อักกาเดเมียดีซันลูกา
ดูองค์การคล้ายคลึงกันที่ สมาคมช่างนักบุญลูกา
อักกาเดเมียดีซันลูกา หรือ วิทยาสถานนักบุญลูกา (อิตาลี: Accademia di San Luca; อังกฤษ: Academy of Saint Luke) เป็นสำนักจิตรกรของโรม ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1593 ภายใต้การนำของเฟเดริโค ซุคคาริ (Federico Zuccari) เพื่อเป็นการยกระดับงานของศิลปินจากการเป็นเพียง "ช่าง" ผู้ที่ร่วมก่อตั้งอีกสองคนคือจิโรลาโม มูซิอาโน (Girolamo Muziano) และเปียโร โอลิเวียริ (Pietro Olivieri) พระสันตะปาปาเป็นผู้อุปถัมภ์ มีอิทธิพลต่อการควบคุมของสถาบันในช่วงร้อยปีแรกของการก่อตั้ง สำนักตั้งชื่อตามนักบุญลูกาผู้นิพนธ์พระวรสาร ตำนานกล่าวกันว่าเป็นผู้วาดภาพเหมือนของพระนางมารีย์พรหมจารี ฉะนั้นนักบุญลูกาจึงกลายมาเป็นนักบุญผู้พิทักษ์จิตกรของสมาคมช่างนักบุญลูกา (Guild of Saint Luke) ที่กลายมาเป็นวิทยาสถานนักบุญลูกา (Accademia di San Luca)
ก่อนหน้าจะมาเป็นวิทยาสถานนักบุญลูกา ก็เป็น "Compagnia di San Luca" มาก่อน ซึ่งเป็นสมาคมของจิตรกรและจิตรกรหนังสือวิจิตรที่มีบทบัญญัติและสิทธิมานานก่อนหน้านั้นภายใต้สมเด็จพระสันตะปาปาซิกซ์ตุสที่ 4 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1478
ในปี ค.ศ. 1605 สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 5 ก็มอบสิทธิและอำนาจแก่สถาบันในการฉลองวันฉลองนักบุญลูกาและในการให้อภัยโทษต่อผู้ถูกกล่าวหาว่าผิด ในคริสต์ทศวรรษ 1620 สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 8 ก็เพิ่มสิทธิให้แก่สำนักในการตัดสินว่าผู้ใดมีสิทธิที่จะเป็นศิลปินในกรุงโรมได้ ต่อมาสถาบันตกอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของหลานของสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 8 พระคาร์ดินัลฟรันเชสโก บาร์เบรีนี (ผู้อาวุโส) (Francesco Barberini (seniore)) ผู้แต่งตั้งให้โจวันนี ฟรันเชสโก โรมาเนลลี (Giovanni Francesco Romanelli) เป็นผู้อำนวยการในปี ค.ศ. 1638[1] ต่อมาในปี ค.ศ. 1633 สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 8 ทรงมอบให้สำนักมีอำนาจในการเก็บภาษีจากศิลปินทุกคนรวมทั้งผู้ค้าขายศิลปะและมีเอกสิทธิ์ในการจ้างการเขียนภาพสำหรับโครงการสำหรับสารธารณชน สิทธิหลังนี้มีผู้ต่อต้านกันมากและไม่มีผลในการบังคับเท่าใดนัก[2]
ในช่วงเวลานี้พระสันตะปาปาก็มีอำนาจในการควบคุมและการเลือกผู้นำของสำนัก นักวิจารณ์สมัยใหม่กล่าวว่าเป็นสำนักที่โดยทั่วไปมีจุดประสงค์ที่จะเพิ่มการศึกษาให้แก่จิตรกร แต่ตามความเป็นจริงแล้วเป็นที่ควบคุมการแสดงออกทางศิลปะโดยสถาบันศาสนา[3] ผู้อำนวยการของสำนักมาจากจิตรกรคนสำคัญ ๆ ที่รวมทั้งโดเมนีโก ซัมปีเอรี และจัน โลเรนโซ แบร์นีนี แต่ก็มีจิตรกรคนสำคัญคนอื่น ๆ ที่มิได้รับการยอมรับเข้าเป็นสมาชิก
ปัญหาความขัดแย้งอื่น ๆ ภายในสถาบันก็รวมทั้งกรณีปีเอโตร ดา กอร์โตนา (Pietro da Cortona) อันเดรอา ซัชชี (Andrea Sacchi) มีความเห็นเกี่ยวกับจำนวนคนที่เหมาะสมที่ควรจะปรากฏในภาพ หรือกรณีกลุ่ม บัมบอชชันติ (Bamboccianti)[4] [[โจวันนี เบลโลรี ให้ปาฐกถาสำคัญในหัวเรื่องจิตรกรรมที่สำนัก เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 จิตรกรมาร์โก เบเนฟีอัล (Marco Benefial) วิจารณ์สำนักในฐานะคนภายนอก ได้รับเข้าเป็นสมาชิก และต่อมาถูกไล่ออกเพราะวิจารณ์สำนักในฐานะคนภายใน
สำนักยังคงมีบทบาทในปัจจุบัน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสำนักก็มีประติมากรรมของสมาชิกแต่ละคนแต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นเพียงภาพเขียน ในปัจจุบันสำนักตั้งอยู่ที่พาลัซโซคาร์เปนยาที่จตุรัสอักกาเดเมียดีซันลูกา และเป็นที่สะสมงานจิตรกรรมและประติมากรรมที่รวมทั้งภาพเหมือนประมาณ 500 ชิ้นและงานเขียนอื่น ๆ ที่รวมทั้งงานการวาดเส้น
อ้างอิง
[แก้]- Haskell, Francis (1993). "Ch 8". Patrons and Painters: Art and Society in Baroque Italy. 1980. Yale University Press. pp. 17–18.
- ↑ Haskell, p 53.
- ↑ Haskell, p 18.
- ↑ according to Peter Robb, biographer of the Baroque artist Caravaggio
- ↑ http://www.jstor.org/stable/3050166?seq=1#page_scan_tab_contents
ดูเพิ่ม
[แก้]- สมาคมช่างนักบุญลูกา (Guild of Saint Luke)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิทยาสถานนักบุญลูกา เก็บถาวร 2019-06-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- หอศิลป์สถาบันเซนต์ลูค