สะระหม่า
สะระหม่า คือเพลงประเภทหนึ่งของดนตรีไทยที่ใช้บรรเลงเฉพาะปี่ชวากับกลองแขกเท่านั้น คำว่า "สะ" หมายถึง "หนึ่ง" และ "ระหม่า" หมายถึง "จังหวะ" รวมกันจึงหมายถึง "หนึ่งจังหวะ"
สะระหม่าจัดเป็นเพลงเรื่อง คือประกอบด้วย 3 ทำนอง ได้แก่ สะระหม่า โยน และแปลง สมัยโบราณนิยมเล่นสะระหม่าในพิธีทางชลมารค[1]
สะระหม่าแบ่งเป็นสองประเภทคือ สะระหม่าไทย (หรือสะระหม่าใหญ่) และสะระหม่าแขก สะระหม่าไทยใช้ในงานมงคลเท่านั้น สะระหม่าแขกเป็นเพลงสำเนียงแขกชั้นเดียว ใช้ได้ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล สันนิษฐานว่าสะระหม่าแขกคงมีมาก่อน และไทยคงรับมาจากทางประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซีย ภายหลังไทยดัดแปลงมาเป็น "สะระหม่าไทย"
สะระหม่าไทยมีโครงสร้างที่ซับซ้อน ทั้งโครงสร้างของปี่ชวาและโครงสร้างของกลองแขก รวมถึงโครงสร้างของตัวเพลง เพลงหลักอยู่ 2 เพลง ได้แก่สะระหม่า และแปลง โดยมี "โยน" เป็นทำนองที่ใช้เชื่อมเพลง สำหรับการบรรเลงประกอบมวยไทย ใช้เพลงโยนในสะระหม่าไทยบรรเลงขณะไหว้ครูรำมวย และใช้เพลงแขกเจ้าเซ็นบรรเลง ในยกที่ 1 เท่านั้น ในยกต่อไป คือ ยกที่ 2 ถึงยกที่ 4 จึงใช้เพลงสำเนียงแขกอื่น ๆ ที่เหมาะสมมาบรรเลง ส่วนยกที่ 5 แต่เดิมใช้โยนแปลง ภายหลังเปลี่ยนมาใช้เพลงเชิดชั้นเดียว ในนาทีที่ 3 ของยกที่ 5 ซึ่งเป็นยกสุดท้าย ผู้เป่าปี่สามารถเลือกเพลงที่มีความเหมาะสมมาบรรเลงได้ กลองแขกจะตีหน้าทับเจ้าเซ็นเท่านั้น ยกเว้นเพลงโยนและเพลงเชิดชั้นเดียวที่กลองแขกใช้หน้าทับเฉพาะ[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กุลกานต์ โพธิปัญญา, มนัส แก้วบูชา. "รำไหว้ครูมวยไทย : ความหมาย ความเหมือนและความต่าง".
- ↑ พลณศักดิ์ ทรัพย์บางยาง ,ดุษฎี มีป้อม, และนพคุณ สุดประเสริฐ (มิถุนายน 2561). "แนววิธีการบรรเลงวงปี่ชวากลองแขกกับมวยไทยของสนามมวยเวทีราชดำเนิน" (PDF). วารสารพัฒนศิลป์วิชาการ. 2: 194.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)