ข้ามไปเนื้อหา

อำพันขี้ปลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำพันขี้ปลา

อำพันขี้ปลา[1] อำพันทอง[1] อำพันทะเล หรือ ขี้วาฬ เป็นสารประกอบอินทรีย์ชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายกับอำพัน เป็นสิ่งที่ได้มาจากทะเลและมหาสมุทร โดยเป็นผลิตผลจากสัตว์ทะเลขนาดใหญ่คือ วาฬชนิดวาฬหัวทุย มีลักษณะเด่นคือ มีกลิ่นหอม

ในยุคโบราณชาวตะวันตกเชื่อว่า อำพันขี้ปลาเกิดจากวาฬกลืนน้ำสีดำจากแม่น้ำสีดำแถบตะวันออกกลางที่มีกลิ่นหอม ชาวเปอร์เซียเรียกว่า อัมบาร์ (ambar) เมื่อแพร่หลายไปยังยุโรป ชาวฝรั่งเศสจึงเรียกว่า อ็องบร์กรี (ambre gris) ซึ่งแปลว่า "อำพันสีเทา" เพื่อแยกแยะจากอำพันอย่างอื่นทั่วไป

อำพันขี้ปลาเป็นผลิตผลที่มาจากการสำรอกหรือการขับถ่ายของวาฬหัวทุย มีลักษณะเป็นของแข็งซึ่งเป็นก้อนไขมันมีหลายเฉดสีตั้งแต่สีเทาหรือสีดำ ไปจนถึงสีโทนอ่อนอย่างสีส้มหรือสีขาวคล้ายหินอ่อน ที่พบเฉพาะในลำไส้ของวาฬหัวทุย มีส่วนประกอบของคอเลสเตอรอลและไขมันร้อยละ 80, สารเบนโซอิก และแอลกอฮอล์เชิงซ้อนทำให้มีกลิ่นหอม โดยวาฬหัวทุยจะกินสัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกหมึกเป็นอาหารหลัก แต่จะกินเข้าไปโดยไม่มีการเคี้ยวอย่างละเอียดอย่างสัตว์บก แต่จะใช้วิธีการกลืนเข้าไปทั้งตัวแล้วไปย่อยสลายในกระเพาะ แต่คอเลสเตอรอลของหมึกไม่อาจจะย่อยได้ง่าย ประกอบกับหมึกมีปากที่แข็งระคายเนื้อเยื่อของวาฬ คอเลสเตอรอลดังกล่าวจึงไปสะสมเป็นก้อนอยู่ในลำไส้ของวาฬ ซึ่งขณะอยู่ในลำไส้ของวาฬ จะไม่มีกลิ่นหอม แต่จะมีกลิ่นเหม็นเหมือนสิ่งขับถ่ายทั่วไป และมีลักษณะเป็นก้อนสีดำมีความนิ่ม แต่เมื่อวาฬได้ขับถ่ายออกมาแล้วได้เกิดปฏิกิริยากับสายลมและแสงแดดนานนับปี โดยล่องลอยอยู่ในทะเลด้วยค่าความถ่วงจำเพาะที่มีน้อยกว่าน้ำทะเลจึงมีคุณสมบัติทางเคมีเปลี่ยนไป ทำให้มีลักษณะเป็นก้อนแข็งสีขาว น้ำตาล เทา หรือดำ ตามระยะเวลาในการทำปฏิกิริยา ละลายที่อุณหภูมิมากกว่า 62 องศาเซลเซียส แต่ด้วยอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสจะระเหยเป็นไอ[2][3]

อำพันขี้ปลานับเป็นของมีค่า ราคาแพง และหาได้ยากยิ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีประโยชน์ในการทำเป็นหัวน้ำหอมและเครื่องสำอาง หรือนำไปแต่งกลิ่นในอาหารหรือไวน์ สำหรับตำราสมุนไพรไทยใช้ทำยาได้[1] ทำให้มีราคาซื้อขายกิโลกรัมละหลายหมื่นบาท[4]

การหาอำพันขี้ปลากระทำได้ 2 วิธี คือ รอให้ลอยมาติดตามชายฝั่ง หรือล่องเรือออกไปหากลางทะเลและออกล่าวาฬ แล้วผ่าท้องหาจากลำไส้ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการล่าวาฬ ปัจจุบันมีการคุ้มครองตามกฎหมายสากล[2][3]

ภาพคุณสมบัติทางเคมี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 1515.
  2. 2.0 2.1 เรื่องของปลาวาฬสเปิร์ม
  3. 3.0 3.1 ""อำพันทะเล" อึวาฬราคาสุดแพง ใช้สกัดทำน้ำหอม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-03. สืบค้นเมื่อ 2012-12-07.
  4. "อำพันจากทะเล ขี้ปลาวาฬ กก.ละหมื่นบาท" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-12-07.