หีบวัตถุมงคล
หีบวัตถุมงคล หรือ ที่บรรจุพระธาตุ (อังกฤษ: reliquary) หรือบางครั้งก็เรียกว่า “หีบสักการะ” หรือคำในภาษาฝรั่งเศสว่า “châsse” ที่แปลว่า “หีบ” คือตู้ที่ใช้บรรจุวัตถุมงคลที่อาจจะเป็นชิ้นส่วนจากร่างของนักบุญ เช่น กระดูก ชิ้นเสื้อผ้า หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับนักบุญหรือบุคคลสำคัญทางศาสนา ความแท้ของสิ่งของดังกล่าวมักจะเป็นเรื่องที่โต้แย้งกัน คริสต์ศาสนสถานบางแห่งก็ระบุว่าต้องการเอกสารที่พิสูจน์ประวัติความเป็นเจ้าของ
ลักษณะรูปทรงและประวัติ
[แก้]“philatory” เป็นหีบวัตถุมงคลแบบใสที่ออกแบบเพื่อให้เห็นกระดูกหรือวัตถุมงคลของนักบุญที่บรรจุอยู่ภายใน หีบวัตถุมงคลอีกแบบหนึ่งเรียกว่า “แป้นมอนสแทรนซ์” (monstrance) ซึ่งก็เป็นอีกแบบหนึ่งที่สามารถมองเห็นสิ่งของที่บรรจุอยู่ภายในได้
เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าวัตถุมงคลมีความสำคัญต่อทั้งผู้นับถือศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ[1][2][3] ในวัฒนธรรมของทั้งสองศาสนา วัตถุมงคลมักจะบรรจุไว้ในเจดีย์หรือวัด เพื่อให้ผู้ศรัทธาสามารถเดินทางมาทำการจาริกแสวงบุญได้
ในแอฟริกาตะวันตก สิ่งบรรจุวัตถุมงคลที่ใช้ในธรรมเนียม Bwete จะประกอบด้วยสิ่งของที่ถือว่าขลังหรือกระดูกของบรรพบุรุษ และจะมีรูปผู้พิทักษ์อยู่ด้วย
การใช้สิ่งบรรจุวัตถุมงคลกลายมาเป็นสิ่งสำคัญในธรรมเนียมของผู้นับถือคริสต์ศาสนามาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 วัตถุมงคลสักการะกันในคริสต์ศาสนสถานของนิกายออเรียนทัลออร์ทอดอกซ์ อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ โรมันคาทอลิก และบางครั้งก็ในนิกายอังกลิคันด้วย ตู้หรือหีบวัตถุมงคลเป็นสิ่งที่ใช้ป้องกันและใช้แสดงวัตถุมงคลที่เชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่ได้รับพรจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าให้มีพลังปาฏิหาริย์ สิ่งที่ใช้บรรจุวัตถุมงคลมีด้วยกันหลายขนาดตั้งแต่เป็นจี้หรือแหวนไปจนถึงหีบที่มีลักษณะคลายหีบศพอย่างง่าย ๆ ไปจนถึงสิ่งที่ตกแต่งอย่างวิจิตร สิ่งที่ใช้บรรจุวัตถุมงคลหลายชิ้นออกแบบเพื่อการขนย้ายได้ง่าย หรือใช้ในการตั้งแสดงให้สาธารณชนทำการสักการะได้ หรือใช้ในการแห่ในกระบวนพิธีทางศาสนาในวันสมโภชน์นักบุญหรือวันสำคัญทางศาสนา นักแสวงบุญก็มักจะนิยมมาทำการสักการะวัตถุมงคลที่อาจจะทำโดยการก้มหรือจูบวัตถุมงคล
สิ่งที่ใช้บรรจุวัตถุมงคลในสมัยแรกโดยทั่วไปจะเป็นกล่องที่อาจจะเป็นแบบเรียบง่ายหรือมีลักษณะคล้ายสิ่งก่อสร้าง (ตามทรงคริสต์ศาสนสถาน) ที่เรียกกันว่า “หีบสักการะ” หรือ “chasses” สัตยกางเขน (True Cross) เป็นวัตถุมงคลเป็นที่นิยมกันในคริสต์ศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมาและบรรจุในสิ่งที่เป็นทรงกางเขนที่ทำด้วยเงินหรือทอง ตกแต่งด้วยเอนาเมลและอัญมณี ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 หีบบรรจุวัตถุมงคลทรงเดียวกันกับวัตถุที่แสดงกลายมาเป็นสิ่งที่นิยมทำกัน เช่น พระเศียรของสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 1 ก็ได้รับการบรรจุในกล่องที่เป็นทรงศีรษะ ในทำนองเดียวกันกระดูกของนักบุญก็มักจะบรรจุในกล่องที่เป็นทรงเดียวกับส่วนของกระดูกที่แสดง เช่น เท้าหรือมือ เป็นต้น
ในปลายยุคกลางก็มีการเริ่มใช้ “แป้นมอนสแทรนซ์” ที่แสดงวัตถุมงคลในผอบแก้วที่ตั้งบนท่อนโลหะ ในช่วงเดียวกันนี้ก็เริ่มมีที่บรรจุวัตถุมงคลที่เป็นเพชรพลอยที่ใช้บรรจุวัตถุมงคลขนาดเล็ก เช่น หนามศักดิ์สิทธิ์จากมงกุฎหนาม
ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 นักปฏิรูปอย่างมาร์ติน ลูเทอร์เป็นปฏิปักษ์ต่อการสักการะวัตถุมงคล เพราะวัตถุดังกล่าวไม่มีเครื่องพิสูจน์ได้ว่าเป็นสิ่งของที่แท้จริงตามที่กล่าว วัตถุมงคลหลายชิ้นโดยเฉพาะทางตอนเหนือของยุโรปถูกทำลายโดยกลุ่มคาลวินหรือผู้สนับสนุนการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ บางชิ้นก็ถูกหลอมหรือถอดออกเพื่อเอาอัญมณีที่บรรจุอยู่ภายในหรือใช้ตกแต่ง แต่กระนั้นการสร้างสิ่งบรรจุวัตถุมงคลก็ยังคงทำกันอยู่จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกและอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์
ระเบียงภาพ
[แก้]-
หีบบรรจุวัตถุมงคลของ
นักบุญเซเวอรัส
ล็องด์, ฝรั่งเศส -
หีบบรรจุวัตถุมงคลของ
นักบุญทอมัส เบ็คเค็ท
ลิมอชส์, ฝรั่งเศส -
ที่บรรจุวัตถุมงคล
ทรงกางเขน -
หีบบรรจุกระดูก
เฟิร์สเตนเฟลด์บรึค
เยอรมนี -
หีบบรรจุพระกะโหลกของ
นักบุญเอลิซาเบธแห่งฮังการี
บรัสเซลส์, เบลเยียม -
“แป้นมอนสแทรนซ์”
บรรจุวัตถุมงคล
โคโลญ, เยอรมนี -
การแห่หีบบรรจุวัตถุมงคล
เบลเยียม
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Two Gandhāran Reliquaries" K. Walton Dobbins. East and West, 18 (1968), pp. 151–162.
- ↑ The Stūpa and Vihāra of Kanishka I. K. Walton Dobbins. (1971) The Asiatic Society of Bengal Monograph Series, Vol. XVIII. Calcutta.
- ↑ "Is the Kaniṣka Reliquary a work from Mathurā?" Mirella Levi d’Ancona. Art Bulletin, Vol. 31, No. 4 (Dec., 1949), pp. 321–323.
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ หีบวัตถุมงคล