อัครศาสนูปถัมภก
อัครศาสนูปถัมภก (อังกฤษ: Upholder of religions)[1] หมายถึง พระมหากษัตริย์ผู้ทะนุบำรุงศาสนาต่าง ๆ
ประเทศไทย
[แก้]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ฉบับแรกเป็นต้นมากำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธศาสนิกและอัครศาสนูปถัมภก คือ ผู้ทะนุบำรุงศาสนาทั้งหลายที่รัฐรับรอง ทั้งนี้ เพราะเป็นประเพณีมาแต่เดิมที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงเปิดให้มีการเผยแผ่ศาสนาทั้งหลายในแว่นแคว้นและทรงอุปถัมภ์การเผยแผ่ด้วย[2]
ผู้ปกป้องศรัทธา
[แก้]ประวัติ
[แก้]"ผู้ปกป้องศรัทธา" (อังกฤษ: Defender of the Faith; ฝรั่งเศส: Défenseur de la Foi; ละติน: fidei defensor (ปุรุสลึงค์) หรือ fidei defensatrix (อิตถีลึงค์)) เป็นสมัญญานามของพระมหากษัตริย์อังกฤษหลายพระองค์ตั้งแต่คราวที่สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 10 เฉลิมพระนามนี้แก่พระเจ้าเฮนรีที่ 8 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1521[3] เป็นเหตุให้พระนางแคเธอรีนแห่งอารากอน พระมเหสีของพระองค์ ได้รับสถานะนี้ด้วยตามสิทธิของพระนางเอง[4] การเฉลิมพระนามดังกล่าวมีขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าเฮนรีเรื่อง แอสเซอร์ติโอเซปเทมซาตาเมนโทรัม (Assertio Septem Sacramentorum, "การปกป้องศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งเจ็ด") ซึ่งว่าด้วยการพิทักษ์ความศักดิ์สิทธิ์แห่งศีลสมรสและความสูงสุดของพระสันตะปาปา แต่เมื่อพระเจ้าเฮนรีทรงแตกหักกับคริสตจักรโรมันคาทอลิกเมื่อ ค.ศ. 1530 และสถาปนาพระองค์เองเป็นประมุขแห่งคริสตจักรแห่งอังกฤษ สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 ก็มีพระบัญชาให้เลิกพระนามที่เฉลิมให้นั้นไปเสีย เพราะทรงเห็นว่าพระเจ้าเฮนรีทรงประทุษร้ายแก่พระศาสนา และมีพระบัญชาให้ขับพระเจ้าเฮนรีออกจากศาสนจักรด้วย
อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. 1544 รัฐสภาแห่งอังกฤษก็ลงมติเฉลิมพระนาม "ผู้ปกป้องศรัทธา" ให้พระเจ้าเฮนรีและผู้สืบบัลลังก์ในรัชกาลต่อ ๆ มา เพราะถือว่าทรงเป็นผู้ปกป้องนิกายแองกลิกัน (ยกเว้นพระนางแมรีที่ 1)
ครั้นเมื่อโอลิเวอร์ ครอมเวล กับริชาร์ด ครอมเวล เถลิงอำนาจสาธารณรัฐในประเทศอังกฤษ แม้บุคคลทั้งสองจะอ้างว่าเป็นไปโดยพระคุณของพระเป็นเจ้าให้ปกครองบ้านเมืองเช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ก่อนหน้า แต่ก็มิได้ใช้สถานะ "ผู้ปกป้องศรัทธา" แต่ประการใด จนเมื่อมีการรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์อีกครั้ง สถานะดังกล่าวก็ได้รับการยกขึ้นใช้ใหม่ตราบปัจจุบัน
การใช้ในปัจจุบัน
[แก้]ในพระสถานะพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงได้รับการเฉลิมพระนามว่า "โดยพระคุณของพระเป็นเจ้า เอลิซาเบธที่ 2 สมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ตลอดทั้งราชอาณาจักรและดินแดนอื่น ๆ ของพระนาง พระประมุขแห่งเครือจักรภพ ผู้ปกป้องศรัทธา" (Elizabeth the Second, by the Grace of God, of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland and of Her other Realms and Territories Queen, Head of the Commonwealth, Defender of the Faith)
สร้อยพระนามว่า "ผู้ปกป้องศรัทธา" นั้นสื่อสำแดงว่า พระมหากษัตริย์มีพระสถานะเป็นพระประมุขคริสตจักรแห่งอังกฤษ และจึงเป็นผู้บังคับบัญชาอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีอย่างเป็นทางการ
อนึ่ง เหรียญกษาปณ์อังกฤษปรากฏอักษร "F D" หรือ "FID DEF" ซึ่งย่อมาจาก "Fidei Defensor" ด้วย อักษรเหล่านี้เพิ่มเข้าไปบนเหรียญเมื่อ ค.ศ. 1714 ระหว่างรัชกาลพระเจ้าจอร์จที่ 1 ครั้น ค.ศ. 1849 โรงกษาปณ์อังกฤษมีมติให้เลิกพิมพ์อักษรดังกล่าวและถ้อยคำอื่น ๆ ซึ่งเป็นสร้อยพระนามพระมหากษัตริย์ แต่สู้เสียงวิพากษ์วิจารณ์มิได้ ก็เลิกล้มไป[5]
แต่ในเอกสารส่วนใหญ่เกี่ยวกับประเทศอื่นในเครือจักรภพ นอกจากสหราชอาณาจักร ประเทศแคนาดา และประเทศนิวซีแลนด์ มักไม่เติมสร้อยพระนาม "ผู้ปกป้องศรัทธา" เช่น สำหรับประเทศออสเตรเลีย ออกพระนามสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ว่า "โดยพระคุณของพระเป็นเจ้า เอลิซาเบธที่ 2 สมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ตลอดทั้งราชอาณาจักรและดินแดนอื่น ๆ ของพระนาง พระประมุขแห่งเครือจักรภพ" ที่ประเทศแคนาดาเลือกคงสร้อยพระนาม "ผู้ปกป้องศรัทธา" ไว้มิใช่เพราะพระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์ศาสนาประจำชาติ (แคนาดาไม่มีศาสนาประจำชาติ) แต่เพราะถือว่าทรงอุปถัมภ์ศาสนาและลัทธิความเชื่อต่าง ๆ เป็นการทั่วไป ลุย แซ็งต์. โลรองต์ นายกรัฐมนตรีแคนาดา แถลงต่อสภาสามัญชนแคนาดาเมื่อ ค.ศ. 1953 ว่า
"มีคำถามที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนเกี่ยวกับการคงไว้ซึ่งถ้อยคำว่า 'ผู้ปกป้องศรัทธา' ในประเทศอังกฤษมีคริสตจักรประดิษฐานถาวร แต่ในประเทศเราไม่มีคริสตจักรประจำเช่นนั้น ทว่า ในประเทศเราก็มีผู้คนนับถือแนวทางแห่งโลกียวิสัยตามที่ศาสดาผู้รู้ผู้เล่าเรียนทั้งหลายได้กำหนดไว้ แล้วเราก็ให้รู้สึกว่า เป็นการดีมิใช่น้อยที่ฝ่ายบ้านเมืองจะประกาศว่าองค์การของเราเป็นเช่นนั้น คือ มีการพิทักษ์รักษาความเชื่อถือสืบ ๆ กันมาไว้ในอำนาจสูงสุดของเราอันบังคับบัญชากิจกรรมของคนธรรมดาสามัญทั้งหลาย และก็คงไม่มีผู้ใดที่เชื่อถือในสภาวะสูงสุดจะหาเหตุสมควรมาคัดค้านมิให้พรรณนาว่าองค์อธิปัตย์ผู้ทรงเป็นประมุขฝ่ายบ้านเมืองนั้นทรงเป็นอัครศาสนิกและผู้ปกป้องศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด"[6]
แต่เหรียญกษาปณ์แคนดาไม่ปรากฏถ้อยคำเกี่ยวกับพระสถานะผู้ปกป้องศรัทธาแต่ประการใด ปรากฏเพียงอักษร "D.G. Regina" ซึ่งย่อจาก "Dei Gratia Regina" (พระราชินีโดยพระคุณของพระเป็นเจ้า)
เมื่อฝ่ายไทยรับพระราชสมัญญานามดังกล่าวมาใช้ในระบบของไทย ข้อแตกต่างสำคัญจากในระบบเดิมคือ ฝ่ายไทยถือว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงศาสนาต่างๆ ทุกศาสนาที่พสกนิกรของพระองค์รับนับถือและที่ได้รับการรับรองโดยรัฐบาล เมื่อแปลออกเป็นภาษาอังกฤษจึงต้องใช้รูปเป็นพหูพจน์เพราะมีมากกว่าหนึ่งศาสนา และขณะเดียวกัน พร้อมกันกับที่ทรงทะนุบำรุงศาสนาอื่นๆ นั้น รัฐธรรมนูญและโบราณราชประเพณีก็กำหนดกำกับไว้ด้วยว่า พระมหากษัตริย์ไทยนั้น พระองค์เองต้องทรงเป็นพุทธมามกะ ส่วนในประเทศตะวันตกใน คำว่า Defender of the Faith ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์นั้นมุ่งหมายถึง ศาสนาเดียว คือคริสตศาสนา (ยกเว้นการตีความในแคนาดาในสมัยหลังดังกล่าวข้างบน ที่ถือว่า ทรงอุปถัมภ์ศาสนาและความเชื่อต่างๆ เป็นการทั่วไป)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (November 2007). "Constitution of the Kingdom of Thailand B.E 2550" (PDF). สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-08-31. สืบค้นเมื่อ 2012-11-07.
- ↑ "พระราชสถานะ". ประมวล รุจนเสรี. ม.ป.ป. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-20. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2555.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ http://www.britannica.com/EBchecked/topic/155661/defender-of-the-faith
- ↑ Antonia Fraser,The Wives of Henry VIII' page 95
- ↑ Stephen Appleton (September 2001). "Agnostic Coinage". Queensland Numismatic Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-29. สืบค้นเมื่อ 2007-08-21.
- ↑ "The rather more delicate question arose about the retention of the words, "Defender of the Faith". In England there is an established church. In our countries there are no established churches, but in our countries there are people who have faith in the direction of human affairs by an all-wise providence, and we felt that it was a good thing that the civil authorities would proclaim that their organisation is such that it is a defence of the continued beliefs in a supreme power that orders the affairs of mere men, and that there could be no reasonable objection from anyone who believed in the Supreme Being in having the sovereign, the head of the civil authority, described as a believer in and a defender of the faith in a supreme ruler."