ข้ามไปเนื้อหา

ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เป็นห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ ที่ตั้งอยู่ที่ อาคารบรรณสารชั้นสอง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี[1] เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ด้วยเหตุผลสำคัญคือ

ประการแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยตามพระนามในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อทรงดำรงพระอิสสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา และมีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระราชลัญจกร (ตรา) ประจำรัชกาลที่ 7 คือพระแสงศรสามองค์ พระแสงจักร พระแสงตรี ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎมาเป็นส่วนหนึ่งของตราประจำมหาวิทยาลัย

ประการที่สอง ระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัย คือ ระบบการศึกษาทางไกล ให้โอกาสประชาชนทั่วไปเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียน สอดคล้องกับพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงยึดถือความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตและหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ถือกำเนิดขึ้นในรัชกาลของพระองค์

มหาวิทยาลัยจึงจัดตั้งห้องจัดแสดงนิทรรศการและแหล่งให้บริการสารสนเทศทุกประเภททางด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี รวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นและที่เกี่ยวข้องในช่วงรัชสมัยระหว่าง พ.ศ. 2468-2477[2]

ทรัพยากรสารสนเทศ ประกอบด้วยสื่อทุกประเภททั้งสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ สื่ออิเลคทรอนิกส์ ได้แก่ หนังสือ วิทยานิพนธ์ รายงานการวิจัย บทความ วารสารและหนังสือพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 7 รูปภาพ หนังสือส่วนพระองค์ แผ่นเสียงและสิ่งของส่วนพระองค์ เอกสารจดหมายเหตุส่วนบุคคล สำเนาเอกสารจดหมายเหตุสำนักราชเลขาธิการและหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ไมโครฟิล์มเอกสารจดหมายเหตุจากต่างประเทศ ภาพยนตร์ สื่อคอมพิวเตอร์ ห้องสมุดดิจิทัลเรื่อง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว : พระผู้ทรงพากเพียรเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งรวบรวมจัดเก็บสารสนเทศ เช่น ภาพถ่าย, เอกสารฯลฯ

ให้บริการสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องในรัชสมัย (พ.ศ. 2468-2477) นิทรรศการภาพ สื่อและสิ่งของ ฉายสื่อมัลติมีเดียที่เกี่ยวข้อง สิ่งพิมพ์ ให้ใช้สื่อโสตทัศน์ที่เกี่ยวข้อง[3]

มีการจัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชกรณียกิจทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้ความรู้ จัดแสดงสื่อมัลติมีเดียพระราชประวัติ พระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้านศิลปวัฒนธรรมซึ่งได้รับรางวัลดีเด่นจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2544 การจัดแสดงตกแต่งด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมย้อนยุคสมัยรัชกาลที่ 7[4]

รวบรวมสิ่งพิมพ์ที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เช่น บัตรอวยพร สมุดบันทึก ปฏิทิน

อ้างอิง

[แก้]
  1. เอกสารประชาสัมพันธ์ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยุ่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
  2. การศึกษาตลอดชีวิต ปีที่ 17 ฉบับที่ 4 (มกราคม 2539) หน้า 56-57
  3. นิตยสารบรรณารักษ์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 มีนาคม 2551
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-01. สืบค้นเมื่อ 2010-09-23.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]