สังคมนิยมประเทศเดียว
บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง |
สังคมนิยมประเทศเดียว (อังกฤษ: Socialism in One Country) เป็นทฤษฎีหลักในการดำเนินการนโยบายต่าง ๆ ในสมัยการเตรียมรุกแบบสังคมนิยม (New Socialist Offensive) ภายใต้การปกครองของ โจเซฟ สตาลิน แห่งสหภาพโซเวียต โดยมุ่งเปลี่ยนสหภาพโซเวียตจากการเป็นประเทศเกษตรกรรมมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม
สตาลินนั้นได้ขึ้นมามีอำนาจต่อจากเลนิน ซึ่งถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1924 สตาลินได้พัฒนาแนวนโยบายของเลนินออกไปเพื่อให้โซเวียตมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยใช้หลักสังคมนิยมประเทศเดียวนี้ ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายอยู่ร่วมกันโดยสันติ (Peaceful Co-Existence) เนื่องจากโซเวียตนั้นจะต้องมีความเข้มแข็งทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร เสียก่อนที่จะเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ไปสู่ประเทศอื่น ๆ และอาศัยจังหวะที่มหาอำนาจในยุโรปแตกแยกกันนี้ เร่งดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว เพื่อที่จะทำสหภาพโซเวียตให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม และกลายเป็นประเทศมหาอำนาจภายในเวลา 10 ปี
จะสังเกตได้ว่า สตาลินใช้คำว่า ‘สังคมนิยม’ แทนที่จะใช้คำว่า ‘คอมมิวนิสต์’ นั้นก็เพราะเกรงว่าจะไปขัดแย้งกับหลักการของคาร์ล มาร์กซ์ โดยสังคมนิยมต่างจากระบอบคอมมิวนิสต์ตรงที่
ลักษณะของเด่นระบบ คอมมิวนิสต์
- มีพรรคการเมืองพรรคเดียวในประเทศ
- ยึดหลักของมาร์กซ์ที่ว่า “จากทุกคนตามความสามารถ แด่ทุกคนตาม ความจำเป็น”
- ควบคุมการเลือกตั้งโดยเสนอแต่ชื่อบุคคลที่ต้องการให้เลือก
- ห้ามมีทรัพย์สินและที่ดินส่วนตัว
- เป็นปฏิปักษ์ต่อโลกเสรีและลัทธิทุนนิยม
- ห้ามเผยแพร่ศาสนา และต่อต้านผู้นับถือศาสนา
- รัฐควบคุมการค้าและอุตสาหกรรมทั้งหมด
- พรรคคอมมิวนิสต์มีอำนาจมากกว่าผู้บริหาร
ลักษณะเด่นของระบบ สังคมนิยม
- อาจมีหลายพรรคได้
- ได้เปลี่ยน ความจำเป็น เป็น ผลงาน เพราะต้องการให้คนขยันผลิตผลงานให้มาก
- มีการเลือกตั้งที่เสรีกว่า
- มีทรัพย์สินและที่ดินส่วนตัวได้บ้างตามจำนวนที่รัฐกำหนดไว้
- เป็นมิตรกับโลกเสรีได้
- ให้นับถือศาสนาได้
- ยอมให้มีการค้าส่วนบุคคลได้บ้าง และเอกชนมีโรงงานเล็ก ๆ
- ให้ผู้บริหารมีอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ และถูกควบคุมโดยรัฐสภา
จะเห็นได้ว่าหลังการปฏิวัติตุลาคม ค.ศ. 1917 รัสเซียพยายามใช้ระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ก็ใช้ได้ไม่เต็มที่ ต้องมีการปรับเป็นสังคมนิยมในหลาย ๆ กรณี ดังกล่าว นอกจากนั้น สตาลินยังได้ชักชวนให้ทุกคนต่อสู้เพื่อสร้างสังคมใหม่ ดังจะเห็นได้จากในสุนทรพจน์ของสตาลินนั้นได้ย้ำว่า “การไม่เร่งรีบจะทำให้เกิดความล่าช้าไม่ทันประเทศอื่น ผู้ที่ล่าช้าไม่ทันประเทศอื่นจะเป็นผู้แพ้ รัสเซียไม่ต้องการเป็นผู้แพ้ รัสเซียเคยแพ้มาแล้วเพราะเป็นประเทศล้าหลัง แพ้พวกข่านมงโกล นายพลตุรกี โปแลนด์และลิทัวเนีย แพ้พวกนายทุนอังกฤษและฝรั่งเศส แพ้พวกซามูไรญี่ปุ่น ทั้งนี้เพราะความล้าหลังของสหภาพโซเวียต ล้าหลังด้านการทหาร อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม รัสเซียล้าหลังชาติที่ก้าวหน้าเป็นเวลา 50 หรือ 100 ปี ฉะนั้น จะต้องตามให้ทันภายใน 10 ปี ถ้าเราตามไม่ทัน ชาติที่ก้าวหน้าจะทำลายเรา”
สตาลินได้เน้นหนักทางด้านการสร้างอุตสาหกรรมหนัก เช่น ผลิตเหล็ก และอาวุธ ฯลฯ และต้องการปฏิวัติการเกษตรให้เป็นระบบเดียวกันกับอุตสาหกรรม คือ ผลิตที่ละมาก ๆ ด้วยกรรมวิธีที่ทันสมัย โดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่เข้าช่วย
จากการที่สตาลินได้ดำเนินนโยบายที่ปฏิบัติตามหลักการสังคมนิยมประเทศเดียวนั้น ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ภายในประเทศ ดังนี้
- ด้านเกษตร ได้นำการเกษตรเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมโดยนารวมและนารัฐ มุ่งการผลิตขนาดใหญ่ที่ร่วมมือกันผลิตด้วยเครื่องมือส่วนกลางที่ทันสมัย มีการวางแผนที่รอบคอบ แต่เมื่อชาวนารวยไม่เห็นด้วยก็ใช้วิธีรุนแรงปราบปรามในระยะแรก ต่อเมื่อภัยสงครามจะคืบคลานเข้ามา สาตาลินจึงเริ่มผ่อนผันเอาใจชาวนาเพื่อเตรียมเป็นกำลังต่อสู้ในสงคราม อย่างไรก็ตาม เมื่อตอนที่ปราบปรามพวกชาวนารวยหรือคูลักนั้นก่อให้เกิดความเสียหายางการเกษตรอย่างมาก ดังนั้นจึงต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัว
- ผลดีของระบบนารวมจะปรากฏในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กล่าวคือ การที่ชาวนาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ทำงานร่วมมือกันอยู่แล้วนี้ เป็นการสะดวกที่จะร่วมกันรบและจัดเตรียมเสบียงรบ อาหารที่ผลิตได้มากก็ทำให้กองทัพมีแรง
- ด้านอุตสาหกรรม มีความเจริญก้าวหน้ามากเพราะสหภาพโซเวียตสามารถผลิตได้มาก และมีคู่แข่งน้อยเพราะเป็นขณะที่ทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่อย่างไรก็ดี กรรมกรยังมีสภาพความเป็นอยู่ที่เลวมาก คล้ายในอังกฤษสมัยเพิ่งปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ ๆ มีการให้แรงกระตุ้นโดยระบบให้รางวัล เช่น ประกาศชื่อผู้ทำลายสถิติในการผลิตบนกระดาสนประกาศของโรงงาน และแข่งขันทำลายสถิติระหว่างโรงงานด้วย ทำให้ในสมัยนั้นไม่มีกรรมกรว่างงานเลย มีแต่การขาดแรงงาน โดยเฉพาะพวกช่างเทคนิค ต้องทำไปเรียนรู้ไป แต่เรื่องคุณภาพก็ยังไม่ดีนัก เน้นกันที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ
- ด้านการเมือง มีการปกครองที่จัดเป็นระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarian State) ปกครองโดยพรรคเดียวคือพรรคคอมมิวนิสต์ และสตาลินในฐานะเลขาธิการพรรคที่มีอำนาจเด็ดขาดมาก ทั้งเพราะเขาทำการกวาดล้างผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเขาจนหมดสิ้น ซึ่งได้มีการกวาดล้างครั้งใหญ่ (The Great Purge) โดยสตาลินกวาดล้างสมาชิกโปลิตบุโรสมัยเลนินทั้งหมดยกเว้นตัวเอง ส่วนทรอตสกี ซึ่งอยู่ที่เม็กซิโกก็ถูกสังหารใน ค.ศ. 1940 โดยสันนิษฐานว่าสตาลินเป็นผู้บงการสาเหตุของการปราบปรามกวาดล้างนี้ คงเป็นเพราะสตาลินไม่ต้องการให้พวกคนเก่าของพรรคมาคัดค้าน เหลือแต่คนใหญ่ซึ่งอาวุโสน้อยกว่าเขา และเชื่อฟังเขา การกวาดล้างนี้มีผู้เปรียบเทียบว่าเหมือนสมัย Oprichnina ของพระเจ้าอีวานที่ 4
ข้อสังเกต การใช้หลักสังคมนิยมประเทศเดียวของสตาลินนี้ ทำให้สตาลินไม่ได้ทำตามหลักคอมมิวนิสต์ที่แท้จริง โดยเขาพยามยามดัดแปลงลัทธิคอมมิวนิสต์เดิม เพื่อให้ได้ผลดีในทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับปัจจุบัน แต่มันถือเป็นการทิ้งความเชื่อที่ว่า ต้องปฏิวัติโลกให้เป็นคอมมิวนิสต์
ถึงกระนั้นก็ตาม หลักการสังคมนิยมประเทศเดียว ก็ยังได้พัฒนา ขยายบริเวณออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเปลี่ยนนโยบายจาก Socialism in One Country เป็น Socialism in One Zone หรือการปฏิวัตินอกเขตสหภาพโซเวียต ซึ่งถือได้ว่าเป็นขั้นแรกของการปฏิวัติโลกด้วย