ห่านหัวลาย
ห่านหัวลาย | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Anseriformes |
วงศ์: | Anatidae |
สกุล: | Anser |
สปีชีส์: | A. indicus |
ชื่อทวินาม | |
Anser indicus (Latham, 1790) |
ห่านหัวลาย (อังกฤษ: Bar-headed goose; ชื่อวิทยาศาสตร์: Anser indicus) เป็นสัตว์ปีกจำพวกห่านชนิดหนึ่ง ในวงศ์ Anatidae
มีลักษณะทั่วไป คือ มีขนตามร่างกายเป็นสีเทาอ่อน ส่วนหัวมีสีขาวมีแถบสีดำพาดจากหางตาขึ้นไปที่กระหม่อม และมีแถบสีดำอีกเส้นหนึ่งที่ท้ายทอย อันเป็นที่มาของชื่อ คอสีเทาเข้มและมีแถบสีขาวตามแนวยาวของคอต่อกับสีขาวของหัว สีข้างเป็นลายขวางสีดำ หางสีขาวและตรงกลางคาดแถบสีเทา ปากสีส้มถึงเหลือง นิ้วสีเหลือง ตัวที่ยังโตไม่เต็มวัยมีสีเทาเช่นเดียวกับตัวที่โตเต็มวัย แต่บริเวณกระหม่อมและท้ายทอยเป็นสีดำตัดกับหน้าผากสีขาว หน้าและลำคอส่วนที่เหลือสีขาว สีข้างไม่มีลาย ลำตัวด้านล่างมีลายแต้มสีน้ำตาลแดง
มีการแพร่กระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียกลางในหลายประเทศ และในฤดูหนาวจะอพยพข้ามเทือกเขาหิมาลัยไปสู่ที่ราบลุ่มที่อบอุ่นกว่าในปากีสถานและอินเดีย โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ทำให้เชื่อกันว่าเป็นนกที่บินได้สูงที่สุดในโลก โดยเคยพบว่าบินได้สูงถึง 30,000 ฟุต (ประมาณ 9 กิโลเมตร) และสามารถบินได้สูงกว่านี้อีกเท่าตัว เพราะเลือดของห่านหัวลายสามารถดูดซับออกซิเจนได้ดีกว่านกชนิดอื่น ๆ จึงทำให้สามารถบินในระดับความสูงที่มีออกซิเจนเพียงเบาบางได้ [2]
ห่านหัวลาย มีพฤติกรรมมักรวมกันเป็นฝูงใหญ่ อาจถึงขั้นเป็นร้อยตัว ห่านหัวลายมักจะทำลายพืชไร่ชนิดต่าง ๆ ด้วยการกัดกินเป็นอาหาร เช่น ข้าวฟ่าง, ข้าวโพด โดยเฉพาะยอดอ่อน ออกหากินในเวลากลางคืน ขณะที่กลางวันจะนอนหลับพักผ่อน ด้วยการยืนนิ่ง ๆ ในแหล่งน้ำตื้น ๆ แพร่ขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่ประมาณ 3-8 ฟองในรังใกล้ ๆ ทะเลสาบบนภูเขา
การจำแนกห่านชนิดนี้ออกจากห่านชนิดอื่นในสกุล Anser สามารถทำได้ง่าย โดยดูจากแถบสีดำบนหัว และมีขนสีซีดจางกว่าห่านชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน
ห่านหัวลาย โดยปกติแล้ว ไม่ใช่นกประจำถิ่นของไทย แต่จะเป็นนกอพยพ ที่หาได้ยาก มีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2535 [3] [4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ BirdLife International (2004). Anser indicus. 2006 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2006. Retrieved on 11 May 2006.
- ↑ เอเชียและออสเตรเลีย, "มองโลกอัศจรรย์ผ่านนภากาศ". สารคดีทางไทยพีบีเอส: ศุกร์ที่ 7 กันยายน 2556
- ↑ "ห่านหัวลาย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-18. สืบค้นเมื่อ 2012-07-04.
- ↑ สัตว์ป่าคุ้มครอง
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Anser indicus ที่วิกิสปีชีส์