ข้ามไปเนื้อหา

ออกญาโกษาธิบดี (จีน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ออกญาโกษาธิบดี (จีน)
เสนาบดีกรมพระคลัง
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2246 – พ.ศ. 2273
กษัตริย์สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี
สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ
ก่อนหน้าเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)[2]
ถัดไปออกญาพระคลัง (จีน)[note 1]
(พ.ศ. 2273 – 2276)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เสียชีวิตกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
เชื้อชาติไทยเชื้อสายจีน

ออกญาโกษาธิบดี (จีน) เป็นเสนาบดีกรมพระคลังในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือถึงสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และเคยเป็นแม่ทัพไปตีเมืองกัมพูชา

ประวัติ

[แก้]

ประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ กล่าวถึง ออกญาโกษาธิบดี (จีน) ว่า :-

เจ้าพระยาพระคลังคนนี้เป็นคนที่พระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคต [สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี] โปรดปรานมาก และพระเจ้ากรุงสยามองค์ปัจจุบัน [สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ] ก็เดินตามรอยพระราชบิดา ก็โปรดมากเหมือนกัน แต่การที่พระยาพระคลังทําตามใจจีนผู้เป็นบริษัทฮอลันดาทุกประการนั้น จึงเป็นการกระทําให้ความคิดของท่านเป็นที่ติดขัดไปหมด[4]: 195 

เมื่อสมเด็จพระเจ้าท้ายสระขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ พระองค์มอบงานราชการบ้านเมืองส่วนใหญ่ให้ออกญาโกษาธิบดีเป็นคนจัดการ ออกญาโกษาธิบดีจึงใช้เส้นสายของตนแต่งตั้งคนจีนให้รับราชการในตำแหน่งที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการค้า[5]

บันทึกของมองเซนเยอร์ เดอซีเซ เขียนเมื่อ พ.ศ. 2257 กล่าวถึงออกญาโกษาธิบดี (จีน) รัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระว่า :-

เจ้าพระยาพระคลังได้คิดอุบายหาผู้หญิงจีนเข้าไปไว้ในพระราชวังเพื่อให้คอยรับใช้พระมเหษี และเจ้านายผู้หญิง ส่วนราชการฝ่ายหน้านั้นตําแหน่งใดที่เป็นตําแหน่งสําคัญ ๆ เจ้าพระยาพระคลังก็ตั้งให้พวกจีนเข้ารับตําแหน่งนั้น ๆ และตําแหน่งหน้าที่ที่เกี่ยวด้วยการค้าขาย เจ้าพระยาพระคลังก็ตั้งให้พวกจีนเป็นหัวหน้า เพราะฉนั้นในเวลานี้การค้าขายในเมืองไทยจึงตกอยู่ในมือพวกจีนทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าพวกไทย มอญ แขก มลายู แขก มัว ไม่พอใจอย่างยิ่งในการที่ไทยลําเอียงเข้าข้างจีนเช่นนี้ก็ไม่กล้าพูดจาคัดค้านอย่างใด เพราะทราบอยู่ว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงฟังเสียงพวกจีนโดยเจ้าพระยาพระคลังเป็นสาย[4]: 196 [6]: 25 

ในปี ค.ศ. 1717 (พ.ศ. 2260) ได้รับพระราชโองการเป็นแม่ทัพเรือเดินทางไปตีเมืองพุทไธมาศของกัมพูชา ที่กำลังเกิดความวุ่นวายขึ้น พร้อมกับออกญาจักรีบ้านโรงฆ้องที่เป็นแม่ทัพบก แต่ด้วยไม่ชำนาญการศึกสงคราม ออกญาโกษาธิบดีจึงถูกกองทัพญวนและเขมรตีแตกพ่ายกลับมา พระเจ้าท้ายสระลงโทษให้ชดใช้อาวุธปืน กระสุนปืน และดินประสิว

ออกญาโกษาธิบดีจีนน่าจะได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาหลังจากนั้น ดังที่ปรากฏหลักฐานคือสนธิสัญญาที่สยามกับสเปนใน ค.ศ. 1718 (พ.ศ. 2261) กล่าวถึง "เจ้าพระยาพระคลัง" (chupahya barcalam)"[7]: 70  เช่นเดียวกับจดหมายที่โกษาธิบดีส่งไปถึงผู้สำเร็จราชการเมืองปัตตาเวียในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1719 (พ.ศ. 2262) ระบุบรรดาศักดิ์ของตนเองว่า "เจ้าพระยาศรีธรรมราชเดชะชาติอำมาตยานุชิตพิพิทรัตนราชโกษาธิบดีอภัยพิริยบรากรมภาหุ เจ้าพระยาพระคลัง (Sjopia Seri Dermaraat Ditsjat Tsjaat Amaat Tiaansjat Pipit Ratna Raat Kosa Tabdie Apia Piri Brakarma Pahok Tsjopia Berkelang)"[8][9]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2264 พระเจ้าท้ายสระมีรับสั่งให้ออกญาโกษาธิบดีต่อเรือกำปั่นทอดสมออยู่ ณ วัดมเหยงคณ์ โดยใช้เวลา 5 เดือนจึงแล้วเสร็จเพื่อบรรทุกช้างส่งไปขายที่อินเดียตามความในพระราชพงศาวดารว่า

ทรงพระกรุณาตรัสสั่งโกษาธิบดีให้ต่อกำปั่น 3 หน้า ปากกว้าง 6 วา แล้วทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้ติดสมอ ณ วัดมเหยงคณ์ต่อกำปั่น 5 เดือนเศษจึ่งสำเร็จแล้ว ๆ ให้ใช้ใบออกไปณเมืองมฤท แล้วให้ประทุกช้างออกไปจำหน่าย ณ เมืองเทศ 40 ช้าง

ออกญาโกษาธิบดี (จีน) ถูกปลดออกจากตำแหน่งเสนาบดีกรมพระคลัง เมื่อ พ.ศ. 2273 รัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระปรากฏใน จดหมายเหตุของสังฆราชเตเซียเดอเคราเลว่าด้วยไทยกดขี่บีบคั้นคณะบาทหลวง[10]: 100–102 

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

ในละครพีเรียดอิงประวัติศาสตร์เรื่องพรหมลิขิต มีการกล่าวถึงออกญาโกษาธิบดี (จีน) ซึ่งผู้ที่รับบทนี้คือ ชาย-ชาตโยดม หิรัณยัษฐิติ

อ้างอิง

[แก้]
หมายเหตุ
  1. ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวถึง กบฏจีนนายก่ายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่า :- "การก่อกบฏของจีนในครั้งนี้อาจเกิดขึ้นจากการที่ชาวจีนซึ่งได้ดำรงตำแหน่งพระคลังในสมัยพระเจ้าท้ายสระถูกปลดเมื่อพระเจ้าบรมโกศขึ้นครองราชย์ เพราะพระยาพระคลังผู้นั้นสนับสนุนและฝักใฝ่อยู่ข้างเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์"[3]: 117 
เชิงอรรถ
  1. มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. (2536). ขุนนางอยุธยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 298 หน้า. ISBN 974-571-896-3
  2. บริหารเทพธานี, พระ. (2496). พงศาวดารชาติไทย เล่ม 5. พระนคร: ส.ธรรมภักดี. หน้า 486.
  3. นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2547). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ: มติชน. 615 หน้า. ISBN 978-974-3-23056-1
  4. 4.0 4.1 กรมศิลปากร. (2506). ประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๙. พระนคร: ก้าวหน้า. 580 หน้า.
  5. Jurairat N. (2566, 31 ตุลาคม). ประวัติ พระยาโกษาธิบดีจีน ผู้ทรงอิทธิพลของชาวจีนในสมัยอยุธยา. Sanook.com. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2566.
  6. ชัย เรืองศิลป์. (2517). ประวัติศาสตร์ไทย สมัย ๒๓๕๒-๒๔๕๓ ตอนที่ ๑ ด้านสังคม. กรุงเทพฯ: บ้านเรืองศิลป์.
  7. FERDINAND C. LLANES. (2009). "DROPPING ARTILLERY, LOADING RICE AND ELEPHANTS: A SPANISH AMBASSADOR IN THE COURT OF AYUDHYA IN 1718", New Zealand Journal of Asian Studies, 11(1). (June 2009).
  8. "Letter from the Chaophraya Phrakhlang on behalf of King Thai Sa (r. 1709-1733) to the Supreme Government in Batavia, before March 1719, and the answer from Batavia, 18 August 1719 เก็บถาวร 2023-11-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", DAILY JOURNALS OF BATAVIA, 31 MARCH 1719. Treasures from the the 17th and 18th VOC archive. Arship Nasional Republik Indonesia. Retrieved 23 Nov 2023.
  9. วิพากษ์ประวัติศาสตร์. (2019, 27 พฤศจิกายน). โกษาธิบดีจีน - อิทธิพลชาวจีนในรัชกาลพระเพทราชาถึงพระเจ้าท้ายสระ...[โพสต์และรูปประกอบ]. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2566. จาก Facebook @WipakHistory.
  10. "จดหมายเหตุของสังฆราชเตเซียเดอเคราเลว่าด้วยไทยกดขี่บีบคั้นคณะบาทหลวง เมื่อ พ.ศ. 2273", ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๒๒ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๖(ต่อ) ๓๗ และ ๓๘) เรื่อง จดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส ภาคที่ ๔ ตอน แผ่นดินพระเจ้าเสือ และพระเจ้าท้ายสระ. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2511. 312 หน้า.