สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน เขียนโดย วินทร์ เลียววาริณ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่สะท้อนสัญชาตญาณของความเป็นคนออกมาได้ดี ทั้งในแง่ของความต้องการทางกายภาพ ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์พื้นฐานของคน ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมของคนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสิ่งที่หล่อหลอมสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ขึ้นมา เช่น องค์ประกอบของธาตุ มวลสสาร พันธุกรรมและดีเอ็นเอ และส่วนหนึ่งมาจากการขัดเกลาทางสังคม เช่น จารีตประเพณี ความเชื่อและศาสนา
สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน เป็นการผสมผสานบทความ 17 บทความ และเรื่องสั้น 17 เรื่อง ผู้เขียนใช้บทความอธิบายความคิด ประเด็นทางปรัชญา และเป็นตัวนำเรื่องสั้นแต่ละเรื่องให้ผู้อ่านไปถึงจุดหมายที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ บทความและเรื่องสั้นจึงมีความสัมพันธ์กันเป็นคู่ๆ ถือเป็นกลวิธีการสร้างสรรค์เรื่องสั้นที่น่าสนใจ
แนวคิดของผู้เขียน
[แก้]ความสัมพันธ์ของคนกับสิ่งต่างๆ
[แก้]แนวคิดในการมองโลกของผู้เขียนจะมองโลกในมุมกว้างจากระดับจักรวาล ดังนั้นจึงมองเห็นความสัมพันธ์ของคนกับสิ่งอื่นว่าล้วนมาจากรากเหง้าเดียวกัน ผู้เขียนได้อธิบายความสัมพันธ์ของคนกับสิ่งต่างๆตั้งแต่ระดับเล็กไปจนถึงระดับกว้าง กล่าวคือ ความสัมพันธ์ของคนกับสิ่งเร้าภายใน คนกับสิ่งเร้าภายนอก คนกับกฎเกณฑ์ของคน คนกับคน คนกับสัตว์ และคนกับจักรวาล แสดงให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนนี้ไม่มีอิสระอย่างแท้จริง พฤติกรรม อารมณ์ ความรู้สึกของคนล้วนตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่มาจากสิ่งเร้าภายใน เช่น ความต้องการทางเพศ ความกลัว หรือสัญชาตญาณการเอาตัวรอด นอกจากนี้ยังมีกฎเกณฑ์ใหม่ที่คนกำหนดขึ้นมาเมื่อมีความจำเป็นต้องรวมกลุ่มกันเป็นสังคม เช่น บรรทัดฐานทางสังคม ระบบศาสนา เป็นต้น กฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้นภายหลังนี้ก็เพื่อจำกัดและควบคุมความรู้สึกภายในของคน ทำให้คนไม่สามารถเปิดเผยความต้องการหรือความรู้สึกที่แท้จริงออกมา ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่ากฎเกณฑ์ที่คนสร้างขึ้นมานี้ดีจริงหรือไม่ หรือมันช่วยทำให้สังคมไม่วุ่นวายได้มากน้อยแค่ไหน และเราแน่ใจได้อย่างไรว่ามันสามารถควบคุมพฤติกรรม ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติดั้งเดิมของคนได้
ความขัดแย้งของแรงขับเคลื่อนภายในกับกฎเกณฑ์สังคม
[แก้]เรื่องสั้นหลายเรื่องใน สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน จึงสะท้อนให้เห็นภาพความขัดแย้งของแรงขับเคลื่อนภายในกับกฎเกณฑ์สังคม หรือกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม ผิดหรือไม่ที่บางครั้งเราอยากทำอะไรตามใจปรารถนาภายใน แม้ว่าจะต้องขัดกับกรอบระเบียบหรือความคิดส่วนใหญ่ของคนในสังคม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ความต้องการทางเพศซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้สัตว์ทุกชนิดดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ได้ หากไม่มีความต้องการทางเพศก็ย่อมไม่มีการร่วมเพศและการขยายลูกหลาน ดังนั้นแรงขับเคลื่อนทางเพศจึงเป็นเสมือนของขวัญที่ประทานมาจากพระเจ้า ถ้าเราเชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลกและคนขึ้นมาจากฉายาของพระองค์จริง ในสังคมบรรพกาลเรื่องเพศถือเป็นเรื่องธรรมชาติของคน ไม่มีการปิดบังกันแต่ต่อมาเมื่อคนสร้างสังคมรวมทั้งกฎเกณฑ์ต่างๆขึ้นมา เรื่องเพศกลายเป็นสัญชาตญาณแรกที่คนต้องกดซ่อนเอาไว้ แต่เราไม่รู้ว่ากฎเกณฑ์ทางเพศที่ควบคุมแรงขับเคลื่อนภายในของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนนี้ดีจริงหรือไม่ และกฎเกณฑ์ที่คิดสร้างขึ้นมาภายหลังจะสามารถล้อมกรอบธรรมชาติพื้นฐานที่ติดตัวคนมาตั้งแต่แรกกำเนิดได้มากน้อยเพียงใด
ในเรื่องสั้นเรื่อง “ชู้” เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความต้องการทางเพศของชายหญิงที่มีความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด แม้ว่าตัวละครฝ่ายหญิงจะแต่งงานแล้ว แต่สามีของเธอก็ชราเกินกว่าจะตอบสนองความปรารถทางเพศรสของเธอได้ ช่วงแรกของเรื่องผู้เขียนหลอกผู้อ่านให้เชื่อว่าตัวละครชายกับหญิงในเรื่องลักลอบเป็นชู้กัน แต่ในตอนท้ายเรื่องก็หักมุมเป็นว่าสามีของตัวละครหญิงเองที่เป็นคนจ้างให้ตัวละครชายคนนี้มาให้บริการทางเพศแก่ภรรยาของตน เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะถือว่าการกระทำของตัวละคร “ผม” ในเรื่องนี้ทำผิดศีลธรรมหรือไม่ในเมื่อสามีของฝ่ายหญิงเองที่เป็นผู้ยินยอมให้ภรรยาของตนมานอนกับชายอื่น ชายคนนี้หรือหญิงคนนี้ควรถูกสังคมประฌามหรือไม่ว่าเป็นชู้กัน แต่สุดท้ายเมื่อหน้าที่จบลงผู้เขียนก็ทำให้เราคาดเดาไปต่างๆนานาว่าความสัมพันธ์ของชายหญิงคู่นี้จะจบลงหรือไม่ ถ้าดูจากวันสุดท้ายที่เขียนว่า “เรื่องส่วนตัว” แล้วก็ชวนให้ผู้อ่านคิดว่าต่อไปทั้งสองอาจพัฒนาการความสัมพันธ์จนกลายเป็นชู้กันไปจริงๆ หากตัวละครทั้งสองไม่สามารถหักห้ามความรู้สึก ความปรารถนาที่มีต่อกันได้
เรื่องสั้นเรื่องอื่นก็พูดถึงแรงขับทางเพศเช่นกัน เช่น เรื่อง”ละครจริงในห้องขาวดำ” พฤติกรรมของตัวละครที่ผ่านกันมาโลดแล่นอยู่ในห้องขาวดำนี้ เราสามารถพบได้ทั่วไปตามท้องถนน อาจเป็นคนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จัก หรืออาจเป็นคนสนิทใกล้ชิดกับเราก็เป็นได้
พฤติกรรมของคน
[แก้]พฤติกรรมของคนย่อมมีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง ภายนอกของคนอาจฉาบไว้ด้วยความสุภาพเรียบร้อย การแต่งกายที่ดูดี แต่ใครจะรู้ว่ายามคนซ่อนตัวอยู่ในที่ที่ไม่มีใครเห็นเขาอาจทำในสิ่งที่เราคาดไม่ถึง โดยเฉพาะเรื่องเพศเนื่องจากเป็นเรื่องที่ถูกกฎเกณฑ์มากมายคอยกำกับควบคุมไว้ สิ่งที่ต้องปิดบังซ่อนเร้นไว้มากเท่าไหร่ก็ย่อมแสวงหาทางปลดปล่อยที่รุนแรงมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งในสังคมที่ไม่เปิดกว้างยอมรับความแตกต่างทางเพศที่นอกเหนือจากชายจริง หญิงแท้ด้วยแล้ว พวกที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากที่สังคมกำหนดไว้ เช่น โฮโมเซ็กชวล ไบโอเซ็กชวล เลสเบี้ยน ก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อยไม่เหมือนคนทั่วไปในสังคม เมื่อกลัวสังคมและคนรอบข้างจะรับไม่ได้ก็ต้องเก็บงำความรู้สึกที่แท้จริงไว้ กลายเป็นคนเก็บกดต้องคอยใส่หน้ากากรับบทบาทเป็นเพศที่ใจไม่ต้องการเป็น คนเหล่านี้หลายคนพบว่าเป็นผู้ที่มีอารมณ์รุนแรง ทั้งนี้เพราะเขาไม่ได้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมา ความจริงแล้วพวกเขาไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นเลย ไม่ต้องโทษการเลี้ยงดูให้เสียเวลา เพราะมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนยืนยันว่าพฤติกรรมเหล่านี้มาจากยีนที่กำหนดมาตั้งแต่แรกเกิด ดังนั้นการมีกฎเกณฑ์ทางเพศที่ซับซ้อนขึ้นกลับทำให้คนมีอิสรภาพน้อยลง แล้วความจริงคนควรมีเสรีภาพมากน้อยแค่ไหน เสรีภาพที่แท้มีหรือไม่ ฌอง ปอล ซาตร์ส นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเสนอปรัชญาเอ็กซิสเต็นเชียลิสม์ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีอิสระอย่างเต็มที่ แต่มนุษย์ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองด้วย ตามแนวคิดนี้คนไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ใดๆของสังคม ถ้าเชื่อตามความคิดนี้คนก็อาจมีเซ็กซ์ได้โดยเสรีไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นลูก เมียของใคร หากทำแล้วตัวมั่นใจว่าสามารถยอมรับผลที่จะตามมาได้ เช่น อาจถูกสามีเขาเอาปืนมาไล่ยิง แต่ในความเป็นจริงจะมีใครสักกี่คนรับผิดชอบหากมันต้องแลกด้วยชีวิตของคนเรา
การกระทำตามใจปรารถนาของเราอย่างเต็มที่นั้นอาจไปกระทบหรือคุกคามชีวิตของอีกคนหนึ่งก็เป็นได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นเสรีภาพที่แท้ของคนจึงไม่มีเพราะตราบใดที่คนต้องอยู่รวมกันในสังคมก็จำเป็นต้องเคารพในกฎเกณฑ์ของสังคมเพื่อความสงบสุขของสังคมส่วนรวม
สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนจะดำรงอยู่ในโลกและจักรวาลอย่างไรให้สมดุลและเบียดเบียนกันให้น้อยที่สุด ในขณะที่ต้องตกเป็นทาสของของแรงขับภายใน และกฎเกณฑ์ภายนอก