สาพรมตีอาศรม
ห้องหฤทัยกูนจ์ (Hridaya Kunj) | |
ชื่อเดิม | พิพิธภัณฑ์คานธีระลึก (Gandhi Memorial Museum), คานธีสมารักสังครหาลัย (Gandhi Smarak Sangralaya) |
---|---|
ก่อตั้ง | 10 พฤษภาคม 1963 (เปิดในฐานะพิพิธภัณฑ์) |
ที่ตั้ง | สารพรมตี อะห์มดาบาด รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย |
พิกัดภูมิศาสตร์ | 23°03′36″N 72°34′51″E / 23.06000°N 72.58083°E |
ประเภท | อนุสรณ์สถาน |
ผู้ก่อตั้ง | มหาตมา คานธี |
สถาปนิก | ชาลส์ คอเรีย (ส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์) |
เว็บไซต์ | www |
สาพรมตีอาศรม (อักษรโรมัน: Sabarmati Ashram) หรือชื่ออื่น ๆ คานธีอาศรม (อักษรโรมัน: Gandhi Ashram), หริชนอาศรม (อักษรโรมัน: Harijan Ashram) หรือ สัตยาเคราะห์อาศรม (อักษรโรมัน: Satyagraha Ashram) ตั้งอยู่ในย่านสาพรมตี เมืองอะห์มดาบาด รัฐคุชราต บนถนนอาศรม ริมแม่น้ำสาพรมตี สาพรมตีอาศรมเป็นหนึ่งในที่อยู่อาศัยของมหาตมา คานธี ควบคู่กับเสวครามในวรรธะ รัฐมหาราษฏระ ในช่วงที่คานธีไม่ได้เดินทางไปมาหาสู่ในประเทศ หรือกำลังถูกจองจำ[1] คานธีอาศัยในสาพรมตีกับวรรธะเป็นเวลารวม 12 ปีร่วมกับภรรยา กัสตูรพา คานธี และผู้ติดตาม เช่น วิโนพพ ภเว มีการขับกล่าวบทภควัตคีตา ที่นี่ทุกวันเป็นส่วนหนึ่งของตารางเวลาอาศรม สาพรมตีอาศรมยังเป็นฐานในการเริ่มการเดินขบวนทาณฑี ที่ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นการสัตยาเคราะห์เกลืออันโด่งดัง
ในวันที่ 12 มีนาคม 1930 รัฐบาลอินเดียได้ประกาศให้อาศรมนี้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติ (national monument) ด้วยความสำคัญที่ได้มีต่อขบวนการเรียกร้องเอกราชผ่านการสัตยาเคราะห์เกลือ
ประวัติศาสตร์
[แก้]อาศรมดั้งเดิมของคานธีนั้นตั้งอยู่ที่โกจรัพอาศรม ของชีวันลาล เทสาอี (Jivanlal Desai) เมื่อ 25 พฤษภาคม 1915 ในเวลานั้นอาศรมนั้นมีชื่ออีกชื่อว่าสัตยาเคราะห์อาศรม แต่ด้วยคานธีมีประสงค์ที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการทำเกษตรและปศุสัตว์ จึงทำให้คานธีประสงค์ที่จะมีอาศรมที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่านี้ สองปีถัดมา เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 1917 คานธีจึงได้ย้ายอาศรมไปยังพื้นที่ 36 เอเคอร์บนริมฝั่งแม่น้ำสาพรมตี และกลายมาเป็นสาพรมตีอาศรมที่รู้จักกันในปัจจุบัน และเป็นที่เชื่อกันว่าที่นี่เคยเป็นหนึ่งในอาศรมโบราณของฤษีทธิจี
อาศรมหลักของคานธีตั้งอยู่ที่ไนมิศรันยะ ใกล้กับลัคเนา รัฐอุตตรประเทศ สาพรมตีอาศรมตั้งอยู่ระหว่างคุกแห่งหนึ่งและฌาปนสถานแห่งหนึ่ง คานธีเชื่อว่าสัตยาเคราะห์จะอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง ท่านเคยกล่าวว่า "ที่นี่ (สาพรมตีอาศรม) เป็นที่ที่ใช่สำหรับกิจกรรมทั้งหลายของผองเราที่จะออกตามหาความจริงและสร้างความไม่หวาดกลัว อันเนื่องด้วยฝั่งหนึ่งของเราเป็นตะบองเหล็กกล้าของพวกต่างชาติ ขณะที่อีกฝั่งเป็นสายฟ้าฟาดจากมารดาธรรมชาติของเรา" ("This is the right place for our activities to carry on the search for truth and develop fearlessness, for on one side are the iron bolts of the foreigners, and on the other the thunderbolts of Mother Nature.")
ขณะที่อยู่ที่อาศรม คานธีได้ตั้งโรงเรียนอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นไปที่การใช้แรงงาน, เกษตรกรรม และการอ่านเขียน เพื่อพัฒนาความพยายามในการสร้างให้เกิดชาติที่พึ่งพาตนเองได้ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 1930 มหาตมะคานธีได้ออกเดินขบวนจากที่นี่ไปยังทาณฑี (Dandi) ระยะทาง 241 ไมล์ พร้อมผู้ติดตาม 78 คน เพื่อประท้วงภาษีเกลือของบริเตน ซึ่งเพิ่มภาษีในการซื้อเกลืออินเดีย เพื่อให้คนหันมาซื้อเกลืออังกฤษที่ถูกกว่า ทั้งการเดินขบวนนี้และกิจกรรมผลิตเกลืออย่างผิดกฏหมาย (โดยการต้มน้ำเกลือให้ได้เกลือ) ได้ปลุกระดมพังมวลชนทั่วทั้งอินเดียให้ออกมาดื้อแพ่งต่อกฏหมายภาษีเกลือ การกระทำนี้ส่งผลให้รัฐบาลบริติชราชจับตัวคนอินเดียกว่า 60,000 คนเข้าคุมขังในคุกภายในระยะเวลาสามสัปดาห์ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้สั่งยึดสาพรมตีอาศรมของคานธีเช่นกัน คานธีได้ร้องขอให้รัฐบาลมอบคืนแต่ไม่สำเร็จ คานธีจึงตัดสินใจละทิ้งอาศรมนี้ไปในวันที่ 22 กรกฎาคม 1933 ประกอบด้วยผู้คนส่วนมากของอาศรมได้ถูกจับโดยรัฐบาลไปแล้ว หลังคานธีได้จากอาศรมนี้ไป ชาวบ้านในบริเวณได้เข้ามาดูแลอาศรมนี้แทน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 1930 คานธีได้ประกาศว่าท่านจะไม่กลับมายังอาศรมนี้อีกตราบที่อินเดียยังไม่ได้รับเอกราช[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Ashram introduction". www.gandhiashramsevagram.org. Sevagram Gandhi Ashram. สืบค้นเมื่อ 29 October 2018.
- ↑ Gandhi, Mohandas. "Gandhi Ashram Official Website".