ข้ามไปเนื้อหา

อีกากินซาก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Carrion crow
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Late Pleistocene–Recent
กำลังหาอาหารบนหาด ในดอร์เซต ประเทศอังกฤษ
เสียงอีกากินซากในเดวอน ประเทศอังกฤษ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: สัตว์ปีก
อันดับ: นกเกาะคอน
วงศ์: นกกา
สกุล: นกกา

Linnaeus, 1758
สปีชีส์: Corvus corone
ชื่อทวินาม
Corvus corone
Linnaeus, 1758
Subspecies
ระยะกระจายพันธุ์ของอีกากินซาก
  ช่วงตลอดปี
  ช่วงฤดูร้อน
  ช่วงฤดูหนาว

อีกากินซาก (อังกฤษ: carrion crow; ชื่อวิทยาศาสตร์: Corvus corone) จัดอยู่ในวงศ์นกกา อันดับนกเกาะคอน มีลักษณะเด่นจากนกกาอื่นคือ หัวแบน ขนแน่นสีดำล้วน และกินซากสัตว์ มีขนาด 45–47 เซนติเมตร ซึ่งเป็นนกกาที่ใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งในวงศ์ พบได้ในเขตชีวภาพพาลีอาร์กติก ตั้งแต่ สแกนดิเนเวีย และ ยุโรปตะวันตก ไปจนถึง ไซบีเรียตะวันออก ญี่ปุ่น และประเทศจีน

อนุกรมวิธาน

[แก้]

อีกากินซาก (Corvus corone) เป็นหนึ่งในอีกาหลายสายพันธุ์ที่คาโรลัส ลินเนียส ระบุชนิดพันธุ์ในปี พ.ศ. 2301 ในหนังสือระบบธรรมชาติ (Systema Naturae)[2] ชื่อทวินามจากภาษาละติน Corvus หมายถึง "กา"[3] และภาษากรีก κορώνη (korōnē) หมายถึง "กา"

ก่อนหน้าในปี พ.ศ. 2545 อีกาหมวกดำ (Corvus cornix) ซึ่งเดิมเป็นชนิดย่อยของอีกากินซากได้ถูกแยกออกเป็นชนิดใหม่[4][5] ปัจจุบันมีการพิจารณาแยก "อีกากินซากตะวันออก" (C. c. orientalis) ออกเป็นชนิดย่อย จากความแตกต่างทางสรีระที่มากพอ คือมีขนาดใหญ่กว่า ทรงของแพนหางที่กว้างกว่า และจากการมีวิวัฒนาการอย่างอิสระในพื้นที่ของทั้งสองชนิดพันธุ์ย่อยที่แยกออกจากกันในตอนปลายสุดคนละฝั่งทะเลของผืนทวีปยูเรเชีย[6]

ญาติสนิทที่สุดของอีกากินซากคือ อีกาอเมริกัน (Corvus brachyrhynchos) ในอเมริกาเหนือ ซึ่งอาศัยในนิเวศวิทยาและรูปร่างคล้ายคลึงกันมาก สันนิษฐานว่าอาจแยกออกจากกันในสมัยไพลโอซีน[ต้องการอ้างอิง]

ลักษณะทางกายวิภาค

[แก้]

อีกากินซาก (C. corone) อาศัยในระยะการกระจายพันธุ์ที่ใกล้เคียงและทับซ้อนกับนกกาชนิดอื่น ๆ ได้แก่ อีกาโคนปากขาว อีกาหมวกดำ และ นกเรเวน ซึ่งสามารถระบุความแตกต่างของลักษณะทางกายวิภาคได้ดังนี้

ขนของอีกากินซากมีสีดำ มีสีเหลื่อมของขนเป็นเงาสะท้อน สีเขียวหรือสีม่วง ซึ่งมีสีเหลื่อมเขียวสดกว่าขนของอีกาโคนปากขาว อีกากินซากมีมีจะงอยปาก ขา และเท้าสีดำ โดยทั่วไปมีขนาดลำตัวยาว 48-52 ซม. ซึ่งเล็กกว่านกเรเวน (ซึ่งยาวโดยเฉลี่ย 63 เซนติเมตร) และอีกากินซากมีขนสีดำล้วนต่างจากอีกาหมวกดำที่มีขนตัวสีเทาและหัวดำ

อีกากินซากมีช่วงปีกกว้าง 84–100 ซม. น้ำหนัก 400–600 กรัม มีลักษณะและขนาดที่คล้ายคลึงกันมากกับอีกาโคนปากขาว (C. frugilegus) โดยเฉพาะนกรุ่นซึ่งทั้งสองชนิดแทบไม่ต่างกันยกเว้นปีกของอีกากินซากที่ดูล่ำและสั้นกว่าเมื่อพับข้างตัว เมื่อบิน ปีกที่กางออกของอีกากินซากจะมีช่วงปีกสั้นกว่า และปีกกว้างกว่า (ในแนวหัวไปหาง) และเมื่อโตเต็มที่อีกาโคนปากขาวจะสลัดขนที่โคนปากจนเห็นหนังสีขาว ต่างจากอีกากินซากยังคงขนรอบโคนปากคล้ายขนแปรง[7]

นอกจากนี้ในอีกากินซากรุ่น สามารถระบุได้จากขนที่ออกสีน้ำตาล และตาสีฟ้า ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นขนสีดำและตาสีน้ำตาลเมื่อโตเต็มที่

การกระจายพันธุ์และถิ่นที่อยู่

[แก้]
แผนที่ยุโรปแสดงการกระจายตัวของอีกากินซาก (C. corone) และอีกาหมวกดำ (C. cornix) จากสองฝั่งของยุโรป โดยมีเขตรอยต่อ (เส้นสีขาว) เป็นเส้นแบ่งสองสายพันธุ์

อีกากินซาก (C. corone) และอีกาหมวกดำ (C. cornix) เป็นกาสองสายพันธุ์ที่เป็นญาติใกล้ชิดกันมาก และมีแหล่งกระจายพันธุ์ทั่วยุโรป (แบ่งตามแผนภาพประกอบ) สันนิษฐานว่า เดิมเป็นชนิดเดียวกันแต่อาจแยกถิ่นที่อยู่จากผลของวัฏจักรของธารน้ำแข็งในสมัยไพลสโตซีน ซึ่งทำให้ประชากรกลุ่มหลักเดิมแยกขาดออกจากกันเป็น 2 กลุ่ม และเริ่มวิวัฒนาการให้ลักษณะทางกายวิภาคต่างกัน ที่ชัดเจนที่สุดคือสีขน ต่อมาเมื่อที่สภาพอากาศร้อนขึ้นทั้ง 2 กลุ่มเริ่มขยายแหล่งกระจายพันธุ์อีกครั้งทำให้เกิดการติดต่อกันแบบย่อย ๆ ในบางพื้นที่ (พื้นที่เขตรอยต่อ)[8][9]

เพิลสตราและคณะ (Poelstra, et al) วิเคราะห์เรียงลำดับจีโนมเกือบสมบูรณ์ จากตัวอย่างประชากรนกซึ่งเชื่อว่าอาศัยอยู่ในเขตที่ห่างพอจากพื้นที่เขตรอยต่อของทั้งสองชนิด พบว่าทั้งอีกาสองชนิดมีความเหมือนกันทางพันธุกรรมทั้งในดีเอ็นเอ และในรูปของ mRNA มีการความต่างกันของของจีโนมในสัดส่วนที่น้อยมาก (น้อยกว่า 0.28%) โดยเฉพาะที่อยู่บนโครโมโซมที่ 18 ซึ่งเป็นตัวกำหนกสีขนของอีกาหมวกดำให้มีสีลำตัวที่อ่อนกว่า ซึ่งหมายถึงทั้งสองชนิดสามารถผสมพันธุ์กันได้ และในความเป็นจริงได้เกิดขึ้นบางครั้งในพื้นที่เขตรอยต่อ แต่เนื่องจากไม่ได้ผสมข้ามพันธุ์กันเสียทุกกรณี คือ มีความเป็นไปได้ที่ในพื้นที่เขตรอยต่อ อีกากินซากที่สีดำล้วนผสมกับเฉพาะอีกากินซาก และในทำนองเดียวกันอีกาหมวกดำที่ผสมกับเฉพาะอีกาหมวกดำ คณะผู้วิจัยระบุว่า มีความชัดเจนว่ารูปลักษณ์ภายนอกของอีกาสองชนิดที่ต่างกัน อาจช่วยยับยั้งการผสมข้ามพันธุ์[8][9] สิ่งนี้เป็นการผสมพันธุ์แบบเลือกสรร (assortative mating) แทนที่จะเป็นการคัดเลือกทางนิเวศวิทยา ข้อได้เปรียบของการผสมพันธุ์แบบนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจน แต่อาจเร่งไปสู่การปรากฏตัวของชนิดย่อยใหม่ หรือแม้แต่ชนิดใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และอาจเป็นไปได้ว่าเป็นสายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ยังดึงดูดซึ่งกันและกัน และขยายขนาดประชากร

อุนนิกฤษนัน และอาคีรา (Unnikrishnan และ Akhila) เสนอในทางกลับกันว่าเป็นพฤติกรรมชื่นชอบความคล้าย (koinophilia) เป็นคำอธิบายที่ชัดเจนกว่าสำหรับความต้านทานต่อการผสมพันธุ์ข้ามเขตติดต่อ แม้ว่าจะไม่มีอุปสรรคทางสรีรวิทยากายวิภาคหรือพันธุกรรมในการผสมพันธุ์ดังกล่าว[8]

อีกากินซากยังพบได้ในภูเขาและป่าไม้ของญี่ปุ่นและในเมืองต่างๆของญี่ปุ่น[10] และในบราซิลซึ่งสันนิษฐานว่าอาจมาจากผู้ตั้งถิ่นฐานในสมัยอาณานิคมโปรตุเกส

คาดว่าประชากรอีกากินซากทั้งหมดมีจำนวนหลักสิบล้าน จำนวนประชากรที่มากและการกระจายพันธุ์ที่กว้างขวางจึงจัดว่ามีความเสี่ยงต่ำในการสูญพันธุ์ (LC) โดย IUCN[11]

พฤติกรรมและนิเวศวิทยา

[แก้]
ในประเทศอังกฤษ
ขณะบิน
รุมกินซากนกที่ตายแล้ว ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส

โดยทั่วไปแล้วอีกาโคนปากขาว จะอยู่รวมกันเป็นฝูง และอีกากินซากอยู่แบบโดดเดี่ยว แต่บางครั้งอีกาโคนปากขาวทำรังในต้นไม้ที่แยกตัวออกมาจากฝูงและเป็นไปได้ว่าหากินร่วมกับอีกากินซาก และอีกาอื่นโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว

เนื่องจากอีกากินซากอาศัยในพื้นที่ทับซ้อนร่วมกับนกกาชนิดอื่น ๆ ลักษณะเด่นชัดในการจำแนกอีกากินซากคือ เสียงร้อง "กรา ๆ" ลึกกังวานในลำคอ ขณะที่อีกาโคนปากขาวร้อง "กา ๆ" ที่มีโทนเสียงแหลมสูง[ต้องการอ้างอิง]

อีกากินซากมักเกาะบนจุดที่มองโดยรอบได้ชัดที่สุดของอาคาร และส่งเสียงน่ารำคาญแบบชุดถึ่ ๆ (เสียง กรา ๆ) สามหรือสี่ครั้งติดต่อกันอย่างรวดเร็ว และพักเป็นช่วงสั้น ๆ ระหว่างชุด ในระหว่างร้องแต่ละครั้ง อีกากินซากอาจแสดงท่าทางประกอบโดยยกไหล่ (โคนปีก) ขึ้น ตีปีกต่ำ ๆ ก้มหัวและคอลงพร้อมกับเสียง "กรา" แต่ละครั้ง พฤติกรรมการตีปีกของอีกากินซากช้ากว่าและจงใจมากกว่าของอีกาโคนปากขาว[ต้องการอ้างอิง]

อีกากินซาก อาจเป็นมิตรและเข้าใกล้มนุษย์ มักพบได้ในบริเวณใกล้เคียงที่มีกิจกรรมของมนุษย์หรือที่อยู่อาศัยของมนุษย์เช่น เมือง ทุ่ง ป่าไม้ หน้าผาทะเล และพื้นที่เพาะปลูก[12] ซึ่งพวกมันแข่งขันกับนกสังคมอื่น ๆ เช่น นกนางนวล นกกาอื่น ๆ และเป็ดเพื่อแย่งอาหารในสวนสาธารณะ และสวนต่าง ๆ

เช่นเดียวกับอีกาชนิดอื่น อีกากินซากจะก่อกวนนักล่าและคู่แข่งที่เข้ามาในดินแดนของมัน หรือคุกคามพวกมันหรือลูกหลานของพวกมัน ที่เรียกพฤติกรรมต่อต้านผู้ล่าที่รุกราน (mobbing behaviour) ซึ่งเป็นการปกป้องรังและลูกนกอย่างหนึ่ง[13]

ความสามารถทางสติปัญญา

[แก้]

เช่นเดียวกับอีกาชนิดอื่น อีกากินซากแสดงพฤติกรรมความฉลาด[14] เช่น สามารถแยกแยะระหว่างตัวเลขได้ถึง 30 ตัว[15] มีความยืดหยุ่นในการตอบสนองต่อการสลับไปมาระหว่างกฎเกณฑ์ที่ต่างกัน[16] และจดจำใบหน้าของมนุษย์และอีกาได้[17] ระดับความฉลาดจากความสามารถเหล่านี้เมื่อเทียบกับไพรเมต แม้ด้วยความแตกต่างของโครงสร้างของสมองอย่างสิ้นเชิงในอีกา ชี้ให้เห็นว่าสติปัญญาของอีกากินซาก (และอีกาอื่น) ได้รับการยอมรับว่าเป็นผลมาจากวิวัฒนาการที่บรรจบกัน[18]

อาหาร

[แก้]

แม้ได้ชื่อว่ากินซากสัตว์ทุกชนิด แต่อีกากินซากกินแมลง ไส้เดือน เมล็ดธัญพืช ผลไม้ เมล็ดพืช สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เศษขยะ และไข่ อีกากินซากโดยทั่วไปเป็นสัตว์ที่ชอบกินของเน่าและสะสมของทิ้งแล้วโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พวกมันมักจะไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มนุษย์อาศัยอยู่เป็นประจำเพื่อกินขยะครัวเรือน

อีกากินซากมักรังควาน นกนักล่า หรือแม้แต่สุนัขจิ้งจอก มักออกล่าอย่างแข็งขันและร่วมมือกับอีกาตัวอื่นเป็นครั้งคราวในการล่า และบางครั้งก็พบเห็นการล่าลูกเป็ดเป็นอาหาร เนื่องจากวิถีชีวิตที่อยู่รวมกันเป็นฝูงและความสามารถในการป้องกันของอีกากินซากทำให้มีสัตว์นักล่าตามธรรมชาติเพียงไม่กี่ชนิด อย่างไรก็ตามนกล่าเหยื่อที่ทรงพลัง เช่นนกเหยี่ยวเหนือ เหยี่ยวเพเรกริน นกเค้าแมวยูเรเชียน และนกอินทรีสีทองจะล่าอีกากินซากเป็นอาหารสำคัญในเขตที่อยู่อาศัยของนกล่าเหยื่อเหล่านั้น

การผสมพันธุ์และการทำรัง

[แก้]
ไข่ แสดงที่พิพิธภัณฑ์วีสบาเดิน
ลูกนกในรัง

มักสร้างรังขนาดใหญ่ด้วยกิ่งไม้บนต้นไม้สูง แต่บางครั้งอาจพบรังของอีกากินซากบนหน้าผา อาคารเก่า และเสา นอกจากนี้อาจพบการวางรังไว้บนหรือใกล้พื้นดินเป็นครั้งคราว รังมีลักษณะคล้ายรังกาทั่วไป แต่มีขนาดกระทัดรัดกว่า

ไข่ของอีกากินซาก มีสีฟ้าหรือสีเขียวที่มีจุดสีน้ำตาล 3 ถึง 4 ฟอง ฟักไข่เป็นเวลา 18−20 วัน โดยตัวเมียเพียงตัวเดียวและให้อาหารโดยตัวผู้ ลูกนกออกจากรังเมื่ออายุ 29−30 วัน[19]

ลูกอีกากินซากที่เพิ่งอายุปีเดียว (จากรังปีก่อนหน้า) จะยังคงไม่แยกจากพ่อแม่ในปีถัดไป แต่อยู่ใกล้ ๆ และช่วยเหลือพ่อแม่ในการหาอาหารเลี้ยงดูแลลูกนกครอกใหม่ แทนที่จะหาคู่ครอง[20]

อ้างอิง

[แก้]
  1. แม่แบบ:Url=https://www.iucnredlist.org/details/22706016/0
  2. Linnaeus, C (1758). Systema naturae per regna tria naturae, secundum classes, ordines, genera, species, cum characteribus, differentiis, synonymis, locis. Tomus I. Editio decima, reformata (ภาษาละติน). Holmiae. (Laurentii Salvii). p. 105. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 มีนาคม 2015. C. atro-caerulescens, cauda rotundata: rectricibus acutis.
  3. "Corvus". Merriam-Webster online. สืบค้นเมื่อ 2008-02-04.
  4. Parkin, David T. (2003). "Birding and DNA: species for the new millennium". Bird Study. 50 (3): 223–242. doi:10.1080/00063650309461316.
  5. Poelstra, Jelmer W.; Vijay, Nagarjun; Bossu, Christen M.; และคณะ (2014). "The genomic landscape underlying phenotypic integrity in the face of gene flow in crows" (PDF). Science. 344 (6190): 1410–1414. doi:10.1126/science.1253226. ISSN 0036-8075. PMID 24948738. Further reading: [1]
  6. Madge, Steve & Burn, Hilary (1994): Crows and jays: a guide to the crows, jays and magpies of the world. A&C Black, London. ISBN 0-7136-3999-7
  7. Holden, Peter (2012). RSPB Handbook Of British Birds. p. 274. ISBN 978-1-4081-2735-3.
  8. 8.0 8.1 8.2 Poelstra, Jelmer W.; Vijay, Nagarjun; Bossu, Christen M.; และคณะ (2014). "The genomic landscape underlying phenotypic integrity in the face of gene flow in crows" (PDF). Science. 344 (6190): 1410–1414. Bibcode:2014Sci...344.1410P. doi:10.1126/science.1253226. ISSN 0036-8075. PMID 24948738.
  9. 9.0 9.1 de Knijf, Peter (2014). "How carrion and hooded crows defeat Linnaeus's curse". Science. 344 (6190): 1345–1346. Bibcode:2014Sci...344.1345D. doi:10.1126/science.1255744. ISSN 0036-8075. PMID 24948724. Further reading: [2]
  10. Attenborough. D. 1998. The Life of Birds. pp.295 BBC ISBN 0563-38792-0
  11. International), BirdLife International (BirdLife (2016-10-01). "IUCN Red List of Threatened Species: Corvus corone". IUCN Red List of Threatened Species.
  12. Holden, Peter (2012). RSPB Handbook Of British Birds. p. 274. ISBN 978-1-4081-2735-3.
  13. Pettifor, R. A (1990). "The effects of avian mobbing on a potential predator, the European kestrel, Falco tinnunculus". Animal Behaviour. 39 (5): 821–827. doi:10.1016/S0003-3472(05)80945-5.
  14. Nieder A.; และคณะ (2017). "Inside the corvid brain—probing the physiology of cognition in crows". Current Opinion in Behavioral Sciences. 16 (8): 8–14. doi:10.1016/j.cobeha.2017.02.005.
  15. Ditz, Helen; Nieder, Andreas (2016). "Numerosity representations in crows obey the Weber–Fechner law". Proceedings of the Royal Society B: Biological Sciences. 283 (1827): 20160083. doi:10.1098/rspb.2016.0083. PMC 4822466. PMID 27009227.
  16. Andreas Nieder; Veit, Lena (2013-11-28). "Abstract rule neurons in the endbrain support intelligent behaviour in corvid songbirds". Nature Communications. 4: 2878. Bibcode:2013NatCo...4.2878V. doi:10.1038/ncomms3878. ISSN 2041-1723. PMID 24285080.
  17. Brecht, Katharina F.; Wagener, Lysann; Ostojić, Ljerka; Clayton, Nicola S.; Nieder, Andreas (2017-12-01). "Comparing the face inversion effect in crows and humans". Journal of Comparative Physiology A. 203 (12): 1017–1027. doi:10.1007/s00359-017-1211-7. ISSN 1432-1351. PMC 5696503. PMID 28905251.
  18. Nieder A.; และคณะ (2017). "Inside the corvid brain—probing the physiology of cognition in crows". Current Opinion in Behavioral Sciences. 16 (8): 8–14. doi:10.1016/j.cobeha.2017.02.005.
  19. British Trust for Ornithology (2005) Nest Record Scheme data.
  20. Baglione, V.; Marcos, J. M.; Canestrari, D.; Ekman, J. (2002). "Direct fitness benefits of group living in a complex cooperative society of carrion crows, Corvus corone corone". Animal Behaviour. 64 (6): 887–893. doi:10.1006/anbe.2002.2007. S2CID 53200940.