สุรพล พยอมแย้ม
หน้าตา
รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพล พยอมแย้ม อดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นอกเหนือจากงานสอนและงานฝึกอบรมในสาขาจิตวิทยาให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว ยังมีประสบการณ์งานวิจัยตลาดให้กับผู้ผลิตสินค้าทั้งในและต่างประเทศนานเกือบ 20 ปี สำหรับงานด้านชุมชน เนื่องจากท่านเป็นผู้หนึ่งในกลุ่มผู้สร้าง หลักสูตรปริญญาโทจิตวิทยาชุมชน ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เปิดเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2541 และเป็นผู้สอนประจำสาขาวิชา จึงมีโอกาสได้สัมผัสกับการทำงานในชุมชนด้วยตนเองไม่น้อย ทำให้ท่านสามารถถ่ายทอดมุมมองอันมีค่าให้กับผู้ปฏิบัติงานในชุมชนระดับต่างๆไว้มากมาย หลังจากได้รับการพิจารณาให้ต่ออายุราชการเพิ่มอีก 5 ปี ปัจจุบันท่านเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ยังคงทำหน้าที่แบบเดิม พร้อมกับแลกเปลี่ยนความรู้ทางจิตวิทยากับผู้อื่นตามศักยภาพที่ท่านมีอยู่ ท่านอาจารย์สุรพล มีประสบการณ์ด้านการบริหารหน่วยงานในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง สำหรับหน่วยงานในมหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านเป็นผู้อำนวยการหอพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ดูแลกิจการด้านหอพักโดยตรง ก่อนที่จะมีการกำหนดตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ตำแหน่งสำคัญอีกตำแหน่งหนึ่งคือ เป็นผู้อำนวยการศูนย์บริการให้คำปรึกษานักศึกษาท่านแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร ส่วนตำแหน่งสุดท้ายที่ท่านปฏิบัติคือตำแหน่ง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ในส่วนที่เกี่ยวกับการเมืองระดับชาติ ท่านเริ่มต้นเป็นวิทยากรด้านจิตวิทยาให้กับพรรคประชากรไทยในยุคคุณสมัคร สุนทรเวช และต่อมาเมื่อพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ตั้งพรรคความหวังใหม่ท่านเป็นวิทยากรประจำพรรคพร้อมทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์โครงการอิสานเขียว ก่อนที่จะถอยห่างออกมาเมื่อพลเอกชวลิต ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บุคลิกภาพส่วนตัวของท่านอาจารย์สุรพล คือ สุภาพอ่อนน้อม อารมณ์ร่าเริงแจ่มใส เป็นผู้ยึดถือการปฏิบัติตามข้อตกลง พูดชัดเจนตรงไปตรงมา มุ่งมั่นในภารกิจที่กระทำให้สำเร็จ จึงทำให้ท่านเป็นที่รักและไว้วางใจของเพื่อนๆเลือกให้ท่านเป็นนายกสมาคมนักเรียนไทยใน California State University, Long Beach และ Vice - President, International Student Affair Center at UP, Diliman ท่านอาจารย์สุรพลมีความสามารถหลายด้าน ระหว่างที่เป็นนักศึกษาสนใจด้านนาฏศิลปไทย (โขน/ละคร) เรียนรู้และฝึกฝนผ่านอาจารย์ชวลิต เกตุรัตน์ เป็นเบื้องต้น และได้รับการครอบครูจากพ่อครูหลวงวิลาศ วงงาม ท่านได้แสดงเป็นตัวนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีผลงานแสดงทางโทรทัศน์ในยุคนั้น ด้านงานศิลปประดิษฐ์ท่านเป็นผู้จัดทำเครื่องประดับประเภทสร้อยคอ ต่างหู กำไลมือ จัดจำหน่ายให้แก่ชาวอเมริกันในย่านฮอลลี่วู้ดเป็นหลัก รวมทั้งเป็นผู้จัดทำหรือหล่อเทียนสำหรับจุดเพิ่มบรรยากาศแนวอโรม่า จำหน่ายแก่ชาวฮิปปี้ยุคปี 60-70 พร้อมการประชาสัมพันธ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า "Not look like it. But smell like it." จัดส่งให้ลูกค้าทั่วสหรัฐฯ
ประสบการณ์ที่สำคัญของท่านอีกประการหนึ่งคือการเป็นผู้จัดทำข่าวและอ่านข่าว (News Caster)ให้กับสถานีวิทยุนานาชาติ Radio Veritas Asia ซึ่งเป็นสถานีวิทยุในเครือคาธอลิก ทำให้ได้รับโอกาสพิเศษที่ไม่คาดฝันคือการเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดต่อ Pope John Paul II
ในด้านงานวิชาการ เนื่องจากท่านสำเร็จการศึกษาสาขา Social Psychology ผลงานที่เป็นบทความและตำราจึงเน้นหนักในด้านนี้ แต่ยังมีตำราจิตวิทยาการศึกษาด้วยเช่นกัน บทความที่ท่านเขียนได้ลงพิมพ์ในวารสารหลายฉบับ เช่น ประชาศึกษา บ้าน(การเคหะแห่งชาติ) มัณฑนาสถาปัตย์ เป็นต้น สำหรับตำราที่พิมพ์เป็นรูปเล่มและจัดจำหน่ายผ่านศูนย์หนังสือของมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มจาก พื้นฐานทางจิตวิทยาเพื่อการศึกษา ปฏิบัติการจิตวิทยาในงานชุมชน จิตวิทยาอุตสาหกรรม จิตวิทยาสัมพันธภาพ จิตวิทยาในงานชุมชน มุมจิตวิทยา: ต.ค.ต.ม. ตำราบางเล่มได้จัดพิมพ์ซ้ำและยังมีจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน นอกจากบทความและตำราแล้ว ท่านอาจารย์สุรพลยังถนัดในการเขียนบทกลอนด้วย ผลงานด้านนี้ปรากฏในวารสารและเอกสารสิ่งพิมพ์ในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะในวารสารที่จัดทำภายในสถาบันที่ท่านเรียนทั้งในและต่างประเทศ ที่กล่าวถึงกันมากคือบทกลอนที่ท่านเขียนในชื่อ "กอ-โอ-งอ" ที่ลงพิมพ์ในวารสารThai Night ของสมาคมนักเรียนไทยในลองบีช คาลิฟอร์เนีย และลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โพ้นทะเล ปี 1970 (หนังสือพิมพ์ไทยในนครลอสแอนเจลิส ที่มีผู้อ่านทั่วสหรัฐฯ) บทกลอนของท่านยังมีอีกมาก โดยเฉพาะที่ท่านเขียนไว้ในโอกาสต่างๆกัน ลูกศิษย์แต่ละรุ่น แต่ละสถาบัน (ท่านเป็นอาจารย์พิเศษหลายสถาบัน) ล้วนได้สัมผัสงานกลอนของท่านทั้งสิ้น