ข้ามไปเนื้อหา

องค์แก้ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
องค์แก้ว
เสียชีวิต14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453
เมืองสาละวัน อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์
อนุสรณ์สถานสถูปองค์แก้ว เมืองสาละวัน[1]
ชื่ออื่นผู้มีบุญ
อาชีพหมอธรรม (หมอผี)
มีชื่อเสียงจากกบฏผู้มีบุญ

องค์แก้ว เป็นผู้นำชนกลุ่มน้อยตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (กลุ่มผู้พูดภาษามอญ-เขมร) ในเหตุการณ์กบฏผู้มีบุญ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในดินแดนทางฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขง แต่ดำรงอยู่ได้เพียงระยะสั้นๆ[2] แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ได้ทำการต่อต้านอำนาจการปกครองของทั้งชาวฝรั่งเศสและชาวลาวลุ่มมาตลอดจนกระทั่งถูกลอบสังหารในปี พ.ศ. 2453 หลังจากการเสียชีวิตขององค์แก้ว การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไปภายใต้การนำขององค์กมมะดำซึ่งเป็นผู้สืบทอดอุดมการณ์จนกระทั่งถึงราวปี พ.ศ. 2479 ตำนานท้องถิ่นกล่าวว่าองค์แก้วรอดจากการถูกลอบสังหารและยังคงมีชีวิตต่อมาจนถึงช่วงต้นยุคพุทธทศวรรษที่ 2510[1]

ปฐมวัย

[แก้]

"องค์แก้ว" หรือในอีกชื่อหนึ่งที่มีการบันทึกไว้ คือ "บักมี" เป็นชาวอาลัก (จัดอยู่ในพวกที่ชาวลาวเรียกว่า "ข่า" หรือกลุ่มลาวเทิงปัจจุบัน) เกิดที่บ้านปากใต้ เมืองท่าแตง ในพื้นที่ของอดีตอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ปัจจุบันอยู่ในความปกครองของแขวงเซกอง[3] บิดาขององค์แก้วมีฐานะเป็นนายบ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน)

องค์แก้วไต่เต้าขึ้นสู่ฐานะผู้นำชุมชนอย่างรวดเร็วด้วยบารมีส่วนตัว ความเฉลียวฉลาด และความสามารถในการใช้ทั้งภาษาลาวและภาษาบาลีอย่างคล่องแคล่ว เขาได้เป็นผู้นำในการประกอบพิธีทางศาสนาที่ภูตายุนซึ่งตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้านของตน และคอยพูดชักชวนให้ผู้คนลุกขึ้นมาขับไล่ชาวต่างชาติ จำนวนสาวกผู้ติดตามของเขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนผู้คนเริ่มออกนามของเขาว่า "พระองค์แก้ว" และ "ผู้มีบุญ" ด้วยความเชื่อว่าเขาเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถจะปลดปล่อยผู้คนจากความทุกข์ยากต่างๆ ซึ่งบรรดาชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นเผชิญอยู่ได้[2][3]

การก่อกบฏ

[แก้]

องค์แก้วเปิดฉากการก่อกบฏในเมืองท่าแตงเพื่อตอบโต้การทำลายวัดบ้านหนองเม็กโดยฝ่ายฝรั่งเศส การกบฏดำเนินไปเป็นเวลา 6 ปี ก่อนที่จะมีการทำสัญญาพักรบขึ้น กลุ่มผู้มีบุญได้ยอมจำนนต่อทางการฝรั่งเศสในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2450 หลังจากประสบกับความพ่ายแพ้ทางการทหารหลายครั้ง ภาวะโรคระบาด และการขาดเสบียงอาหาร ซึ่งบั่นทอนขวัญกำลังใจของไพร่พลฝ่ายผู้มีบุญลงไปมาก ถึงแม้องค์แก้วจะยอมจำนน แต่เขาไม่เคยยอมรับเงื่อนไขที่ฝ่ายฝรั่งเศสเสนอมาเลยสักครั้ง เขายังคงใช้นาม "เจ้าเสด็จ" ซึ่งเขาตั้งขึ้นมาเองในการประกอบพิธีกรรมในพุทธศาสนาและพิธีกรรมของเผ่าอาลัก และปลุกขวัญให้บรรดาลูกศิษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือองค์กมมะดำ ให้ยังคงต่อสู้ต่อไป

ในปี พ.ศ. 2453 ฌอง ฌาคส์ โดพลาย์ (Jean-Jacques Dauplay) ข้าหลวงฝรั่งเศสประจำแขวงสาละวัน ได้ออกคำสั่งให้สังหารองค์แก้วเนื่องจากมีท่าที "ก้าวร้าว" ต่อฝ่ายฝรั่งเศส[4] แหล่งข้อมูลบางแห่งกล่าวว่าโดพลาย์เป็นผู้สังหารองค์แก้วด้วยตนเองหลังจากจากเรียกองค์แก้วมาพบเพื่อเจรจาหาทางยุติข้อขัดแย้ง โดยใช้ปืนที่ซ่อนเอาไว้ในหมวกของตน[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Ong Keo Stupa[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 Murdoch, John B. (1974). "The 1901-1902 Holy Man's Rebellion" (free). Journal of the Siam Society. Siam Heritage Trust. JSS Vol.62.1 (digital): image 2. สืบค้นเมื่อ April 2, 2013. The "Holy Man's" I uprising of 1901-1902 was a large scale popular rebellion involving Northeast Thailand, Southern Laos, and the adjacent portion of the Vietnamese Central Highlands. Scholarship to date has not adequately considered the rebellion's character as transcending present national boundaries, having common leadership, and growing out of common regional causes. Footnote 8) 'Kha' is the common, though somewhat pejorative, term used for the Austroasiatic tribal people of Northeast Thailand, Laos, and Viet-nam. I use it here because it is common parlance in the literature and for lack of a better term.
  3. 3.0 3.1 Polsena, Vatthana; 2006; Post-war Laos: The Politics of Culture, History, And Identity; Cornell University Press; ISBN 0801445035; pp 121-138
  4. Gunn, Geoffrey C.; 1990; Rebellion In Laos: Peasant And Politics In A Colonial Backwater; Westview Press USA; ISBN 0813380278
  5. Moppert, François; Mouvement de résistance au pouvoir colonial français de la minorité proto-indochinoise du plateau des Bolovens au Sud-Laos : 1901-1936; Doctorate Thesis, Université de Paris VII, 1978