ข้ามไปเนื้อหา

สัพพาสวสังวรสูตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สัพพาสวสังวรสูตร เป็นพระสูตรใน พระสุตตันตปิฎก หมวดมัชฌิมนิกาย หมวดย่อยมูลปัณณาสก์ และอยู่ในวรรคที่ชื่อ มูลปริยายวรรค สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี โดยทรงแสดงต่อภิกษุทั้งหลายว่าด้วยการสำรวมระวังอาสวะทุกชนิด โดยมี 7 หลักการใหญ่ คืออาสวะที่พึงละได้ด้วย 1. การเห็น 2. การสำรวมระวัง 3. การส้องเสพ 4. การอดทน 5. การงดเว้น 6. การบรรเทา และ 7. การอบรม [1]

เนื้อหา

[แก้]

โดยสังเขป สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ทรงแสดงหนทางแห่งการขจัดสิ้นไปแห่งอาสวะ แก่ภิกษุผู้รู้วิธีโยนิโสมนสิการและอโยนิโสมนสิการ หรือการพิจารณาโดยแยบคาย และไม่แยบคาย เพราะทรงตรัสว่า หากภิกษุใดมนสิการ หรือพิจารณาโดยไม่แยบคายแล้ว อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญขึ้น ๆ ไปอีก [2]

จากนั้น ทรงตรัสว่า เหตุเพราะไม่ได้เห็นพระอริยะ และไม่ได้รับการแนะนำทำให้ไม่รู้สิ่งควร และสิ่งไม่ควรมนสิการ (พิจารณา) ปุถุชนจึงยังมีทิฏฐิในความเป็นเรา เป็นของเรา ย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ [3] แล้วทรงพรรณนาถึงแนวทางแห่งการละอาสวะนั้น โดย 7 อย่าง โดยสังเขปดังนี้

  1. อาสวะที่ละได้ด้วยทัสสนะ หรือการเห็น คือการเห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย และได้รับการแนะนำ ทำให้รู้สิ่งควร และสิ่งไม่ควรมนสิการ ครั้นอริยสาวกได้ทำมนสิการ หรือพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมละสังโยชน์ 3 คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสได้ [4]
  2. อาสวะที่ละได้เพราะสังวร หรือการสำรวมระวัง คือเมื่อภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว สำรวมในอินทรีย์ 6 มีตา เป็นต้น อาสวะ และความเร่าร้อน ที่ยังให้เกิดความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้นผู้สำรวมอยู่ อย่างนี้ [5]
  3. อาสวะที่ละได้เพราะการพิจารณาการส้องเสพ กลาาวคือ เมื่อภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพปัจจัย 4 อาสวะและความเร่าร้อนอัน กระทำความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้พิจารณาแล้วเสพอยู่อย่างนี้ [6]
  4. อาสวะที่ละได้ด้วยความอดกลั้น หรือการอดทน กล่าวคือ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จะเป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว กระหาย สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลมแดด และสัตว์เลื้อยคลาน อดกลั้นต่อคำที่ผู้อื่น กล่าวชั่ว ต่อเวทนาอันอาจพร่าชีวิตได้ อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำ ความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้นผู้อดกลั้นอยู่อย่างนี้ [7]
  5. อาสวะที่ละได้เพราะการเว้น คือ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว หลีกหนีอันตราย มีช้าง ม้า งู มิตรชั่ว และสถานที่มิใช่โคจร อาสวะ และความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้เว้นรอบอยู่อย่างนี้ [8]
  6. อาสวะที่ละได้เพราะการบรรเทา กล่าวคือ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว อดกลั้น ละบรรเทาซึ่งกามวิตก พยาบาท วิตก วิหิงสาวิตก (ความคิดในความเบียดเบียน) ธรรมที่บาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญให้ถึงความไม่มี อาสวะ และความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้น ย่อมไม่มี แก่ภิกษุนั้นผู้บรรเทาอยู่อย่างนี้ [9]
  7. อาสวะที่ละได้เพราะการอบรม กล่าวคือ เมื่อภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญโพชฌงค์ 7 (องค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้) อันอาศัยความสงัด ความปราศจากราคะ ความดับ อาสวะ และความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้น ย่อมไม่มี แก่ภิกษุนั้น ผู้อบรมอยู่อย่างนี้ [10]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550) หน้า 206
  2. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, สัพพาสวสังวรสูตร หน้า 138
  3. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, สัพพาสวสังวรสูตร หน้า 141
  4. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, สัพพาสวสังวรสูตร หน้า 141
  5. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, สัพพาสวสังวรสูตร หน้า 142
  6. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, สัพพาสวสังวรสูตร หน้า 143
  7. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, สัพพาสวสังวรสูตร หน้า 144
  8. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, สัพพาสวสังวรสูตร หน้า 145
  9. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, สัพพาสวสังวรสูตร หน้า 145
  10. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, สัพพาสวสังวรสูตร หน้า 146

บรรณานุกรม

[แก้]
  • พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, สัพพาสวสังวรสูตร
  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพมหานคร. กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.

ตัวบท

[แก้]
  • สัพพาสวสังวรสูตร (ภาษาไทย)

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=238&Z=384

  • Sabbasava Sutta: All the Fermentations (ภาษาอังกฤษ)

http://www.accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.002.than.html