หม่อมหลวงยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา
หม่อมหลวงยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา | |
---|---|
เกิด | หม่อมหลวงยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา |
หม่อมหลวงยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา อดีตนักมวยสากลชาวไทยและอดีตข้าราชการพลเรือนประจำกระทรวงเกษตร (ปัจจุบันคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
ม.ล.ยิ่งศักดิ์ ในวัยเยาว์เป็นผู้ที่นิยมชมชอบในการเล่นกีฬาชนิดต่าง ๆ อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกีฬาประเภทศิลปะการป้องกันตัว เมื่อเป็นวัยรุ่นเคยหัดกระบี่กระบองกับครูที่มีชื่อเสียงหลายคน มีฝีมือดีสามารถคว้ารางวัลผ้าขาวม้ามาครองตามงานประเพณีต่าง ๆ มาได้หลายผืน ต่อมาได้ไปศึกษาต่อด้านการเกษตรที่ประเทศอังกฤษ ก็ได้ฝึกชกมวยสากล และได้ขึ้นชกในแบบมวยสากลสมัครเล่นระดับนักเรียนได้แชมป์เป็นถ้วยรางวัลเกียรติยศหลายใบ ต่อมาจึงได้ขึ้นชกมวยสากลอาชีพที่นั่น โดยขึ้นชกในพิกัดน้ำหนักระหว่าง 135-140 ปอนด์ (รุ่นไลท์เวท-รุ่นซูเปอร์ไลท์เวท) มีสถิติการชกอยู่ทั้งหมด 42 ไฟท์ เป็นการชนะคะแนน 7 ไฟท์ ชนะที.เค.โอ. 8 ไฟท์ ชนะน็อก 17 ไฟท์ ชนะฟาล์ว 2 ไฟท์ แพ้คะแนน 4 ไฟท์ แพ้น็อก 1 ไฟท์ และเสมอทั้งหมด 3 ไฟท์ โดยมีฉายาที่ได้รับจากชาวอังกฤษว่า "Siamese flash" (สายฟ้าสยาม)
เมื่อสำเร็จการศึกษามาแล้ว ม.ล.ยิ่งศักดิ์ นับได้ว่าเป็นชาวไทยที่มีคุณวุฒิเกี่ยวกับวิชามวยสากลอย่างเต็มเปี่ยมชนิดหาตัวจับยาก แต่ต่อมาได้เข้ารับราชการในกระทรวงเกษตร จึงไม่อาจทำให้ได้ใกล้ชิดกับวงการมวยเหมือนเช่นอดีต
จนกระทั่ง เวทีราชดำเนินเปิดดำเนินการขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2488 ม.ล.ยิ่งศักดิ์ได้เข้าไปดูมวยในเวทีบ่อยขึ้น และได้เริ่มเขียนคอลัมน์วิจารณ์มวยในหนังสือพิมพ์และนิตยสารมวยฉบับต่าง ๆ จนเป็นที่ชื่นชอบและรู้จักเป็นอย่างยิ่งของแฟนมวยและแฟนกีฬาในระหว่างปี พ.ศ. 2493-พ.ศ. 2496
นอกจากนี้แล้ว ม.ล.ยิ่งศักดิ์ ยังได้เป็นเทรนเนอร์ให้กับนักมวยสากลชาวไทยที่มีชื่อเสียงที่จะทำการขึ้นชิงแชมป์ อาทิ จำเริญ ทรงกิตรัตน์ ในไฟท์ที่ขึ้นชิงแชมป์สหพันธ์มวยภาคตะวันออกไกลและแปซิฟิค หรือ OPBF ในรุ่นไลท์เวท เมื่อปี พ.ศ. 2495 และได้เป็นแชมป์มวยสากลในระดับภูมิภาคเป็นคนแรกของไทย และ สมเดช ยนตรกิจ ที่ขึ้นชิงแชมป์ในสถาบันเดียวกันในรุ่นเวลเตอร์เวทเมื่อปี พ.ศ. 2496 เป็นต้น
ด้านชีวิตครอบครัว ม.ล.ยิ่งศักดิ์สมรสกับนางศรีอุทัย อิศรเสนา ณ อยุธยา และมีบุตรสาวกับนางสาวบุญชู สว่างนวล ซึ่งเป็นภริยาที่มิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย หนึ่งคน คือ มยุรี อิศรเสนา ณ อยุธยา ปัจจุบันเป็นนักร้องเพลงลูกกรุงที่มีชื่อเสียงและเป็นนักแสดงสมทบ
ม.ล.ยิ่งศักดิ์ถึงแก่กรรมเมื่อเวลาสี่ทุ่มเศษของวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2496 ด้วยอาการเส้นโลหิตในสมองแตก สิริอายุได้เพียง 50 กว่า ๆ เท่านั้น ที่บ้านพักของตัวเองในซอยวรพงษ์ ถนนวิสุทธิกษัตริย์ เนื่องจากโรคประจำตัวคือ ความดันโลหิตสูงเพราะติดสุรามา ขณะที่ถึงแก่กรรมนั้น ม.ล.ยิ่งศักดิ์เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นเอก ประจำกรมกสิกรรม กระทรวงเกษตร
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2492 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)[1]
- พ.ศ. 2485 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๖๖ ตอนที่ ๖๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๘๑, ๒๐ ธันวาคม ๒๔๙๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๖๑ ง หน้า ๒๒๗๘, ๑๘ กันยายน ๒๔๘๕
- คอลัมน์มุมข้อมูล โดย ชายพจน์ นิตยสารมวยโลก ฉบับที่ 699 ประจำวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2541-3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541