หญ้าขจรจบ
หญ้าขจรจบ | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Monocots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Commelinids |
อันดับ: | Poales |
วงศ์: | Poaceae |
สกุล: | Pennisetum |
สปีชีส์: | P. pedicellatum |
ชื่อทวินาม | |
Pennisetum pedicellatum Trin. |
หญ้าขจรจบ หรือ หญ้าคอมมิวนิสต์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Pennisetum pedicellatum; อังกฤษ: desho grass, desho) เป็นพืชดอกใบเลี้ยงเดี่ยวชนิดหนึ่งในสกุล Pennisetum วงศ์หญ้า มีถิ่นกำเนิดในประเทศเอธิโอเปีย ขึ้นมากตามที่สูงชันบริเวณพื้นที่ภูเขาของประเทศ[1] หญ้าชนิดนี้เป็นแหล่งอาหารสำคัญสำหรับปศุสัตว์และสามารถนำมาเพาะปลูกในพื้นที่เล็ก ๆ ได้อย่างยั่งยืน[1]
หญ้าขจรจบเป็นเป็นวัชพืชที่สำคัญนำความเสียหายมาสู่การเกษตรของประเทศไทยเป็นอย่างมาก สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วโดยเมล็ด หญ้าขจรจบเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2498 โดยศาสตราจารย์ คูมา ผู้เชี่ยวชาญพืชอาหารสัตว์ของ FAO สั่งมาจากประเทศอินเดียเพื่อทดลองปลูกเป็นพืชอาหารสัตว์[2]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
[แก้]หญ้าขจรจบเป็นหญ้าอายุข้ามปี ลำต้นเติบโตเป็นเหง้าบนดิน สามารถแตกหน่อเป็นกอขนาดใหญ่ได้ สูงได้ถึง 1–2 เมตรหรือมากกว่า ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อปล้องที่หุ้มด้วยกาบใบ ข้อปล้องบริเวณโคนลำต้นมีรากแตกออก หญ้าขจรจบเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แตกกาบใบออกหุ้มลำต้น แผ่นใบเรียวยาว แผ่นใบมีสีเขียว แผ่นใบด้านบน และด้านล่างมีขนนุ่มปกคลุม ดอกเป็นดอกสมบูรณ์ที่ออกดอกเป็นช่อแทงจากส่วนยอดของลำต้น ดอกมีขนปกคลุมยาว และมีลักษณะนุ่มคล้ายขนหางสัตว์ ทั้งนี้ ดอกหญ้าขจรจบจะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคม และเมล็ดที่ร่วงลงดินจะงอกใหม่หลังฝนตกในช่วงเดือนพฤษภาคม
พันธุ์หญ้าขจรจบ หรือ หญ้าคอมมิวนิสต์
[แก้]มีการเสนอว่า บทความนี้หรือส่วนนี้ควรแยกเป็นบทความใหม่ชื่อ Pennisetum pedicellatum, Pennisetum polystachyon และ Pennisetum setosum (อภิปราย) |
1. หญ้าขจรจบดอกใหญ่ หรือ หญ้าขจรจบดอกแดงใหญ่ หรือ หญ้าขจรจบปุยมาก • ชื่อวิทยาศาสตร์ Pennisetum pedicellatum Trin : Feather pennisetum ลำต้นมีลักษณะเด่น คือ ลำต้นตั้งตรง มีความสูงประมาณ 1-2 เมตร หรือมากกว่า ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อปล้อง เปลือก และแก่นแข็งแรง ลำต้นแตกแขนงบริเวณโคนต้น และบางครั้งมักพบลำต้นเอนราบกับพื้นดิน พร้อมแตกลำต้นขึ้นเป็นลำต้นใหม่ได้ ส่วนใบออกเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับข้างกันตามความสูงของลำต้น ประกอบด้วยกาบใบสีเขียวอ่อนที่หุ้มรอบลำต้น ถัดมาเป็นแผ่นใบ ที่กว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเรียวยาว ปลายแหลม แผ่นใบมีขนปกคลุมทั้งด้านบน และด้านล่าง ส่วนดอกออกเป็นช่อ ทั้งออกตามข้อ และแทงออกที่ปลายลำต้น ช่อดอกมีความยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร ขนาดช่อดอกประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ซึ่งมีช่อดอกย่อยจำนวนมาก โดยดอกย่อยมีขนปกคลุม ดอกหลังบานจะมีขน สีม่วง และดอกแก่จะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีฟางหรือสีน้ำตาลอ่อน
2. หญ้าขจรจบดอกเล็ก หรือ หญ้าขจรจบดอกแดงเล็ก หรือ หญ้าขจรจบปุยน้อย • ชื่อวิทยาศาสตร์ Pennisetum polystachyon Sehute ลำต้นมีลักษณะเด่น คือ ลักษณะลำต้น และใบคล้ายกับหญ้าขจรจบดอกใหญ่ทุกประการ แต่ใบจะค่อนข้างเรียวยาวกว่าที่ 15-35 เซนติเมตร และช่อดอกจะสั้นกว่าที่ 12-18 เซนติเมตร และขนาดดอกจะเล็กกว่า มีปุยขนสั้นกว่า
3. หญ้าขจรจบดอกดอกเหลือง • ชื่อวิทยาศาสตร์ Pennisetum setosum เป็นพันธุ์หญ้าขจรจบที่ค้นพบหลังจาก 2 พันธุ์ แรก ซึ่งพบแพร่ระบาดในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป ซึ่งสายพันธุ์นี้จะแตกต่างจาก2 พันธุ์แรก คือ ดอกจะมีสีเหลืองเด่นชัด และมีอายุมากกว่า 1 ปี แต่ 2 ชนิดแรก มีอายุเพียงปีเดียว จำนวนช่อดอกของหญ้าขจรจบดอกเหลือง จาก 1 กอ จะมีประมาณ 18 ช่อ แต่ละช่อมีดอกย่อยประมาณ 460 ดอก ดังนั้น จึงสามารถแพร่ระบาดได้รุนแรง และรวดเร็วมาก ทั้งนี้ หญ้าขจรจบดอกเหลืองจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคม และตุลาคม
ประโยชน์และข้อเสีย
[แก้]- ประโยชน์
- หญ้าขจรจบ แต่ก่อนมีการส่งเสริมการปลูกเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ (ในประเทศไทยที่โรงงานกระดาษบางปะอิน)
- หญ้าขจรจบที่นำเข้าในไทยครั้งแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกเป็นอาหารแก่โค กระบือ สามารถให้ผลผลิตประมาณ 1.8 ตัน/ไร่ นอกจากนี้หญ้ายังเติบโตได้รวดเร็ว สามารถเก็บเกี่ยวได้ในระยะ 40–60 วัน หลังการปลูก
- ใช้ปลูกเพื่อเป็นพืชคลุมดิน ป้องกันหน้าดินพังทลาย
- คุณค่าทางโภชนาการหญ้าขจรจบ/หญ้าคอมมิวนิสต์ (อายุ 40 วัน : 100 กรัม) พลังงาน : 186.10 แคลอรี่, โปรตีน : 7.56 กรัม, ไขมัน : 0.79 กรัม, คาร์โบไฮเดรต : 37.21 กรัม, ความชื้น : 8.70 กรัม, เถ้า : 8.78 กรัม, กาก : 37.01 กรัม, แคลเซียม : 129.6 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส : 174.3 มิลลิกรัม และเหล็ก : 16.2 มิลลิกรัม
- ข้อเสีย
- หญ้าขจรจบมีปุยขนที่ดอก ซึ่งทำหน้าที่ช่วยพยุงดอกให้ปลิวตามลมได้ ทำให้แพร่กระจายได้รวดเร็ว
- ลำต้นของหญ้าขจรจบสามารถแตกกอขนาดใหญ่ได้ ทำให้มีจำนวนต้นมาก และจำนวนดอกย่อมมากเช่นกัน จึงสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
- ลำต้นหญ้าขจรจบมีขนาดใหญ่ และสูงมาก เป็นอุปสรรคต่อการกำจัด ทั้งการตัด และการขุดตอออก
- หญ้าขจรจบมีความทนต่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ดี ทำให้การใช้สารเคมีบางชนิดไม่ได้ผล
- มักพบแพร่ระบาดเป็นวัชพืชตามสวนผลไม้ สวนมันสำปะหลัง อ้อย และนาข้าว ซึ่งจะผลทำให้ผลผลิตของพืชลดลง
- มักพบแพร่ระบาดตามริมแม่น้ำ ริมชายน้ำที่บดบังพืชท้องถิ่นไม่ให้ขึ้นได้
การกำจัด
[แก้]- ใช้ยาปราบศัตรูพืชฉีดพ่นจำกัด ซึ่งสามารถได้ผลบ้าง
- การขุดเหง้าหรือลำต้นตากแดด
อ้างอิง
[แก้]- ชาญชัย มณีดุลย์, 2511. บันทึกประวัติการนำพันธืชอาหารสัตว์เข้าประเทศ. สัตวแพทยสาร เล่ม 1 มกราคม 2511.
- วีระพล แจ่มสวัสดิ์ และสมาน ศรีสวัสดิ์, 2538. การศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้หญ้าขจรจบเป็นอาหารหยาบเลี้ยงโคในฤดูแล้ง.
- Dumrong Leenanuruksa, 2522. การผลิตหญ้าแห้งเพื่อเลี้ยงโค กระบือจากหญ้าขจรจบ. งานวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
- ↑ 1.0 1.1 Smith, G. (2010). Ethiopia: local solutions to a global problem เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ "ชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นรุกรานในประเทศไทย ( IAS in Thailand )". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-18. สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)