ข้ามไปเนื้อหา

หอดูดาวปารีส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หอดูดาวปารีส
แผนที่
Map

หอดูดาวปารีส (ฝรั่งเศส: Observatoire de Paris) เป็นหอดูดาวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศฝรั่งเศส และเป็นหนึ่งในหนึ่งในศูนย์วิจัยดาราศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ที่ถนนออบแซร์วาตัวร์ (Avenue de l'Observatoire) ในเขต 14 ของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

องค์กร

[แก้]
เส้นเมริเดียนปารีสพาดยาวบนพื้นในห้องเมริเดียนในหอดูดาวปารีส

หอดูดาวปารีสเป็นหนึ่งในกร็องเตตาบลิสม็องของกระทรวงศึกษาธิการฝรั่งเศส มีตำแหน่งใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติ มีหน้าที่ดังนี้[1]

  • การวิจัยทางดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์
  • การศึกษา (หลักสูตรปริญญาโทและเอก 4 หลักสูตร)
  • เผยแพร่ความรู้ทางดาราศาสตร์

มีหอสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ที่สังกัดเมอดง (48°48′18.32″N 2°13′51.61″E / 48.8050889°N 2.2310028°E / 48.8050889; 2.2310028)[1] และหอดูดาวคลื่นวิทยุที่น็องเซ สำนักงานบอกเวลาระหว่างประเทศ (เบอีอัช) ตั้งอยู่ที่นี่จนถึง ปี 1987 แต่การดำเนินงานถูกโอนไปยังสำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (เบอีเปแอม) ในปี 1988[2]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

หอดูดาวแห่งนี้มีที่มาจากจากแผนการอันทะเยอทะยานของฌ็อง-บาติสต์ กอลแบร์ ในศตวรรษที่ 17 เมื่อการค้าระหว่างประเทศและการเดินเรือของฝรั่งเศสเฟื่องฟู การก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี 1667 ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14[3] และเสร็จสิ้นในปี 1671 ผู้รับผิดชอบการสร้างคือชาร์ล แปโร เลขานุการและผู้จัดการทั่วไปของงานสาธารณะ และโกลด แปโร สถาปนิก ทั้งสองเป็นพี่น้องกัน[4] เลนส์ได้รับการสร้างขึ้นโดยจูเซปเป กัมปานี อาคารได้รับการขยายในปี 1730, 1810, 1834, 1850 และ 1951[3] ส่วนขยายสุดท้ายรวมถึงห้องเมริเดียนซึ่งออกแบบโดยฌ็อง พรูเว[5]

ในปี 1679 หอดูดาวปารีสเผยแพร่ กอแนซ็องส์เดต็อง ปฏิทินการเดินเรือแห่งชาติฉบับแรกของโลก ซึ่งนักเดินเรือในทะเลใช้อุปราคาที่เกิดจากดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีเป็นตัวกำหนดลองจิจูด ในปี 1863 หอดูดาวปารีสได้ตีพิมพ์แผนที่อุตุนิยมวิทยาสมัยใหม่ฉบับแรก ในปี 1882 ได้ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์หักเหแสงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 33 เซนติเมตร และเป็นผู้บุกเบิกโครงการสารบัญแฟ้มดาวฤกษ์ การ์ตดูว์ซีเยล ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ

ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1913 หอดูดาวปารีสใช้หอไอเฟลเป็นสายอากาศแลกเปลี่ยนสัญญาณวิทยุ (คลื่นวิทยุ) กับหอดูดาวกองทัพเรือสหรัฐ เพื่อระบุความแตกต่างที่แน่นอนของลองจิจูดระหว่างจุดทั้งสอง[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "The Paris Observatory". l'Observatoire de Paris. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-24. สืบค้นเมื่อ 2007-08-27.
  2. Guinot (2000)
  3. 3.0 3.1 [Anon.] (2001) "Paris Observatory", สารานุกรมบริแทนนิกา, Deluxe CDROM edition
  4. [Anon.] (2001) "Perrault, Claude", สารานุกรมบริแทนนิกา, Deluxe CDROM edition
  5. [Anon.] (2001) "Prouvé, Jean", สารานุกรมบริแทนนิกา, Deluxe CDROM edition
  6. "Paris Time By Wireless," New York Times, Nov 22, 1913, pg 1.