หม่อมเล็ก ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา
หม่อมเล็ก ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา | |
---|---|
หม่อมเล็ก ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา และพระโอรส-ธิดา | |
เกิด | พ.ศ. 2425 |
เสียชีวิต | 24 กันยายน พ.ศ. 2461 |
คู่สมรส | สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช |
บุตร | 7 พระองค์ |
บิดามารดา | นายกองนา (ทองดำ ยงใจยุทธ) ถม ยงใจยุทธ |
หม่อมเล็ก ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา (พ.ศ. 2425 – 24 กันยายน พ.ศ. 2461) เป็นหม่อมคนสุดท้าย ในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช [1]
หม่อมเล็ก ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา (ยงใจยุทธ) เป็นบุตรีของนายกองนา (ทองดำ ยงใจยุทธ) ข้าหลวงในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นตระกูลชาวสวนแถบตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม[2] กับคุณถม[3] มีพี่สาวคนโตชื่อแจ่ม ยงใจยุทธ และมีน้องชายชื่อร้อยเอก ชั้น ยงใจยุทธ (บิดาของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ)
หม่อมเล็กถวายตัวเป็นหม่อมห้ามในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2445 ให้ประสูติพระโอรส-พระธิดา 7 พระองค์ คือ
- หม่อมเจ้ารำไพประภา (พ.ศ. 2450-2522) รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารำไพประภา
- หม่อมเจ้าหญิงเล็ก สิ้นชีพิตักษัยในเดือนประสูติ พ.ศ. 2451
- หม่อมเจ้าอาภัสสรวงศ์ (พ.ศ. 2452-2525) รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์
- หม่อมเจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช (พ.ศ. 2457-2528) รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช
- หม่อมเจ้านรเศรษฐสุริยลักษณ์ (พ.ศ. 2458-2497) รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านรเศรษฐสุริยลักษณ์ มีพระอาการทางสมอง
- หม่อมเจ้าจิรศักดิ์สุประภาต (พ.ศ. 2460-2485) รัชกาลที่ 7 ทรงรับเป็นพระราชโอรสบุญธรรม และโปรดเกล้าสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต
- หม่อมเจ้าหญิงแดง สิ้นชีพิตักษัยในวันประสูติ เมื่อ พ.ศ. 2461
หม่อมเล็กเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ และกำลังจะได้รับพระราชทานตราตั้ง สถาปนาเป็นพระชายา ในสมัยรัชกาลที่ 6 [2] แต่ได้ถึงแก่กรรมไปเสียก่อน พร้อมกับพระธิดาองค์สุดท้องที่สิ้นชีพิตักษัยในวันประสูติ เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2461 สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงโทมนัสเป็นอย่างมาก จนถึงกับทรงขังพระองค์เองอยู่ในวังบูรพาภิรมย์เพียงพระองค์เดียวถึง 7 วัน 7 คืน[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์. เกิดวังปารุสก์ สมัยประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2494, พิมพ์ครั้งที่สิบ พ.ศ. 2532. 360 หน้า. ISBN 974-86938-5-6
- ↑ 2.0 2.1 2.2 หม่อมราชวงศ์มาลินี จักรพันธุ์. ต้นกำเนิดที่เกิดเหตุ... เจ้าชายดาราทอง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546. 376 หน้า. ISBN 974-322-980-9
- ↑ พระนมปริกพระนมเอกผู้ใหญ่แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว