หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) | |
---|---|
เกิด | 6 สิงหาคม พ.ศ. 2424 ตำบลดาวดึงส์ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 8 มีนาคม พ.ศ. 2497 (72 ปี) บ้านศิลปบรรเลง ถนนบริพัตร จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
ชื่ออื่น | ศร ศิลปบรรเลง |
อาชีพ | นักดนตรีไทย อาจารย์ |
มีชื่อเสียงจาก | ผู้ชำนาญด้านดนตรีไทย ผู้ประพันธ์เพลง"แสนคำนึง" |
คู่สมรส | โชติ หุราพันธ์ ฟู หุราพันธ์ |
บุตร | 12 คน |
รองเสวกเอก หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) (6 สิงหาคม พ.ศ. 2424 – 8 มีนาคม พ.ศ. 2497) เป็นนักดนตรีไทยผู้มีชื่อเสียงในด้านการเล่นระนาดเอกและประพันธ์เพลงไทยเดิมประมาณ 300 เพลง
ชีวิตส่วนบุคคล
หลวงประดิษฐไพเราะ นามเดิม ศร เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2424 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ตำบลดาวดึงส์ อำเภออัมพวา สมุทรสงคราม เป็นบุตรของ นายสิน นางยิ้ม ศิลปบรรเลง บิดาของท่านคือครูสินเป็นเจ้าของวงปี่พาทย์ และเป็นศิษย์ของพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) [1] หลวงประดิษฐไพเราะถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2497 รวมอายุ 73 ปี
ครอบครัว
รองเสวกเอก หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) สมรสครั้งแรกกับนางโชติ ประดิษฐ์ไพเราะ (สกุลเดิม: หุราพันธ์) ธิดาของนายพันโท พระประมวญประมาณพล มีบุตรธิดาด้วยกัน 7 คน ต่อมาเมื่อนางโชติถึงแก่กรรมแล้วจึงได้สมรสครั้งที่ 2 กับนางฟู ศิลปบรรเลง (สกุลเดิม: หุราพันธ์) ซึ่งเป็นน้องสาวของนางโชติ มีบุตรธิดาด้วยกัน 5 คน[2] รวมจำนวนบุตรธิดาทั้งหมด 12 คน ซึ่งได้แก่[3]
- เด็กหญิงสร้อยไข่มุกด์ ศิลปบรรเลง - ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก
- เด็กหญิงศุกร์ดารา ศิลปบรรเลง - ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก
- นางชิ้น ไชยพรรค (คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง)
- นางมหาเทพกษัตรสมุห (บรรเลง สาคริก)
- เด็กชายศิลปสราวุธ ศิลปบรรเลง - ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก
- นายประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง
- นางภัลลิกา ศิลปบรรเลง
- นางชัชวาลย์ จันทร์เรือง
- เด็กชายแดง ศิลปบรรเลง - ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก
- นายขวัญชัย ศิลปบรรเลง
- นาวาเอกสมชัย ศิลปบรรเลง
- นายสนั่น ศิลปบรรเลง
ทักษะทางด้านดนตรี
ศร สามารถตีฆ้องวงใหญ่ได้เองตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เริ่มเรียนปี่พาทย์เมื่ออายุ 11 ปี ตีระนาดได้รวดเร็ว มาตั้งแต่เด็ก โดยมีบิดาเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาปี่พาทย์ให้จนกระทั่งมีความสามารถในการประชันวงถึงขั้นมีชื่อเสียงไปทั่วลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จากการได้ออกแสดงฝีมือนี้เองทำให้ชื่อเสียงของนายศร เป็นที่เลื่องลือในหมู่นักดนตรีมากขึ้น โดยเฉพาะในงานใหญ่ครั้งแรก คือ "งานโกนจุกเจ้าจอมเอิบ" และ เจ้าจอมอาบ ธิดาเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ จังหวัดเพชรบุรี
ในปี พ.ศ. 2443 ขณะเมื่ออายุ 19 ปี ท่านได้แสดงฝีมือเดี่ยวระนาดเอกถวายสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นที่ต้องพระทัยมาก จึงทรงรับตัวเข้ามาไว้ที่วังบูรพาภิรมย์ ทำหน้าที่คนระนาดเอกประจำ ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นายศร ศิลปบรรเลง ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐไพเราะ มีราชการในกรมมหรสพ ถือศักดินา 400[4] เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ณ พระที่นั่งบรมพิมาน[5] แล้วได้รับพระราชทานยศเป็น หุ้มแพร ในวันที่ 13 กรกฎาคม ศกเดียวกัน[6] ทั้งนี้ท่านไม่เคยรับราชการอยู่ในกรมกองใดมาก่อน แต่เพราะฝีมือและความสามารถของท่านเป็นที่ต้องพระหฤทัย[ต้องการอ้างอิง]
ในปี พ.ศ. 2469 ท่านได้เข้ารับราชการในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง กระทรวงวัง ท่านได้มีส่วนถวายการสอนดนตรีให้กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี รวมทั้งมีส่วนช่วยงานพระราชนิพนธ์เพลงสามเพลง คือ เพลงราตรีประดับดาวเถา เพลงเขมรละออองค์เถา และ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง สามชั้น
ยศและบรรดาศักดิ์
- 27 มิถุนายน 2468 – หลวงประดิษฐ์ไพเราะ
- 11 กรกฎาคม 2468 – เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
- 13 กรกฎาคม 2468 – หุ้มแพร
ในสื่อ
ชีวประวัติของท่านเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่องโหมโรง ออกฉายในปีพ.ศ. 2547 และได้รับการดัดแปลงซ้ำเป็นละครโทรทัศน์ ออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อ พ.ศ. 2555
ผลงาน
ส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข้อมูล โปรดช่วยพัฒนาส่วนนี้โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เนื้อหาที่ไม่มีการอ้างอิงอาจถูกคัดค้านหรือนำออก |
หลวงประดิษฐไพเราะ ท่านได้แต่งเพลงไว้มากกว่าร้อยเพลง ดังนี้:
- เพลงโหมโรง
- โหมโรงกระแตไต่ไม้
- โหมโรงปฐมดุสิต
- โหมโรงศรทอง
- โหมโรงประชุมเทวราช
- โหมโรงบางขุนนท์
- โหมโรงนางเยื้อง
- โหมโรงม้าสะบัดกีบ
- โหมโรงบูเซ็นซ๊อค
- ฯลฯ
- เพลงเถา
- กระต่ายชมเดือนเถา
- ขอมทองเถา
- เขมรเถา
- เขมรปากท่อเถา
- เขมรราชบุรีเถา
- แขกขาวเถา
- แขกสาหร่ายเถา
- แขกโอดเถา
- จีนลั่นถันเถา
- ชมแสงจันทร์เถา
- ครวญหาเถา
- เต่าเห่เถา
- นกเขาขแมร์เถา
- พราหมณ์ดีดน้ำเต้าเถา
- มุล่งเถา
- แมลงภู่ทองเถา
- ยวนเคล้าเถา
- ช้างกินใบไผ่เถา
- ระหกระเหินเถา
- ระส่ำระสายเถา
- ไส้พระจันทร์เถา
- ลาวเสี่ยงเทียนเถา
- แสนคำนึงเถา
- สาวเวียงเหนือเถา
- สาริกาเขมรเถา
- โอ้ลาวเถา
- ครุ่นคิดเถา
- กำสรวลสุรางค์เถา
- แขกไทรเถา
- สุรินทราหูเถา
- เขมรภูมิประสาทเถา
- แขไขดวงเถา
- พระอาทิตย์ชิงดวงเถา
- กราวรำเถา
- ฯลฯ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
ธรรมเนียมยศของ หลวงประดิษฐไพเราะ | |
---|---|
ตราประจำตัว | |
การเรียน | ใต้เท้า |
การแทนตน | กระผม/ดิฉัน |
การขานรับ | ครับ/ค่ะ |
- พ.ศ. 2473 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)[7]
- พ.ศ. 2472 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ))[8]
- พ.ศ. 2450 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 5 (ร.จ.ท.5)[9]
- พ.ศ. 2460 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 6 (ร.จ.ท.6)[10]
อ้างอิง
- ↑ ""ทำเนียบศิลปิน ท้องถิ่นอัมพวา"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-30. สืบค้นเมื่อ 2017-04-07.
- ↑ "คีตกวีไทย หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-16. สืบค้นเมื่อ 2018-05-02.
- ↑ หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) 10 มีนาคม 2498 ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานบรรดาศักดิ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 42, ตอน 0 ง, 5 กรกฎาคม 2468, หน้า 1033
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์, เล่ม 42, ตอน 0 ง, 19 กรกฎาคม 2468, หน้า 1151-2
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานยศ เก็บถาวร 2018-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 42, ตอน 0 ง, 19 กรกฎาคม 2468, หน้า 1152
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน เก็บถาวร 2022-07-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๒๒๘, ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๗๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-07-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๖๔, ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๗๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญราชรุจิ, เล่ม ๒๔ ตอนที่ ๕๒ หน้า ๑๔๑๔, ๒๙ มีนาคม ๑๒๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญราชรุจิ, เล่ม ๓๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๕๙๓, ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๖๐