หอสมุดอะยาตุลลอฮ์มัรอะชีย์นะญะฟีย์
หอสมุดอะยาตุลลอฮ์ มัรอะชีย์ นะญะฟีย์ | |
---|---|
کتابخانه آیتالله مرعشی نجفی | |
หอสมุดอะยาตุลลอฮ์ มัรอะชีย์ นะญะฟีย์ ในเมืองโกม | |
ประเทศ | อิหร่าน |
ประเภท | สาธารณะ |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2506 |
อ้างอิงถึงอาณัติทางกฎหมาย | มติที่ 205 ของสภาสูงสุดแห่งการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (พ.ศ. 2540) |
พิกัด | 34°38′20″N 50°52′38″E / 34.638999°N 50.8772222°E |
ข้อมูลอื่น | |
ผู้อำนวยการ | มะฮ์มูด มัรอะชีย์ นะญะฟีย์ |
แผนที่ | |
หอสมุด อะยาตุลลอฮ์ มัรอะชีย์ นะญะฟีย์ (เปอร์เซีย: کتابخانه آیتالله مرعشی نجفی; Ayatollah Marashi Najafi ) เป็นหนึ่งในหอสมุดขนาดใหญ่ในอิหร่าน ปัจจุบันหอสมุดแห่งนี้มีหนังสือที่ตีพิมพ์มากกว่า 1,000,000 เล่ม และต้นฉบับที่เขียนด้วยมือ 75,000 ฉบับ[1]
ผู้ก่อตั้ง
[แก้]หอสมุดนี้ได้ก่อตั้งและพัฒนาขึ้นโดยค่าใช้จ่ายของมัรอะชีย์ นะญะฟีย์ นักวิชาการชาวชีอะฮ์ในปีศักราชอิหร่าน 1344 (ค.ศ. 1965–66) ดังในพินัยกรรมที่ติดไว้บนหลุมฝังศพของเขาที่เขียนว่า
จงฝังฉันไว้ในหอสมุดสาธารณะใต้เท้านักค้นคว้าวิชาการของวงศ์วานมุฮัมหมัด[2]
ท่านได้อธิบายถึงแรงบันดาลใจในการรวบรวมหนังสือและการจัดตั้งหอสมุดว่า “วันหนึ่งฉันกำลังเดินผ่านกัยศะรียะฮ์แห่งเมืองนะญัฟ ฉันได้เห็นนักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกัน ณ สถานแห่งหนึ่ง... ฉันเห็นว่ามีคนหนึ่งยืนบนไม้ และกำลังเสนอขายหนังสือต่าง ๆ ในราคาที่ถูกมาก... ฉันยืนดูอยู่ครู่หนึ่ง เห็นว่าหนังสือส่วนมากนั้นเกี่ยวกับอิสลามและเป็นหนังสือของชีอะฮ์ซึ่งบุคคลหนึ่งชื่อว่า กาซิม ได้ซื้อไปเป็นจำนวนมาก... ฉันจึงถามผู้คนว่าเขาเป็นใครกัน ? พวกเขาตอบว่า เขาเป็นตัวแทนกงสุลอังกฤษ ณ เมืองแบกแดด ฉันแอบคิดว่า... เขาซื้อมันไปเพื่อทำลาย หรือต้องการรวบรวมแหล่งข้อมูลชั้นต้นของชีอะฮ์ที่เคยอยู่ในมือบรรดาอุละมา (ผู้รู้) จนกระทั้งว่าพวกเราไม่สามารถหามาอ้างอิงได้ (ในภายหลัง) เช่นหนังสือ มะดีนะตุลอิล ของเชคซอดูก ที่ท่านได้เขียนขึ้นเองและอธิบายเอาไว้ หากหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือของเรา เราก็ไม่ต้องพึ่งพา กุตุบอัรบะอะฮ์” ในช่วงชีวิตของมัรอะชีย์ นะญะฟีย์ ท่านได้เขียนหนังสือกว่า 148 เล่ม ซึ่งคำวินิจฉัยบทความเคยได้รับการนำเสนอแต่โดยส่วนมากยังไม่ได้ตีพิมพ์จนถึงปัจจุบัน มัรอะชีย์ นะญะฟีย์ เสียชีวิตไม่นานหลังจากพิธีวางศิลาฤกษ์ของอาคารห้องสมุดหลังใหม่ในปี พ.ศ. 2532[3][4]
ประวัติความเป็นมาและการบริหารจัดการ
[แก้]ซัยยิด มะฮ์มูด มัรอะขีย์ บุตรชายของมัรอะชีย์ นะญะฟีย์ ผู้บริหารห้องสมุดกล่าวว่า “ในแง่คุณภาพของหนังสือฉบับต่าง ๆ ที่บันทึกด้วยความประณีตและมีความเก่าแก่อย่างมาก นับได้ว่าเป็นหอสมุดที่ใหญ่ที่สุดในอิหร่าน และเป็นหอสมุดที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกอิสลาม และถูกรู้จักในนามศูนย์กลางวัฒนธรมมนานาชาติโลก” หอสมุดนี้ตั้งอยู่ในเมืองโกม (Qom) ห่างจากฮะรัมท่านหญิงฟาติมะฮ์ มะอ์ซูมะฮ์ (Fatima Masomeh) 100 เมตร ซึ่งสุสานของผู้ก่อตั้งก็อยู่ใกล้ ๆ กัน หอสมุดก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2506 และได้รับการพัฒนาใน พ.ศ. 2522 และ 2531 นักวิชาการที่ได้ใช้ประโยชน์จากห้องสมุดนี้ได้แก่ อับบาส อิกบาล ออชติยานีย์ (Abbas Iqbal Ashtiani) บะดีอุซซะมาน ฟุรูซานฟัร (Badi'al Zaman Foruzanfar) และออกอ โบโซร เตหะรานีย์ (Aqa Taherani) หอสมุดนี้ได้รับทุนสร้างโดยมัรอะชีย์ นะญะฟีย์ และทายาท รวมทั้งจากองค์การการกุศลอื่น ๆ จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2540 ตั้งแต่ปีดังกล่าวหอสมุดกลายเป็นขององค์กรเอกชนโดยไม่เกี่ยวข้องกับรัฐ ซึ่งได้รับงบประมาณประจำปีทุกปี หอสมุดนี้อยู่ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์, และสอดคล้องกับมติที่ 205 ของสภาสูงสุดแห่งการปฏิวัติทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรมและแนวทางอิสลาม ซึ่งหากมีการจัดพิมพ์หนังสือในประเทศอิหร่าน ทางผู้จัดจำหน่ายจำเป็นต้องมอบสำเนาหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่ดังกล่าวไปยังหอสมุดด้วย การบริหารจัดการหอสมุดเป็นไปตามความประสงค์ของมัรอะชีย์ นะยะฟีย์ คือให้คนในครอบครัวเป็นผู้ดูแลจัดการ อิมามโคมัยนีย์ได้กล่าวถึงหอสมุดแห่งนี้ว่า “หอสมุดอายาตุลลอฮ์ นะญะฟีย์ มัรอะชีย์ เป็นหอสมุดที่ไม่เหมือนกับห้องสมุดอื่น ๆ และสามารถกล่าวได้ว่าในอิหร่าน มีอยู่ที่เดียวเท่านั้น”[5] ในหนังสือเรียนภาษาเปอร์เซีย ม. 2 บทเรียนที่ 28 ได้กล่าวถึงรายงานการเยี่ยมชมหอสมุดดังกล่าว เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาทำความรู้จัก ผู้อำนวยการหอสมุดได้กล่าวถึงการเยี่ยมชมของบรรดานักพรตชาวยิวเมื่อเห็นหนังสือที่เขียนด้วยภาษาฮีบรูว่า “ได้มีคอคอม (พระยิว จากสหรัฐ 3 คน และอังกฤษ 2 คน) ได้มาเยือนอิหร่าน โดยพวกเขามีเวลาเยี่ยมชมเมืองโกม 3 ชั่วโมง ลำดับแรกพวกเขาได้มายังหอสมุดแห่งนี้ เมื่อพวกเขามองเห็นตำราฉบับลายมือ โดยเฉพาะฉบับที่เขียนด้วยภาษาฮีบรูในตู้โชว์ ทำให้พวกเขาตกตะลึกเป็นอย่างมาก” นักแปลของพวกเขากล่าวว่า พวกเขา (คอคอม) กล่าวว่าเมืองโกมคือศูนย์กลางการปฏิวัติ พวกเขา (คอคอม) คิดว่าหนังสือต่าง ๆ ของเราโดนเผาไปก่อนหน้าการปฏิวัติเสียแล้ว แต่เรากลับเห็นว่าหลักฐานตำราของพวกเราถูกเก็บไว้ในตู้โชว์ โดยว่างใกล้กับหนังสือต่าง ๆ ของพวกเขา (หนังสืออิสลาม) ซึ่งพวกเขาได้ให้เกียรติ และเชื่อไปยังตำราของพวกเขาเองและเชื่อยังตำราของเราด้วย บรรณารักษ์กล่าวแก่พวกเขาว่า เราเชื่อว่าท่านศาสดามูซา (อ.) คือศาสดาท่านหนึ่งจากพระเจ้าของเรา เราไม่มีปัญหากับชาวยิว การเยี่ยมชมหอสมุดดึงดูดพวกเขาเป็นอย่างมาก จนพวกเขาบอกว่า 3 ชั่วโมงของเรา คือที่แห่งนี้”[6]
ทรัพยากรตำราต่าง ๆ
[แก้]- เป็นคลังตำราฉบับลายมือ , ฉบับภาพพิมพ์หิน ซึ่งพบได้น้อยมาก (พ.ศ. 2546 มีอยู่ 60,000 เรื่อง และ 31,000 เล่ม) เป็นตำราฉบับลายมือเกี่ยวกับเรื่อง ฟิกฮ์และอุศูล (สาขานิติศาสตร์) , กะลามและอะกออิด (สาขาเทววิทยา) , มันติกและฟัลซะฟะฮ์ (สาขาตรรกศาสตร์และปรัชญา) , อิรฟานและตะเซาวุฟ (สาขารหัสยะ) , ฮะดีษ (สาขาวัจนะศาสดา) , ซึ่งเป็นภาษาอาหรับประมาณร้อยละ 65 และที่เหลือเป็นภาษาเปอร์เซีย ตุรกี อุรดู และภาษาอื่น ๆ อีกทั้งตำราต่าง ๆ เหล่านี้ก็มีต้นฉบับที่บันทึกโดยเจ้าของตำราเอง ซึ่งเป็นระดับคณาจารย์ที่เป็นที่รู้จักในโลกอิสลามอีกด้วย ฉบับเก่าแก่ที่สุดซึ่งไม่ได้บันทึกวันเวลาไว้ ที่มีการเก็บรักษาคือคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับอักษรกูฟีย์ จากปลายทศวรรษที่สองและสามของปีฮิจเราะฮ์ และฉบับเก่าแก่ที่สุดที่มีการบันทึกวันเวลาไว้คือสองส่วนของคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับอักษรกูฟีย์โดย อะลี บิน ฮิลาล ถูกรู้จักในนาม อิบนิ เบาวาบ และอะบุลฮะซัน อะลี บินฮิลาล และตำราสองเล่มจากตัฟซีร อัตติบยาน, นะญุลบะลาเฆาะ โดยชะรีฟ รอฎีย์, เอียะรอบุลกุรอาน, ฟุรรอฮ์, บทวิวรจากคัมภีร์อิลญีล (พระวรสาร เป็นหนังสือหมวดแรกในคัมภีร์ไบเบิล) ด้วยอักษรละติน และคัมภีร์อเวสตะ ด้วยอักษรพะละวีย์ (อักษรเปอร์เซียกลาง)
หอสมุดมีสำเนาภาพเขียนมากกว่า 4,000 ฉบับ ที่มีอยู่ในห้องสมุดต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีการเก็บรักษาไว้อย่างดี โดย 12,000 ฉบับ ได้ทำเป็นไมโครฟิล์มแล้ว และมีชุดรวบรวมสารบัญของหนังสือ ที่ตีพิมพ์แล้วของโลกเป็นภาษาต่าง ๆ และในห้องสมุดนี้มีฉบับตัวอย่างการพิมพ์ที่เก่าแก่และสมบูรณ์ เป็นภาษาอาหรับ เปอร์เซีย ตุรกี ละติน และอาร์มีเนียจากคริสต์ศตวรรษที่ 10 และ 11 ซึ่งเก็บรักษาไว้เป็นทรัพยากรในรูปแบบการพิมพ์เก่า นอกจากนี้ยังมีการเก็บรักษาภาพพิมพ์หินมากกว่า 30,000 แผ่นซึ่งหาได้ยากในภาษาเปอร์เซีย อาหรับ ตุรกี อุรดู อุซเบก และตาตาร์
- คลังหนังสือ มีหนังสือที่ตีพิมพ์จำนวนกว่า 1,500,000 เล่ม เป็นภาษาเปอร์เซีย อาหรับ ตุรกี อูรดู[7] และอื่น ๆ (ที่ไม่ใช่อักษรละติน) นอกจากนี้ยังมีที่เก็บจดหมายเหตุจากหนังสือของพรรคคอมมิวนิสต์และกลุ่มต่อต้านศาสนาและหนังสือต่อต้านศาสนาอิสลามอยู่ด้วย
- คลังวารสาร มีนิตยสารและหนังสือพิมพ์มากกว่า 2,500 ฉบับ เป็นภาษาเปอร์เซีย อาหรับ ตุรกี อูรดู และภาษาอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีนิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ จากการพิมพ์หินจำนวนมากจากยุคกอญาร และสามารถค้นคว้านิตยสารเก่าแก่เป็นภาษาอาหรับได้ในส่วนนี้เช่นกัน
- คลังเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีเอกสารที่เขียนด้วยลายมือมากกว่า 100,000 ฉบับจากห้าศตวรรษก่อนจนถึงปัจจุบัน ทั้งหมดนี้รวมถึงคำสั่งของกษัตริย์, กฎหมายการปกครอง, สนธิสัญญา และอื่น ๆ
- คลังเอกสารที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ประกอบด้วยวัตถุต่าง ๆ เช่นเหรียญ แสตมป์เก่า อัลบั้มภาพสีเก่า เทปเสียง วิดีโอดิสก์คอมพิวเตอร์ และภาพขาว-ดำ
- คลังทางภูมิศาสตร์ แผนผัง และแผนที่ทางภูมิศาสตร์ทั้งเก่าและใหม่ และแผ่นที่ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงที่เป็นภาษาต่าง ๆ ถูกเก็บรักษาไว้ในที่ส่วนนี้
- คลังผลงานผู้ก่อตั้งหอสมุด ในส่วนนี้จะจัดเก็บผลงานการเขียนของมัรอะชีย์ นะญะฟีย์
แผนกต่าง ๆ
[แก้]- ศูนย์บริการสาธารณะ ประกอบด้วย ห้องโถงใหญ่อิบนิซินา, ห้องโถงเฉพาะตำราวิชาการศาสนา, ห้องโถงคอเญะ นะศีรุดดีน ฏูซีย์, ห้องโถงเชคมุฟีด และร้านขายหนังสือ
- ศูนย์วิทยบริการพิเศษ (ศูนย์วิจัย) ประกอบด้วย การวิจัยและตรวจสอบต้นฉบับลายอักษรอิสลาม, สารบัญต้นฉบับของตำราที่เขียนด้วยมือ, การลำดับวงศ์ตระกูล และอื่น ๆ
- ศูนย์เก็บรักษาทรัพยากรห้องสมุด ศูนย์นี้ประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ หน่วยป้องกันและเก็บรักษา, หน่วยซ่อมแซมและบูรณะหนังสือลายอักษร และเอกสารที่เขียนด้วยลายมือ, หน่วยวัสดุย่อส่วน และหน่วยจัดทำเล่มหนังสือ
- ศูนย์บริการด้านเทคนิค ประกอบด้วยฝ่ายคัดเลือกและสั่งซื้อ, ฝ่ายทะเบียนและโฆษณา, ฝ่ายตรวจสอบหนังสือ, ฝ่ายสถิติ, ฝ่ายวางแผนงาน, ฝ่ายจัดรูปกระดาษ, ฝ่ายวิจัย และฝ่ายคอมพิวเตอร์
- ศูนย์สารสนเทศ ในปี พ.ศ. 2539 ได้มีการจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อเป็นศูนย์ระบบรวบรวมข้อมูล, สนับสนุนด้านเทคนิค, การจัดทำดัชนีมาตรฐาน และระบบการจัดการเครือข่ายเพื่อการพัฒนาระบบสารสนเทศแบบรวมศูนย์ นอกจากนี้ยังมีฝ่ายสำหรับจัดทำดัชนีของต้นฉบับเขียนด้วยมืออีกด้วย ซึ่งฝ่ายนี้มีนักบรรณานุกรม นำโดยคือ สัยยิดมะฮ์มูด มัรอะชีย์ ในการจัดทำดัชนีต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือ
- ศูนย์เมืองโกมวิทยา เป็นศูนย์รวบรวมหนังสือและบทความที่เขียนเป็นภาษาต่าง ๆ เกี่ยวกับเมืองโกม (Qom) นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอ้างอิงถึงการสืบลำดับวงศ์ตระกูลที่เป็นภาษาต่าง ๆ ซึ่งเรียกว่า ศูนย์กลางลำดับวงศ์ตระกูล ก็ถูกเก็บรักษาไว้ที่นี้ด้วย
- ศูนย์สารานุกรมห้องสมุดโลก ศูนย์นี้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2534 โดยปัจจัยหลักเพื่อจัดทำสารานุกรมเฉพาะกิจ เกี่ยวกับห้องสมุดที่มีทรัพยากรเกี่ยวกับสารบบภาษาศาสตร์อิสลาม
ระเบียงภาพ
[แก้]-
ข้อความส่วนหนึ่งจากพินัยกรรมของอะยาตุลลอฮ์ มัรอะชีย์ นะญะฟีย์ ที่ทางเข้าหอสมุด
-
ห้องละหมาดของหอสมุด
-
นักวิชาการผู้แสวงบุญที่ทางเข้าของหอสมุด
อ้างอิง
[แก้]- ↑ کتابخانه آیت الله مرعشی سومین کتابخانه جهان اسلام با 75 هزار نسخه خطی [Ayatollah Marashi library is the third library in the Islamic world with 75 thousand manuscripts]. Mehr News Agency (ภาษาเปอร์เซีย). สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2023.
- ↑ "Ayatullah al-Uzma Marashi Najafi (R.A.) & his Library". Islamic Laws. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 พฤษภาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2014.
- ↑ "The Library of Ayatollah Marashi Najafi" (PDF). Iran's Manuscript Libraries. The Parliament's Library. 1: 96–100. สิงหาคม–กันยายน 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 26 ธันวาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2015.
- ↑ "Ayatollah Sayyid Shihab al-Din Marashi-Najafi". Oxford University Press. 2014. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2014.
- ↑ "Ayatollah al-Ozma Marashi Najafi" (ภาษาเปอร์เซีย). สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2010.
- ↑ مروری بر فعالیتهای کتابخانه آیتالله مرعشی نجفی [Review of Ayatollah Marashi Najafi Library Activities]. مجله اخبار شیعیان. ธันวาคม 2006. สืบค้นเมื่อ 6 เมษายน 2011.
- ↑ "Grand Ayatollah Mar'ashi Najafi Public Library". Tebyan. 19 มกราคม 2011. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2014.
บรรณานุกรม
[แก้]- Anthony Lo Bello, บ.ก. (2003), Gerard of Cremona's Translation of the Commentary of Al-Nayrizi on Book I of Euclid's Elements of Geometry, Danvers, MA: Brill Academic Publishers, p. xxviii, ISBN 0-391-04197-5 (Qom Library of Ayatollah Marashi Najafi)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ [archived 2015-01-03; cited 2021-03-18]. (ในภาษาอังกฤษ)
- หอสมุดอะยาตุลลอฮ์ มัรอะชีย์ นะญะฟีย์ [archived 2020-08-13; cited 2022-02-19]. (ในภาษาเปอร์เซีย)