ข้ามไปเนื้อหา

อ็อทโท ฟ็อน บิสมาร์ค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ออตโต ฟอน บิสมาร์ค)
อ็อทโท ฟ็อน บิสมาร์ค
Otto von Bismarck
บิสมาร์คในปี 1881
นายกรัฐมนตรีจักรวรรดิเยอรมัน
ดำรงตำแหน่ง
21 มีนาคม 1871 – 20 มีนาคม 1890
กษัตริย์จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 1
จักรพรรดิฟรีดริชที่ 3
จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2
รองอ็อทโท ฟ็อน ชโตลแบร์ก-เวอร์นีเกอร์รอเดอ
คาร์ล ไฮน์ริช ฟ็อน เบิร์ททีเคอร์
ก่อนหน้าตำแหน่งใหม่
ถัดไปเลโอ ฟ็อน คาพรีวี
มุขมนตรีราชอาณาจักรปรัสเซีย
ดำรงตำแหน่ง
9 พฤศจิกายน1873 – 20 มีนาคม 1890
กษัตริย์วิลเฮ็ล์มที่ 1
ฟรีดริชที่ 3
วิลเฮ็ล์มที่ 2
ก่อนหน้าอัลเบร็ชท์ ฟ็อน โรน
ถัดไปเลโอ ฟ็อน คาพรีวี
ดำรงตำแหน่ง
23 กันยายน 1862 – 1 มกราคม 1873
กษัตริย์พระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 1
ก่อนหน้าโฮเอินโลเออ-อิงเงิลฟิงเงิน
ถัดไปอัลเบร็ชท์ ฟ็อน โรน
นายกรัฐมนตรีสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ
ดำรงตำแหน่ง
1 กรกฎาคม 1867 – 21 มีนาคม 1871
ประธานาธิบดีวิลเฮ็ล์มที่ 1
ก่อนหน้าตำแหน่งใหม่
ถัดไปล้มเลิกตำแหน่ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปรัสเซีย
ดำรงตำแหน่ง
23 พฤศจิกายน 1862 – 20 มีนาคม 1890
ก่อนหน้าอัลเบรชท์ ฟ็อน แบร์นชตอฟฟ
ถัดไปเลโอ ฟ็อน คาพรีวี
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด1 เมษายน ค.ศ. 1815
เชินเฮาเซิน มณฑลซัคเซิน
ราชอาณาจักรปรัสเซีย ราชอาณาจักรปรัสเซีย
(รัฐซัคเซิน-อันฮัลท์ในปัจจุบัน)
เสียชีวิต30 กรกฎาคม ค.ศ. 1898
(อายุ 83 ปี)
ฟรีดริชซรู รัฐชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์
 เยอรมนี
ศาสนาคริสต์นิกายลูเทอแรน
พรรคการเมืองไม่สังกัดพรรคการเมือง
คู่สมรสโยฮันนา ฟ็อน พุทท์คาเมอร์
(ค.ศ. 1847–94; เสียชีวิต)
บุตรมารี
แฮร์แบร์ท ฟ็อน บิสมาร์ค
วิลเฮ็ล์ม ฟ็อน บิสมาร์ค
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน
มหาวิทยาลัยฮุมโบลท์แห่งเบอร์ลิน
มหาวิทยาลัยไกร์ฟซวัลด์[1]
วิชาชีพนักกฎหมาย
ลายมือชื่อ

อ็อทโท ฟ็อน บิสมาร์ค (เยอรมัน: Otto von Bismarck) หรือชื่อเกิด อ็อทโท เอดูอาร์ท เลโอพ็อลท์ ฟ็อน บิสมาร์ค-เชินเฮาเซิน (เยอรมัน: Otto Eduard Leopold von Bismarck-Schönhausen) เป็นรัฐบุรุษและนักการทูตแห่งราชอาณาจักรปรัสเซียและจักรวรรดิเยอรมัน บิสมาร์คเป็นผู้นำทางการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุโรประหว่างทศวรรษ 1860 ถึง 1890 และดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกแห่งจักรวรรดิเยอรมันระหว่าง 1871 ถึง 1890

ประวัติ

[แก้]
บิสมาร์คขณะมีอายุ 21 ปี

อ็อทโท ฟ็อน บิสมาร์ค เกิดในปี 1815 ในตระกูลขุนนางของหมู่บ้านโชนเฮาเซิน มณฑลซัคเซิน ทางตะวันตกของกรุงเบอร์ลิน ราชอาณาจักรปรัสเซีย บิดาของเขาคือคาร์ล วิลเฮ็ล์ม แฟร์ดีนันท์ ฟ็อน บิสมาร์ค (Karl Wilhelm Ferdinand von Bismarck) มียศเป็นยุงเคอร์และเป็นอดีตนายทหารบกปรัสเซีย มารดาของเขาคือวิลเฮ็ล์มีเนอ ลูอีเซอ เม็นค์เคิน (Wilhelmine Luise Mencken) บุตรีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรุงเบอร์ลิน อ็อทโทมีพี่น้องจำนวนสองคน พี่ชายชื่อว่าแบร์นฮาร์ท (Bernhard) น้องสาวชื่อว่ามัลวีเนอ (Malwine)

ในปี 1816 ครอบครัวบิสมาร์คย้ายสำมะโนครัวไปพำนักอยู่ในเมืองคไนพ์โฮฟ มณฑลพ็อมเมิร์นตะวันออก ราชอาณาจักรปรัสเซีย (ปัจจุบันคือคอร์นาเซโว ประเทศโปแลนด์) ด้วยเหตุนี้ บิสมาร์คจึงเติบโตขึ้นมาในบ้านนอก แต่ก็ได้รับการศึกษาอย่างดีพร้อม บิสมาร์คสามารถพูดฝรั่งเศสและอังกฤษเกือบเหมือนเจ้าของภาษา สามารถพูดภาษาอิตาลีได้บ้าง นอกจากนี้เขายังเป็นไม่กี่คนในกระทรวงการต่างประเทศที่สามารถเข้าใจภาษารัสเซีย[2]

บิสมาร์คศึกษานิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเกิททิงเงินระหว่างปี 1832–1833 แล้วจึงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลินระหว่างปี 1833–1835 นอกจากนี้ ในปี 1838 เขายังเข้าศึกษาเกษตรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยไกรฟ์วัลท์ ระหว่างทำหน้าที่เป็นทหารกองหนุนประจำเมืองดังกล่าวอีกด้วย[3]

งานการเมือง

[แก้]

ในปี 1862 พระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 1 แห่งปรัสเซีย ทรงแต่งตั้งบิสมาร์คเป็นมุขมนตรีแห่งปรัสเซีย ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งนี้จนถึงปี 1890 เขานำพาปรัสเซียเข้าสู่สงครามสามครั้งอันได้แก่ สงครามชเลสวิชครั้งที่สอง, สงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย และสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย และได้รับชัยชนะในสงครามทั้งสาม หลังชนะในสงครามกับออสเตรีย บิสมาร์คได้ยุบสมาพันธรัฐเยอรมันทิ้ง และจัดตั้งสมาพันธรัฐเยอรมันเหนืออันมีปรัสเซียเป็นแกนนำขึ้นมาแทน ศูนย์อำนาจทางการเมืองของยุโรปภาคพื้นทวีปได้ย้ายจากกรุงเวียนนาของออสเตรียไปยังกรุงเบอร์ลินของปรัสเซีย และเมื่อปรัสเซียมีชัยชนะเหนือฝรั่งเศสแล้ว บิสมาร์คก็ได้สถาปนาสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือขึ้นเป็นจักรวรรดิเยอรมัน โดยทูลเชิญจพระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 1 ขึ้นดำรงตำแหน่งจักรพรรดิเยอรมันพระองค์แรกในปี 1871 บิสมาร์คจึงกลายเป็นทั้งหัวหน้าฝ่ายบริหารของปรัสเซียและจักรวรรดิเยอรมัน

ความสำเร็จในการรวมชาติเยอรมันในปี 1871 บิสมาร์คได้ใช้ทักษะทางการทูตของเขารักษาดุลอำนาจของเยอรมันในยุโรปไว้ บิสมาร์คได้อุทิศตนเองในการพยายามรักษาสันติภาพในบรรดามหาอำนาจเป็นเวลากว่าสองทศวรรษ อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่เยอรมันผนวกแคว้นอาลซัส-ลอแรนมาจากฝรั่งเศส ได้จุดชนวนขบวนการชาตินิยมขึ้นในฝรั่งเศส การเรืองอำนาจของเยอรมันทำให้เกิดภาวะ "โรคกลัวเยอรมัน" (Germanophobia) ขึ้นในฝรั่งเศส[4] เป็นความครุกครุ่นก่อนปะทุเป็นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

นโยบาย realpolitik ของบิสมาร์คประกอบกับบารมีที่มากล้นของเขาทำให้บิสมาร์คได้รับสมญาว่า นายกฯ เหล็ก ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดดของเยอรมันถือเป็นรากฐานของนโยบายเหล่านี้ บิสมาร์คเป็นคนไม่ชอบการล่าอาณานิคมแต่เขาก็จำยอมฝืนใจต้องสร้างจักรวรรดิอาณานิคมเยอรมันขึ้นจากเสียงเรียกร้องของบรรดาชนชั้นนำและมวลชนในจักรวรรดิ บิสมาร์คมีชั้นเชิงทางการทูตชนิดหาตัวจับได้ยาก เขาเล่นกลการเมืองด้วยการจัดการประชุม การเจรจา และการร่วมเป็นพันธมิตรที่สอดประสานกันอย่างซับซ้อนหลายครั้งเพื่อถ่วงดุลอำนาจในทวีปยุโรปให้เกิดสันติสุขตลอดช่วงคริสต์ทศวรรษ 1870 และ 1880 ได้สำเร็จ

บิสมาร์ค, โรน และม็อลท์เคอ สามผู้นำของปรัสเซียในทศวรรษที่ 1860

ไม่เพียงด้านการทูตและการต่างประเทศเท่านั้น บิสมาร์คยังเป็นปรมาจารย์ด้านการเมืองในประเทศ เขาริเริ่มรัฐสวัสดิการเป็นครั้งแรกในโลกสมัยใหม่ มีเป้าหมายเพื่อดึงการสนับสนุนของมวลชนจากชนชั้นแรงงาน ซึ่งมิเช่นนั้นแล้วมวลชนเหล่านี้อาจไปเข้าร่วมกับสังคมนิยมซึ่งเป็นศัตรูของเขาได้[5] ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1870 เขาเข้าเป็นพันธมิตรกับเสรีนิยม (ผู้นิยมอัตราภาษีศุลกากรระดับต่ำและต่อต้านคาทอลิก) และต่อสู้กับศาสนจักรคาทอลิกที่ซึ่งถูกขนานนามว่า การต่อสู้ทางวัฒนธรรม (Kulturkampf) แต่ลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ ศาสนจักรตอบโต้ด้วยการจัดตั้งพรรคกลาง (Zentrumspartei) อันทรงพลังและใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปของชายเพื่อให้ได้ที่นั่งในไรชส์ทาค ด้วยเหตุนี้บิสมาร์คจึงกลับลำ ล้มเลิกปฏิบัติการคุลทูร์คัมพฟ์ ตัดขาดกับฝ่ายเสรีนิยม กำหนดภาษีศุลกากรแบบคุ้มกัน และร่วมเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับพรรคกลางเพื่อต่อกรกับฝ่ายสังคมนิยม

บิสมาร์คเป็นผู้เลื่อมใสศรัทธาในนิกายลูเทอแรนอย่างมาก จึงจงรักภักดีต่อกษัตริย์ของตนผู้ซึ่งมีทัศนะขัดแย้งกับเขา แต่ท้ายที่สุดก็ทรงโอนอ่อนและสนับสนุนเขาจากคำแนะนำของพระมเหสีและพระรัชทายาท ในขณะนั้นที่ประชุมใหญ่ไรชส์ทาคมาจากเลือกตั้งแบบสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปของชายชาวเยอรมัน แต่ไรชส์ทาคไม่มีอำนาจควบคุมนโยบายของรัฐบาลมากนัก บิสมาร์คไม่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยจึงปกครองผ่านระบบข้าราชการประจำที่แข็งแกร่งและได้รับการฝึกฝนมาดีในอุ้งมือของอภิชนยุงเคอร์เดิมซึ่งประกอบด้วยขุนนางเจ้าที่ดินในปรัสเซียตะวันออก ในรัชกาลจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 1 เขาเป็นผู้ควบคุมกิจการในประเทศและต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ จนเมื่อจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 ถอดเขาจากตำแหน่งในปี 1890 เมื่อเขาอายุได้ 75 ปี

บุคลิก

[แก้]

บิสมาร์คผู้เป็นขุนนางระดับ ยุงเคอร์ (ท่านชายน้อย) มีบุคลิกเด่นคือหัวรั้น ปากกล้า และบางครั้งเอาแต่ใจ แต่ในขณะเดียวกันก็สุภาพ มีเสน่ห์ และมีไหวพริบด้วยเช่นกัน ในบางโอกาสเขาก็เป็นคนที่มีอารมณ์รุนแรง บิสมาร์ครักษาอำนาจของเขาด้วยการเล่นละครแสดงบทบาทอ่อนไหวพร้อมขู่ว่าจะลาออกจากตำแหน่งอยู่ซ้ำ ๆ ซึ่งมักจะทำให้จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 1 ทรงเกรงกลัว นอกจากนี้บิสมาร์คไม่เพียงแต่มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับกิจการภายในและต่างประเทศอันยาวไกลเท่านั้น แต่ยังมีทักษะที่สามารถเล่นกลทางการเมืองเพื่อแทรกแซงสถานการณ์อันซับซ้อนที่กำลังดำเนินไปในระยะสั้นได้ด้วย จนกลายเป็นผู้นำที่ถูกนักประวัติศาสตร์ขนานนามว่าเป็น "ฝ่ายอนุรักษนิยมสายปฏิวัติ" (revolutionary conservatism)[6] สำหรับนักชาตินิยมเยอรมัน บิสมาร์คคือวีรบุรุษของพวกเขา มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์ของบิสมาร์คหลายแห่งเพื่อเชิดชูเกียรติผู้ก่อตั้ง ไรซ์ ยุคใหม่ นักประวัติศาสตร์หลายคนเองก็ชื่นชมเขาในฐานะผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลซึ่งมีส่วนสำคัญในการรวมชาติเยอรมันเป็นหนึ่งเดียวและช่วยให้ยุโรปดำรงสันติภาพเอาไว้ได้ผ่านการทูตอันชาญฉลาด

เกียรติยศ

[แก้]

บรรดาศักดิ์

[แก้]

บรรดาศักดิ์

[แก้]
ตราอาร์มเจ้าฟ้าแห่งบิสมาร์ค
  • 15 กันยายน 1865: กราฟแห่งบิสมาร์ค-เชินเฮาเซิน(Graf von Bismarck-Schönhausen)[7]
  • 21 มีนาคม 1871: เจ้าฟ้าแห่งบิสมาร์ค(Fürst von Bismarck)[8]
  • 20 มีนาคม 1890: ดยุกแห่งเลาเอินบวร์ค(Herzog zu Lauenburg)[9]

มีการสถาปนายศ กราฟแห่งบิสมาร์ค-เชินเฮาเซิน และมอบให้แก่บิสมาร์คในปี 1865 ต่อมาเขาได้เลื่อนยศเป็น เจ้าฟ้าแห่งบิสมาร์ค ในปี 1871 ซึ่งเป็นการยกสถานะจากขุนนางขึ้นเป็นเจ้า

บิสมาร์คมองว่าตนเองทำคุณงามความดีมากมายเหลือเกินต่อจักรวรรดิ ยศถาที่ได้เขารับยังไม่สมกับคุณงามความดีดังกล่าว เขาจึงทูลขอตำแหน่งดยุกผู้ครองซัคเซิน-เลาเอินบวร์ค อันเป็นยศขุนนางสืบตระกูล อย่างไรก็ตาม จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มไม่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว ทรงมองว่าพระองค์ตอบแทนบิสมาร์คมากพอแล้ว และมองบิสมาร์คพยายามรื้อฟื้นระบอบแว่นแคว้นในแผ่นดินปรัสเซีย ยามที่บิสมาร์คถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจักรวรรดิในปี 1890 เขาได้รับพระราชทานยศ ดยุกแห่งเลาเอินบวร์ค อันเป็นยศประดับเกียรติเท่านั้น ไม่มีอำนาจปกครองดินแดน[10]

ยศทหาร

[แก้]
  • 12 สิงหาคม 1841: ร้อยตรี(Sekondleutnant)[11]
  • 18 พฤศจิกายน 1854: ร้อยโท(Premierleutnant)[11]
  • 28 ตุลาคม 1859: ร้อยเอกกิตติมศักดิ์(Charakter als Rittmeister)[11]
  • 18 ตุลาคม 1861: พันตรีกิตติมศักดิ์(Charakter als Major)[11]
  • 10 กันยายน 1866: พลตรี(Generalmajor)[11]
  • 18 มกราคม 1871: พลโท(Generalleutnant)[11]
  • 22 มีนาคม 1876: พลเอกทหารม้า(General der Kavallerie)[11]
  • 20 มีนาคม 1890: พลเอกอาวุโสทหารม้าในอัตราจอมพล(Generalobersten der Kavallerie mit dem Range eines Generalfeldmarschalls)[11]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Steinberg, Jonathan. Bismarck: A Life. p. 51. ISBN 9780199782529.
  2. Lowe, Charles (2005). Prince Bismarck: An Historical Biography With Two Portraits. Kessinger Publishing. pp. 538–40. ISBN 978-1-4191-8003-3. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 October 2015. สืบค้นเมื่อ 1 July 2015. French he speaks with the purity and fluency almost of a native, and the same may be said of his English. [...] Not so fluent is the Chancellor's Italian as his French, but yet he can read the journals of Rome. [...] Once, too, he boasted that he was 'about the only man in the Foreign Office who understands Russian'—a language which he [...] acquired during his residence at St. Petersburg. [...] And not only did he master Russian, but he also learned Polish to a degree enabling him to make himself understood.
  3. Steinberg, Jonathan (2011). Bismarck: A Life. p. 51. ISBN 978-0-19-978252-9. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 July 2021. สืบค้นเมื่อ 3 October 2020.
  4. Hopel, Thomas (23 August 2012) "The French-German Borderlands: Borderlands and Nation-Building in the 19th and 20th Centuries"
  5. Steinberg, 2011, pp.8, 424, 444; Bismarck specifically referred to Socialists, among others, as "Enemies of the Reich".
  6. Hull, Isabel V. (2004). The Entourage of Kaiser Wilhelm II, 1888–1918. p. 85. ISBN 9780521533218.
  7. ガル 1988, p. 430.
  8. ガル 1988, p. 588.
  9. DEUTSCHES HISTORISCHES MUSEUM(ドイツ語)
  10. "A Veteran Diplomat" (27 September 1908). "The "Mediatized" – or the "High Nobility" of Europe; Consisting of Something Like Fifty families Which Enjoyed Petty Sovereignty Before the Holy Roman Empire's Overthrow, They Still Exercise Certain Special Privileges Mixed with Unusual Restrictions". The New York Times.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 11.6 11.7 Zeno.org(ドイツ語)