ข้ามไปเนื้อหา

สเกินเดร์เบอู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สเกินเดร์เบอู
เจ้าแห่งแอลเบเนีย
(ละติน: Dominus Albaniae)[1]
ภาพเขียนบุคคลของสเกินเดร์เบอู ผลงานโดยกริสโตฟาโน เดลลัลติสซีโม ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่หอศิลป์อุฟฟีซี ประเทศอิตาลี
ครองราชย์28 พฤศจิกายน 1443 – 17 มกราคม 1468
ก่อนหน้าจอน กัสตรีออตี
ถัดไปจอน กัสตรีออตีที่ 2
ประสูติ1405
แคว้นกัสตรีออตี
เจร์จ
สวรรคต17 มกราคม 1468 (อายุ 62 ปี)
อาเลสซีโอ สาธารณรัฐเวนิส
ฝังพระศพโบสถ์นักบุญนิโคลัส เลเฌอ
คู่อภิเษกดอนีกา อารีอานีตี
พระราชบุตรจอน กัสตรีออตีที่ 2
ราชสกุลกัสตรีออตี
พระราชบิดาจอน กัสตรีออตี
พระราชมารดาวอยซาวา กัสตรีออตี
ศาสนาอิสลาม (1423–1443)
คาทอลิก (1443–1468)
อาชีพเจ้าแห่งแคว้นกัสตรีออตี, นายพลแห่งสันนิบาตเลเฌอ
ลายพระอภิไธย

เจร์จ กัสตรีออตี (แอลเบเนีย: Gjergj Kastrioti; ละติน: Georgius Castriota; อิตาลี: Giorgio Castriota; 1405 – 17 มกราคม 1468) หรือรู้จักทั่วไปในนาม สเกินเดร์เบอู (แอลเบเนีย: Skënderbeu, จากตุรกีออตโตมัน: اسکندر بگ, อักษรโรมัน: İskender Bey; อิตาลี: Scanderbeg) เป็นขุนนางแอลเบเนียยุคฟิวดัลและนายพลผู้นำการกบฏต่อจักรวรรดิออตโตมันในพื้นที่ที่ปัจจุบันคือแอลเบเนีย, มาซิโดเนียเหนือ, กรีซ, คอซอวอ,[a] มอนเตเนโกร และเซอร์เบีย

สเกินเดร์เบอูเป็นขุนนางในตระกูลกัสตรีออตี เมื่อยังเยาว์ได้ถูกส่งตัวเป็นตัวประกันไปยังราชสำนักออตโตมัน เขาได้รับการศึกษาที่นั่นและรับใช้สุลต่านออตโตมันเป็นเวลายี่สิบปี เขาไต่เต้ายศขึ้นมาจนได้เป็น ซันจักเบย์ (เจ้าครองเขต) แห่งเขตดีบราในปี 1440 ต่อมาในปี 1443 ระหว่างยุทธการที่นีช เขาละทิ้งกองทัพออตโตมันและเข้ายึดครองกรูเยอและบริเวณใกล้เคียงซึ่งกินพื้นที่จากแอลเบเนียกลางไปถึงสเฟติกราดและมอดริช ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1444 ด้วยการสนับสนุนจากขุนนางในท้องถิ่น สเกินเดร์เบอูได้สถาปนาสันนิบาตเลเฌอซึ่งรวบรวมแว่นแคว้นเล็ก ๆ ในแอลเบเนียเข้าด้วยกันภายใต้การนำของสเกินเดร์เบอูเพียงผู้เดียว นี่ถือเป็นครั้งแรกที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของแอลเบเนียมีผู้นำร่วมคนเดียวกัน[2]

ถึงแม้ว่าสเกินเดร์เบอูจะมีความกล้าหาญในทางการรบ แต่เขาก็ยึดครองพื้นที่ให้ตนเองได้เป็นพื้นที่ขนาดเล็ก ๆ ในที่ปัจจุบันคือแอลเบเนียเหนือ ที่ซึ่งเขารบชนะเหนือออตโตมันแทบทุกครั้ง[3] ทักษะทางการทหารของสเกินเดร์เบอูเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการขยายอาณาเขตของจักรวรรดิออตโตมัน และคนจำนวนมากในยุโรปตะวันตกมองสเกินเดร์เบอูว่าเป็นแบบอย่างของการต่อต้านมุสลิมโดยคริสต์ศาสนิกชน[4] เป็นเวลา 25 ปี ในปี 1443 ถึง 1468 กองทัพขนาด 10,000 คน ของสเกินเดร์เบอูได้กรีธาทัพเข้าในอาณาเขตออตโตมัน และชนะกองทัพที่มียุทโธปกรณ์เหนือกว่าอย่างมากของจักรวรรดิออตโตมัน[5] ชัยชนะของสเกินเดร์เบอูนี้เป็นที่ชื่นชมสืบมา[6]

สเกินเดร์เบอูลงชื่อตนเองทุกครั้งด้วยชื่อ Dominus Albaniae ("เจ้าแห่งแอลเบเนีย") และไม่ปรากฏหลักฐานว่าเขาอ้างยศอื่นอีกในเอกสารที่พบในปัจจุบัน[1] ในปี 1451 เขายอมรับอำนาจอธิปไตยของราชอาณาจักรนาโปลีเหนือแอลเบเนียในทางนิตินัยผ่านทางสนธิสัญญากาเอตา ซึ่งทั้งสองรัฐลงนามว่าจะร่วมมือกันปกป้องกันและกัน กระนั้นสเกินเดร์เบอูก็ยังคงสถานะผู้นำรัฐเอกราชในทางพฤตินัย[7] ในปี 1460–1461 เขาช่วยสนับสนุนการสงครามของพระเจ้าแฟร์ดีนันโนที่ 1 แห่งนาโปลีและกรีธาทัพต้านกองทัพของฌ็องที่ 2 แห่งลอแรนและบารอนคนอื่นที่สนับสนุนการทวงคืนราชบัลลังก์นาโปลีให้แก่ฌ็อง

ในปี 1463 เขาได้รับมอบตำแหน่งให้เป็นผู้นำทัพครูเสดของสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 2 แต่ก็ไม่ได้เกิดการรบเนื่องจากพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ไปก่อนที่จะรวบรวมกองทัพสำเร็จ สเกินเดร์เบอูและกองทัพของชาวเวนิสสู้รบต้านกองทัพออตโตมันในสงครามออตโตมัน–เวนิส (1463–1479) จนกระทั่งเขาเสียชีวิตในเดือนมกราคม 1468 ในช่วงสูงสุดของเขา เขาเป็นนักรบต้านออตโตมันที่แข็งแกร่งและแน่วแน่ที่สุดคนหนึ่ง[8] ในศตวรรษที่ 19 สเกินเดร์เบอูกลายมาเป็นบุคคลสำคัญในการตื่นตัวของชาติแอลเบเนียและได้รับการเชิดชูอย่างมากในแอลเบเนียสมัยใหม่

หมายเหตุ

[แก้]
  1. คอซอวอเป็นดินแดนข้อพิพาทระหว่างสาธารณรัฐคอซอวอกับสาธารณรัฐเซอร์เบีย สาธารณรัฐคอซอวอประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 แต่เซอร์เบียยังคงอ้างว่าคอซอวอเป็นดินแดนอธิปไตยของตน ใน พ.ศ. 2556 ทั้งสองรัฐบาลเริ่มกระชับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติในฐานะส่วนหนึ่งของข้อตกลงบรัสเซลส์ ปัจจุบันคอซอวอได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐเอกราชจากประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 98 ชาติจาก 193 ชาติ

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Anamali 2002, p. 379.
  2. Fine 1994, p. 557.
  3. Donald Edgar Pitcher (1972). An Historical Geography of the Ottoman Empire: From Earliest Times to the End of the Sixteenth Century. Brill Archive. p. 88. Yet in spite of this brilliance in the field, Castriota could do no more than hold his own; reference to the map will show that apart from the Uskiip campaign all these victories took place within the very narrow area of North Albania. ... Nor did the constant victories rob the Ottomans of the territory they held in southern Albania.
  4. Sedlar 1994, p. 393.
  5. Housley 1992, p. 90.
  6. Frazee 2006, p. 33.
  7. Fine 1994, pp. 558–559.
  8. Donald Edgar Pitcher (1968). An Historical Geography of the Ottoman Empire: From Earliest Times to the End of the Sixteenth Century. Brill. p. 88.

บรรณานุกรม

[แก้]