สอน ศักดิ์เพชร
บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง |
สอน ศักดิ์เพชร |
---|
นายสอน ศักดิ์เพชร นักมวยชื่อดังคนหนึ่งของไชยา ที่เคยต่อสู้ไม่แพ้ไม่ชนะกับนายตู้ ไทยประเสริฐ ชาวบ้านพาไล จังหวัดนครราชสีมา น้องชายของ หมื่นชงัดเชิงชก (แดง ไทยประเสริฐ) ที่สนามมวยสวนกุหลาบ
จากคำบอกเล่าของนายบุญเทอด หรือบุญ ณ ไชยา ว่านายสอน ศักดิ์เพชร เกิดที่บ้านตำบลเวียง ได้เริ่มหัดมวยตั้งแต่ยังเด็ก เช่นเดียวกับเด็กอื่นของเมืองไชยา โดยเฉพาะที่บ้านเวียงนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นตำบลบ้านมวยยิ่งกว่าบ้านอื่นๆ นายสอนมีนิสัยซุกซนคึกคะนองและโลดโผนโจนทะยาน ในขั้นแรกก็ไม่ได้ฝึกหัดกับครู แต่ตำบลบ้านเวียงในสมัยนั้นมีมวยดีอยู่หลายคน นักมวยฝีมือเยี่ยมในสมัยโน้น อาจเทียบได้กับหัวหน้าคณะซึ่งผิดกับในสมัยปัจจุบันนี้ ตรงที่หัวหน้าคณะจะต้องจัดเจนด้วย เรียกว่านายกองมวย เตรียมตัวเป็นทหารป้องกันเขตแดน และรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หรืออย่างน้อยก็ในอำเภอหรือตำบลที่ตัวเองอยู่
เมื่อนายสอนรุ่นหนุ่ม และได้ฝึกหัดวิชามวยอย่างจริงจังกับนายกองมวยจนมีฝีมือเข้าขั้นแล้วก็เริ่มชกมวยคาดเชือกตามประเพณี ครั้งหนึ่งในชีวิตของนายสอน ศักดิ์เพชรนั้น ได้เป็นเหตุบังเอิญให้เด็กหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่อยู่ที่ตำบลเลม็ดอันเป็นตำบลที่ใกล้เคียงกัน ต้องทิ้งบ้านเพื่อหลบหน้าเพราะความอับอาย แต่กลับไปดีมีหน้ามีตาที่บ้านเมืองอื่น
เมื่อนายสอน มีอายุ 18-19 ปี ได้เปรียบคู่ชกมวยกับหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกันในงานประจำปี (ผู้เขียนต้องขอปิดนามเพื่อป้องกันกระทบกระเทือนจิตใจ) ผลลัพธ์ของการชกต่อยในวันนั้นคู่ชกของนายสอนต้องพ่ายแพ้ฝีมืออย่างยับเยินที่สุด ทำให้ผู้แพ้ไม่อยากอยู่ดูหน้าใครในอำเภอไชยาอีกต่อไป นี่ก็แสดงถึงอติมานของลูกผู้ชายที่ได้รับการฝึกหัดมวยอันเป็นมรดกมวยล้ำค่าของไทย เจ้าหนุ่มผู้แพ้จึงตัดสินใจออกเดินทางไปจังหวัดสงขลา เมืองดอกไม้งามของเมืองใต้ เด็กหนุ่มผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยเกียรติภูมิ ได้พยายามรับราชการเริ่มตั้งแต่ตำแหน่งเล็กๆจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนในเวลาต่อมา จึงนับได้ว่านายสอน ศักดิ์เพชร นักมวยชาวไชยาได้มีส่วนส่งเสริมท่านขุนสหภูมิเดียวกันอยู่บ้างเหมือนกัน เมื่อนายสอน ศักดิ์เพชร เติบโตขึ้น ความคึกคะนองก็เติบโตตามตัว ได้เที่ยวราวีมวยดีตามตำบลและอำเภอต่างๆของ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกือบทุกแห่งที่จัดให้มีการชกมวยและปราบใครต่อใคร จนเป็นที่เลื่องลือและครั่นคร้ามแก่นักมวยด้วยกันทางปักษ์ใต้ จนหาคู่ชกยากขึ้นทุกที ครั้นเมื่อทางกรุงเทพฯจัดให้ชกมวย โดยสรรหานักมวยจากหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ เพื่อเก็บเงินซื้อปืนให้กองเสือป่า ภายใต้การควบคุมของพระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี (แม็ก เศียรเสวี) ที่สนามบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นายสอนเป็นผู้หนึ่งที่ได้ถูกการคัดเลือกให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ พร้อมกับนักมวยไชยา พุมเรียงและสุราษฎร์ธานี ขณะนั้นนายสอน ศักดิ์เพชร มีอายุประมาณ 30 ปี (พ.ศ. 2464) พึงสังเกตว่าสมัยนั้นนักมวยอายุ 18 – 19 ปี เรียกว่าเป็นมวยเด็ก กว่าจะหาประสบการณ์ได้มากเพียงพอเข้ามาตรฐานก็อายุ 25 – 30 ปี ได้เปรียบคู่ครั้งแรกที่บริเวณสนามเสือป่า สวนดุสิต และได้คู่กับนายดำ นักมวยจากลพบุรี ซึ่งดูเหมือนจะมีความมั่นใจในชัยชนะมากไปสักหน่อย เพราะลักษณะท่าทางของนักมวยไชยาดูออกจะหงอยๆไม่น่ากลัว เหมือนนักมวยจากที่ราบสูง
ในการพันตูในครั้งนั้น นายดำรำวนเวียน เตรียมปล่อยหมัดตรงตามแบบฉบับมวยลพบุรี เขยิบเข้าหานายสอน ซึ่งยกตีนซ้ายทำทีให้คู่ชกเข้าใจว่าจะถีบ แต่กลับเหวี่ยงหมัดถูกแก้มนายดำอย่างถนัดถนี่ถึงกับเซแซดๆ แต่นายดำมิได้แสดงอาการว่าเจ็บแสบแต่ประการใด พอตั้งตัวได้ก็ขยิกเข้าหาอีกเพื่อแก้ลำ ทำความแปลกใจให้นายสอนไม่น้อย เพราะหมัดขวาที่เหวี่ยงออกไปของนายสอนเคยศักดิ์สิทธิ์ จึงนับได้ว่านายดำทรหดอดทนเอาการ ในขณะเดียวกันนายสอนก็ไม่ประมาท และไม่ละนาทีทอง กัดฟันเตรียมจดจ้อง คอยเก็งหมัดซ้ายขวาและตีนหน้าหลังตามอุปเท่ห์ “จะฉะสับพัง” ซึ่งครูบาอาจารย์ได้อบรมสั่งสอนมา หมายมั่นที่สำคัญตรงเบ้าตาใต้โหนกแก้ม ซ้าย “ฉะ”ฉาดเข้าตรงเป้าหมายพอดิบพอดี เป็นเหตุให้นายดำเซถลาอีกครั้งหนึ่ง ฉับพลันทันใดนายสอนก็ขยับเท้าก้าวหน้าป่ายแข้งซ้ายเข้าก้านคอ ยังผลให้นายดำซึ่งอาการงอก้อลงกับพื้นในครึ่งยกแรกนั่นเอง สร้างความตื่นตลึงพรึงเพริดให้แก่ผู้ดูในสมัยนั้น ขนาดกล่าวขวัญอยู่หลายวัน
เมื่อนายสอน ศักดิ์เพชร ได้รับเหรียญตราหัวเสือและสายสร้อยเงินคล้องคอเป็นที่ระลึกแล้วก็ชักมันเขี้ยว เพราะการต่อสู้ได้ยุติในเวลาอันรวดเร็วเกินไปยังไม่ทันเหงื่อซึม กรรมการเปรียบคู่มวยก็ตื่นเต้นที่ไม่คาดคิดว่ามวยไชยาท่าทางหงอยๆ หัวสั่นๆซึมเซื่อง จะมีฝีมือร้ายกาจถึงปานนั้น และด้วยเจตนารมณ์ที่จะเรียกคนดูจึงกำหนดให้นายสอนได้คู่มวยดีจากที่ราบสูง คือนายตู้ ไทยประเสริฐ ซึ่งเคยห้ำหั่นคู่ต่อสู้เป็นที่ประจักษ์มาแล้วเช่นกัน
การพันตูระหว่างนายสอน ศักดิ์เพชรกับนายตู้ ไทยประเสริฐ ในครั้งนั้นยังมีผู้จดจำติดหูติดตาอยู่หลายคน นายสอนค่อนข้างเสียเปรียบนายตู้อยู่เล็กน้อย แต่นายสอนก็ไม่ได้แยแสคอยใช้ศอกโต้ตีนนายตู้จนกระทั่งตัวเองศอกแตกเป็นแผลทั้งสองข้าง (มีแผลเป็นจนกระทั่งตาย) ส่วนนายตู้ก็มิได้เสียเลือดเนื้อให้นายสอนแม้แต่ยกเดียว เมื่อได้ห้ำหั่น (ดูเหมือน 9 ยก)จนต่างคนต่างอ่อนลงแล้ว กรรมการตัดสินให้เสมอกัน นายตู้รีบมากอดคอนายสอน พร้อมกับอุทานว่า “เต็มกิ่น” ฝ่ายนายสอนก็มองสำรวจตัวนายตู้อย่างแปลกใจที่ไม่มีรอยแตกเลย
ครั้งนั้นเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งได้ประทับทอดพระเนตรการต่อสู้ระหว่างมวยดีเมืองเหนือเมืองใต้ด้วยความพอพระทัยอย่างยิ่ง ได้ทรงพระเมตตาประทานผ้าห่มเพลาะ นอกจากผ้าเพลาะแล้วนายสอนยังได้รับหนังสือคุ้มครองที่ได้ประทานแก่นายนิล ปักษี และนายสอนได้เก็บของประทานทั้งสองสิ่งไว้จนกระทั่งผุเปื่อยเพราะกินตัว
นายสอน ศักดิ์เพชร ได้แต่งงานอยู่กินกับนางปราง ศักดิ์เพชร ซึ่งเป็นลูกสาวคนที่ 3 ของ หมื่นมวยมีชื่อ (ปลอง จำนงทอง) และมีทายาทสืบทอดกีฬามวยมาหลายคน โดยเฉพาะนายนาค นายปรีดา และ นายอารมณ์