สำนักนิทรรศการระหว่างประเทศ
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ก่อตั้ง | 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1928 |
---|---|
ประเภท | งานนิทรรศการโลก |
สํานักงานใหญ่ | ปารีส ฝรั่งเศส |
สมาชิก | 170 ชาติสมาชิก |
ประธาน | Choi Jai-chul |
เลขาธิการ | Dimitri S. Kerkentzes |
เว็บไซต์ | www |
สำนักนิทรรศการระหว่างประเทศ[1][2][3] (อังกฤษ: Bureau of International Expositions; ฝรั่งเศส: Bureau International des Expositions: BIE) เป็นองค์การระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1928 ตามอนุสัญญาเกี่ยวกับนิทรรศการระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดนิทรรศการระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงปารีส และมีประเทศสมาชิก 170 ประเทศ
ประวัติ
[แก้]จากการเริ่มจัดการแสดงนิทรรศการระหว่างประเทศครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1851 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และการจัดแสดงนิทรรศการระหว่างประเทศต่อ ๆ มา
ผลจากความสำเร็จในการจัดนิทรรศการระหว่างประเทศซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ได้แก่ การก่อสร้างหอไอเฟลในการจัดแสดงนิทรรศการระหว่างประเทศ ณ กรุงปารีส ค.ศ. 1889
ต่อมาเมื่อมีการจัดงานแสดงนิทรรศการระหว่างประเทศบ่อยครั้งขึ้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมคุณภาพและความเหมาะสมในการจัดแสดงนิทรรศการ จึงได้มีการลงนามในอนุสัญญาเกี่ยวกับนิทรรศการระหว่างประเทศ และก่อตั้งสำนักนิทรรศการระหว่างประเทศขึ้นในปี ค.ศ. 1928
การดำเนินงาน
[แก้]สำนักงานเลขาธิการสำนักนิทรรศการระหว่างประเทศตั้งอยู่ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีเลขาธิการสำนักนิทรรศการระหว่างประเทศเป็นหัวหน้า กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสได้รับรองสถานภาพทางการทูตต่อ BIE ประเทศภาคีสมาชิกจ่ายค่าบำรุงประจำปีแก่ BIE ตามหลักการสหประชาชาติ
การดำเนินงาน ประกอบด้วยคณะกรรมการ 4 ชุด ได้แก่
1. คณะกรรมการบริหาร (อังกฤษ: Executive Committee)
2. คณะกรรมการด้านกฎระเบียบ (อังกฤษ: Rules Committee)
3. คณะกรรมการธุรการและงบประมาณ (อังกฤษ: Administration and Budget Committee)
4. คณะกรรมการสารสนเทศและการสื่อสาร (อังกฤษ: Information and Communication Committee)
แต่ละคณะประกอบด้วยสมาชิก 8 คน คัดเลือกจากที่ประชุมสามัญสมาฃิกซึ่งจัดประชุมปีละ 2 ครั้งในฤดูร้อนและฤดูหนาว ประธานของคณะกรรมการทั้ง 4 ชุดจะทำหน้าที่รองประธาน BIE ด้วย
ชนิดของการจัดนิทรรศการ
[แก้]สำนักนิทรรศการระหว่างประเทศกำหนดให้การรับรองการจัดนิทรรศการระหว่างประเทศ ลักษณะต่าง ๆ แบ่ง เป็น 2 ประเภท ได้แก่
- งานนิทรรศการระหว่างประเทศประเภทจดทะเบียน (อังกฤษ: International Registered Exhibition) หรืองานมหกรรมโลก (อังกฤษ: World Expo) ซึ่งต้องมีคุณลักษณะ คือ
จัดงานทุกห้าปี (จัดห่างกันอย่างน้อย 5 ปี) ระยะเวลาจัดงานไม่เกิน 6 เดือน ไม่กำหนดขนาดพื้นที่จัดงาน แนวคิดในการจัดงาน : ทั่วไป
- งานมหกรรมระหว่างประเทศประเภทการรับรอง (อังกฤษ: International Recognized Exhibition) ซึ่งต้องมีคุณลักษณะ คือ
จัดงานในระหว่างการจัดงานนิทรรศการระหว่างประเทศประเภทจดทะเบียน ระยะเวลาจัดงานไม่เกิน 3 เดือน ขนาดพื้นที่จัดงานไม่เกิน 25 เฮกเตอร์ แนวคิดในการจัดงาน : เฉพาะเจาะจง
ปัจจุบัน สำนักนิทรรศการระหว่างประเทศให้การรับรองการจัดงานแสดงพืชสวนระหว่างประเทศ ซึ่งสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (อังกฤษ: The International Association of Horticultural Producers; ย่อ:AIPH) ให้การรับรอง เฃ่น the Natherlands Floriade 2002 และ IGA 2003 Rostock, Germany เป็นต้น และให้การรับรองการจัดแสดงนิทรรศการระหว่างประเทศด้านศิลปการออกแบบ (อังกฤษ: Milan Tri-annual Exhibition of Decorative Arts and Modern Architecture) ด้วย
ความสำเร็จจากการจัดงาน
[แก้]ในการจัดงานแสดงนิทรรศการแต่ละครั้ง จะมีที่ระลึกของความสำเร็จในการจัดงานแต่ละครั้ง เช่น งานแสดงนิทรรศการระหว่างประเทศที่เมืองซาราโกซา มีการก่อสร้างและพัฒนาเมืองซาราโกซาเป็นศูนย์กลางการจัดการทรัพยากรน้ำขององค์การสหประชาชาติ และมีการสรุปข้อเสนอเป็น กฎบัตรซาราโกซา
ประเทศไทยกับการจัดนิทรรศการระหว่างประเทศ
[แก้]ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2536 (ค.ศ. 1993) กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานพาณิชย์ไทยในต่างประเทศ ณ กรุงปารีส เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมและประสานงานด้านต่าง ๆ กับ BIE ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยได้รับเลือกให้เข้าร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการสารสนเทศและการสื่อสาร ในปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997)
งานมหกรรมพืชสวนโลก
[แก้]งานมหกรรมพืชสวนโลก (อังกฤษ: Horticultural International Expositions) ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก (อังกฤษ: Horticultural International Expositions) จังหวัดเชียงใหม่ หรือ มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 โดยมีแนวคิด คือ "To Express the Love for Humanity" (เพื่อนำความรักสู่มวลมนุษยชาติ) จัดแสดงระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2550 โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลัก กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยดำเนินงานหลักร่วมกับสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวง ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
งานแสดงนิทรรศการระหว่างประเทศ
[แก้]ประเทศไทยเข้าร่วมการจัดงานแสดงนิทรรศการระหว่างประเทศ (อังกฤษ: International Expositions) ได้แก่
ประเภทจดทะเบียน
[แก้]- งานแสดงนิทรรศการระหว่างประเทศที่เมืองฮันโนเฟอร์ สาธารณรัฐเยอรมนี ในปี พ.ศ. 2543 (อังกฤษ: Universal Exhibition Hannover 2000) หรือ (อังกฤษ: The Hanover World Exposition 2000) โดยมีแนวคิดหลัก คือ "Humankind, Nature, Technology – a new world arising" จัดแสดงระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2543 รัฐบาลไทยมอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลัก
- งานแสดงนิทรรศการโลกที่เมืองไอจิ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2548 (อังกฤษ: The 2005 World Exposition, Aichi, Japan) โดยมีแนวคิดหลัก คือ "Nature's Wisdom" จัดแสดงระหว่างวันที่ 25 มีนาคม ถึงวันที่ 25 กันยายน 2548 รัฐบาลไทยมอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลัก และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยดำเนินงานหลัก ทั้งนี้ มอบหมายให้นายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้อำนวยการใหญ่ และนายโสฬส ขันธ์เครือ เป็นผู้อำนวยการศาลาไทย
- งานมหกรรมโลกที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ในปี พ.ศ. 2553 โดยมีแนวคิดหลัก คือ "Better City, Better Life" จัดแสดงระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2553 รัฐบาลไทยมอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานหลัก ทั้งนี้ มอบหมายให้นางกานดา วัชราภัย รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้อำนวยการใหญ่
ประเภทรับรอง
[แก้]- งานแสดงนิทรรศการระหว่างประเทศที่เมืองเซวิญา ราชอาณาจักรสเปน ในปี พ.ศ. 2535 (อังกฤษ: The Seville World Exposition 1992) โดยมีแนวคิดหลัก คือ "The Birth of a New World" จัดแสดงระหว่างวันที่ 20 เมษายน ถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2535
- งานแสดงนิทรรศการระหว่างประเทศที่เมืองซาราโกซา ราชอาณาจักรสเปน ในปี พ.ศ. 2551 (อังกฤษ: Expo Zaragoza 2008) หรือ อังกฤษ: International Exposition of Zaragoza, Spain 2008) โดยมีแนวคิดหลัก คือ "น้ำและการพัฒนาที่ยั่งยืน" (อังกฤษ: Water and Sustainable Development) และแนวคิดหลักของนิทรรศการศาลาไทย คือ น้ำ คือ ชีวิต - โครงการตามพระราชดำริ (Water is Life - Royal Initiatives) จัดระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน ถึงวันที่ 14 กันยายน 2551 รัฐบาลไทยมอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลัก และกรมทรัพยากรน้ำเป็นหน่วยดำเนินงานหลัก ทั้งนี้ มอบหมายให้นายอดิศักดิ์ ทองไข่มุกต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้อำนวยการใหญ่ นายสุภณ สดสุ่น เป็นผู้อำนวยการศาลาไทยฝ่ายอำนวยการ และ นางสาวดวงใจ ศรีธวัชชัย เป็นผู้อำนวยการศาลาไทยฝ่ายวิชาการ ความสำเร็จในการจัดงานของไทย คือ นิทรรศการศาลาไทยได้รับรางวัลดีเด่นในการจัดนิทรรศการขนาดเล็ก (ไม่เกิน 500 ตารางเมตร) ด้านเนื้อหา
จัดระหว่างวันที่ 12 พฤษภาคม ถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2555 รัฐบาลไทยมอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลัก และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยดำเนินงานหลัก ทั้งนี้ มอบหมายให้อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นผู้อำนวยการใหญ่ นายบำรุงศักดิ์ ฉัตรอนันทเวช เป็นผู้อำนวยการศาลาไทย
งานแสดงนิทรรศการระหว่างประเทศที่กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ในปี พ.ศ. 2560
จัดระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน ถึงวันที่ 10 กันยายน 2560 มีแนวคิดหลัก คือ "พลังงานในอนาคต" (อังกฤษ: Future Energy) รัฐบาลไทยมอบให้กระทรวงพลังงาน เป็นหน่วยงานหลัก เสนอแนวคิดหลักของนิทรรศการศาลาไทย คือ การลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยใช้พลังงานชีวภาพ (อังกฤษ: Bio-energy for all)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "จบครบ Expo 2020". MCOT. 2020-02-11.
- ↑ "งานเอ็กซ์โป (World Expo) คืออะไร?". Dr Non (ดร. นนท์). 2022-02-12.
- ↑ "Expo 2020: คู่มือฉบับครบจบที่นี่". Non-Smart City. 2022-02-09.