังจม น้ำทะลักถึงวัดภูมินทร์ – ไทยพีบีเอส
  13. น้ำท่วมน่าน "บ้านท่าลี่" อ่วม บางจุดน้ำสูง 3 เมตร – ไทยพีบีเอส
  14. น้ำยมขึ้นสูงไหลบ่าท่วม "เมืองแพร่" ทะลักเขตเศรษฐกิจ – ไทยพีบีเอส
  15. น้ำท่วมเชียงราย สาเหตุวิกฤติหนักในรอบหลายสิบปี เตือนแม่น้ำโขงล้นตลิ่ง – ไทยรัฐ
  16. จับตา "แม่น้ำปิง" เมืองเชียงใหม่ เพิ่มระดับ หลังรับน้ำป่าจากหลายอำเภอ – Thairath
  17. ระดับน้ำปิงตัวเมืองเชียงใหม่ เวลา 17.00 น. วันที่ 24 ก.ย. 67 จุด P.1 สะพานนวรัฐ 3.73 เมตร (เพิ่มขึ้น 6 ซม. จากชั่วโมงก่อน) จนท.จุดวัด เปลี่ยนการแจ้งเตือนจากสีเหลือง เป็นสีแดง – เชียงใหม่ CM108 ข่าวเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
  18. ในหลวง-ราชินี ทรงพระราชทาน เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง – ไทยรัฐ
  19. "แพทองธาร" ห่วงสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ – ไทยพีบีเอส
  20. น้ำท่วมเหนือกระทบ 1.27 หมื่นครัวเรือน ตาย 3 ราย ที่เชียงราย – Benarnews