ข้ามไปเนื้อหา

สหสมภพ ศรีสมวงศ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นายสหสมภพ ศรีสมวงศ์ เกิดที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสหสมภพ เดิมชื่อ สมภพ ศรีสมวงศ์ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น สหสมภพ ในปี พ.ศ. 2538

นายสหสมภพ ศรีสมวงศ์ เป็นโปรโมเตอร์และผู้จัดการนักมวยหลายราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักมวยสากล มีค่ายมวยเป็นของตนเองคือค่าย "ส.จิตรลดา" ซึ่งเป็นค่ายที่ฝึกสอนเฉพาะมวยสากลเพียงอย่างเดียว และเป็นผู้จัดการและผู้จัดการร่วมของนักมวยไทยหลายรายที่ได้เป็นแชมป์โลกจำนวนมาก เช่น พเยาว์ พูนธรัตน์, สด จิตรลดา, สามารถ พยัคฆ์อรุณ, นภา เกียรติวันชัย, สมาน ส.จาตุรงค์ เป็นต้น และเป็นผู้แทนของสภามวยโลก (WBC) ในประเทศไทยและเป็นผู้ก่อตั้งสภามวยแห่งเอเชีย (ABCO) ขึ้นมาด้วยในปี พ.ศ. 2542

โดยเริ่มต้นในวงการมวยด้วยการจัดมวยทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ร่วมกับ เทียมบุญ อินทรบุตร โปรโมเตอร์ชื่อดังในปี พ.ศ. 2513

ในทางสังคมและการเมือง นายสหสมภพเคยลงสมัครเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ประจำปี พ.ศ. 2540 ที่กรุงเทพมหานครด้วย แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง นอกจากนี้แล้วในปี พ.ศ. 2510 ยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 อีกด้วย [1]

นายสหสมภพ ศรีสมวงศ์ เสียชีวิตอย่างกะทันหันในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ด้วยอาการหัวใจวาย โดยได้เข้านอนในเวลากลางคืนและเสียชีวิตไปในระหว่างหลับ เมื่อภรรยาและลูกสาวขึ้นไปปลุกในตอนเช้าก็พบว่าเสียชีวิตแล้ว โดยตำแหน่งสุดท้ายนั้น นายสหสมภพเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมพิเศษของช่อง 7 อยู่ด้วย

เมื่อยังมีชีวิตอยู่ นายสหสมภพถือได้ว่าเป็นบุคคลที่นักมวยและบุคคลในวงการมวยให้การยอมรับ และนับถือเป็นอย่างมาก ด้วยความเป็นคนมีน้ำใจและไม่เอารัดเอาเปรียบใคร โดยมีรายการมวยชกเคลื่อนไหวประจำทุกวันพุธทุกกลางเดือน ชื่อรายการ "ศึกดาวรุ่งทีวีสี 7 มุ่งแชมเปี้ยนโลก" ทำการชกกันที่ลานเพลิน ช่อง 7 และมีการถ่ายทอดทางช่อง 7 ประจำ อีกทั้งในบางครั้งยังขึ้นเวทีให้น้ำและสอนนักมวยในระหว่างพักยกเหมือนกับเป็นเทรนเนอร์เสียเอง และในบางครั้งยังสามารถเสนอชื่อของนักมวยให้ติดอันดับของสภามวยโลกได้โดยยังไม่มีตัวตนของนักมวยรายนั้นอยู่เลยก็มี

นายสหสมภพ มีชื่อเล่นว่า อึ่ง จึงถูกเรียกกันจนติดปากว่า บิ๊กอึ่ง ในขณะที่นักมวยจะเรียกว่า คุณผู้ชาย เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว นายชัยวัฒน์ ศรีสมวงศ์ ลูกชายคนโตเป็นผู้ดูแลกิจการมวยแทนที่อยู่ช่วงหนึ่งก่อนที่จะถ่ายโอนมาเป็น พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ [2]

พิธีกร

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ช่อง 7 สี ทีวีเพื่อใคร?"[ลิงก์เสีย] จากนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2539
  2. "10 ปีแห่งความทรงจำ!!". ข่าวสด. 23 December 2010. สืบค้นเมื่อ 6 September 2014.