ออลต์ไรต์
ออลต์ไรต์ (อังกฤษ: alt-right) หรือ ออลเทอร์นาทิฟไรต์ (อังกฤษ: alternative right "ขวาทางเลือก") เป็นกลุ่มคนหลวม ๆ ที่มีอุดมการณ์ขวาถึงขวาจัดซึ่งปฏิเสธอนุรักษนิยมกระแสหลักในสหรัฐ นักนิยมความสูงสุดของคนผิวขาว (white supremacist) ริชาร์ด บี. สเปนเซอร์ (Richard B. Spencer) นำศัพท์นี้มาปรับใช้เพื่อนิยามการเคลื่อนไหวซึ่งมีศูนย์กลางที่ชาตินิยมผิวขาว (white nationalism) ในปี พ.ศ. 2553 และถูกกล่าวหามานับแต่นั้นว่ากระทำเพื่อกลบเกลื่อนความหมายโดยนัยเชิงลบของศัพท์คตินิยมเชื้อชาติ คตินิยมความสูงสุดของคนผิวขาว และลัทธินาซีใหม่อย่างเปิดเผยในสหรัฐ สเปนเซอร์อ้างโฆษณาชวนเชื่อนาซีและพูดวิจารณ์ชาวยิวบ่อยครั้ง แต่เขาปฏิเสธเป็นผู้นิยมนาซีใหม่ มีการอธิบายความเชื่อออลต์ไรต์ว่าเป็นคตินิยมความสูงสุดของคนผิวขาว บ่อยครั้งทับซ้อนกับการต่อต้านยิวและลัทธินาซีใหม่ ชาติภูมินิยม และความเกลียดกลัวอิสลาม การต่อต้านคตินิยมสิทธิสตรี และความเกลียดกลัวคนรักร่วมเพศ ชาตินิยมผิวขาว ประชานิยมฝ่ายขวา และขบวนการปฏิกิริยาใหม่ มโนทัศน์นี้ยังสัมพันธ์กับชาตินิยมอเมริกาหลายกลุ่ม กษัตริย์นิยมใหม่ ผู้สนับสนุนสิทธิบุรุษ และการรณรงค์หาเสียงของดอนัลด์ ทรัมป์ในปี พ.ศ. 2559 ด้วย
ศัพท์นี้ได้รับความสนใจและข้อพิพาทจากสื่อพอสมควรระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดี พ.ศ. 2559 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังทรัมป์แต่งตั้งสตีฟ แบนนอน ประธานไบรต์บาร์ตนิวส์ (Breitbart News) เป็นประธานบริหารการรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ในเดือนสิงหาคม แบนนอนเรียกไบรต์บาร์ตนิวส์ว่าเป็น "เวทีสำหรับออลต์ไรต์" ความสนใจของสื่อเพิ่มขึ้นหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมเพื่อเลี้ยงฉลองหลังการเลือกตั้งใกล้ทำเนียบขาว ซึ่งมีริชาร์ด สเปนเซอร์เป็นพิธีกร สเปนเซอร์ใช้คำพูดโฆษณาชวนเชื่อนาซีหลายคำระหว่างการประชุม และปิดท้ายด้วยการตะโกนว่า "เฮลทรัมป์ เฮลประชาชนของเรา เฮลชัยชนะ!" ผู้สนับสนุนสเปนเซอร์จำนวนหนึ่งสนองโดยทำความเคารพแบบนาซีคล้ายกับบทท่องซีกไฮล์ที่ใช้ในการชุมนุมมวลชนของนาซี สเปนเซอร์ปกป้องพฤติกรรมนี้ โดยแถลงว่าท่าความเคารพนาซีนั้นมีเจตนา "แฝงนัยประชดและสร้างความครื้นเครง" หลังจากเหตุการณ์นั้น สำนักข่าวเอพีอธิบายว่า ออลต์ไรต์ "เป็นชื่อที่ปัจจุบันนักนิยมความสูงสุดของคนผิวขาวและนักชาตินิยมผิวขาวบางส่วนรับมาใช้" และ "เป็นศัพท์ที่ไม่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปและอาจดำรงอยู่เป็นหลักในฐานะอุปกรณ์ประชาสัมพันธ์เพื่อทำให้ความเชื่อแท้จริงของกลุ่มผู้สนับสนุนมีความชัดเจนน้อยลงและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นสำหรับผู้ชมวงกว้าง" และกล่าวด้วยว่า "ในอดีตเราเคยเรียกความเชื่อดังกล่าวว่าคตินิยมเชื้อชาติ ลัทธินาซีใหม่ หรือคตินิยมความสูงสุดของคนผิวขาว"[1]
ออลต์ไรต์มีเหง้าในเว็บไซต์อย่างฟอร์แชน (4chan) และเอตแชน (8chan) ซึ่งสมาชิกนิรนามสร้างและใช้อินเทอร์เน็ตมีมเพื่อแสดงออก ยากจะบอกว่าสิ่งที่คนเขียนในพื้นที่เหล่านี้จริงจังมากเพียงใด และเจตนายั่วยุให้เกิดโทสะมากน้อยเพียงใด สมาชิกออลต์ไรต์หลายคนใช้เว็บไซต์อย่างทวิตเตอร์และไบรต์บาร์ตส่งสารของพวกตน การลงเนื้อหาต่าง ๆ ของออลต์ไรต์ส่วนใหญ่สนับสนุนดอนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งจากพรรคริพับลิกัน และคัดค้านการย้ายถิ่นเข้าประเทศ พหุวัฒนธรรมนิยม และความถูกต้องทางการเมือง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Daniszewski, John (November 26, 2016). "Writing about the 'alt-right'". Benac, Nancy (August 24, 2016). "Clinton sees Trump ties to "alt-right" dystopian ideology". Associated Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-15. สืบค้นเมื่อ 2017-01-06.