หลาและปอนด์สากล
หลาและปอนด์สากล (อังกฤษ: international yard and pound) เป็นหน่วยชั่งตวงวัดสองหน่วยซึ่งกำหนดโดยผู้แทนจากหกประเทศเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1959 หกประเทศดังกล่าวได้แก่สหรัฐ สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแอฟริกาใต้ ข้อตกลงระหว่างผู้แทนทั้งหกประเทศกำหนดความยาวหนึ่งหลาให้เท่ากับ 0.9144 เมตรพอดี และมวลหนึ่งปอนด์ให้เท่ากับ 0.45359237 กิโลกรัมพอดี[1]
ประวัติ
[แก้]อาคารรัฐสภาสหราชอาณาจักรถูกเพลิงไหม้เสียหายในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1834 ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นรวมไปถึงตุ้มน้ำหนักและแท่งความยาวมาตรฐานสำหรับหน่วยชั่งตวงวัดแบบอังกฤษซึ่งเก็บรักษาอยู่ภายในด้วย รัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงจัดทำหน่วยวัดมาตรฐานขึ้นใหม่เพื่อทดแทนหน่วยวัดมาตรฐานที่เสียหายซึ่งเสร็จสิ้นใน ค.ศ. 1855 แท่งความยาวมาตรฐานหนึ่งหลาหรือ "ไม้หลา" จำนวนสองแท่งถูกส่งไปยังสหรัฐเพื่อให้ใช้เป็นหน่วยมาตรฐานของสหรัฐด้วย
ต่อมาใน ค.ศ. 1866 รัฐสภาสหรัฐได้ออกกฎหมายอนุญาตให้ใช้หน่วยวัดระบบเมตริกในการค้าได้ แม้ว่าจะยังไม่ได้กำหนดให้เป็นหน่วยหลักก็ตาม ในกฎหมายฉบับดังกล่าวมีตารางสำหรับแปลงหน่วยระหว่างระบบอังกฤษและระบบเมตริก ซึ่งรวมถึงนิยามความยาวหนึ่งเมตรเทียบกับหนึ่งหลา และหนึ่งกิโลกรัมเทียบกับหนึ่งปอนด์ หลังจากนั้นใน ค.ศ. 1893 ได้มีคำสั่งเมนเดนฮอลล์ให้เปลี่ยนมาตรฐานความยาวในสหรัฐจากเดิมที่อิงตามมาตรฐานของอังกฤษไปอิงตามระบบเมตริกแทน[2][3] ซึ่งมาจากเหตุปัจจัยสองประการ ประการแรกได้แก่แท่งความยาวมาตรฐานที่ได้รับมาจากสหราชอาณาจักรใน ค.ศ. 1855 พบว่าไม่เสถียรและหดสั้นลงอย่างเห็นได้ชัด ประการที่สองได้แก่สหรัฐร่วมลงนามในอนุสัญญาเมตริกเมื่อ ค.ศ. 1875 และได้รับแท่งความยาวมาตรฐานเมตริกซึ่งถูกนำไปใช้เป็นมาตรฐานต่อไป
ในสหราชอาณาจักรได้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติชั่งตวงวัดใน ค.ศ. 1897 โดยอนุญาตให้ใช้ระบบเมตริก[4] และได้ออกประกาศสภาองคมนตรีฉบับที่ 411 (ค.ศ. 1898) กำหนดหน่วยเมตรและกิโลกรัมตามหน่วยหลาและปอนด์[5] นิยามของสหราชอาณาจักรจะนิยามกลับกันเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยกำหนดให้ความยาวหนึ่งหลาอังกฤษมีค่าเท่ากับ 36/39.370113 เมตร[6]
ขณะเดียวกันในทศวรรษ 1890 อัลเบิร์ต อะบราฮัม ไมเคิลสันได้ทำการทดลองเกี่ยวกับอินเทอร์เฟอโรเมทรี เขาได้ข้อสรุปใน ค.ศ. 1903 และเผยแพร่ต่อสาธารณะว่าสามารถใช้คลื่นแสงเพื่อกำหนดหน่วยความยาวได้ ใน ค.ศ. 1908 นักวิจัยสองคณะซึ่งคณะหนึ่งนำโดยไมเคิลสันได้กำหนดหน่วยความยาวของแท่งความยาวเมตรมาตรฐานโดยใช้คลื่นแสง ต่อมาใน ค.ศ. 1927 สำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศได้ยอมรับนิยามคลื่นแสงใน ค.ศ. 1908 เป็นมาตรฐานเพิ่มเติม[7]
ใน ค.ศ. 1930 สถาบันมาตรฐานแห่งสหราชอาณาจักร (บีเอสไอ) ได้ยอมรับนิยามความยาวหนึ่งนิ้ว ให้เท่ากับ 25.4 มิลลิเมตรตามข้อกำหนดที่ยอมรับใน ค.ศ. 1927 ในขณะที่สมาคมมาตรฐานแห่งสหรัฐ (เอเอสเอ) ยอมรับนิยามเดียวกันใน ค.ศ. 1933 และภายใน ค.ศ. 1935 ภาคธุรกิจใน 16 ประเทศได้ยอมรับนิยามดังกล่าวซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า "นิ้วอุตสาหกรรม"[8][9] ใน ค.ศ. 1946 ที่ประชุมวิทยาศาสตร์เครือจักรภพแห่งอังกฤษได้แนะนำให้ประเทศในเครือจักรภพแห่งอังกฤษใช้นิยามความยาวหนึ่งนิ้วให้เท่ากับ 25.4 มิลลิเมตรพอดี และหนึ่งหลาหรือ 36 นิ้วให้เท่ากับ 0.9144 เมตรพอดี[10][note 1] สมาคมมาตรฐานแห่งประเทศแคนาดา (ซีเอสเอ) ได้ยอมรับมาตรฐานดังกล่าวใน ค.ศ. 1951[11]
เดือนตุลาคม ค.ศ. 1958 คณะกรรมการชั่งตวงวัดสากลได้แนะนำว่าหน่วยเมตรควรจะนิยามตามคลื่นแสงสีส้มจากอะตอมคริปทอน-86 ซึ่งข้อแนะนำดังกล่าวทำให้ผู้แทนจากหกประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักได้แก่ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ สหรัฐ และสหราชอาณาจักรตกลงที่จะให้นิยามหน่วยหลาสากลและปอนด์สากลอิงตามหน่วยเมตรและหน่วยกิโลกรัม โดยกำหนดให้หนึ่งหลาสากลเท่ากับ 0.9144 เมตรพอดี และหนึ่งปอนด์สากลเท่ากับ 0.45359237 กิโลกรัมพอดี[1] หนึ่งหลาสากลสั้นกว่าหนึ่งหลาอิมพิเรียลประมาณ 2 ไมโครเมตร ในขณะที่หนึ่งปอนด์สากลเบากว่าหนึ่งปอนด์อิมพิเรียลประมาณ 0.6 มิลลิกรัม[12]
คณะกรรมาธิการมาตรฐานแห่งสหรัฐเริ่มใช้หน่วยหลาสากลและปอนด์สากลซึ่งบัญญัติตามระบบเมตริกตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1959[13][14] ในประเทศออสเตรเลีย หน่วยดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับที่ 142 ประจำ ค.ศ. 1961 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1964[15] ส่วนในสหราชอาณาจักรได้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติชั่งตวงวัดให้ใช้หน่วยปอนด์สากลและหลาสากลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1964[16]
หมายเหตุ
[แก้]ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 United States. National Bureau of Standards (1959). Research Highlights of the National Bureau of Standards. U.S. Department of Commerce, National Bureau of Standards. p. 13. สืบค้นเมื่อ 31 July 2019.
- ↑ National Bureau of Standards, Refinement of values for the yard and pound
- ↑ Bewoor, Arand K; Kulkarni, Vinay A (2009). Metrology & Measurement. Tata McGraw-Hill Education. p. 18. ISBN 978-0-07-014000-4. สืบค้นเมื่อ 16 September 2012.
- ↑ John Mews, บ.ก. (1897). "Statutes of the Realm - 60-61 Victoria". The Law journal reports. Vol. 66. London: The Law Journal Reports. p. 109. สืบค้นเมื่อ 16 September 2012.
- ↑ Great Britain; Pulling, Alexander; Great Britain. Statute Law Committee (1904). The statutory rules and orders revised: being the statutory rules and orders (other than those of a local, personal, or temporary character) in force on December 31, 1903 ... Vol. 13 (2nd ed.). section 4 - Weights and Measures: HMSO. pp. 4:25–27. สืบค้นเมื่อ 17 September 2012.
{{cite book}}
: CS1 maint: location (ลิงก์) - ↑ Connor, R D (1987). The Weights and Measures of England. H.M. Stationery Office. ISBN 978-0-11-290435-9. สืบค้นเมื่อ 17 September 2012.
- ↑ Estermann, Immanuel (1959). Classical Methods. Academic Press. p. 27. ISBN 978-0-12-475901-5. สืบค้นเมื่อ 16 September 2012.
- ↑ National Conference on Weights and Measures; United States. Bureau of Standards; National Institute of Standards and Technology (U.S.) (1936). Report of the ... National Conference on Weights and Measures. U.S. Department of Commerce, Bureau of Standards. p. 4. สืบค้นเมื่อ 2 August 2012.
- ↑ Wandmacher, Cornelius; Johnson, Arnold Ivan (1995). Metric Units in Engineering--going SI: How to Use the International Systems of Measurement Units (SI) to Solve Standard Engineering Problems. ASCE Publications. p. 265. ISBN 978-0-7844-0070-8. สืบค้นเมื่อ 2 August 2012.
- ↑ Report of the British Commonwealth Scientific Conference. Official Conference, London, 1946. Cmd. 6970. H.M. Stationery Office, 1946
- ↑ Canadian Journal of Physics, 1959, 37(1): 84, 10.1139/p59-014
- ↑ "Synchronize Yardsticks!". Popular Mechanics. Hearst Magazines. March 1959. p. 248.
- ↑ Lewis Van Hagen Judson; United States. National Bureau of Standards (1976). Weights and measures standards of the United States: a brief history. Dept. of Commerce, National Bureau of Standards : for sale by the Supt. of Docs., U.S. Govt. Print. Off. pp. 30–1. สืบค้นเมื่อ 16 September 2012.
- ↑ National Conference on Weights and Measures; United States. Bureau of Standards; National Institute of Standards and Technology (U.S.) (1957). Report of the ... National Conference on Weights and Measures. U.S. Department of Commerce, Bureau of Standards. pp. 45–6. สืบค้นเมื่อ 2 August 2012.
- ↑ Australian Government ComLaw Weights and Measures (National Standards) Regulations - C2004L00578
- ↑ Thoburn v Sunderland City Council [2002] EWHC 195 (Admin) (18 February 2002)