ข้ามไปเนื้อหา

สไปเดอร์-แมน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สไปเดอร์-แมน
หน้าปกหนังสือการ์ตูน "อแมซซิงแฟนตาซี" ฉบับที่ 15 ที่ซึ่งไอ้แมงมุมปรากฏตัวเป็นครั้งแรก
ข้อมูลการจัดพิมพ์
ผู้จัดพิมพ์มาร์เวลคอมิกส์
ปรากฏตัวครั้งแรกอแมซซิงแฟนตาซี #15 (สิงหาคม 1962)
สร้างสรรค์โดยสแตน ลี
สตีฟ ดิตโก
ข้อมูลในเรื่อง
ชื่อจริงปีเตอร์ เบนจาบิน ปาร์คเกอร์
นามแฝงRicochet,[1] Dusk,[2]Prodigy,[3] Hornet,[4] Ben Reilly,[5]
Scarlet Spider,[6] Iron Spider,[7] Captain Universe,[8] The Liar[9]
สปีชี่ส์Human mutate
สังกัดทีมอเวนเจอร์ส
แฟนแทสติกโฟร์
ฟิวเจอร์ ฟาวน์เดชัน
นิวอเวนเจอร์ส
Jean Grey School for Higher Learning
Web-Warriors
พลพรรคแบล็ค แคท
พลอว์เลอร์
ซิลค์
สไปเดอร์-แมน (ไมล์ โมราเลส)
เดดพูล
สไปเดอร์-เกว็น
กัปตันอเมริกา
ไอรอนแมน
ความสามารถ
  • สติปัญญาระดับอัจฉริยะ
  • นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ที่เชี่ยวชาญ
  • ความแข็งแรง, ความเร็ว, ความทนทานและความคล่องตัว เหนือมนุษย์
  • มีความสามารถในการยึดติดกับพื้นผิวเกือบทุกแบบ
  • รู้อนาคตด้วยสไปเดอร์-เซนส์
  • ใช้เครื่องยิงใยจากข้อมือ

สไปเดอร์-แมน (อังกฤษ: Spider-Man) เป็นตัวการ์ตูนยอดมนุษย์สัญชาติอเมริกัน สร้างโดย สแตน ลี และ สตีฟ ดิตโก ของสังกัดมาร์เวลคอมิกส์ (Marvel Comics) ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกในอแมซซิงแฟนตาซี ฉบับที่ 15 (สิงหาคม พ.ศ. 2505) ในปัจจุบันนี้ ไอ้แมงมุมถือเป็นหนึ่งในตัวละครยอดมนุษย์ที่โด่งดังที่สุดในโลก และยังคงประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์

ในตอนที่ไอ้แมงมุมได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 60 ในเวลานั้น ตัวละครที่เป็นวัยรุ่นในหนังสือการ์ตูนยอดมนุษย์ของอเมริกา มักจะมีบทบาทเทียบเท่าตัวประกอบเท่านั้น แต่การ์ตูนชุดไอ้แมงมุมได้พังกรอบเหล่านี้ออกไป โดยให้ตัวไอ้แมงมุม ซึ่งยังเป็นวัยรุ่นอยู่ มีบทบาทของวีรบุรุษตัวเอก ที่มี "ความสนใจเฉพาะตัว พร้อมกับการถูกปฏิเสธ ความขัดสน และความอ้างว้าง" ด้วยลักษณะเช่นนี้เอง ไอ้แมงมุมจึงสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้อ่านอายุน้อยได้[10]

นอกจากจะเป็นตัวละครในหนังสือการ์ตูนแล้ว ไอ้แมงมุมยังปรากฏตัวในสื่ออื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแอนิเมชัน ละครชุดทางโทรทัศน์ คอลัมภ์การ์ตูนในหนังสือพิมพ์ วิดีโอเกม และภาพยนตร์ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง

มาร์เวลได้ตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนชุดไอ้แมงมุมออกมาจำนวนหนึ่ง โดยชุดแรกมีชื่อว่า "ดิอแมซซิงสไปเดอร์แมน" (The Amazing Spider-Man) ในหนังสือการ์ตูนแต่ละชุด จะแสดงให้เห็นพัฒนาการของตัวละครปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ตั้งแต่เป็นนักเรียนขี้อาย นักศึกษามีปัญหา ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์[11] จนถึงสมาชิกของคณะยอดมุนษย์ที่ชื่อ "อเวนเจอร์ส" (Avengers) ส่วนในการ์ตูนชุด "สไปเดอร์เกิร์ล" (Spider-Girl) ปาร์คเกอร์ยังมีสถานะเป็นนักวิทยาศาสตร์และพ่ออีกด้วย

สไปเดอร์-แมนปรากฏตัวในจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล ซึ่งรับบทโดยทอม ฮอลแลนด์ ในภาพยนตร์ได้แก่กัปตันอเมริกา: ศึกฮีโร่ระห่ำโลก, สไปเดอร์แมน: โฮมคัมมิ่ง, อเวนเจอร์ส: มหาสงครามล้างจักรวาล และสไปเดอร์-แมน ฟาร์ ฟรอม โฮม

ประวัติการตีพิมพ์การ์ตูนไอ้แมงมุม

[แก้]

หลังจากที่มาร์เวลคอมมิคส์ประสบความสำเร็จกับการ์ตูนชุดแฟนแทสติกโฟร์ (Fantastic Four) และตัวการ์ตูนอื่น ๆ ในปี พ.ศ. 2505 แล้ว สแตน ลี บรรณาธิการและหัวหน้านักเขียนของมาร์เวล ก็คิดจะสร้างตัวการ์ตูนยอดมนุษย์ตัวใหม่ขึ้นมาอีก ซึ่งตัวการ์ตูนที่เขาคิดได้ในตอนนั้นก็คือ "สไปเดอร์แมน" หรือ "ไอ้แมงมุม" ในภาษาไทย ตัวไอ้แมงมุมนี้ เกิดขึ้นมาจากความต้องการบริโภคหนังสือการ์ตูนของวัยรุ่นชาวอเมริกันที่เพิ่มมากขึ้น และความปรารถนาของลีที่จะสร้างตัวการ์ตูนที่วัยรุ่นมีส่วนร่วมด้วยได้[12] ลีได้กล่าวเอาไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาว่า เขาได้รับอิทธิพลในการสร้างตัวไอ้แมงมุมมาจากนิตยสารเกี่ยวกับนักสู้อาชญากรที่ชื่อ "เดอะสไปเดอร์" (The Spider) [13] และการได้เห็นความสามารถของแมลงมุมที่สามารถไต่กำแพงได้[14]

ในเรื่องของชื่อ "สไปเดอร์แมน" นั้น นักวาดการ์ตูน สตีฟ ดิตโก ได้กล่าวถึงที่มาของมันว่า:

ตอนที่ถกกันเกี่ยวกับไอ้แมงมุมครั้งหนึ่ง สแตนได้พูดว่า เขาชอบชื่อฮอว์กแมน (Hawkman) แต่ทางสังกัดดีซีคอมมิคส์ (DC Comics) ได้ใช้ชื่อนี้และสร้างตัวละครตัวนี้ไปแล้ว ทางมาร์เวลก็มีแอนท์แมน (Ant-Man) กับแวสป์ (Wasp) แล้ว เพราะฉะนั้นตัวการ์ตูนตัวนี้ก็ควรจะอยู่ในหมวดแมลงด้วย[15] จากคำพูดนี้เอง ผมก็เชื่อว่าในตอนนั้นสแตนมีชื่อที่จะตั้งให้กับตัวการ์ตูนตัวนี้แล้ว

สแตน ลี ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการกำเนิดของไอ้แมงมุม

ต่อมา ลีได้เข้าไปตีสนิทกับฝ่ายการพิมพ์ของมาร์เวลที่ชื่อ มาร์ติน กู๊ดแมน (Martin Goodman) เพื่อที่จะให้เขาเห็นพ้องกับการกำเนิดการ์ตูนไอ้แมงมุมขึ้นมา หลังจากที่มีการโต้แย้งกันในเรื่องนี้ สุดท้าย กู๊ดแมนก็ตกลงว่าจะให้ลีลองเอาเรื่องไอ้แมงมุมไปลงไว้ในหนังสือ "อแมซซิงอเดาท์แฟนตาซี" (Amazing Adult Fantasy) ฉบับสุดท้ายดู ซึ่งฉบับดังกล่าวนั้นเป็นฉบับที่ 15 และได้มีการเปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น "อแมซซิงแฟนตาซี" อีกด้วย[16]

ในปี พ.ศ. 2525 แจ็ก เคอร์บี (Jack Kirby) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ในความเป็นจริงแล้ว ลีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรตัวไอ้แมงมุมน้อยมาก นอกจากนั้นเขา (เคอร์บี) ยังอ้างว่า ตัวไอ้แมงมุมนี้มีต้นแบบมาจากตัวการ์ตูนอีกตัวหนึ่งที่ชื่อ "เดอะซิลเวอร์สไปเดอร์" (The Silver Spider) ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาโดยตัวเคอร์บีเองร่วมกับโจ ไซมอน (Joe Simon) เพื่อจะนำไปเสนอให้ตีพิมพ์ลงหนังสือการ์ตูนแบล็คแมจิค (Black Magic) ในสังกัดเครสท์วูด (Crestwood) แต่ทางผู้ตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนดังกล่าวได้ยุติกิจการไปเสียก่อน

แต่จากอัตชีวประวัติของไซมอน ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2533 นั้น ได้ให้ข้อมูลที่ต่างออกไปจากคำกล่าวข้างต้นของเคอร์บี โดยไซมอนได้ยืนยันว่า เขาไม่ได้สร้างตัวการ์ตูนเดอะซิลเวอร์สไปเดอร์ขึ้นมาเพื่อที่จะตีพิมพ์ในแบล็คแมจิคเท่านั้น นอกจากนั้น ในตอนแรกเขาก็ตั้งชื่อให้ตัวการ์ตูนตัวนี้ว่า "สไปเดอร์แมน" เหมือนกับชื่อภาษาอังกฤษของไอ้แมงมุมในปัจจุบัน แต่ภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นเดอะซิลเวอร์สไปเดอร์แทน ส่วนตัวเคอร์บีนั้น ก็มีหน้าที่วางโครงเรื่องและลายละเอียดเกี่ยวกับพลังพิเศษต่าง ๆ ของตัวการ์ตูน ไซมอนได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ฐานคติหรือคอนเซ็ปเกี่ยวกับเดอะซิลเวอร์สไปเดอร์ของทั้งเขาและเคอร์บีนั้น สุดท้ายแล้วก็ได้นำไปใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างตัวการ์ตูนยอดมนุษย์อีกตัวหนึ่งที่ชื่อ "เดอะฟราย" (The Fly) ซึ่งอยู่ในสังกัดอาชีคอมมิคส์ (Archie Comics) ของไซมอนเอง โดยเดอะฟรายนั้นเปิดตัวครั้งแรกในช่วงต้นปี พ.ศ. 2502

เกร็ก ธีคสตัน (Greg Theakston) นักประวัติศาสตร์ด้านหนังสือการ์ตูน ได้กล่าวว่า หลังจากที่กู๊ดแมนได้ให้ความเห็นชอบกับการใช้ชื่อสไปเดอร์แมน และคอนเซ็ปท์ "วัยรุ่นธรรมดา ๆ" กับตัวการ์ตูนไอ้แมงมุมแล้ว ลีก็ได้ไปพบกับเคอร์บี โดยในการพบกันครั้งนั้น เคอร์บีได้เล่าที่มาของซิลเวอร์สไปเดอร์ ตัวการ์ตูนของเขา ให้ลีฟังว่า ซิลเวอร์สไปเดอร์เป็นเด็กกำพร้าที่อาศัยอยู่กับญาติสูงอายุของเขา และวันหนึ่งเมื่อเขาได้ไปพบแหวนวิเศษ เขาก็ได้รับพลังพิเศษมาจากแหวนวงนั้น ลีกับเคอร์บีนั่งประชุมกันในประเด็นเกี่ยวกับเนื้อเรื่องของไอ้แมงมุม ซึ่งหลังจากการประชุมสิ้นสุด ลีก็ได้มอบหมายให้เคอร์บีเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับตัวไอ้แมงมุมให้ และลองวาดตัวอย่างมาให้ลีดู หลังจากนั้น 1 หรือ 2 วัน เคอร์บีได้นำการ์ตูนตัวอย่างจำนวน 6 หน้ามานำเสนอให้ลีดู เมื่อลีได้ดูแล้วเขาก็ได้กล่าวว่า “ผมไม่ชอบวิธีที่เขาสร้างมันขึ้นมา ไม่ใช่เพราะฝีมือเขาไม่ดี แต่มันยังไม่ใช่ตัวการ์ตูนที่ผมต้องการ มันออกแนวฮีโร่มากเกินไป”[17] ทางด้านของไซมอนเอง ก็ยืนยันด้วยเหมือนกันว่า เคอร์บีได้นำเอาไอ้แมงมุมแบบดั้งเดิม (เดอะซิลเวอร์สไปเดอร์) ไปเสนอให้แก่ลี ผู้ซึ่งชอบแนวความคิดของเขา และมอบหมายให้เขาวาดตัวอย่างมาให้ดู แต่สุดท้ายลีก็ไม่ชอบผลงานที่เขาวาดออกมา ซึ่งไซมอนได้พรรณนาถึงตัวการ์ตูนที่เคอร์บีวาดเอาไว้ว่า เหมือน “กัปตันอเมริกาที่มีใยแมงมุม[18]

หลังจากนั้นมา ลีก็ได้หันความสนใจไปที่ดิตโก และให้ดิตโกออกแบบองค์ประกอบต่าง ๆ ของไอ้แมงมุม ทั้งเสื้อผ้าที่ใส่ และลักษณะของพลังพิเศษต่าง ๆ แทนเคอร์บี ส่วนในเรื่องของสตอรีบอร์ดนั้น ก็เป็นหน้าที่ของดิตโกอีกเช่นกัน โดยดิตโกได้สร้างร่วมกับเอริค สแตนตัน (Eric Stanton) เพื่อนร่วมชั้นเรียนในโรงเรียนศิลปะ[19] โดยสแตนตันได้ให้สัมภาษณ์กับธีคสตันในปี พ.ศ. 2531 เกี่ยวกับเรื่องการทำงานกับดิตโกว่า เขาทั้งสอง “ได้ทำงานเกี่ยวกับสตอรีบอร์ดร่วมกัน และผมก็ได้เสริมความคิดของผมลงไปนิดหน่อย แต่เนื้องานส่วนใหญ่นั้น ได้รับการสร้างสรรค์มาจากตัวสตีฟเอง...ผมคิดว่าสิ่งที่ผมคิดเอาไว้ในเรื่องนี้ก็คือ ประเด็นที่ไอ้แมงมุมสามารถพ่นใยออกมาจากมือของเขาได้”[20]

ความสำเร็จเชิงพาณิชย์

[แก้]

ไม่กี่เดือนหลังจากที่ไอ้แมงมุมได้ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือการ์ตูนอแมซซิงแฟนตาซี ฉบับที่ 15 (สิงหาคม พ.ศ. 2505) มาร์ติน กู๊ดแมน จากฝ่ายการพิมพ์ของมาร์เวลคอมมิคส์ ก็ได้พบว่า หนังสือการ์ตูนฉบับดังกล่าวนั้นได้กลายเป็นหนึ่งในหนังสือการ์ตูนของมาร์เวลที่มียอดขายสูงที่สุด[21] ต่อมา ไอ้แมงมุมก็ได้มีหนังสือการ์ตูนชุดเป็นของตนเอง โดยเริ่มต้นที่ “ดิอแมซซิงสไปเดอร์แมน” ฉบับที่ 1 (มี.ค. 2506) เป็นอันดับแรก ซึ่งต่อมาหนังสือการ์ตูนชุดนี้ก็ได้กลายเป็นหนังสือการ์ตูนชุดที่มียอดขายสูงที่สุดของมาร์เวลไปอีกเช่นกัน[22] และจากการสำรวจคะแนนเสียงนักศึกษามหาวิทยาลัยของสำนักเอสไควร์ (Esquire) เมื่อปี พ.ศ. 2508 ว่าใครเป็นสัญลักษณ์ในดวงใจที่มี “ความขบถ” อยู่ในตัว ของพวกเขามากที่สุด ก็ปรากฏว่า อันดับที่ 1 ก็คือไอ้แมงมุม ส่วนอันดับถัดลงมานั้น ก็คือ มนุษย์ยักษ์จอมพลัง (The Hulk) ที่เป็นตัวการ์ตูนจากสังกัดมาร์เวลเหมือนกัน นอกจากนั้นยังมีบ็อบ ดีแลน และเช เกบารา ติดอันดับอยู่ด้วย นักศึกษาผู้หนึ่งได้กล่าวถึงเหตุผลที่ลงคะแนนให้ไอ้แมงมุมว่า เพราะเขาถูก “ห้อมล้อมด้วยความทุกข์ ปัญหาทางด้านการเงิน และความสงสัยเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ ซึ่งพิจารณาให้ดีแล้ว เขาก็คือหนึ่งในพวกเรานั่นเอง”[23]

หลังจากที่ดิอแมซซิงสไปเดอร์แมนวางจำหน่ายถึงฉบับที่ 39 สตีฟ ดิตโก ก็ได้ยุติการวาดการ์ตูนชุดนี้ไป โดยผู้ที่มารับหน้าที่นี้ในระยะต่อมาก็คือ จอห์น โรมิตา ซีเนียร์ (John Romita, Sr.)

ในปี พ.ศ. 2513 แม้ว่าจะมีกฎห้ามไม่ให้พรรณนาเนื้อหาที่เกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ว่าจะในแง่บวกหรือลบ ผ่านสื่อหนังสือการ์ตูนก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ศึกษาธิการ และสวัสดิการของสหรัฐอเมริกา ก็ได้ขอร้องให้สแตน ลี ช่วยเพิ่มเนื้อหาที่เกี่ยวกับการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดลงไปในหนังสือการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จด้านการขายเรื่องใดเรื่องหนึ่งของมาร์เวลให้[24] ซึ่งลีก็ตอบรับ และได้เลือกดิอแมซซิงสไปเดอร์แมน ฉบับที่ 96 ถึง 98 (พ.ค.ก.ค. 2514) ในการเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับผลเสียของการเสพยาเสพติดลงไป โดยในเนื้อเรื่องส่วนนี้ เป็นการกล่าวถึงแฮร์รี ออสบอร์น (Harry Osborn) เพื่อนของปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ (ไอ้แมงมุม) ที่ไปติดยาเสพติดจนทำให้ร่างกายทรุดโทรมลง ในขณะเดียวกันนั้น ก็เป็นช่วงที่ไอ้แมงมุมต้องต่อสู้กับกรีนกอบลิน (Green Goblin, หรือนอร์แมน ออสบอร์น (Norman Osborn) บิดาของแฮรี) อยู่พอดี สุดท้ายไอ้แมงมุมก็สามารถเอาชนะกรีนกอบลินได้ด้วยการให้นอร์แมนได้เห็นลูกชายของตนเองที่กำลังเจ็บป่วยเพราะพิษยาเสพติดอยู่

ในปี พ.ศ. 2515 ไอ้แมงมุมได้ปรากฏตัวร่วมกับตัวการ์ตูนอื่น ๆ ของมาร์เวลในหนังสือการ์ตูนชุด “มาร์เวลทีมอัพ” (Marvel Team Up)

ในปี พ.ศ. 2519 มาร์เวลได้ออกหนังสือการ์ตูนชุดของไอ้แมงมุมมาเป็นชุดที่สอง โดยใช้ชื่อว่า “ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์, เดอะสเปคแทคูลาร์สไปเดอร์แมน” (Peter Parker, The Spectacular Spider-Man) ซึ่งได้วางจำหน่ายไปพร้อมกับดิอแมซซิงสไปเดอร์แมน ซึ่งเป็นผลงานชุดแรก

ในปี พ.ศ. 2528 มาร์เวลก็สร้างหนังสือการ์ตูนชุดของไอ้แมงมุมมาเป็นชุดที่สาม โดยใช้ชื่อว่า “เว็บออฟสไปเดอร์แมน” (Web of Spider-Man) ซึ่งได้นำมาจำหน่ายแทนชุดมาร์เวลทีมอัพที่ยุติการสร้างไป

ในปี พ.ศ. 2533 ก็มีการวางจำหน่ายหนังสือการ์ตูนชุดของไอ้แมงมุมเป็นชุดที่สี่ โดยคราวนี้ผู้ที่มาเขียนบทและวาดให้คือศิลปินผู้โด่งดังที่ชื่อ ทอดด์ แมคฟาร์เลน (Todd McFarlane) ซึ่งการ์ตูนชุดนี้ สามารถเปิดตัวด้วยยอดขายที่สูงถึง 3 ล้านเล่มด้วยกัน[25] นอกจากนั้น ยังมีการ์ตูนไอ้แมงมุมอีกอย่างน้อย 2 ชุดที่วางจำหน่ายตลอด

นอกจากจะเป็นตัวละครเอกในชุดของตนเองแล้ว ไอ้แมงมุมยังได้ปรากฏตัวอยู่ในหนังสือการ์ตูนที่ตีพิมพ์ออกมาแบบจำกัดจำนวน และยังได้เป็นแขกรับเชิญในหนังสือการ์ตูนของขอดมนุษย์ตัวอื่นอีกด้วย

เมื่อดิอแมซซิงสไปเดอร์แมนวางจำหน่ายถึงฉบับที่ 441 (พฤศจิกายน พ.ศ. 2541) นักประพันธ์และศิลปิน จอห์น ไบร์น (John Byrne) ก็ได้นำเอาต้นกำเนิดของไอ้แมงมุมมาปรับปรุงใหม่ และนำไปสร้างเป็นหนังสือการ์ตูนชุดพิเศษที่ชื่อ “สไปเดอร์แมน: แชปเตอร์วัน” (Spider-Man: Chapter One, ธันวาคม พ.ศ. 2541 – ตุลาคม พ.ศ. 2542)

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2542 ดิอแมซซิงสไปเดอร์แมนก็ได้เริ่มวางจำหน่ายชุดที่ 2 มาเป็นฉบับแรก ซึ่งเมื่อวางจำหน่ายถึงฉบับที่ 59 ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2546 จำนวนหนังสือการ์ตูนดิอแมซซิงสไปเดอร์แมนทั้งชุดที่ 1 และ 2 ก็มีจำนวนรวมกันถึง 500 ฉบับพอดี

หน้าปกหนังสือการ์ตูน "มาร์เวลแอดเวนเจอร์สไปเดอร์แมน" ฉบับที่ 1

ในปี พ.ศ. 2550 ไอ้แมงมุมได้ปรากฏตัวอยู่ในหนังสือการ์ตูนชุดต่าง ๆ ของมาร์เวลมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ดิอแมซซิงสไปเดอร์แมน, นิวอเวนเจอร์ส (New Avengers), เดอะเซนเซชันแนลสไปเดอร์แมน (The Sensational Spider-Man), เฟรนลีเนเบอร์ฮูดสไปเดอร์แมน (Friendly Neighborhood Spider-Man) , สไปเดอร์แมนแฟมิลี (Spider-Man Family) , ดิอแมซซิงสไปเดอร์เกิร์ล (The Amazing Spider-Girl), อัลทิเมต สไปเดอร์-แมน (Ultimate Spider-Man), สไปเดอร์แมนเลิฟส์แมรี เจน (Spider-Man Loves Mary Jane), มาร์เวลแอดเวนเจอรส์สไปเดอร์แมน (Marvel Adventures Spider-Man) และมาร์เวลแอดเวนเจอรส์: ดิอเวนเจอรส์ (Marvel Adventures: The Avengers) นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงหนังสือการ์ตูนชุดอื่น ๆ ที่ขายอย่างจำกัดจำนวนของมาร์เวลอีกด้วย

ในปัจจุบันนี้ ไอ้แมงมุมได้กลายมาเป็นตัวการ์ตูนที่สำคัญของมาร์เวล และมักจะถูกนำมาใช้เป็นตัวนำโชคประจำบริษัทอยู่บ่อย ๆ โดยในครั้งที่มาร์เวลได้เข้าสู่ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2534[26] วารสารวอลล์สตรีท (Wall Street Journal) ก็ได้ตั้งหัวข้อข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ว่า “ไอ้แมงมุมบุกวอลล์สตรีทแล้ว” (Spider-man is coming to Wall Street) และในวันที่มีการโปรโมทหุ้นของบริษัท สแตน ลี พร้อมด้วยนักแสดงที่ใส่ชุดไอ้แมงมุมก็ได้เดินทางไปร่วมโปรโมทกันที่ตลาดหุ้นด้วย[27]

หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ก่อความไม่สงบในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 มาร์เวลก็ต้องการจะตีพิมพ์เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ผ่านทางการ์ตูนเรื่องหนึ่งของสังกัด ซึ่งสุดท้ายพวกเขาก็ได้เลือกการ์ตูนเรื่องไอ้แมงมุมเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้น โดยที่เนื้อเรื่องดังกล่าวอยู่ในหนังสือการ์ตูนชุดดิอแมซซิงสไปเดอร์แมน ฉบับเดือนธันวาคม 2544[28]

ในปี พ.ศ. 2549 หลังจากที่มีข่าวว่า ไอ้แมงมุมจะถอดหน้ากากของตนเองออก เพื่อเผยว่าผู้ที่อยู่ใต้หน้ากากนั้นก็คือปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ในหนังสือการ์ตูนชุด "มาร์เวล: ซิวิลวอร์" (Marvel: Civil War) สื่อมวลชนในโลกแห่งความจริงหลาย ๆ แห่งต่างก็ลงข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวนี้อย่างพร้อมเพรียงกัน[29] ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กโพสท์ของสหรัฐอเมริกาที่ลงข่าวดังกล่าวนี้หนึ่งหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์เต็ม ๆ โดยได้ลงเอาไว้ก่อนที่หนังสือการ์ตูนตอนดังกล่าวจะวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการเสียอีก[30]

ชีวประวัติปีเตอร์ ปาร์คเกอร์/ไอ้แมงมุม

[แก้]

ในครั้งที่ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือการ์ตูน ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ เป็นเพียงวัยรุ่นเด็กเรียนคนหนึ่งจากฟอเรสท์ฮิลส์ (Forest Hills) นครนิวยอร์ก ที่ต่อมาถูกแมงมุมอาบกัมมันตภาพรังสีกัดในระหว่างที่เขากำลังศึกษาการทดลองทางวิทยาศาสตร์อยู่ เขาได้รับพลังพิเศษต่าง ๆ จากแมงมุมตัวนั้น และหลังจากนั้น เขาก็พยายามที่จะเป็นดาราโทรทัศน์ด้วยการไปสมัครเป็นนักมวยปล้ำ แต่แล้ววันหนึ่ง ก็ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อเขาได้พลาดการหยุดยั้งอาชญากรคนหนึ่งเอาไว้ทั้งที่มีโอกาส จนเป็นเหตุให้อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา อาชญากรคนเดียวกันนั้นได้ทำร้ายลุงเบน (Uncle Ben) ซึ่งเป็นผู้ที่เลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เด็กจนเสียชีวิต หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ปาร์คเกอร์ก็ได้เรียนรู้ว่า พลังอันยิ่งใหญ่ที่เขาได้รับมานั้น มันจะต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ด้วย เขาจึงกลายมาเป็นไอ้แมงมุมหรือสไปเดอร์แมนและใช้พลังพิเศษที่เขามีทำหน้าที่ปกป้องความสงบสุขของประชาชนในที่สุด[31]

หลังจากลุงของเขาถึงแก่กรรมไป ปาร์คเกอร์และป้าเมย์ (Aunt May) ผู้ที่เขาอาศัยด้วยและเลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เด็กอีกคนหนึ่ง ก็เริ่มขัดสนด้านเงินทองมากขึ้น เขาจึงต้องไปทำงานเป็นช่างถ่ายภาพให้กับสำนักหนังสือพิมพ์เดลีบูเกิล (Daily Bugle) และขายภาพให้กับเจ. โจนาห์ เจมสัน (J. Jonah Jameson) ผู้ที่ชอบนำเอาความรู้สึกส่วนตัวใส่ลงในหัวข่าวหนังสือพิมพ์เสมอ[32]

หลังจากที่เขาได้ต่อสู้กับศัตรูของเขาครั้งแรก ปาร์คเกอร์ได้พบว่าการดำเนินชีวิตระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตภายใต้ชุดแมงมุมนั้นเป็นสิ่งที่ยากลำบาก จนบางครั้งเขาก็พยายามจะเลิกสิ่งที่เขาทำ[33][34]

ทางด้านศัตรูของเขานั้น ก็มักจะเข้าทำร้ายคนรอบกายที่เขารักอยู่เสมอ โดยครั้งที่สำคัญที่สุดก็คือ ครั้งที่กรีนกอบลินได้ฆาตกรรมเกว็น สแตซี (Gwen Stacy) คนรักคนแรกของเขา แต่ถึงแม้ว่าความตายของเธอจะคอยหลอกหลอนเขาตลอดเวลา ในเวลาต่อมาปาร์คเกอร์ก็ได้เข้าพิธีวิวาห์กับแมรี เจน วัตสัน (Marry Jane Watson) โดยเนื้อเรื่องต่อจากนั้น ก็มีการเปิดเผยให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของเขาในฐานะของบุคคลธรรมดาคนหนึ่ง และปัญหามากมายที่เขาต้องประสบมากขึ้น

พลังพิเศษและอุปกรณ์ต่าง ๆ

[แก้]

พลังพิเศษ

[แก้]

หลังจากที่ถูกแมงมุมกัมมันตภาพรังสีกัดในระหว่างที่เขากำลังศึกษาการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ในชั้นเรียนอยู่นั้น ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ก็ได้พบกับสิ่งแปลกใหม่บางอย่างที่เข้ามาในร่างกายของเขา นั่นก็คือพลังพิเศษที่เขาได้รับจากแมงมุมตัวนั้นนั่นเอง

ในเนื้อเรื่องดั้งเดิมของสแตน ลี และสตีฟ ดิตโก นั้น ไอ้แมงมุมมีความสามารถในการเกาะไต่กำแพงได้ มีความแข็งแกร่งที่เหนือวิสัยมนุษย์พึงมี มีสัมผัสที่ 6 ที่เรียกว่า “สัมผัสแมงมุม” (spider-sense) ที่คอยเตือนเขาถึงอันตรายที่ใกล้เข้ามา มีความสมดุลของร่างกายที่ดีเยี่ยม และมีความเร็วกับความคล่องตัวเกินมนุษย์ทั่วไป เมื่อมาถึงเนื้อเรื่องที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2549 ความสามารถของไอ้แมงมุมก็ยิ่งมีความใกล้เคียงกับแมงมุมจริง ๆ มากขึ้น นั่นคือเขาสามารถพ่นใยแมงมุมจริงออกมาจากมือได้ มีเหล็กในพิษที่งอกมาจากแขน มีความสามารถที่จะติดยึดสิ่งของต่าง ๆ กับหลังของเขาได้ สามารถควบคุมสัมผัสแมงมุมเพื่อใช้ในการสืบค้นร่องรอยต่าง ๆ ได้ สามารถมองเห็นในที่อับแสงได้ และยังมีความแข็งแกร่งกับความเร็วที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม

นอกจากพลังพิเศษที่เขาได้รับแล้ว ร่างกายในระดับองค์รวมและอวัยวะภายในของเขา ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบของกระดูก เนื้อเยื่อที่ยึดกระดูกเข้าหากัน และระบบประสาทต่าง ๆ ก็ยังมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนั้น กล้ามเนื้อของเขาก็ยังพัฒนาเพิ่มขึ้น

อุปกรณ์เสริม

[แก้]

ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ เป็นตัวการ์ตูนที่มีพรสวรรค์และเป็นอัจฉริยะในการประยุกต์ใช้ความรู้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ เคมี หรือฟิสิกส์ เพื่อเสริมให้พลังของเขาแข็งแกร่งขึ้น[35] ซึ่งนอกเหนือจากพลังพิเศษแล้ว เขายังได้สร้างอุปกรณ์ต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อใช้ควบคู่กับพลังของเขาอีกด้วย โดยอุปกรณ์ที่ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของไอ้แมงมุมก็คือ เครื่องยิงใยแมงมุม (web-shooter) ที่เขาพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่เขาเป็นวัยรุ่น อุปกรณ์นี้สามารถปล่อยสารประกอบที่มีความเหนียวอย่างมากคล้ายใยแมงมุม ซึ่งจะสลายตัวไปหลังจากที่ถูกปล่อยออกมาแล้ว 2 ชั่วโมง[36] ไอ้แมงมุมจะติดเครื่องยิงใยแมงมุมนี้เอาไว้บริเวณข้อมือด้านในทั้งสองข้าง โดยจะมีสวิทช์ควบคุมการปล่อยอยู่บริเวณฝ่ามือ ซึ่งรูปแบบของสารประกอบที่ปล่อยออกมานั้น ก็มีรูปร่างที่ต่างกันขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการใช้ ไม่ว่าจะเป็นแบบสายยาวที่ใช้แทนเชือกในการโหนตัว แบบตาข่าย หรือแบบลูกกลมที่ใช้ในการยิงอาวุธในมือของศัตรูหรือยิงใส่ตาของศัตรู ทำให้ศัตรูมองไม่เห็นไปชั่วขณะ นอกจากนั้นแล้ว เขายังสามารถทอสารประกอบดังกล่าวให้กลายเป็นรูปทรงกลมหรือครึ่งทรงกลมมาห่อหุ้มร่างกายเพื่อป้องกันตนเองหรือห่อหุ้มบริเวณมือเพื่อใช้แทนนวม หรือเป็นปีกขนาดใหญ่เพื่อใช้แทนเครื่องร่อน

นอกจากเครื่องยิงใยแมงมุม ปาร์คเกอร์ยังได้ประดิษฐ์เครื่องนำร่องแมงมุม (spider-tracer) ซึ่งเป็นอุปกรณ์รูปร่างคล้ายแมงมุมติดสัญญาณไฟที่สามารถฉายภาพ “สัญญาณแมงมุม” (Spider-Signal) ได้ โดยต่อมาปาร์คเกอร์ยังได้ปรับแต่งเครื่องนำร่องแมงมุมนี้ให้มีกล้องถ่ายภาพติดเอาไว้เพื่อถ่ายภาพได้แบบอัตโนมัติ

ปาร์คเกอร์ยังได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งประดิษฐ์ของเบ็น เรลลี (Ben Reilly, มนุษย์เทียมที่โคลนมาจากตัวของปาร์คเกอร์เอง) ที่เรียกว่า “อิมแพ็คท์เว็บบิง” (impact-webbing) ซึ่งใช้ยิงกระสุนลูกปรายที่สามารถแผ่ออกมาเป็นใยแมงมุมหนา ๆ เพื่อห่อหุ้มร่างของผู้ที่ถูกยิงได้

ความสามารถด้านการต่อสู้

[แก้]

ไอ้แมงมุมเป็นตัวการ์ตูนยอดมนุษย์ที่มีประสบการณ์การต่อสู้มากที่สุดตัวหนึ่งในจักรวาลของมาร์เวล ซึ่งถึงแม้ว่าเขาจะไม่เคยได้รับการฝึกฝนโดยตรงทางด้านนี้เลยก็ตาม แต่เขาก็ได้รับมันจากการร่วมงานกับยอดมนุษย์ตัวอื่น ๆ จากประสบการณ์เหล่านี้เอง ทำให้ไอ้แมงมุมสามารถเอาชนะศัตรูของเขาได้ด้วยพลังและความสามารถอันมหาศาล

รูปแบบการต่อสู้ของเขาจะเป็นแบบที่ไร้รูปแบบ โดยใช้ประโยชน์จากความคล่องแคล่ว ความแข็งแกร่ง ความเร็ว และความสมดุล ที่ผสมกับประโยชน์จากสัมผัสแมงมุมที่เขามี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสามารถในการต่อสู้ส่วนใหญ่ของเขามาจากไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าผสมกับการใช้สติปัญญาและสงครามจิตวิทยา ไม่ว่าจะเป็นการพูดเล่นมุขตลก เล่นลิ้น และเย้ยหยัน เพื่อให้คู่ต่อสู้โมโหคลุ้มคลั่ง และช่วยให้ตนเองสามารถรับมือกับความกลัวและความกังวลต่าง ๆ ที่มีสิทธิ์เกิดขึ้นระหว่างการต่อสู้ได้

เครื่องแบบ

[แก้]

ไอ้แมงมุมมีเครื่องแบบประจำตัวไม่มากนัก ชุดที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด นั่นคือ ชุดแมงมุมสีแดง-น้ำเงินที่ใส่เป็นประจำแทบจะทุกตอน ชุดสีขาว-ดำคล้ายมนุษย์ต่างดาว (ภายหลัง ชุดนี้ได้ถูกพัฒนาไปเป็นเครื่องแบบที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวไอ้แมงมุม) และชุดไอออน สไปเดอร์ (iron spider) ที่สร้างขึ้นมาโดยเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งออกแบบโดยโทนี สตาร์ค (Tony Stark) หรือไอร์ออนแมน (Ironman) เพื่อนยอดมนุษย์อีกตัวหนึ่ง นอกจากนั้นแล้ว ในชุดปกติแดงน้ำเงินของไอ้แมงมุม บางครั้งจะมีใยแมงมุมเชื่อมระหว่างต้นแขนกับข้างลำตัวด้วย ขึ้นอยู่กับการตีความของศิลปินที่วาดแต่ละคน

แอกเซล อลองโซ (Axel Alonso) บรรณาธิการของหนังสือการ์ตูนไอ้แมงมุม ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ว่า ไอ้แมงมุมในหนังสือการ์ตูนจะกลับมาใส่ชุดเครื่องแบบสีดำอีกครั้ง โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไป เพื่อสอดรับกับชุดสีดำที่ไอ้แมงมุมในภาพยนตร์เรื่อง “ไอ้แมงมุม 3” (Spider-Man 3) ที่ได้เข้าฉายทั่วโลกในช่วงเวลานั้น ใส่พอดี

ศัตรู

[แก้]

ไอ้แมงมุมเป็นตัวการ์ตูนยอดมนุษย์อีกตัวหนึ่งที่มีศัตรูจำนวนมาก และศัตรูหลาย ๆ ตัวของเขาก็เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย โดยศัตรูตัวสำคัญของเรื่องนี้ที่ถือว่ามีความเลวทรามและอันตรายที่สุดก็ได้แก่ กรีนกอบลิน[37] ดอกเตอร์ออกโทปุส (Doctor Octopus) และเวนอม (Venom) ส่วนศัตรูตัวอื่น ๆ ที่มีความสำคัญพอ ๆ กัน ก็ได้แก่ ลิซาร์ด (Lizard) คาเมเลียน (Chameleon) ฮอบกอบลิน (Hobgoblin) แครเวนเดอะฮันเตอร์ (Kraven the Hunter) สกอร์เปียน (Scopion) แซนด์แมน (Sandman) ไรห์โน (Rhino) มิสเทริโอ (Mysterio) วัลเจอร์ (Vulture) อีเล็คโตร (Electro) คาร์เนจ (Carnage) คิงพิน (Kingpin) และช็อคเกอร์ (Shocker) เป็นต้น ศัตรูเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับพลังพิเศษมาจากอุบัติเหตุจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือการนำเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์มาใช้ในทางที่ผิด และศัตรูบางตัวยังมีเครื่องแบบและพลังพิเศษเหมือนสัตว์คล้ายกับไอ้แมงมุมอีกด้วย นอกจากนั้นศัตรูบางตัวยังตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับไอ้แมงมุมด้วย เช่น กลุ่มซินนิสเตอร์ซิกซ์ (Sinister Six) เป็นต้น

ตัวละครสมทบ

[แก้]

เมื่อมองจากด้านตรงข้าม ไอ้แมงมุมก็คือมนุษย์ผู้หนึ่งที่ได้รับพลังพิเศษมาจากตัวแปรภายนอกเท่านั้น เพราะฉะนั้น การ์ตูนเรื่องนี้จึงมีส่วนที่เล่าถึงเรื่องราวของเขาในฐานะที่เป็นสามัญชนคนหนึ่งด้วย ซึ่งเรื่องราวในส่วนดังกล่าวนี้ก็หมายรวมไปถึงเพื่อนฝูง ครอบครัว และความรักของเขาด้วย

ป้าเมย์ (ซ้ายสุด) และแมรี เจน วัตสัน (ขวาสุด) สองตัวละครสมทบที่มีบทบาทมากที่สุดในการ์ตูนเรื่องไอ้แมงมุม
(วาดโดย ไมค์ ดีโอดาโต)

ตัวละครการ์ตูนในบทบาทสมทบของไอ้แมงมุมที่มีความสำคัญและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่

  • ป้าเมย์ – ป้าผู้น่ารักของปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ที่รับเขามาเลี้ยงดูหลังจากที่บิดาและมารดาของเขาถึงแก่กรรม และเมื่อเบนจามิน ปาร์คเกอร์ (Benjamin Parker) สามีของเธอ หรือลุงเบนของปีเตอร์ เสียชีวิตไปอีกคนหนึ่ง ป้าเมย์ก็กลายเป็นครอบครัวที่เหลืออยู่ของปีเตอร์เพียงคนเดียว ทำให้ทั้งเขาและเธอสนิทสนมกันมาก
  • เกว็น สแตซี – คนรักของปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ สมัยที่เรียนอยู่ในวิทยาลัย ถูกสังหารโดยกรีนกอบลิน ด้วยการโยนร่างของเธอลงมาจากสะพาน
  • เบ็ตตี แบรนท์ (Betty Brant) – เลขานุการที่ทำงานในสำนักหนังสือพิมพ์เดลีบูเกิล ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยหลงรักกับปีเตอร์
  • เจ. โจนาห์ เจมสัน – ผู้บริหารเจ้าอารมณ์ประจำสำนักเดลีบูเกิล ที่ได้จ้างปีเตอร์มาทำงานในตำแหน่งช่างถ่ายภาพของสำนัก เขาเป็นผู้ที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ไอ้แมงมุมและมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้สาธารณชนไม่ไว้ใจไอ้แมงมุมด้วย
  • โจเซฟ “ร็อบบี” โรเบิร์ตสัน (Joseph “Robbie” Robertson) – หัวหน้ากองบรรณาธิการของสำนักเดลีบูเกิล ผู้ที่คอยทำให้อำนาจของเจมสันอ่อนลง สำหรับปีเตอร์ หลังจากที่ลุงเบนของเขาจากไปแล้ว โรเบิร์ตสันก็ถือเป็นตัวแทนของบิดาของเขา
  • แมรี เจน วัตสัน (เอ็มเจ (MJ)) – เคยเป็นคู่แข่งหัวใจของเกว็น สแตซี ซึ่งต่อมาเธอก็กลายมาเป็นเพื่อนสนิทและภรรยาของปีเตอร์ ปาร์คเกอร์
  • แฟลช ทอมพ์สัน (Flash Tompson) – เด็กเกเรที่ชอบแกล้งปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ สมัยที่ศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งต่อมาเขาทั้งสองก็ได้กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน หลังจากจบมหาวิทยาลัย แฟลชได้เข้าเป็นทหารและเข้าร่วมรบจนเสียขาทั้ง2ข้าง แฟลชได้เข้าโครงการ รีเบิร์ท2.0 ซึ่งเป็นการผสานร่างกายเข้ากับ วีน่อมซิมไบโอต แฟลชจึงได้กลายเป็น เอเจนท์วีน่อม
  • แฮร์รี ออสบอร์น – เพื่อนสนิทของปีเตอร์สมัยที่เรียนอยู่ในวิทยาลัย ผู้ซึ่งต่อมาได้ดำเนินตามรอยของบิดาของเขา (นอร์แมน ออสบอร์น/กรีนกอบลิน) และกลายมาเป็นกรีนกอบลินตัวที่ 2 ที่คอยจ้องทำลายไอ้แมงมุม
  • เฟลิเซีย ฮาร์ดีย์ (Felicia Hardy) หรือ แบล็คแคท (Black Cat) – หัวขโมยที่มีความสามารถและการแต่งตัวคล้ายแมว ผู้ซึ่งเป็นคนรักและคู่หูของไอ้แมงมุมในระดับหนึ่งจนมี "การร่วมเพศ" กับสไปเดอร์แมน

ไอ้แมงมุมในรูปแบบอื่น

[แก้]

นอกจากจะเป็นหนึ่งในหนังสือการ์ตูนกระแสหลักของสังกัดมาร์เวลคอมิกส์แล้ว เรื่องของไอ้แมงมุมก็ยังถูกนำมาเล่าในเนื้อเรื่องอื่น ๆ

ชุดของสไปเดอร์แมน

[แก้]
ชื่อชุดไอ้แมงมุม ลักษณะ หมายเหตุ
ชุดเดอะเวสเลอร์ (the wrestler suit) ชุดที่ปีเตอร์ใส่ใช้ในสังเวียนมวยปล้ำ เพื่อทดสอบพลังของตนเอง
ชุดเดอะสไปเดอร์แมน (the spider man suit) ชุดแรกที่ปีเตอร์สร้างขึ้นมาหลังจากได้รับชัยชนะจากสังเวียนมวยปล้ำปีเตอร์จึงออกแบบชุดของตัวเองเองใหม่ทั้งหมดโดยแต่งแต้มแมงมุมทั้งหมดเพิ่มสีสาร แดง-ดำ พร้อมทั้งประดิษฐ์เครื่องพ่นใยขึ้นมา เพื่อใช้ในการยิงใยได้ถนัด
ชุดต้นแบบ (classic costume suit) ชุดที่ถูกออกแบบใหม่ที่ลบแต้มแมงมุมออกทั้งหมดที่ร่องแขนและเพิ่มสีน้ำเงินเข้าไปแทนและเป็นชุดที่สไปเดอร์แมนใช้มาตลอด
ชุดสีดำหรือชุดซิมไปโอต (black suit & symbiote suit) ในขณะที่สไปเดอร์-แมนกำลังต่อสู้บนดาวประหลาด (เนื้อเรื่องย่อยภาคซีเคร็ท วอร์ส) เขาต้องยอมเสียสละเครื่องยิงใยแมงมุมอาวุธหลักของเขาไปในการช่วยเหลือเพื่อนพ้องจากการโดนหินทับที่โมเลกุล-แมนทุ่มใส่ ทำให้สไปเดอร์-แมนต้องหาอาวุธใหม่มาทดแทน โดยได้ข่าวจากฮีโร่คนอื่นๆมาว่ามีเครื่องยนต์ประหลาดในห้องแลปทดลองใกล้ๆซึ่งสามารถซ่อมชุดของเขาได้ สไปเดอร์แมน จึงเริ่มตามหาเครื่องที่ว่านี้ แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ไปเปิดผิดเครื่อง และปลดปล่อย“สสารเอเลี่ยนประหลาด” หลุดออกมาจากที่กักขังโง่ๆ ด้วยความประมาทของสไปเดอร์แมน ทำให้สสารเอเลี่ยนนั้นครอบคลุมร่างกายของเขา ทำให้ชุดสไปเดอร์แมนกลายเป็นร่างใหม่สีดำ ซึ่งค้นพบภายหลังว่ามันตอบสนองต่อสมองของเขา ซึ่งสามารถพรางกายให้เป็นชุดคนธรรมดา และสามารถพ่นใยแมงมุมอาวุธหลักได้อย่างไม่จำกัด

พอกลับมาที่โลก สไปเดอร์แมนก็ได้ค้นพบความจริงที่น่าสะพรึงกลัวของชุดใหม่นี้ และพบว่า “มัน” ต้องการจะรวมร่างกับเขา โดยมันเข้าครอบงำร่างของเขาในเวลากลางคืน ในเวลาที่เขาหลับ ออกไปท่องราตรีต่อสู้กับเหล่าอธรรมอย่างโหดเหี้ยม ต่อมาด้วยความช่วยเหลือจากมนุษย์กายสิทธิ์ (1 ใน แฟนแทสติก โฟร์) สไปเดอร์แมนจึงแยก"มัน"ออกจากตัวเขาได้ด้วยคลื่นโซนิค ซึ่งสามารถทำร้ายมันได้ แต่มันก็แหกกรงขังออกจากกลุ่มแฟนแทสติก โฟร์ได้ในที่สุด มันติดตามและพยายามจะรวมร่างกับสไปเดอร์-แมนอีกครั้งในหอระฆังโบสถ์ ด้วยพลังต่อต้านจากตัวสไปเดอร์-แมน และเสียงระฆัง ทำให้มันอ่อนแรงและหนีไปโดยทำท่าเหมือนจะตายแต่ก็หลบหนีไปได้และต่อมามันได้ไปรวมร่างกับ เอ็ดดี้ บร็อค จนกลายเป็น เวนอม

ชุดที่เกิดจากการรวมเข้ากับซิมไบโอต เวนอม
ไอ้แมงมุมหกแขน (spider man six arms) เกิดจาการที่ปีเตอร์ดื่มยาลบผลข้างเคียงจาการถูกแมงมุมกัดแต่แทนที่เซรุ่มจะไปทำให้พลังของปีเตอร์หายไปแต่ผลดันผิดพลาดเพราะแขนเพิ่มออกมาสี่แขนจนกลายเป็นไอ้แมงมุมหกแขนต่อมาดร.เคริด์ คอนเนอร์ หรือ ริซาร์ด ผลิตยานต้านในภายหลังจนหายดี
แบค-แมน (bag man suit) ชุดที่สมาชิกของ (แฟนแทสติก โฟร์) ทั้งสี่มอบให้เพราะหลังจากปีเตอร์แยกซิมไบโอตออกมาแล้วก็อยู่ในสภาพเปลือยกายเลยไปขอยืมชุดของเหล่าแฟนแทสติก โฟร์ มายืมใส่และใช้เป็นชุดปฏิบัติการอยู่ช่วงหนึ่งก่อนจะกลับมาใส่ชุดเดิม
คอสมิคสไปเดอร์แมน (cosmic spider-man) เกิดจากการที่ปีเตอร์ถูกระเบิดในห้องทดลองแทนที่มันจะฆ่าปีเตอร์แต่แรงระเบิดไปหลอมรวมเข้ากับปีเตอร์เข้ากับพลังงานคอสมิคจนกลายเป็น กัปตันยูนิเวิรส์ ทำให้ปีเตอร์มีพลังพิเศษที่สามารถยิงลำแสงทำลายล้างออกมาจากมือได้และสามารถยิงใยให้ออกมาตามรูปแบบที่ใจของของปีเตอร์ปรารถนา
ชุดไซบอร์คสไปเดอร์แมน (cybrog spider-man suit) ชุดที่ปีเตอร์สวมใส่ในตอนที่ปีเตอร์บาดเจ็บจากการต่อสู้ส่วนแขนเหล็กไม่ได้เชื่อมต่อกับร่างกายจริงๆเป็นเพียงเครื่องมือที่สวมไว้ให้ปีเตอร์รักษาอาการบาดเจ็บ หลังจากปีเตอร์หายดีแขนกลก็ถูกถอดออก
สไปเดอร์อาร์เมอร์ มาร์ค 1 (spider-armor Mark i) ชุดเกราะที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยปีเตอร์เพื่อรับมือกับเหล่าวายร้ายนามว่า นิวเอนฟอร์ซเซอร์ ( New enforcers)
ชุดอ็อคโต้สไปเดอร์ (Octo-spider suit) เกิดจากการที่ปีเตอร์สวมอุปกรณ์แขนกลของด็อคเตอร์อ็อคโตปุสเพื่อรับมือกับกลุ่ม ซินนิสเตอร์ซิกซ์
ชุดไอเดนทิตี้ ไคลซิส ริโคลเช็ท (identity crisis:ricochet) ชุดที่ปีเตอร์ใส่เนื่องจากถูกใส่ร้ายว่าเป็นฆาตกรปีเตอร์จึงเปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนชุดเพื่อรอคอยให้เรื่องคลี่คลายก่อนจะกลับมาเป็นสไปเดอร์แมนอีกครั้ง
ชุดไอเดนทิตี้ ไคลซิส: เดอะฮอร์เน็ท (identity crisis:The hornet) ชุดที่ปีเตอร์ใส่มีต้นแบบมาจากตัวต่อ มีเจ็ทแพ็คติดอยู่ที่หลังใช้โบยบินไปบนท้องฟ้าและมีอาวุธลับเป็นเข็มยาสลบ
ชุดดัสค์ (dusk suit) ชุดที่ปีเตอร์ไดรับมาจากดินแดนเนกาทีฟโซนมีความสามารถพิเศษคือ สามารถแฝงกายไปกับเงามืดและมีปีกร่อนที่ใช้ในการบิน ชุดจะมีสีดำทั้งหมด
ชุดโพรดิจี้ (prodigy suit) ชุดที่ถูกออกแบบโดย แมรี เจน วัตสัน เป็นชุดเกราะกันกระสุนทั่วทั้งตัวและมีพลังทำให้ปีเตอร์สามารถกระโดดไปตึกหนึ่งไปอีกตึกหนึ่งได้ในระยะไกล
ชุดอัลลิมิเตท (unlimited suit) ชุดที่ปีเตอร์ใส่มีลักษณะสีแดง-น้ำเงินเข้ม ตาสีเหลือง
ชุดสุดท้าย (the final costume) ชุดที่ปีเตอร์ใส่ในอนาคตหลังหมดหน้าที่ซุปเปอร์ฮีโร่โดยมีลักษณะใส่หน้ากาก ถุงมือ แจ็คเก็ต โดยมันเป็นแค่นิมิตแต่เป็นชุดของจักรวาล 312500 ต่อมาปีเตอร์ในจักรวาลหลักก็ได้รับชุดนี้จริงจากช่างตัดเสื้อที่ชื่อว่า เดอะโอลซีดิงกี้
เกราะไอรอนสไปเดอร์ (iron-spider armor) ชุดเกราะใหม่ของใหม่ของปีเตอร์ที่โทนี่สร้างขึ้นมาและติดตั้งอุปกรณ์มากมาย เช่น ขากลของแมงมุม เครื่องสแกนเนอร์ อุปกรณ์ขยายเสียงและภาพ เป็นต้น มีสีแดงลายเหลือง
สไปเดอร์อาร์เมอร์ มาร์ค 2 (บิ๊ก ไทม์) (spider-armor Mark ii (Big Time) ชุดเกราะที่ถูกสร้างโดยปีเตอร์มีความสามารถในการซ่อนเร้นหายตัวโดยขึ้นอยู่กับสีสว่างบนชุดโดยสีของชุดแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ สีเขียว ทำให้อุปกรณ์ตรวจจับเสียงและภาพไร้ผล สีแดง ทำให้การทำงานของกับดักถูกยกเลิก
ชุดฟิวเจอร์ฟาวเดชั่น (future foundation suit) ชุดที่ปีเตอร์ใส่ได้รับมาจากจอห์นนี่ สตรอม์ หรือ ฮิวแมนทอร์ช ในช่วงที่ปีเตอร์เข้าร่วมกลุ่มฟิวเจอร์ฟาวเดชั่น ชุดสีขาวลายดำ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำกลุ่ม
สไปเดอร์อาร์เมอร์มาร์ค 3 (spider-armor Mark iii) ชุดเกราะที่ถูกสร้างโดยปีเตอร์โดยเป็นชุดเกราะที่ปีเตอร์ตั้งใจประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อรับมือกับกลุ่มซินนิสเตอร์ซิกซ์โดยเฉพาะภายในชุดติดตั้งอุปกรณ์ไฮเทคมากมายซึ่งทำให้ปีเตอร์รับมือกับเหล่าศัตรูได้อย่างสบายๆ
สไปเดอร์อาร์เมอร์มาร์ค 4 (spider-armor Mark iv) ชุดเกราะที่ถูกสร้างโดยปีเตอร์โดยมีลักษณะเหมือนชุดดั้งเดิมแต่สัญลักษณ์แมงมุมมีสีเขียว-ดำ

โดยปีเตอร์ได้ติดตั้งระบบการยิงใยใหม่ ให้สามารถสั่งการได้ด้วยเสียงและชุดยังสามารถกันความร้อนและกันกระสุนปืนได้อีกด้วย

ชุดแอดวานส์ (advanced suit) ชุดที่ปรากฏในเกมส์เท่านั้นโดยเป็นชุดที่ด็อคเตอร์อ็อคเตเวียสออกแบบขึ้นมาเพราะเข้าใจว่าปีเตอร์แอบช่วยสไปเดอร์แมนโดยปีเตอร์ได้สวมชุดนี้ออกปฏิบัติการและชุดมีพลังพิเศษที่เรียกว่า แบทเทิลโฟกัส (Battle focus) จะทำให้เกจโฟกัสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและจะกดอินแสตนท์เท็คดาวน์ของศัตรูได้ทันที
ชุดซีเคร็ทวอร์ (secrect war suit) ชุดเกราะที่ปีเตอร์ใส่ไปช่วยนิค ฟิวรี่จากด็อคเตอร์ดูม มีความสามารถในการปล่อย EMP
ชุดเนกาทีฟ (Negative suit) ชุดที่เกิดจากการที่ปีเตอร์เข้าไปในเนกาทีฟโซน (Negative zone) จนชุดดูดซับพลังของมันมาทำให้มีความสามารถล่องหนและมีความสามารถในการปล่อยคลื่นช็อคเวฟสีขาว-ดำออกมาได้ เกิดจากการดูดพลังงานจากเนกาทีฟโซนมา
ชุดดำพลังไฟฟ้า (Electrically insulated suit) ชุดที่ปีเตอร์ใส่ในการต่อสู้ร่วมกับทีม เอ็กซ์เมน และยังสามารถต่อกรกับอีเล็คโตรได้เพราะชุดสามารถกันไฟฟ้าได้
ชุดเฟียร์อิทเซลฟ์ (Fear itself suit) ชุดที่อัพเกรดถูกสร้างโดย โทนี่ สตาร์ค และ กลุ่มคนแคระ โดยใช้แร่อูรูในการสร้าง มีอาวุธคือใบมีดที่ออกมาจากปลอกแขนทั้งสองข้าง หลังจบเหตุการณ์ Fear itself โอดินได้สั่งทำลายอาวุธและรวมชุดนี้ด้วย
ชุดเวโรซิตี้ (verocity suit) ชุดที่ปรากฏในเกมส์เท่านั้น ชุดที่ปีเตอร์ใส่มีความสามารถในการเพิ่มความเร็วในการวิ่ง
ชุดสไตล์คอมมิค (vintage comic book suit) ชุดที่มีต้นแบบมาจากคอมมิคมีลวดลายเส้นการ์ตูน
ชุดลำลอง (ESU suit) ชุดที่ปีเตอร์ใส่ในชีวิตประจำวันมีแค่หน้ากากและเครื่องยิงใยเท่านั้น
ไม่มีชุด (undies suit) ปีเตอร์ที่ไม่ได้ใสเสื้อกับกางเกงใส่แค่หน้ากากและกางเกงในเท่านั้น
ชุดแอนตี้อ็อค (Anti-ock) ชุดที่ปรากฏในเกมส์ช่วงสุดท้ายเท่านั้น ชุดที่ปีเตอร์ใส่มีความสามารถในการเพิ่มพลังให้ชุด
ชุดมืด (dark suit) ชุดที่ปีเตอร์ใส่หลังจากกลับมาจากความตายจากการช่วยเหลือของเดดพูลที่ฆ่าปีเตอร์เพราะถูกว่าจ้าง

ชุดของสไปเดอร์แมนที่ปรากฏในภาพยนตร์

[แก้]
ชื่อชุดไอ้แมงมุม ลักษณะ หมายเหตุ
ชุดดิอะเมซิ่งสไปเดอร์แมน รุ่นปี 1970 (the amazing spider-man suit (1970)) ชุดสไปเดอร์แมนของปี 1970 โดยชุดมีสีแดง-น้ำเงิน ลักษณะชุดคือ เข็มขัดและเครื่องยิงใยเที่ใหญ่ป็นพิเศษโดยตาของสไปเดอร์แมนรุ่นนี้จะแหลมเป็นพิเศษ ปรากฏตัวใน ดิ อะเมซิ่ง สไปเดอร์แมน ปี 1970
ชุดสไปเดอร์แมนโตเอะ (spider-man toei suit) ชุดสไปเดอร์แมนของทางญี่ปุ่นหรือโตเอะที่จับมือร่วมกับมาร์เวลโดยชุดมีสีแดง-น้ำเงินเหมือนเดิมโดยชุดมีลักษณะคือ จะไม่มีเครื่องยิงใยแต่จะเป็นกำไลข้อมือที่เรียกชุดออกมาใส่และสามารถพ่นใยแมงมุมออกมาได้และสไปเดอร์แมนเวอร์ชันนี้มีหุ่นยนต์ประจำตัวคือ ลีโอพาดอน ปรากฏในทีวีโทรทัศน์ปี 1978
ชุดเวสเลอร์ เวอร์ชัน โทบี้ แม็คไกวร์ (the wrestler suit ver.Tobey macguire) ชุดที่ปีเตอร์สร้างขึ้นมาเองเพื่อในการประลองมวยปล้ำเพื่อชิงเงินรางวัลและทดสอบความสามารถของตัวเองว่าเก่งแค่ไหนปรากฏในไอ้แมงมุม ภาค 1
ชุดดั้งเดิม เวอร์ชัน โทบี้ แม็คไกวร์ (classic suit ver. Tobey macguire) ชุดที่สร้างขึ้นมาเองทำมาจากหนังโดยมีสีแดง-น้ำเงินและชุดมีลักษณะเหมือนในคอมมิคแต่จะไม่มีเครื่องยิงใยเพราะปีเตอร์สามารถยิงใยได้ด้วยตัวเองโดยไม่พึ่งเครื่องยิงใยแมงมุมปรากฏใน ไอ้แมงมุม ภาค 1 2 3
ชุดดั้งเดิม เวอร์ชัน โทบี้ แม็คไกวร์ รูปแบบเสียหาย(classic suit ver. Tobey macguire (Damgned)) เกิดจากการที่ปีเตอร์ต่อสู้กับเหล่าวายร้ายจนทำให้ชุดขาดบางส่วนหรือมีลอย
ชุดดำ (black suit) ชุดที่เกิดจากการรวมตัวของซิมไบโอต เวน่อม โดยชุดจะมีลักษณะสีดำและทำให้ปีเตอร์มีพลังมากขึ้นแต่ปีเตอร์จะสูญเสียบุคลิกของตนเองไปเพราะยิ่งเวน่อมครอบงำปีเตอร์มากเท่าไหร่ปีเตอร์จะกลายเป็นไม่ดีและก้าวร้าว ปีเตอร์จึงเลยถอดชุดออกมาและเวน่อมมันก็ได้ไปรวมกับเอ็ดดี้ บร็อคจนกลายเป็น เวน่อม ปรากฏใน ไอ้แมงมุมภาค 3
ชุดศาลเตี้ย ( vigilante suit) ปีเตอร์ใส่แค่หน้ากากและแว่นส่วนเสื้อเป็นชุดลำลองและใส่หมวกไหมพรม ปรากฏใน ดิ อะเมซิ่ง สไปเดอร์แมน
ชุดแรก (first suit) ชุดแรกที่ปีเตอร์ออกแบบขึ้นมาเองโดยชุดมีสีแดง-น้ำเงินและมีเครื่องยิงใยแมงมุมเนื่องจากปีเตอร์ไม่สามารถยิงใยควบคุมได้ สัญลักษณ์แมงมุมจะมีขายาว โดยหน้ากากตรงตาจะมีสีเหลือง ปรากฏใน ดิ อะเมซิ่ง สไปเดอร์แมน
ชุดที่สอง (second suit) ชุดที่สองของปีเตอร์ที่ออกแบบโดย เกว็น สเตซี่ โดยสีตาจะถูกเปลี่ยนเป็นสีขาวให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและสีของชุดถูกปรับให้สดใสขึ้น เครื่องยิงใยแมงมุมถูกเปลี่ยนเป็นอันใหม่ ปรากฏใน ดิ อะเมซิ่ง สไปเดอร์แมน ภาค 2

ชุดของสไปเดอร์แมนที่ปรากฏใจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล

[แก้]
ชื่อชุดไอ้แมงมุม ลักษณะ หมายเหตุ
ชุดโฮมเมด (homemade suit) ชุดที่ปีเตอร์ทำเองที่บ้านหลังจากโดนแมงมุมอาบรังสีกัดโดยตาจะเป็นแว่น ความสามารถของชุดนี้คือ โดยตัวแว่นมันทำให้ปีเตอร์มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่เห็น เครื่องยิงใยแมงมุมถูกสร้างโดยปีเตอร์โดยสร้างจากวัสดุที่ไม่แพงและหาได้ง่าย โดยมีตัวบรรจุกระสุนใยแมงมุมอยู่ โดยมีสี่อันต่อเครื่องยิงใย ในภาพยนตร์เรื่อง กัปตันอเมริกา: ศึกฮีโร่ระห่ำโลก ปีเตอร์ตั้งใจจะใส่ชุดนี้ไปลุยแต่โทนี่ส่งชุดใหม่มาก่อน
ชุดแดง&น้ำเงิน หรือ ชุดดั้งเดิมของสตาร์ค (Red&blue suit หรือ original stark suit) ชุดที่โทนี่สร้างให้ปีเตอร์ใส่เพื่อจับกุมกลุ่มแคปในเหตุการณ์กัปตันอเมริกา: ศึกฮีโร่ระห่ำโลก ก่อนโทนี่จะมอบชุดให้ปีเตอร์ไปใช้โดยมีสีแดง-น้ำเงิน ชุดนี้ปีเตอร์สามารถใช้ช่วงช่วยคนแถวบ้านของตนเองและปกป้องผู้คนจากภัยอันตราย โดยชุดทอขึ้นมาด้วยเส้นใยชนิดพิเศษที่มี ความแข็งแกร่ง ทนทาน และ ยากที่การฉีกขาดโดยตัวชุดมีการติดตั้งระบบ Auto fit suit (ระบบศูนย์ยากาศ) ที่สามารถปรับขนาดของชุดให้ใหญ่-เล็กลงก็ได้เพื่อให้พอดีกับผู้สวมใส่ได้โดยอัตโนมัติ อาวุธสำคัญที่ติดตั้งมาคือ เครื่องยิงใยแมงมุม (web-shootes) ที่อัพเกรดใหม่หากเกิดใยหมดระหว่างทำภารกิจสามารถติดตั้งใยสำรองบริเวณเอวถึง 6 กรัม โดยเครื่องยิงใยและใยสำรองมาใช้กับชุดลำลองได้ในกรณีที่ปีเตอร์ไม่ได้พกชุดมา โดยชุดดูเหมือนจะเป็นชุดซุปเปอร์ฮีโร่ธรรมดาทั่วไป แต่ความจริงโทนี่แอบซ่อนความสามารถต่างๆเอาไว้ เพื่อบล็อกไม่ให้ปีเตอร์ใช้งานจนกว่าจะผ่านการประเมิณจากโทนี่ แต่ปีเตอร์ก็ดันไปพบกับความลับนี้จนได้และขอให้เน็ท ลีด ปลดล็อกความสามารถทั้งหมดออกมา โดยชุดสร้างมาจากผลิตด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยโดยมีการติดตั้งเลนส์ชนิดพิเศษที่บริเวณดวงตาสามารถใช้คลื่นแสสเป็คตรั้มและสแกนหาเป้าหมายได้ทุกพิกัดแม้จะมีสิ่งกีดขวางบดบังอยู่ก็ตาม เวฟวิงค์ หรือ ปีกแมงมุม (web-wings) สามารถทำให้ปีเตอร์ร่อนอยู่ในที่สูงกรณีที่อยู่ในพื้นที่กว้างที่ไม่มีตึกให้ปีเตอร์โหนตัวลงมา โลโก้ที่หน้าอกชุดมันมีชื่อว่า โดรนนี่ (droney) โดรนลาดตระเวนที่สามารถสอดแนมและส่งข้อมูลมาให้ปีเตอร์ เครื่องยิงใยสามารถปล่อยแมงมุมจิ๋วติมตามเป้าหมายและส่งข้อมูลผ่าน GPS แพตกิ้ง ซึ่งจะแสดงพิกัดแผนที่แบบโฮโลแกรม โดยชุดมีระบบปฏิบัติการอัจฉริยะโดยปีเตอร์ตั้งชื่อว่า คาเรน(K.A.R.E.N)โดยคาเรนเชื่อมต่อกับข้อมูลส่วนกลางทำให้สามารถนำข้อมูลต่างๆมาแสดงผลได้อย่างรวดเร็วและสามารถวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมต่างๆว่าในแต่ละสถานการณ์ปีเตอร์ควรใช้โหมดไหนในการต่อสู้โดยเครื่องยิงใยสามารถยิงใยได้ 576 รูปแบบ เช่น ใยลูกกระดอน ใยแยกสลาย ใยลูกระเบิด ฯลฯ โดยชุดสามารถใช้โหมด instanct kills หรือ โหมดสังหารได้ ปรากฏตัวใน กัปตันอเมริกา: ศึกฮีโร่ระห่ำโลก , สไปเดอร์แมน: โฮมคัมมิ่ง , อเวนเจอร์ส: มหาสงครามล้างจักรวาล ,สไปเดอร์-แมน ฟาร์ ฟรอม โฮม
เกราะไอรอนสไปเดอร์ (iron-spider armor) หลังจบเหตุการณ์ปราบวัลเจอร์ลงไปได้ โทนี่ได้ตอบแทนน้ำใจปีเตอร์โดยการสร้างชุดนี้ขึ้นมาโดยมีต้นแบบมาจากชุดเกราะ ไอรอนแมน มาร์ค 46 โดยโทนี่ได้ให้ปีเตอร์ใส่เพื่อเปิดตัวฮีโร่คนใหม่อย่างสไปเดอร์แมนแต่ปีเตอร์ปฏิเสธเพราะปีเตอร์ขอเป็นสไปเดอร์แมนเพื่อนบ้านที่แสนดีไปก่อน ในช่วงเหตุการณ์ชิงมณีจาก ดร.สเตรนจ์ ในนิวยอร์ก โดยปีเตอร์ได้เกาะยาน Q-ship โดยชุดแดง&น้ำเงินไม่มีอากาศถ่ายเทบนอวกาศ เลยทำให้โทนี่สั่งการจรวดขนาดเล็กที่บรรจุเกราะอยู่ให้ปีเตอร์ใส่ โดยเมื่อใส่เข้าไปทำให้ชุดผลิตออกซิเจนให้ปีเตอร์มีอากาศหายใจและเป็นชุดที่เหมาะกับการทำภารกิจบนอวกาศ โดยชุดสามารถกันกระสุนได้เนื่องจากเป็นเกราะ ชุดมีซอฟแวร์ที่เชื่อมต่อกับระบบปฏิบัติการ F.R.I.D.A.Y ทำให้โทนี่ควบคุมชุดไอรอนสไปเดอร์ได้อย่างเต็มที่ โดยบรรจุเตาปฏิกรณ์ขนาดเล็ก โดยมีความมารถมากมาย เช่น ระบบร่มชูชีพ ขาแมงมุมที่เป็นอาวุธหลักของชุดในการต่อสู้และเป็นแขนขาในการปีนป่ายหรือใช้เดินบนพื้นผิวขรุขระ ถ้าหากต้องการใช้ฟังก์ชัน Full option ต้องสั่งการโหมด instant kills หรือ โหมดสังหาร มันจะทำให้ขาแมงมุมโจมตีศัตรูได้อย่างรวดเร็วและทำให้สไปเดอร์กลายเป็นผู้ต่อสู้ที่น่ากลัวไปในที่สุด ในช่วงที่ปีเตอร์ไปทัศนศึกษาได้เผยว่า ชุดยังต้องชาร์จพลังงาน ปรากฏตัวใน สไปเดอร์แมน: โฮมคัมมิ่ง , อเวนเจอร์ส: มหาสงครามล้างจักรวาล ,สไปเดอร์-แมน ฟาร์ ฟรอม โฮม
ชุดสเตล็ท หรือ ชุดไนท์มังกี้ (stealth suit หรือ night monkey suit) ปีเตอร์ต้องไปทัศนศึกษากับเพื่อนๆ ชีลด์จึงได้ให้ชุดนี้กับปีเตอร์เพื่อปกปิดตัวตนไม่ให้เพื่อนๆสงใสในตัวเขา
ชุดแดง&ดำ(red&black suit หรือ upgrade suit) ชุดที่ปีเตอร์สร้างขึ้นตอนอยู่บนเครื่องบินของโทนี่ เพื่อสู้กับมิสเตอริโอ

ไอ้แมงมุมในสื่ออื่น

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Amazing Spider-Man #434
  2. Spider-Man #91
  3. The Spectacular Spider-Man #257
  4. Sensational Spider-Man #27
  5. Amazing Spider-Man Annual #36
  6. The Amazing Spider-Man #149-151
  7. The Amazing Spider-Man #529
  8. "What If? Vol 2 #31
  9. "Amazing Spider-Man Vol.05" #6
  10. Bradford W. Wright. Comic Book Nation (Johns Hopkins, 2001.) p. 210 (อังกฤษ)
  11. J. Michael Straczynski (เขียนบท,) John Romitar Jr., Scott Hana (วาด.) "Coming Home" (คืนถิ่น,) The Amazing Spider-Man (Marvel Comics, Bongkoch Comics.)
  12. Cynthia O'Neill, Tom DeFalco, and Stan Lee. Spider-Man: The Ultimate Guide (DK CHILDREN, 2001.) p.1 (อังกฤษ)
  13. Stan Lee, and George Mair. Excelsior!: The Amazing Life of Stan Lee (Fireside, 2002.) p.130 (อังกฤษ)
  14. "Comic Book Creatures," รายการ Animal Icons (ปี 2.) ทรูวิชั่นส์ ช่อง Animal Planet (20.00-23.00 น., 19 พฤษภาคม 2550.)
  15. ในทางเทคนิค แมงมุมไม่ใช่สัตว์จำพวกแมลง
  16. Les Daniels. Marvel: Five Fabulous Decades of the World's Greatest Comics (Harry N. Abrams, New York, 1991.) p. 95 (อังกฤษ)
  17. Greg Theakston. The Steve Ditko Reader (Pure Imagination, Brooklyn, NY, 2002.) p. 12 (อังกฤษ)
  18. Joe Simon, with Jim Simon. The Comic Book Makers (Crestwood/II, 1990.) (อังกฤษ)
  19. "Ditko & Stanton เก็บถาวร 2010-09-24 ที่ WebCite." เว็บไซต์ Ditko Looked Up (http://www.ditko.comics.org เก็บถาวร 2009-02-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน).
  20. Greg Theakston. เพิ่งอ้าง. p. 14 (อังกฤษ)
  21. Les Daniels. เพิ่งอ้าง. p. 97 (อังกฤษ)
  22. Bradford W. Wright. เพิ่งอ้าง. p. 211 (อังกฤษ)
  23. Bradford W. Wright. เพิ่งอ้าง. p. 223 (อังกฤษ)
  24. Bradford W. Wright. เพิ่งอ้าง. p. 239 (อังกฤษ)
  25. Bradford W. Wright. เพิ่งอ้าง. p. 279 (อังกฤษ)
  26. มาร์เวลคอมมิคส์ถือเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการหนังสือการ์ตูนบริษัทแรกที่ได้เข้าสู่ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกา
  27. Bradford W. Wright. เพิ่งอ้าง. p. 254 (อังกฤษ)
  28. Beau Yarbrough. "Marvel to Take on World Trade Center Attack in 'Amazing Spider-Man' เก็บถาวร 2007-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," หน้า CBR News. เว็บไซต์ Comic Book Resources (http://www.comicbookresources.com). (อังกฤษ)
  29. "Spider-Man removes mask at last," หน้า Entertainment. เว็บไซต์ BBC News (http://news.bbc.co.uk). (อังกฤษ)
  30. "New York Post Spoils Civil War #2." เว็บไซต์ Newsarama.com (http://www.newsarama.com). (อังกฤษ)
  31. Amazing Fantasy (ชุดที่ 1, ฉบับที่ 15, สิงหาคม 2505) (อังกฤษ)
  32. The Amazing Sider-Man (ชุดที่ 1, ฉบับที่ 1, พ.ศ. 2506) (อังกฤษ)
  33. The Amazing Sider-Man (ชุดที่ 1, ฉบับที่ 50) (อังกฤษ)
  34. The Amazing Sider-Man (ชุดที่ 1, ฉบับที่ 100) (อังกฤษ)
  35. Kit Kiefer and Jonathan Couper-Smart. Marvel Encyclopedia Volume 4: Spider-Man (Marvel Comics, 2003.) (อังกฤษ)
  36. "Spider-Man," หน้า Individuals. เว็บไซต์ Marvel Directory (http://www.marveldirectory.com). (อังกฤษ)
  37. Hilary Goldstein. "Spider-Man Villains Tournament เก็บถาวร 2007-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," หน้า Features, Comics, Entertainment. เว็บไซต์ IGN (http://uk.comics.ign.com เก็บถาวร 2007-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน). (อังกฤษ)

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]