อิซาเบลลา สจวต การ์ดเนอร์
อิซาเบลลา สจวต การ์ดเนอร์ Isabella Stewart Gardner | |
---|---|
อิซาเบลลา สจวต การ์ดเนอร์ (ค.ศ. 1888) โดย จอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนท์ | |
เกิด | 14 สิงหาคม ค.ศ. 1840 นครนิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา |
เสียชีวิต | 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1924 สหรัฐอเมริกา |
สัญชาติ | ชาวอเมริกัน |
อาชีพ | นักสะสมศิลปะ, นักการกุศลสังคม และ นักอุปถัมภ์ศิลปะ |
ผลงานเด่น | ก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์อิซาเบลลา สจวต การ์ดเนอร์” ที่บอสตัน |
ตำแหน่ง | นักสะสมศิลปะ, นักการกุศลสังคม และ นักอุปถัมภ์ศิลปะ |
นักการกุศลชาวอเมริกัน |
อิซาเบลลา สจวต การ์ดเนอร์ (อังกฤษ: Isabella Stewart Gardner) (14 สิงหาคม ค.ศ. 1840-17 กรกฎาคม ค.ศ. 1924) อิซาเบลลา สจวต การ์ดเนอร์เป็นนักสะสมศิลปะ, นักการกุศลสังคม (philanthropist) และ นักอุปถัมภ์ศิลปะคนสำคัญชาวอเมริกัน งานสะสมศิลปะของอิซาเบลลา สจวตในปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อิซาเบลลา สจวต การ์ดเนอร์ที่บอสตันในรัฐแมสซาชูเซตส์ในสหรัฐอเมริกา
อิซาเบลลา สจวตบุตรีของเดวิดและอเดเลีย สจวตเกิดที่นครนิวยอร์ก และแต่งงานกับจอห์น โลเวลล์ “แจ็ค” การ์ดเนอร์ บุตรชายของจอห์น แอล. และ แคทเธอริน อี. (พีบอดี) การ์ดเนอร์ แห่งบอสตันในรัฐแมสซาชูเซตส์เมื่อวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1860 ในนครนิวยอร์ก จากนั้นก็ย้ายไปอยู่ที่บอสตัน[1] ขณะที่อิซาเบลลา สจวตเป็นนักเรียนประจำอยู่ที่ปารีสก็มีข่าวลือว่าได้กระโดดออกนอกหน้าต่างโรงเรียนและหนีไปกับแจ็ค ระหว่างการเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาก็ได้มีการประกาศว่ามารดาของอิซาเบลลา สจวตผู้ขณะนั้นอยู่ในวัยสี่สิบกว่าให้กำเนิดแก่บุตรชายคนที่สองชื่อเจมส์ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าเจมส์อันที่จริงแล้วเป็นบุตรของอิซาเบลลา สจวตเองกับแจ็ค[2] ปู่ของแจ็คโจเซฟ พีบอดีเป็นเจ้าของเรือผู้มีฐานะดีอยู่ที่ซาเล็ม สร้างฐานะขึ้นมาด้วยการนำพริกเข้าจากสุมาตราและเป็นผู้ที่มีฐานะมั่งคั่งที่สุดคนหนึ่งในสหรัฐเมื่อเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1844
สังคมบอสตันมีฉายาให้อิซาเบลลา สจวตหลายชื่อที่รวมทั้ง “เบลเล” “ดอนนาอิซาเบลลา” “อิซาเบลลาแห่งบอสตัน” “มิสซิสแจ็ค” อิซาเบลลาสร้างชื่อเสียงให้กับการซุบซิบในสังคมหลายอย่างรวมทั้งเป็นผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นผู้มีรสนิยมดี และมีพฤติกรรมที่นอกแบบแผนของสังคมโดยทั่วไป เช่นเมื่อคลาดรถไฟไปงานสังคมกับสามี อิซาเบลลาก็หว่านล้อมให้องค์การรถไฟให้ขอยืมรถไฟมาใช้เป็นการส่วนตัว หรือในการปรากฏตัวโดยไม่มีกำหนดการณ์ในการแสดงคอนเซิร์ตในปี ค.ศ. 1912 ที่ตามปกติแล้วเป็นโอกาสที่เป็นทางการ โดยสวมสิ่งที่คาดบนศีรษะที่มีตัวอักษรสีแดงว่า “Oh, you Red Sox” ที่ทำให้มีรายงานว่าถึงกับแทบจะทำให้เกิดความอลวนกันขึ้น ซึ่งเป็นการแสดงถึงอุปนิสัยที่ออกไปทางที่เรียกว่า “พิกล” (eccentric)
หลังจากการเสียชีวิตของสามีในปี ค.ศ. 1898 อิซาเบลลาก็เริ่มสร้างพิพิธภัณฑ์ที่เป็นแบบวังเรอเนสซองซ์ในเวนิสในอิตาลีโดยมีวิลลาร์ด ทอมัส เซียร์สเป็นสถาปนิก อิซาเบลลามีบทบาทเกี่ยวข้องกับทุกขั้นตอนของการออกแบบ ที่ทำให้เซียร์สกล่าวว่าตนเองเป็นเพียงวิศวกรที่ทำให้งานออกแบบของอิซาเบลลาเป็นจริงขึ้นมาได้เท่านั้น ตัวตึกล้อมรอบลานหญ้าตรงกลางซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างลักษณะนี้สิ่งแรกที่สร้างขึ้นในสหรัฐอเมริกา อิซาเบลลาตั้งใจที่จะใช้ชั้นสองและสามเป็นห้องแสดงภาพ เดิมชั้นล่างเป็นห้องดนตรีขนาดใหญ่ แต่ต่อมาอิซาเบลลาแบ่งออกไปเพื่อแสดงภาพเขียนชิ้นใหญ่ชื่อ “นักเต้นรำชาวสเปน” โดย จอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนท์ ชั้นสองแสดงพรมทอแขวนผนัง ตัวอิซาเบลลาเองพำนักอยู่บนชั้นสี่เมื่อมาพำนักอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ หลังจากที่เสียชีวิตชั้นนี้ก็ใช้เป็นสำนักงาน อิซาเบลลาต้องการที่จะออกแบบให้เป็นคฤหาสน์ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ และใช้เป็นที่พำนักเป็นประจำทุกปีหลังจากที่สร้างเสร็จ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็มักจะจัดงานเลี้ยงอยู่สม่ำเสมอ แต่ขณะเดียวกันก็เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์แก่สาธารณชนเป็นเวลาสองวันทุกปี
อิซาเบลลาเสียชีวิตที่เฟนเวย์คอร์ทเมื่ออายุ 84 ปี ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มีเพื่อนที่เป็นจิตรกรและนักเขียนผู้มีชื่อเสียงหลายคนที่รวมทั้งจอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนท์, เจมส์ แม็คนีลล์ วิสต์เลอร์, แอนเดอร์ส ซอร์น, เฮนรี เจมส์, โอะคะคุระ คะคุโซะ และ แฟรงค์ มาเรียน ครอว์ฟอร์ด
งานสะสมศิลปะของอิซาเบลลา สจวต การ์ดเนอร์
[แก้]การ์ดเนอร์ทั้งสามีภรรยาเป็นผู้ชอบการเดินทางและงานสะสมสมัยแรกก็มาจากการเดินทางในยุโรป และการเดินทางไปยังดินแดนอื่นๆ ที่รวมทั้งอียิปต์, ตุรกี และ ตะวันออกไกล แต่มาสะสมกันอย่างจริงจังเมื่อปลายคริสต์ทศวรรษ 1890 โดยทั่วไปแล้วเป็นงานสะสมจิตรกรรมและประติมากรรมชั้นหนึ่งระดับโลก แต่ก็มีพรมทอแขวนผนัง, ภาพถ่าย, เครื่องเงิน, เครื่องเซอรามิค, หนังสือต้นฉบับ และชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรมเช่นประตู หน้าต่างประดับกระจกสี และ แท่นประดับเตาผิง งานศิลปะเกือบ 70 ชิ้นซื้อหามาโดยการแนะนำของนักค้าขายศิลปะเบอร์นาร์ด เบเรนสัน ในบรรดานักสะสมด้วยกันอิซาเบลลาก็สะสมงานศิลปะแข่งกับเอ็ดเวิร์ด เพอร์รี วอร์เรนผู้ให้ภาพเขียนหลายภาพแก่ พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์, บอสตัน งานสะสมรวมงานของศิลปินผู้มีชื่อเสียงและสำคัญที่สุดของยุโรปที่รวมทั้งภาพ “พระแม่มารีและพระบุตรกับเทวดา” โดยซานโดร บอตติเชลลี, “ยูโรปา” โดยทิเชียน และ “พระแม่มารีโคลอนนา” โดย ราฟาเอล
อิซาเบลลาระบุไว้ในพินัยกรรมว่าพิพิธภัณฑ์จะต้องแสดงภาพตามที่จัดไว้โดยห้ามมิให้มีการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงจากที่ที่อิซาเบลลาตั้งแสดงไว้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ นอกจากจะเปิดแสดงงานอันมีค่าให้สาธารณชนชมแล้ว ก็ยังเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงให้เห็นถึงงานสะสมที่เป็นของดั้งเดิมของอิซาเบลลาและแจ็ค
ในปี ค.ศ. 1990 พิพิธภัณฑ์ก็ถูก โจรกรรมครั้งใหญ่ โดยโจรแต่งตัวเป็นตำรวจจับยามมัดและโขมยภาพเขียนไป 13 ภาพที่รวมทั้ง “เล่นดนตรี” โดย โยฮันส์ เวร์เมร์, ภาพร่างห้าภาพโดยเอ็ดการ์ เดอกาส์ และงานอีกสามชิ้นโดยแรมบรังด์ที่รวมทั้ง “พายุในทะเลกาลิลี” ซึ่งเท่าที่ทราบเป็นภาพทะเลทัศน์ภาพเดียวที่แรมบรังด์เขียน ในปัจจุบันภาพเหล่านี้ก็ยังคงหายไป การสืบสวนโดยสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกาก็ยังคงดำเนินอยู่
อ้างอิง
[แก้]- Shand-Tucci, Douglass. "The Art of Scandal: The Life and Times of Isabella Stewart Gardner", Harper Collins, 1997