ข้ามไปเนื้อหา

หวอ เงวียน ซ้าป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก หวอ เหวียน ย้าบ)
หวอ เงวียน ซ้าป
25 สิงหาคม ค.ศ. 1911(1911-08-25) – 4 ตุลาคม ค.ศ. 2013(2013-10-04) (102 ปี)

หวอ เงวียน ซ้าป ในปี ค.ศ. 2008
เกิดที่ จังหวัดกว๋างบิ่ญ อินโดจีนฝรั่งเศส
อนิจกรรมที่ กรุงฮานอย, เวียดนาม
เหล่าทัพ กองทัพประชาชนเวียดนาม
ปีปฏิบัติงาน 1944–1991
ยศสูงสุด พลเอกพิเศษ (Đại tướng)
รับใช้ เวียดนาม
บัญชาการ เวียดมินห์
กองทัพประชาชนเวียดนาม
การยุทธ สงครามโลกครั้งที่สอง
สงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง
สงครามเวียดนาม
การรุกตรุษญวน
การรุกอีสเตอร์
การพิชิตกรุงไซ่ง่อน
บำเหน็จ อิสริยาภรณ์ดาวทอง[1]
อิสริยาภรณ์โฮจิมินห์ (2 ครั้ง)
หวอ เงวียน ซ้าป
ชื่อภาษาเวียดนาม
ภาษาเวียดนามVõ Nguyên Giáp
ฮ้าน-โนม

หวอ เงวียน ซ้าป หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ โวเหงียนเกี๊ยบ (เวียดนาม: Võ Nguyên Giáp; 25 สิงหาคม พ.ศ. 2454[2] - 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556) เป็นนายทหารสังกัดกองทัพประชาชนเวียดนามและนักการเมือง เขาเป็นผู้บัญชาการหลักสงครามใหญ่ 2 ครั้ง คือ สงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ. 2489-2497) และสงครามเวียดนาม (อีกนัยหนึ่งคือสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2, พ.ศ. 2503-2518) และมีส่วนร่วมในยุทธการครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์อันได้แก่ยุทธการที่หลั่งเซิน (พ.ศ. 2493) ยุทธการที่ฮหว่าบิ่ญ (พ.ศ. 2494-2495) ยุทธการที่เดียนเบียนฟู (1954) การรุกวันตรุษญวน (พ.ศ. 2511) การรุกวันอีสเตอร์ (ในเวียดนามเรียกชื่อว่า "การรุกเหงียนเว้", พ.ศ. 2515) การทัพโฮจิมินห์ (พ.ศ. 2518) และ สงครามจีน-เวียดนาม (พ.ศ. 2522) นอกจากนี้ย้าบยังเป็นนักหนังสือพิมพ์ รัฐมนตรีมหาดไทยในรัฐบาลเวียดมินห์ของโฮจิมินห์ ผู้บัญชาการทหารของเวียดมินห์ ผู้บัญชาการกองทัพประชาชนเวียดนาม รัฐมนตรีกลาโหม และรับตำแหน่งในคณะกรมการเมือง (โปลิตบูโร) ของพรรคแรงงานเวียดนาม (พรรคลาวด่ง) อีกด้วย

ซ้าปเป็นผู้บัญชาการทหารที่โดดเด่นที่สุดที่อยู่เคียงข้างประธานาธิบดีโฮจิมินห์ในช่วงสงคราม และรับผิดชอบในการนำปฏิบัติการต่างๆ ที่สำคัญมาโดยตลอดจนกระทั่งสงครามยุติ นอกจากนี้ซ้าปยังเป็นที่จดจำว่ามีชีวิตอยู่ยืนยาวยิ่งกว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นคู่สงครามทุกคน และเป็นนายทหารระดับสูงที่โดดเด่นที่สุดในช่วงสงครามเวียดนามซึ่งได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่าย

ประวัติ

[แก้]

ซ้าบเกิดที่จังหวัดกว๋างบิ่ญทางเหนือของเว้ เขาเคยถูกฝรั่งเศสจับกุมใน พ.ศ. 2473 เพราะเป็นแกนนำในการประท้วงของนักศึกษา ซ้าปจบการศึกษาทางด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮานอยเมื่อ พ.ศ. 2480 และได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ของโฮจิมินห์ หลังจากที่เขาหนีการจับกุมของตำรวจไปยังภาคใต้ของจีนเมื่อ พ.ศ. 2482 ส่วนบุตรและภรรยาของเขาถูกจับขังจนเสียชีวิตในคุก

ใน พ.ศ. 2484 ซ้าบกลับมายังเวียดนามในฐานะที่ปรึกษาของโฮจิมินห์และเป็นผู้ร้วมก่อตั้งเวียดมินห์ เพื่อต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศส เมื่อประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2488 ซ้าบได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเมื่อ พ.ศ. 2491 และเป็นผู้บัญชาการฝ่ายทหารในยุทธการที่เดียนเบียนฟูเมื่อ พ.ศ. 2497 จนได้รับชัยชนะ

หลังจากการแบ่งแยกเวียดนามและจัดตั้งรัฐบาลเวียดนามเหนือ ซ้าบยังเป็นผู้นำกองทัพอย่างต่อเนื่องในการสู้รบกับเวียดนามใต้จนรวมชาติสำเร็จใน พ.ศ. 2518 ซ้าบลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดใน พ.ศ. 2519 และถูกปลดจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมใน พ.ศ. 2523 และลาออกจากคณะกรรมการเมืองใน พ.ศ. 2525 ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากการที่เขามีจุดยืนคัดค้านการรุกรานกัมพูชา หลังจากนั้น เขาได้กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการประสานทางการทูตกับจีนและสหรัฐอเมริกา

หวอ เงวียน ซ้าป เสียชีวิตในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556 สิริอายุได้ 102 ปี ศพถูกนำกลับไปฝังที่จังหวัดกว๋างบิ่ญ บ้านเกิด หวอ เงวียน ซ้าป ได้ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษอีกคนหนึ่งของเวียดนาม โดยเป็นที่เคารพนับถือของชาวเวียดนามเป็นอันดับสองรองจากโฮจิมินห์ [3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "NVA and/or VC Awards". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-21. สืบค้นเมื่อ 2010-11-08.
  2. Asian Heroes เก็บถาวร 2006-11-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Time Magazine
  3. ข่าวต่างประเทศ, "เช้าข่าว 7 สี" ทางช่อง 7: จันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2556
  • ไมเคิล ลีเฟอร์. พจนานุกรมการเมืองสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กทม. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2548.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]