สัตว์ร้ายแห่งเฌโวด็อง
ภาพวาดหนึ่งในบรรดาสัตว์ร้ายแห่งเฌโวด็อง ตามมโนทัศน์ของจิตรกร อา.แอฟ แห่งอาล็องซง (A.F. of Alençon) สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 | |
สัตว์ | |
---|---|
กลุ่ม | สุนัขป่า หรือ สัตว์ข้ามพันธุ์ระหว่างสุนัขป่ากับสุนัขบ้าน |
ข้อมูล | |
พบเห็นครั้งแรก | ค.ศ. 1764 |
ประเทศ | ฝรั่งเศส |
ภูมิภาค | เฌโวด็อง (ปัจจุบันคือ โลแซร์) |
สัตว์ร้ายแห่งเฌโวด็อง (ฝรั่งเศส: La Bête du Gévaudan; สัทอักษรสากล: [la bɜt dy ʒevɔdɑ̃]) เป็นชื่อเรียกสัตว์กินคนกลุ่มหนึ่ง รูปลักษณ์อย่างสุนัขป่า และว่ากันว่าคุกคามผู้คนในมณฑลเฌโวด็อง (ปัจจุบันคือ จังหวัดโลแซร์ (Lozère)) แถบเขามาร์เฌอรีด์ (Margeride) ทางตอนกลางของภาคใต้ประเทศฝรั่งเศส ในระหว่าง ค.ศ. 1764 ถึง 1767[1] ประจักษ์พยานจำนวนมากให้การตรงกันว่า สัตว์ร้ายเหล่านี้มีเขี้ยวอันน่ากลัว มีเล็บอันกว้างยาว มีขนสีแดง และมีร่างกายอันส่งกลิ่นเน่าเหม็นเหลือใจ สัตว์ทั้งนี้ฆ่าเหยื่อโดยใช้เขี้ยวขบแหวะลำคอ ส่วนจำนวนเหยื่อนั้นต่างกันไปตามแต่แหล่งข้อมูล เช่น นักวิชาการชื่อ เดอ โบฟอร์ (De Beaufort) ประเมินว่า สัตว์ร้ายฝูงนี้โจมตีผู้คนถึงสองร้อยสิบครั้ง ฆ่าคนไปหนึ่งร้อยสิบสามคน และทำร้ายผู้คนไปอีกสี่สิบเก้าคน โดยในจำนวนผู้ตายหรือถูกทำร้ายนี้ เก้าสิบแปดคนถูกกินร่างกายหรืออวัยวะบางส่วน[1] รัฐบาลจึงจัดกองกำลัง ประกอบทั้งฝ่ายทหารฝ่ายพลเรือน ข้าราชการชั้นสูงชั้นรอง เชื้อพระวงศ์ และทรัพยากรทรงแสนยานุภาพจำนวนมาก ออกล่าสัตว์ดังกล่าว[1] เรื่องราวของสัตว์เหล่านี้ต่อมากลายเป็นหัวข้อยอดนิยมในวิชาการสัตว์ลึกลับ (cryptozoology)
ประวัติ
[แก้]สัตว์ร้ายตัวแรก
[แก้]การโจมตีครั้งแรกที่ทำให้ผู้คนพบเห็นสัตว์ร้ายเหล่านี้ มีขึ้นในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1764 โดยหญิงชาวเมืองล็องฌ็อช (Langogne) คนหนึ่ง เผชิญสัตว์ร้ายกายมหึมาตัวหนึ่ง รูปร่างอย่างสุนัขป่า ที่โผล่จากแมกไม้ และเข้าจู่โจมเธอโดยตรง แต่เมื่อฝูงวัวในนาแล่นตรงเข้ามา สัตว์ร้ายนั้นก็ผละหนีไป
วันที่ 30 มิถุนายน ฌัน บูเลต์ (Jeanne Boulet) เด็กหญิงวัยสิบสี่ปี กลายเป็นเหยื่ออย่างเป็นทางการรายแรกของสัตว์ร้ายนี้ เธอถูกฆ่าใกล้หมู่บ้านเลซูบัก (Les Hubacs) ไม่ใกล้ไม่ไกลจากเมืองล็องฌ็อช
ดูเหมือนว่าสัตว์ร้ายฝูงดังกล่าวมุ่งทำร้ายคนยิ่งกว่าปศุสัตว์ เพราะหลายคราที่พวกมันโจมตีคน ทั้ง ๆ ที่มีสัตว์มากมายอยู่ถิ่นแถวใกล้เคียง
ครั้นวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1765 ฌัก ปอร์เตอเฟ (Jacques Portefaix) กับเพื่อนอีกหกคน ซึ่งเป็นหญิงสองคน ถูกสัตว์ร้ายนั้นโจมตี พวกเขาขับมันไปโดยรวมตัวกันไว้ไม่ห่าง ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 จึงพระราชทานเงินให้ปอร์เตอเฟจำนวนสามร้อยลีฟวร์ และอีกสามร้อยลีฟวร์ให้ไปแบ่งกันในบรรดาหกคนที่เหลือ พระองค์ยังโปรดอุปถัมภ์การศึกษาเล่าเรียนของปอร์เตอเฟด้วย เมื่อสนพระทัยในเรื่องสัตว์นี้แล้ว พระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้าก็โปรดให้นักล่าสุนัขป่ามืออาชีพ ได้แก่ ฌ็อง ชาลส์ มาร์ก อ็องตวน โวแมสล์ ด็องเนอวาล (Jean Charles Marc Antoine Vaumesle d'Enneval) กับลูก คือ ฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ชาลส์ มาร์ก อ็องตวน โวแมสล์ ด็องเนอวาล (Jean-François Charles Marc Antoine Vaumesle d'Enneval) ไปจัดการสัตว์พวกนี้ สองพ่อลูกไปถึงเมืองแกลร์มงต์-แฟร์ร็องด์ (Clermont-Ferrand) เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1765 โดยพาสุนัขบลัดฮาวด์ที่ได้รับการฝึกให้ล่าสุนัขป่าไปด้วยจำนวนหนึ่ง พวกเขาใช้เวลาหกเดือนฆ่าสุนัขป่าไปเป็นอันมากด้วยเชื่อว่าเป็นสัตว์ร้ายที่กล่าวขวัญ อย่างไรก็ดี การโจมตียังมีอยู่สืบไป รัฐบาลจึงให้ ฟร็องซัวส์ อ็องตวน (François Antoine) (ซึ่งมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็น อ็องตวน เดอ โบแตร์น (Antoine de Beauterne)) พร้อมกองพลอาวุธครบครัน ออกไปแทนในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1765 ฟร็องซัวส์ อ็องตวนผู้นี้เป็นเจ้าพนักงานรักษาพระแสงปืนยาวฮาร์เกอบุส (harquebus) เขาเดินทางถึงเมืองเลอมาลซีเยอ (Le Malzieu) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน
วันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1765 อ็องตวนเผชิญหน้ากับสุนัขป่ากายเขื่องสีเทา สูงแปดสิบเซนติเมตร ยาวหนึ่งเมตรกับอีกเจ็ดเซนติเมตร และหนักหกสิบกิโลกรัม บริเวณป่าใกล้เคียงกับวัดแห่งชาส (Abbaye des Chazes) เขาได้สังหารมัน และสุนัขป่าตัวนั้นต่อมาได้นามว่า “สุขัขป่าแห่งชาส” (Le Loup de Chazes) อ็องตวนแถลงอย่างเป็นทางการว่า “ด้วยรายงานอันเราได้ลงลายมือชื่อแล้วฉบับนี้ เราขอประกาศว่า เรามิเคยประสบสุนัขป่ากายใหญ่โตถึงเพียงนี้มาก่อน นี้จึงเป็นเหตุผลที่เราเชื่อว่า มันเป็นอ้ายเดรัจฉานอันสยองขวัญยิ่งนักซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายเป็นอันมากแก่ชาวเรา” เหยื่อที่รอดจากการโจมตีก็เชื่อว่าสุนัขป่าตัวนี้คือสัตว์ร้ายที่ร่ำลือกัน หลังจากได้เห็นแผลเป็นบนลำตัวของมัน อันเกิดจากการที่พวกเขาป้องกันตนเองจากมัน[1] ต่อมา สุนัขป่าตัวนี้ถูกชำแหละแล้วเข้ากระบวนการคงสภาพไว้ ก่อนส่งไปพระราชวังแวร์ซายส์ ที่ซึ่งราชสำนักเชิดชูว่าอ็องตวนเป็นวีรบุรุษ และพระมหากษัตริย์ก็พระราชทานเงินรางวัลจำนวนมากพร้อมบรรดาศักดิ์หลากหลายให้แก่เขา
สัตว์ร้ายตัวที่สอง
[แก้]ทว่า วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1765 มีสัตว์ร้ายอีกตัวปรากฏที่ตำบลลาแบสแซร์แซงต์มารี (la Besseyre Saint Mary) แล้วทำร้ายเด็กไปสองคน หลังจากวันนั้นก็มีผู้คนถูกทำร้ายล้มตายอีกเป็นอันมาก
ฌ็อง ชัสเต็ล (Jean Chastel) นักล่าสัตว์ท้องถิ่น จึงออกตามฆ่าสัตว์ร้ายตัวที่สองนี้ เขาพบมันแถวซ็อญโดฟวร์ (Sogne d'Auvers) และฆ่ามันเสียเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1767 เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ชันสูตรศพสัตว์ดังกล่าว พวกเขาผ่าท้องมัน แล้วพบซากศพมนุษย์เป็นอันมาก เมื่อสัตว์ตัวที่สองตายแล้วก็ไม่ปรากฏเหตุร้ายอีก [1]
นักเขียนรุ่นหลัง เช่น เชอวาลเลย์ (Chevalley) เอาไปแต่งเป็นนิยายว่า ชัสเต็ลฆ่ามันโดยใช้กระสุนเงินปลุกเสกที่ผลิตเอง[2] และมีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ชาสเต็ลฆ่าสัตว์ร้ายตัวที่สองขณะที่นั่งลงอ่านพระคัมภีร์แล้วสังวัธยายบทสวดพร้อมกับนักล่าคนอื่น ๆ บัดดล ปีศาจร้ายก็โผล่มาให้เห็น และจ้องมาที่ชาลเต็ล ชาลเต็ลผู้ท่องบทสวดเสร็จพอดีก็ยิงมันถึงแก่ความตาย เรื่องนี้มิใช่วิสัยสัตว์ดุร้ายทั่วไปที่จะจู่โจมทันทีและไม่จ้องดูเหยื่อเสียก่อน
รูปลักษณ์สัตว์ร้าย
[แก้]ในช่วงที่สัตว์ร้ายออกล่านั้น มีผู้คาดเดารูปลักษณ์ของมันไปต่าง ๆ นานา ตั้งแต่ว่ามันเป็นมนุษย์หมาป่า จนถึงเป็นสัตว์ที่ถูกพระผู้เป็นเจ้าสาปส่ง เจย์ เอ็ม สมิธ (Jay M. Smith) เขียนหนังสือ “อสุรกายแห่งเฌโวด็อง” (“Monsters of the Gévaudan”) ว่า ความตายที่เกิดทั้งหลายนั้นชะรอยจะเป็นผลงานของสัตว์เดรัจฉานจำพวกสุนัขป่าจำนวนหนึ่งหรือเป็นฝูง[3] ขณะที่ริชาร์ด เอช. ธอมป์สัน (Richard H. Thompson) เขียนหนังสือ “การล่าสุนัขป่าในฝรั่งเศสรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้า: สัตว์ร้ายแห่งเฌโวด็อง” ว่า เมื่อพิเคราะห์ลักษณะการโจมตีของสัตว์ดุร้ายหลาย ๆ ประเภทแล้ว ก็น่าเชื่อว่าสัตว์ร้ายที่ก่อเหตุนั้นเป็นสุนัขป่า[4]
แต่ก็มีผู้ร่ำลือว่า น่าจะเป็นสุนัขบ้าน หรือสัตว์ข้ามพันธุ์ระหว่างสุนัขป่ากับสุนัขบ้าน อ้างอิงขนาดร่างกายและสีสันของสัตว์ร้ายแห่งเฌโวด็อง[1] มิเชล ลูอี (Michel Louis) นักธรรมชาติวิทยาผู้เขียนหนังสือ “สัตว์ร้ายแห่งเฌโวด็อง: หมาป่าผิดตรงไหน” (“La bête du Gévaudan: L'innocence des loups”) สนับสนุนข้อนี้ ลูอีว่า ฌ็อง ชาสเต็ล เคยกล่าวว่าเห็นสุนัขบ้านพันธุ์มาสตีฟ (mastiff) ตัวใหญ่ สีแดง บ่อย ๆ ลูอีเชื่อว่าสุนัขบ้านพันธุ์นี้คือโคตรเหง้าของสัตว์ร้ายที่ก่อเหตุ เขากล่าวด้วยว่า ที่สัตว์ร้ายนี้ทนกระสุน ก็อาจเป็นเพราะมันสวมหนังสัตว์ เช่น หนังงูเหลือม เป็นเกราะ และที่มันสวมหนังสัตว์เช่นนี้ อาจเป็นคำอธิบายสำหรับสีกายอันประหลาดของมัน เขาไม่เชื่อว่าหมาในจะเป็นสัตว์ร้ายในเหตุการณ์ เพราะการชันสูตรสัตว์ร้ายที่ถูกฆ่าพบว่ามีเขี้ยวสี่สิบสองซี่ แต่หมาในมีเพียงสามสิบสี่ซี่[5]
นักวิทยาการสัตว์ลึกลับบางคนว่า สัตว์ร้ายแห่งเฌโวด็องอาจเป็นเผ่าพันธุ์วาฬเมโซไนคิด (Mesonychid) ที่เหลือรอดมาก็ได้ เพราะประจักษ์พยานบางคนว่ามันมีกีบ แทนที่จะมีอุ้งเล็บ และมันก็ใหญ่โตกว่าสุนัขป่าตามธรรมชาติด้วย[6]
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2009 ช่องฮิสตรีแชนเนล (History Channel) ออกอากาศสารคดี "มนุษย์หมาป่าตัวจริง" ("The Real Wolfman") โดยโต้แย้งว่า สัตว์ร้ายแห่งเฌโวด็องเป็นหมาในจากเอเชียพันธุ์หนึ่งที่บัดนี้สูญพันธุ์ไปแล้วในยุโรป[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "The Fear of Wolves: A Review of Wolf Attacks on Humans" (PDF). Norsk Institutt for Naturforskning. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-12-09. สืบค้นเมื่อ 2008-06-26.
- ↑ Jackson, Robert (1995). Witchcraft and the Occult. Devizes, Quintet Publishing. p. 25. ISBN 1853488887.
- ↑ Smith, Jay M. (2011). Monsters of the Gévaudan. Cambridge, Massachusetts: Harvard University Press. p. 6.
- ↑ Thompson, Richard H. (1991). Wolf-Hunting in France in the Reign of Louis XV: The Beast of the Gévaudan. p. 367. ISBN 0889467463.
- ↑ Louis, Michel (2001). La Bête Du Gévaudan - L'innocence Des Loups. Librairie Académique Perrin. ISBN 978-2-262-01739-2.
- ↑ Hall, Jamie (2007). "The Cryptid Zoo: Mesonychids in Cryptozoology". สืบค้นเมื่อ 2011-03-19.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ "The Real Wolfman". History Alive. ฤดูกาล 4. ตอน 16. History. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-03. สืบค้นเมื่อ 2009-10-29.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- La Bête du Gévaudan Website
- Dans l'Ombre de la Bête Website Includes a compendium of all publicly available historical documents about the Beast (in the original French)
- Robert Darnton, The Wolf Man’s Revenge, The New York Review of Books, June 9, 2011; review of Monsters of the Gévaudan: The Making of a Beast by Jay M. Smith (Harvard University Press, 2011).