ข้ามไปเนื้อหา

ออกญากรมไวย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ออกญากรมไวย เป็นหัวหน้าทหารอาสาญี่ปุ่นและขุนนาง ถูกประหารด้วยข้อหากบฏ ครั้นสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชย์[1]

ปูมหลัง

[แก้]

กบฏญี่ปุ่น เกิดขึ้นสมัยพระเจ้าทรงธรรม เมื่อ พ.ศ. 2155 มีชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าขายเป็นจำนวนมาก สมัยอยุธยาตอนต้นถึงสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ปรากฏมีพ่อค้าชาวเอเชียเข้ามาตั้งร้านค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ทั้งจีน อินเดีย อาหรับ มลายู ขอม ลาว พม่า มอญ จาม ชวา

ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ชาวยุโรปเริ่มเข้ามาติดต่อสัมพันธ์ เป็นที่ทราบกันว่า ยุโรปชาติแรกที่เข้ามาคือ โปรตุเกส ตามมาด้วยฮอลันดาในสมัยสมเด็จพระนเรศวร และสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถได้ทำการเปิดสถานีการค้าเป็นครั้งแรก ก่อนจะปิดลงชั่วคราวในสมัยพระเจ้าทรงธรรม

โดยการเข้ามาของชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก นอกจากกรุงศรีอยุธยาจะได้ประโยชน์ทางพาณิชย์ และการค้าขายแลกเปลี่ยน อยุธยายังได้รับวิทยาการสมัยใหม่อีกมากมาย นอกจากนี้ อยุธยายังตั้งชาวต่างชาติเป็นขุนนางฝ่ายชำนาญการ ซึ่งจะทวีบทบาทในราชสำนัก นำสู่การเกิด “กบฏต่างชาติ” ในเวลาต่อมา รวมทั้งเกิดกองทหารอาสาจากชาติต่าง ๆ เช่น ทหารอาสาฝรั่งเศส ทหารอาสามอญ ทหารอาสาญี่ปุ่น เป็นต้น ญี่ปุ่นได้เข้ามาติดต่อทางการทูตกับอยุธยาอย่างเป็นทางการในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ แต่ก่อนหน้านี้เชื่อว่า คงมีกลุ่มพ่อค้าญี่ปุ่นเข้ามาทำการค้าขาย

พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้บันทึกช่วงแรกของการเป็นกษัตริย์ของพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งเกิดความวุ่นวายจากเหตุการณ์กบฏญี่ปุ่นเอาไว้ว่า

“ครั้งนั้นญี่ปุ่นเข้ามาค้าขายหลายลำ ญี่ปุ่นโกรธว่าเสนาบดีมิได้เป็นธรรม คบคิดเข้าด้วยพระพิมลฆ่าพระมหากษัตริย์เสีย ญี่ปุ่นคุมกันได้ประมาณ 500 ยกเข้ามาในท้องสนามหลวง คอยจะกุมเอาพระเจ้าอยู่หัว อันเสด็จออกมาฟังพระสงฆ์บอกหนังสือ ณ พระที่นั่งจอมทองสามหลังขณะนั้นพอพระสงฆ์วัดประดู่โรงธรรมเข้ามา 8 รูป พาเอาพระองค์เสด็จออกมาต่อหน้านี้ญี่ปุ่น ครั้นพระสงฆ์พาเสด็จไปแล้วญี่ปุ่นร้องอื้ออึงขึ้นว่า จะกุมเอาพระองค์แล้วเป็นไรจึงนิ่งเสียเล่า ญี่ปุ่นทุ่มเถียงเป็นโกลาหล ฝ่ายพระมหาอำมาตย์คุมพลได้ แลไล่รบญี่ปุ่นล้มตายเป็นอันมาก ญี่ปุ่นแตกไปจากพระราชวังลงสำเภาหนี”

เหตุการณ์ประหาร

[แก้]

เอกสารของตุรแปง ระบุว่า

“ตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ออกญากรมนายไวย ขุนนางท่านหนึ่งคิดก่อการกบฏ เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชย์จึงให้ประหารชีวิตออกญากรมนายไวย การประหารครั้งนั้นทำให้ชาวญี่ปุ่นภายใต้การบังคับบัญชาออกญากรมนายไวยจำนวน  280 คน ไม่พอใจจึงยกพวกพากันเข้าไปในพระราชวัง เข้าคุมตัวพระเจ้าทรงธรรมไว้ จากนั้นก็เรียกร้องให้ส่งตัวข้าราชการผู้ใหญ่ 4 คนที่มีส่วนประหารออกญากรมนายไวย ทางฝ่ายอยุธยายินยอม พวกญี่ปุ่นจึงนำตัวขุนนางทั้ง 4 ไปประหารชีวิต ภายหลังพระเจ้าทรงธรรมทรงเจรจากับพวกญี่ปุ่นเหล่านี้ได้ ทรงอนุญาตให้พวกญี่ปุ่นกลุ่มนี้ออกจากอยุธยา ส่วนพวกญี่ปุ่นขอนำพระสงฆ์จำนวน 3-4 รูปไปเป็นตัวประกันในการออกจากอยุธยา ระหว่างทางพวกญี่ปุ่นอาละวาดปล้นสะดมบ้านเรือนราษฎรฉวยทรัพย์สมบัติไปจำนวนมาก แถมยังกำเริบเข้ายึดเมืองเพชรบุรี แต่ในปีเดียวกัน พระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯ ให้ทัพอยุธยายกไปปราบ และขับไล่ชาวญี่ปุ่นออกจากเพชรบุรีได้สำเร็จ”

อ้างอิง

[แก้]
  1. ""กบฏต่างชาติ" ในกรุงศรีอยุธยา แขก-ญี่ปุ่น บุกรุกถึงวังหลวง". ศิลปวัฒนธรรม.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • จิตรสิงห์ ปิยะชาติ. กบฏกรุงศรีอยุธยา. พิมพ์ครั้งที่ 3. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2562