ข้ามไปเนื้อหา

สื่อใหม่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สื่อนฤมิต)

สื่อใหม่, สื่อนฤมิต, นิวมีเดีย (อังกฤษ: new media) หมายถึงการเข้าถึงเนื้อหาตามความต้องการ ทุกที่ทุกเวลาและทุกอุปกรณ์ดิจิทัล ซึ่งรวมไปถึงข้อมูลป้อนกลับของผู้ใช้ที่โต้ตอบระหว่างกัน การมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ และการรวมตัวเป็นชุมชนที่แวดล้อมเนื้อหาสื่อนั้น คำมั่นของสื่อใหม่อย่างหนึ่งที่สำคัญคือ การทำให้การสร้างสรรค์ การเผยแพร่ การกระจาย และการบริโภคเนื้อหาสื่อ เป็นประชาธิปไตย (democratization) ความคาดหวังของสื่อใหม่อีกอย่างหนึ่งคือการสร้างเนื้อหาที่สดใหม่และไร้ข้อจำกัดในเวลาจริง

เทคโนโลยีส่วนมากอธิบายลักษณะของสื่อใหม่ว่าเป็นดิจิทัล บ่อยครั้งที่มีลักษณะเฉพาะว่าถูกจัดดำเนินการมาแล้ว โยงใยเครือข่ายได้ หนาแน่น บีบอัดได้ และโต้ตอบระหว่างกัน [1] ตัวอย่างของสื่อใหม่อาจเป็นอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ สื่อประสมในคอมพิวเตอร์ วิดีโอเกม ซีดีรอม และดีวีดี แต่ไม่รวมไปถึงรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ นิตยสาร หนังสือ หรือสิ่งอื่นที่เผยแพร่แบบตีพิมพ์บนกระดาษ เว้นแต่พวกมันจะมีเทคโนโลยีที่ทำให้ใช้งานการโต้ตอบดิจิทัลได้ [2] วิกิพีเดียเป็นสื่อใหม่ตัวอย่างหนึ่ง ที่รวมข้อความดิจิทัล รูปภาพ และวิดีโอพร้อมด้วยเว็บลิงก์ที่เข้าถึงได้ทางอินเทอร์เน็ต อาสาสมัครมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ มีข้อมูลป้อนกลับที่โต้ตอบระหว่างผู้ใช้ และการรวมตัวเป็นชุมชนผู้เข้าร่วมของผู้เขียนและผู้บริจาค เพื่อประโยชน์แก่ผู้อ่านที่ไม่ได้อยู่ในชุมชน เฟซบุ๊กก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ใช้ตัวแบบสื่อเชิงสังคม (social media) ซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีส่วนร่วม

นิยาม

[แก้]

ถึงแม้สื่อใหม่อาจจะอธิบายลักษณะได้หลายแบบ เลฟ มาโนวิช (Lev Manovich) ก็ได้นิยามสื่อใหม่ไว้ในบทนำของหนังสือ เดอะนิวมีเดียรีดเดอร์ (The New Media Reader) โดยใช้ญัตติแปดข้อดังต่อไปนี้ [2]

  1. สื่อใหม่กับวัฒนธรรมไซเบอร์ – วัฒนธรรมไซเบอร์เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่หลากหลาย ที่เกี่ยวเนื่องกับอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารทางเครือข่าย (เช่น บล็อก เกมออนไลน์หลายผู้เล่น) ในขณะที่สื่อใหม่สัมพันธ์มากขึ้นกับวัตถุและกระบวนทัศน์ทางวัฒนธรรม (เช่น ไอโฟน โทรทัศน์ดิจิทัลแปลงเป็นแอนะล็อก)
  2. สื่อใหม่ในฐานะเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ใช้เป็นฐานการเผยแพร่ – สื่อใหม่เป็นวัตถุทางวัฒนธรรมที่ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ดิจิทัลสำหรับการเผยแพร่และการจัดแสดง ตัวอย่างเช่น อินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ สื่อประสมในคอมพิวเตอร์ แผ่นบลูเรย์ (อย่างน้อยในขณะนี้) ปัญหาของสิ่งนี้คือนิยามดังกล่าวจะต้องถูกปรับปรุงใหม่ทุกสองสามปี คำว่า "สื่อใหม่" จะไม่ "ใหม่" อีกต่อไปเพราะรูปแบบส่วนใหญ่ของวัฒนธรรมจะเผยแพร่ผ่านทางคอมพิวเตอร์มากมาย
  3. สื่อใหม่ในฐานะข้อมูลดิจิทัลที่ควบคุมโดยซอฟต์แวร์ – วิธีการสื่อสารของสื่อใหม่อยู่บนพื้นฐานของสมมติฐานที่ว่า ในข้อเท็จจริงวัตถุทางวัฒนธรรมทุกชนิดที่ขึ้นอยู่กับการแทนด้วยดิจิทัลและการส่งโดยใช้คอมพิวเตอร์ ใช้คุณภาพสามัญจำนวนหนึ่งร่วมกัน สื่อใหม่ลดขนาดลงเป็นข้อมูลดิจิทัลที่สามารถจัดดำเนินการโดยซอฟต์แวร์เหมือนข้อมูลอื่น ๆ ต่อจากนั้นการดำเนินการบนสื่อก็สามารถสร้างวัตถุเดิมออกมาเป็นรุ่นใหม่ ๆ ได้อีกหลายรุ่น ตัวอย่างหนึ่งคือรูปภาพที่เก็บบันทึกเป็นข้อมูลเมทริกซ์ ซึ่งสามารถจัดดำเนินการและเปลี่ยนแปลงโดยขึ้นอยู่กับขั้นตอนวิธีที่นำมาใช้เพิ่มเติม อาทิการกลับสี การปรับขาวดำ การทำให้คมชัด การทำให้เป็นแรสเตอร์ เป็นต้น
  4. สื่อใหม่ในฐานะการผสมระหว่างธรรมเนียมทางวัฒนธรรมที่มีอยู่กับธรรมเนียมของซอฟต์แวร์ – สื่อใหม่ในปัจจุบันสามารถทำความเข้าใจได้ว่า เป็นการผสมระหว่างธรรมเนียมทางวัฒนธรรมเก่ากับธรรมเนียมใหม่เพื่อการแทน การเข้าถึง และการจัดดำเนินการข้อมูล ข้อมูล "เก่า" คือการแทนด้วยความเป็นจริงอันประจักษ์และประสบการณ์ของมนุษย์ ส่วนข้อมูล "ใหม่" คือข้อมูลเชิงตัวเลข คอมพิวเตอร์จะอยู่นอกเหนือการตัดสินใจหลัก "เชิงสร้างสรรค์" และถูกมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของช่างเทคนิค ยกตัวอย่างภาพยนตร์ ซอฟต์แวร์จะถูกนำมาใช้ในการผลิตบางสายงาน ส่วนอื่นที่เหลือถูกสร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์แอนิเมชัน เป็นต้น
  5. สื่อใหม่ในฐานะสุนทรียศาสตร์ที่มาพร้อมกับระยะแรกเริ่มของทุก ๆ สื่อทันสมัยและเทคโนโลยีการสื่อสารที่เกิดใหม่ – กลยุทธ์เชิงสุนทรียศาสตร์หลายกลยุทธ์อาจปรากฏซ้ำเพียงสองหรือสามครั้ง ในขณะที่ภาพพจน์เปรียบเทียบในอุดมคติดูเหมือนว่าปรากฏซ้ำค่อนข้างสม่ำเสมอ เพื่อให้วิถีทางนี้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง การตั้งชื่อกลยุทธ์และภาพพจน์เปรียบเทียบอย่างเรียบง่ายและการบันทึกช่วงเวลาที่พวกมันปรากฏยังไม่เพียงพอ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราจะต้องพัฒนาการวิเคราะห์ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งจะสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของเทคโนโลยี พร้อมกับประวัติศาสตร์ของสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ หรือยุคสมัยใหม่
  6. สื่อใหม่ในฐานะการทำงานที่รวดเร็วขึ้นด้วยขั้นตอนวิธีซึ่งก่อนหน้านี้ทำงานด้วยมือหรือด้วยเทคโนโลยีอื่น – คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องทุ่นเวลาได้อย่างมากในสิ่งที่ก่อนหน้านี้เป็นเทคนิคการทำด้วยมือ เช่นเครื่องคิดเลข การทุ่นเวลาทำงานอย่างรวดเร็วก็ทำให้เทคนิคการแทนซึ่งไม่เคยมีมาก่อนสามารถเป็นไปได้ สิ่งนี้ก็ยังทำให้เกิดสื่อศิลปะรูปแบบใหม่ ๆ ที่เป็นไปได้ อาทิสื่อประสมเชิงโต้ตอบและวิดีโอเกม เมื่อถึงระดับหนึ่ง คอมพิวเตอร์ดิจิทัลสมัยใหม่จะเพียงแค่เร็วกว่าเครื่องคิดเลข เราจึงไม่ควรมองข้ามอัตลักษณ์อีกอันหนึ่งของมัน นั่นคืออุปกรณ์ควบคุมไซเบอร์เนติกส์
  7. สื่อใหม่ในฐานะการเข้ารหัสของอาว็อง-การ์ดสมัยนิยม หรือในฐานะสื่อก้าวหน้า – มาโนวิชกล่าวว่าคริสต์ทศวรรษ 1920 เกี่ยวเนื่องกับสื่อใหม่มากกว่ายุคสมัยอื่นใด สื่อก้าวหน้า (metamedia) เกิดขึ้นพร้อมกับแนวคิดหลังยุคนวนิยม (postmodernism) ในเรื่องที่ทั้งสองนำผลงานเก่ามาปรับปรุงมากกว่าที่จะสร้างสรรค์ผลงานใหม่ อาว็อง-การ์ดของสื่อใหม่เกี่ยวกับแนวทางใหม่ของการเข้าถึงและการจัดดำเนินการสารสนเทศ (เช่นสื่อหลายมิติ ฐานข้อมูล เสิร์ชเอนจิน ฯลฯ) สื่อก้าวหน้าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่าปริมาณสามารถเปลี่ยนเป็นคุณภาพได้อย่างไร อย่างกับว่าเทคโนโลยีสื่อใหม่กับเทคนิคการจัดดำเนินการ สามารถเข้ารหัสสุนทรียศาสตร์สมัยนิยมให้เป็นสุนทรียศาสตร์หลังยุคนวนิยมที่ต่างออกไปมาก
  8. สื่อใหม่ในฐานะการประกบขนานระหว่างมโนคติที่คล้ายกันในเรื่องศิลปะสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองกับคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ – ศิลปะสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองหรือ "ศิลปะเชิงการจัด" (combinatorics) เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ภาพโดยเปลี่ยนแปลงพารามิเตอร์เพียงหนึ่งเดียวอย่างเป็นระบบ สิ่งนี้นำไปสู่ผลงานสร้างสรรค์ หรือไม่ก็ภาพและโครงสร้างเชิงตำแหน่งที่คล้ายกันอย่างน่าประหลาด แสดงให้เห็นว่าขั้นตอนวิธีอันเป็นส่วนสำคัญของสื่อใหม่นี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี แต่สามารถกระทำการได้โดยมนุษย์

การศึกษาเกี่ยวกับสื่อใหม่ในประเทศไทย

[แก้]

ในประเทศไทย มีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสื่อใหม่ ดังต่อไปนี้

อ้างอิง

[แก้]
  1. Flew, 2008
  2. 2.0 2.1 Manovich, Lev. "New Media From Borges to HTML." The New Media Reader. Ed. Noah Wardrip-Fruin & Nick Montfort. Cambridge, Massachusetts, 2003. 13-25. ISBN 0-262-23227-8
  3. "สาขาวารสารศาสตร์และสื่อใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-02. สืบค้นเมื่อ 2021-08-08.
  4. หลักสูตรแขนงวิชาสื่อใหม่ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่[ลิงก์เสีย]
  5. สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  6. "สาขาสื่อนฤมิต คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-12. สืบค้นเมื่อ 2009-06-26.
  7. "สาขาวิชามัลติมีเดีย คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-22. สืบค้นเมื่อ 2009-06-06.
  8. วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม
  9. "สาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-06. สืบค้นเมื่อ 2021-08-08.

ดูเพิ่ม

[แก้]