อนินทิตา อาขุบุตร
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
คุณหญิง อนินทิตา อาขุบุตร | |
---|---|
เกิด | เสงี่ยม นาวีเสถียร 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2448 ตำบลท่าโรงยาเก่า จังหวัดพระนคร อาณาจักรสยาม |
เสียชีวิต | 13 สิงหาคม พ.ศ. 2507 (59 ปี) โรงพยาบาลศิริราช จังหวัดธนบุรี ประเทศไทย |
ชื่ออื่น | อนินทิตา นาวีเสถียร |
อาชีพ | นักแสดง |
คู่สมรส | เนื่อง อาขุบุตร (พ.ศ. 2474–2507) |
บิดามารดา | พระยานาวีวราสา (ยืน นาวีเสถียร) คุณหญิงแดง นาวีวราสา |
คุณหญิงอนินทิตา อาขุบุตร นามเดิม เสงี่ยม นาวีเสถียร (27 กรกฎาคม พ.ศ. 2448 — 15 สิงหาคม พ.ศ. 2507) เป็นนางละครและนักแสดงหญิงชาวไทย เป็นที่รู้จักในฐานะนักแสดงหญิงคนแรกของสยามจากภาพยนตร์เรื่อง นางสาวสุวรรณ (2466) ภายหลังเธอได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า อนินทิตา
ประวัติ
[แก้]ประวัติตอนต้น
[แก้]คุณหญิงอนินทิตา เกิดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2448 มีนามเดิมว่า เสงี่ยม นาวีเสถียร เป็นบุตรคนที่สองของเสวกโท พระยานาวีวราสา (ยืน นาวีเสถียร) กับคุณหญิงแดง นาวีวราสา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาอีก 7 คน ในวัยเด็กได้เข้าศึกษากับครูชื่อนายเปลี่ยนและนายนาก ซึ่งเป็นน้า ต่อมาบิดาจึงฝากตัวเธอเรียนรำละครกับพระนมทัต พึ่งบุญ ณ อยุธยา จากนั้นจึงเข้าไปอยู่ในวังและฝึกรำละครกับท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา)
ในปี พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งละครหลวงฝ่ายหญิงขึ้นในราชสำนัก และทรงพระกรุณาให้บรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่นำธิดาของตนมาถวายตัวเข้าอยุ่ในสังกัดละครหลวงดังกล่าว ในเวลานั้นพระยานาวีวราสานำนางสาวเสงี่ยมไปเฝ้าฯ ถวายตัวอยู่ในละครหลวง และได้รับเงินเดือนพระราชทาน เดือนละ 6 บาท, 8 บาท และ 15 บาท ตามลำดับ
การแสดงภาพยนตร์
[แก้]อนินทิตาได้รับการคัดเลือกให้แสดงภาพยนตร์ เรื่อง นางสาวสุวรรณ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกของไทย อำนวยการสร้าง เขียนบท และกำกับโดยเฮนรี แมคเร ชาวสหรัฐอเมริกา เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย โดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวง และกรมมหรสพหลวงอำนวยความสะดวกในการถ่ายทำ โดยภาพยนตร์เข้าฉายที่สหรัฐก่อนแล้วหลังจากนั้นจึงเข้าฉายในประเทศไทย แต่เมื่อฉายไปได้ 3 วันฟิล์มก็ได้สูญหายไป
พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเสงี่ยมเป็นที่นางพระกำนัล และได้รับพระราชทานนามใหม่จาก เสงี่ยม เป็น อนินทิตา และอนินทิตาก็สนองพระเดชพระคุณต่อจนสิ้นรัชกาล
หลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 6 อนินทิตาเป็นหนึ่งในพระพี่เลี้ยงที่ทำหน้าที่ในการอภิบาลสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] และอนินทิตายังได้รับพระราชทานเงินเลี้ยงชีพตามที่มีรายชื่ออยู่ในพระราชพินัยกรรมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เดือนละ 120 บาท ตลอดมา จนกระทั่งออกจากวังเพื่อทำการสมรสกับพลตำรวจตรี เนื่อง อาขุบุตร เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 จึงได้งดจ่ายเงินดังกล่าว
ชีวิตส่วนตัว
[แก้]อนินทิตาสมรสกับพลตำรวจตรี เนื่อง อาขุบุตร บุตรของรองอำมาตย์โท หลวงประชากรบริรักษ์ (เจิม อาขุบุตร) และเผื่อน ประชากรบริรักษ์[2] เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประกอบพิธีสมรสประทานที่วังวรดิศ ทั้งสองมีบุตร-ธิดาด้วยกันทั้งหมด 7 คน ได้แก่
- พันตำรวจเอก อานนท์ อาขุบุตร สมรสกับรจนา (สกุลเดิม พึ่งบารมี)
- อนุ อาขุบุตร
- รัตนา อาขุบุตร
- ประภาพร ธนะรัชต์ สมรสกับทองดุลย์ ธนะรัชต์
- เกษมสุข พยัคฆนิธิ สมรสกับร้อยตำรวจเอก กำพล พยัคฆนิธิ
- เกียรติศักดิ์ อาขุบุตร สมรสกับสุนีนารถ (สกุลเดิม ศิริบุญ)
- เอกสิทธิ์ อาขุบุตร
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2498 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)[3]
- พ.ศ. 2468 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่4 จตุตถจุลจอมเกล้า (จ.จ.)[4]
- พ.ศ. 2467 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 4 (ว.ป.ร.4)[5]
- พ.ศ. 2467 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 6 (ร.จ.ท.6)[6]
- พ.ศ. 2468 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7 (ร.ร.ศ.7)
- พ.ศ. 2475 – เหรียญเฉลิมพระนคร 150 ปี (ร.ฉ.พ.)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประวัติศาสตร์แห่งชีวิต...คุณหญิงนิธิวดี อ้นตระการ พระอภิบาลในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณวดี[ลิงก์เสีย]
- ↑ "อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.ต. เนื่อง อาขุบุตร (เรื่องตำนานพระพิมพ์)". หนังสือเก่าลุงทอง. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๙๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๓๐, ๒๙ ธันวาคม ๒๔๙๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน, เล่ม ๔๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๕๕๕, ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๖๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญฝ่ายใน, เล่ม ๔๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๒๐๗, ๒๘ ธันวาคม ๒๔๖๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญราชรุจิฝ่ายใน, เล่ม ๔๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๗๑๙, ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๗