หลวงพ่อเนียม
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
หลวงพ่อเนียม ธมฺมโชติ (หลวงพ่อเนียม วัดน้อย ) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | พ.ศ. 2370 (80 ปี) |
มรณภาพ | 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 |
นิกาย | มหานิกาย |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดน้อย จังหวัดสุพรรณบุรี |
อุปสมบท | พ.ศ. 2390 |
พรรษา | 60 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาส |
หลวงพ่อเนียม (พ.ศ. 2370 - พ.ศ. 2450) เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นที่นับถือโดยทั่วไปในด้านปาฏิหาริย์ พระพุทธคุณของท่านมากมายยิ่งนักทั้งในด้านเมตตา มหาอุต คงกระพัน และแคล้วคลาด เป็นที่ยอมรับด้วยกันมานาน แม้แต่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว) พระพุทธวิถีนายก (บุญ ขนฺธโชติ) หลวงพ่อทับ วัดทอง ยังมีความเคารพนับถือ และมีพระเครื่องของหลวงพ่อเนียมในครอบครอง
ประวัติ
[แก้]หลวงพ่อเนียม วัดน้อย ชาติภูมิชาวสุพรรณบุรี บิดาเป็นชาวบ้านซ่อง ต.มดแดง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ไม่ทราบชื่อ ส่วนมารดาเป็นชาวบ้านป่าพฤกษ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ชื่อว่า เนื่อง หลวงพ่อเนียมมีพี่น้องร่วมอุทรเดียวกันหลายคน แต่ไม่ทราบชื่อ ทราบเพียงว่าหนึ่งในนั้นมีพี่สาวชื่อว่า จาด
หลวงพ่อเนียมเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2370 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บ้านป่าพฤกษ์ ต.ตะค่า อ.บางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาท่านบรรพชาเป็นสามเณร กระทั่งอายุครบเกณฑ์อุปสมบท จึงอุปสมบท (สันนิษฐานว่าเป็นวัดป่าพฤกษ์ อันเป็นวัดบ้านเกิดใกล้บ้านท่าน) ภายหลังได้ศึกษาพระธรรมวินัยและมูลกัจจายน์ ที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร (ดังปรากฏหลักฐานนามท่านในบัญชีรายนามพระภิกษุที่จำวัดมหาธาตุฯ) และสันนิษฐานกันว่าท่านเคยไปพำนักจำพรรษา ศึกษาวิชาความรู้จากวัดระฆังโฆษิตาราม ในสมัยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมฺรังษี) อีกด้วย กระทั่งเมื่อมีอายุประมาณ40ปีจึงเดินทางกลับบ้านเกิดจำพรรษาอยู่วัดรอเจริญ เกิดขัดกับเจ้าอาวาส สุดท้ายจึงย้ายมาจำพรรษาอยู่วัดน้อย บูรณปฏิสังขรณ์วัดน้อยจากวัดร้าง ให้เป็นวัดที่เจริญขึ้นมาใหม่
หลวงพ่อเนียมมีความสนใจในทางวิปัสสนาธุระ ท่านช่วยให้การศึกษาแก่ศิษยานุศิษย์อย่างเต็มที่ ท่านมีชื่อเสียงในการรักษาโรคต่าง ๆ สามารถมองเห็นเหตุการณ์ต่างๆข้างหน้าได้อย่างตาทิพย์ การถ่ายรูปท่านว่ากันว่าถ่ายไม่ติด พระเณรที่ประพฤติผิดวินัย ท่านสามารถทราบได้เองโดยไม่ต้องมีใครมาบอกท่านมีเรื่องเล่าในกฤษดาภินิหารต่างๆ ท่านเป็นผู้ที่ความเมตตาต่อสัตว์ทุกชนิด กิจวัตรของท่านก็คือ ตื่นแต่เช้ามืด ครองจีวรแล้วปลงอาบัติ เสร็จแล้วนั่งสนทนากับพระภิกษุในวัดเป็นการอบรมไปในตัว พ่อรุ่งเช้าจึงออกบิณฑบาตโปรดญาติโยม กลับมาฉันภัตตาหาร แล้วจะนำอาหารไปเลี้ยงสัตว์ต่างๆที่เข้ามาพึ่งพาอาศัยวัด
ท่านมรณภาพในลักษณะคล้ายพระพุทธรูปปางไสยาสน์นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 ตรงกับปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริอายุได้ 80 ปี อยู่ในสมณเพศได้ 60 พรรษา ประชุมเพลิงศพในเดือนเมษายน พ.ศ. 2451 โดยมีพระพุทธวิถีนายก (บุญ ขนฺธโชติ) สมัยคุมมณฑลนครชัยศรี และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมโกศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลนครชัยศรี มาในงานด้วย
วัตถุมงคล
[แก้]ในด้านพระเครื่องนั้นเป็นที่โดงดังทั้วสารทิศ เป็นที่รู้จักทั้งในและนอกวงการพระเครื่อง ว่ามีคุณวิเศษมากมายในด้านแคล้วคลาด คงกระพันและเมตตามหานิยม โดยการสร้างพระในสมัยก่อนการทำปรอทให้แข็งไม่ใช่ของง่ายนัก ว่ากันว่าต้องใช้คาถาอาคม ทั้งต้องทำในฤดูฝนฤดูเดียวเท่านั้น เพราะพืชบางอย่าง เช่น ใบแตงหนู ซึ่งขึ้นในท้องนา จะขึ้นในฤดูฝน ส่วนผสมต่างๆ มีใบสลอด, ข้าวสุกหลวงพ่อท่านเอาของสามอย่างมาโขลกปนกันเพื่อไล่ขี้ปรอทออกให้หมด ทั้งนี้เพื่อให้ได้ปรอทขาวที่สุด การโขลกจะต้องโขลกและกวนอยู่ถึง ๗ วัน จึงจะเข้ากัน พอครบ ๗ วันเอาไปตากแดดเสร็จแล้วนำเอาไปกวนต่อจนเข้ากันดี จึงทำการแยกชั่งเป็นส่วน ๆ ส่วนละหนึ่งบาทต่อจากนั้นเอาไปใส่ครกหิน เติมกำมะถันและจุนสีโขลกตำให้เข้ากัน โดยใช้เวลาทำตอนกลางคืนเท่านั้น ทำเช่นนั้นอยู่ ๓ คืนจึงเอาปรอทใส่ลงไปในกระปุกเหล้าเกาเหลียง ผสมกับตะกั่วเอาเข้าไฟสุมอยู่ถึง 7 วัน บางครั้งอุณหภูมิ สูงจัด กระปุกเหล้าเกาเหลียงแตกเสียหายก็มี การสุมไฟสุมเฉพาะเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนทำพิธีปลุกเสกด้วยคาถาอาคม พอครบ ๗ ไฟเทลงในแม่พิมพ์จึงจะได้พระตามที่ต้องการ
โดยมีพิมพ์ที่นิยมกันเป็นสากลได้แก่ 1.เศียรโล้น 2.เศียรแหลม 3.งบน้ำอ้อย 4.ประธานเล็ก-ใหญ่ 5.พระเจ้า 5 พระองค์ 6.พระปิดตา 7.พระถ้าเสือ 8.ปรุหนัง 9.ลูกสะกด+ตะกรุด
อ้างอิง
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- หนังสือหลวงพ่อเนียม วัดน้อย (จัดทำโดย วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี)
- หนังสือตำนานพระเกจิ เล่มที่ 2
- หนังสือ นิตยสารลานโพธิ์
- หนังสือตามรอยตำนาน สุดยอดอมตะภาพถ่าย ๑๐๘ พระคณาจารย์แดนสยาม
- ประวัติหลวงพ่อเนียม วัดน้อย[ลิงก์เสีย]
- หนังสือสารบาญแห่งวัดน้อย สุพรรณบุรี และ สารบาญแห่งวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร