อีเห็นหน้าขาว
อีเห็นหน้าขาว อีเห็นหูด่าง | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Carnivora |
วงศ์: | Viverridae |
วงศ์ย่อย: | Paradoxurinae |
สกุล: | Arctogalidia Merriam, 1897 |
สปีชีส์: | A. trivirgata |
ชื่อทวินาม | |
Arctogalidia trivirgata (Gray, 1832) | |
ชนิดย่อย | |
| |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ |
อีเห็นหน้าขาว หรือ อีเห็นหูด่าง (อังกฤษ: Small-toothed palm civet) เป็นสัตว์จำพวกชะมดและอีเห็น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Arctogalidia trivirgata มีรูปร่างหน้าตาคล้ายอีเห็นเครือ (Paguma larvata) แต่มีขนาดเล็กกว่า มีสีขนที่แตกต่างหลากหลายออกไป ในบางตัวอาจมีสีน้ำตาลแดง บางตัวเป็นสีน้ำตาลดำ มีลักษณะเด่นคือ ขอบใบหูจะมีสีขาว บริเวณหลังมีแถบสีดำ 3 เส้นพาดเป็นทางยาวจนถึงโคนหาง บางตัวอาจมีลายเส้นสีขาวพาดยาวมาจรดปลายจมูก หางมีความยาวมากใช้สำหรับทรงตัวบนต้นไม้ ตัวเมียจะมีเต้านม 2 คู่ และมีต่อมกลิ่นด้วย
มีความยาวลำตัวและหัว 43-53 เซนติเมตร ความยาวหาง 51-56 เซนติเมตร น้ำหนัก 2-2.5 กิโลกรัม
มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่รัฐอัสสัม, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย, เกาะสุมาตรา, เกาะชวาและเกาะบอร์เนียว มีชนิดย่อยทั้งหมด 14 ชนิด (ดูในตาราง)
มีพฤติกรรมอาศัยอยู่ในป่าที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ป่าดิบชื้น, ป่าเบญจพรรณ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ตามลำพังและหากินบนต้นไม้เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นในช่วงผสมพันธุ์หรือมีลูกอ่อนที่จะอยู่ด้วยกันเป็นคู่ ออกหากินในเวลากลางคืน มีความปราดเปรียวว่องไวกว่าอีเห็นธรรมดา (Paradoxurus hermaphroditus) มาก โดยมักล่าสัตว์ที่อยู่บนต้นไม้เป็นอาหาร เช่น หนู, กระรอก, นก และช่วยควบคุมปริมาณกระรอกที่ทำลายสวนมะพร้าวไม่ให้มีมากไป สามารถผสมพันธุ์ได้ทั้งปี ใช้เวลาตั้งท้องนาน 45 วัน ออกลูกครั้งละ 2-3 ตัว
ไม่จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535[1]
อ้างอิง
[แก้]- อีเห็นหูด่าง(อีเห็นหน้าขาว) Three-striped Palm Civet (อังกฤษ) เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Arctogalidia trivirgata ที่วิกิสปีชีส์