ข้ามไปเนื้อหา

หม่อมเจ้าเพลิงนภดล รพีพัฒน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมเจ้าเพลิงนภดล รพีพัฒน์
หม่อมเจ้า ชั้น 5
ประสูติ30 ธันวาคม พ.ศ. 2449
วังเชิงสะพานเทเวศรนฤมิตร จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
สิ้นชีพิตักษัย22 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 (78 ปี)
พระราชทานเพลิง20 สิงหาคม พ.ศ. 2528
เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
ชายาหม่อมเจ้าทรงอัปสร รพีพัฒน์
พระบุตรหม่อมราชวงศ์อคิน รพีพัฒน์
หม่อมราชวงศ์รพีพงษ์ รพีพัฒน์
หม่อมราชวงศ์อับษร โรกอซ
ราชสกุลรพีพัฒน์
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
พระมารดาหม่อมอ่อน รพีพัฒน์ ณ อยุธยา
ศาสนาพุทธ
เอกอัครราชทูตไทยประจำสหราชอาณาจักร
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2506 – 2510
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
นายกรัฐมนตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ถนอม กิตติขจร
ก่อนหน้าหม่อมหลวงปีกทิพย์ มาลากุล
ถัดไปสุนทร หงส์ลดารมภ์

หม่อมเจ้าเพลิงนภดล รพีพัฒน์ (30 ธันวาคม พ.ศ. 2449 – 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2528) เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ประสูติแต่หม่อมอ่อน รพีพัฒน์ ณ อยุธยา

พระประวัติ

[แก้]

หม่อมเจ้าเพลิงนภดล รพีพัฒน์ เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ประสูติแต่หม่อมอ่อน รพีพัฒน์ ณ อยุธยา (ธิดาของพระยาสุพรรณพิจิตร (โต) กับหม่อมราชวงศ์สำอาง (ธิดาหม่อมเจ้าหนู เสนีวงศ์)) มีโสทรภราดาและโสทรภคินี 10 องค์ และมีขนิษฐาต่างพระมารดา 2 องค์ ประสูติเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2449 ณ วังเชิงสะพานเทเวศร์นฤมิตร เมื่อพระชันษาได้ 4 ถึง 5 ปี ทรงเริ่มเรียนหนังสือที่วังฯ โดยมีครูสอนพิเศษคือ มหาวงศ์ สอนหนังสือไทย และครูตั้ง สอนภาษาอังกฤษ ครั้นชันษาได้ 9 ปี ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เมื่อ พ.ศ. 2458 ต่อมาเมื่อโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ซึ่งเป็นสาขาของโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้เปิดสอนที่สามเสน ใกล้กับวังเชิงสะพานเทเวศร์ จึงทรงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนนี้ เมื่อทรงสอบไล่ได้ชั้นเตรียมแล้วก็ทรงย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2466 ทรงเดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ในช่วงแรกทรงเรียนวิชาภาษาและวิชาสามัญอื่นๆ เป็นเวลา 2 ปี ครั้นถึงวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2468 ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนกฎหมายของประเทศอังกฤษ ที่มิดเดิลเทมเปิล ทรงเรียนจบหลักสูตรและทรงเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2470 หลังจากนั้นได้เสด็จกลับมายังประเทศไทย

หม่อมเจ้าเพลิงนภดล รพีพัฒน์ เข้ารับราชการที่กระทรวงยุติธรรมเป็นข้าราชการตุลาการ ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลแพ่ง[1] หลังจากนั้นได้โอนไปรับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ ดำรงตำแหน่งเลขานุการเอก ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ถึง พ.ศ. 2503 และหลังจากนั้นได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้หม่อมเจ้าเพลิงนภดล รพีพัฒน์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศอังกฤษ[2] ประจำ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร[3] ในระหว่างปี พ.ศ. 2506 - พ.ศ. 2510

หม่อมเจ้าเพลิงนภดล เสกสมรสกับหม่อมเจ้าทรงอัปสร รพีพัฒน์ ท.จ.ว. (ราชสกุลเดิม กิติยากร; พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ กับหม่อมเจ้าอัปษรสมาน กิติยากร) มีโอรสธิดา 3 คน คือ หม่อมราชวงศ์อคิน รพีพัฒน์ หม่อมราชวงศ์รพีพงษ์ รพีพัฒน์ และ หม่อมราชวงศ์อับษร โรกอซ

หม่อมเจ้าเพลิงนภดล รพีพัฒน์ สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 สิริชันษา 78 ปี ในการนี้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานน้ำหลวงสรงศพหม่อมเจ้าเพลิงนภดล รพีพัฒน์ ณ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2528 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส[4]

พงศาวลี

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. แจ้งความกระทรวงยุติธรรม เรื่อง ย้ายผู้พิพากษา เล่ม 56 หน้า 1457 ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 สิงหาคม 2482
  2. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศอังกฤษ เล่ม 80 ตอนที่ 17 ราชกิจจานุเบกษา 19 กุมภาพันธ์ 2506
  3. รายนามเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (List of Ambassadors)
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก วันอังคารที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘ เล่ม 102 ตอนที่ 118 วันที่ 3 พฤษภาคม 2528
  5. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฉบับพิเศษ หน้า 669 เล่ม 84 ตอนที่ 128 ราชกิจจานุเบกษา 30 ธันวาคม 2510
  6. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฉบับพิเศษ หน้า 254 เล่ม 82 ตอนที่ 111 ราชกิจจานุเบกษา 23 ธันวาคม 2508
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2009-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เล่ม 84 ตอนที่ 41 วันที่ 10 พฤษภาคม 2510
  8. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เล่ม 70 ตอนที่ 80 ราชกิจจานุเบกษา 29 ธันวาคม 2496