ข้ามไปเนื้อหา

สหการนิยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สหการนิยม, สหกรณ์นิยม หรือ ซินดิคัลลิสต์ (อังกฤษ: syndicalism) เป็นกระแสปฏิวัติภายในขบวนการแรงงาน ซึ่งผ่านสหภาพแรงงานอุตสาหกรรม มุ่งหวังที่จะรวมกลุ่มแรงงานตามอุตสาหกรรม และเรียกร้องความต้องการผ่านการนัดหยุดงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมปัจจัยการผลิตและเศรษฐกิจ โดยรวมผ่านความเป็นเจ้าของทางสังคม ขบวนการสหภาพแรงงานถูกพัฒนาขึ้นในฝรั่งเศสช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และมีอิทธิพลสูงสุดในขบวนการสังคมนิยมในสมัยระหว่างสงครามและก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะปะทุ

องค์กรณ์สหการนิยมที่สำคัญ ได้แก่ สมาพันธ์แรงงานสาธารณชน (CGT) ในประเทศฝรั่งเศส, สมาพันธ์กรรมกรแห่งชาติ (CNT) ในสเปน, สหภาพสหการนิยมอิตาลี (USI), สหภาพกรรมกรอิสระเยอรมนี (FAUD), และสหพันธ์แรงงานภูมิภาคอาร์เจนตินา (FORA) ส่วนคนงานอุตสาหกรรมแห่งโลก (IWW) (ชื่อเล่น "วอบบลี่ส์") สหภาพการขนส่งและแรงงานสาธารณชนไอร์แลนด์ (ITGWU) และสหภาพใหญ่เดียวแคนาดา (OBU) นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ถือว่าจัดอยู่ในกลุ่มกระแสนี้

การเดินขบวนโดยสหภาพสหการนิยมอาร์เจนตินา (FORA) ในปี ค.ศ. 1915

สมาคมแรงงานระหว่างประเทศ – International Workers' Association (IWA–AIT) ในสเปน, ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1922, เป็นสหพันธ์สหภาพแรงงานระหว่างประเทศของสหภาพแรงงานต่าง ๆ จากประเทศต่าง ๆ ในช่วงรุ่งเรือง เป็นตัวแทนของคนงานหลายล้านคน และเป็นคู่แข่งโดยตรงกับสหภาพแรงงานและพรรคการเมืองแนวประชาธิปไตยสังคมนิยมเพื่อครองใจชนชั้นแรงงาน องค์กรสหภาพแรงงานจำนวนหนึ่งยังคงเชื่อมโยงกับ IWA–AIT จนถึงทุกวันนี้ และองค์กรสมาชิกบางส่วนได้ออกเพื่อเข้าร่วมกับสมาพันธ์แรงงานนานาชาติ (ICL–CIT) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2018

ศัพท์บัญญัติ

[แก้]

สหการนิยม มีต้นกำเนิดมาจากภาษาฝรั่งเศส ในภาษาฝรั่งเศส Syndicat แปลความหมายว่าสหภาพแรงงาน ซึ่งโดยปกติจะเป็นสหภาพแรงงานท้องถิ่น คำยังคงสอดคล้องกันในภาษาสเปน และโปรตุเกสคือ Sindicato และในภาษาอิตาลีคือ Sindacato มีความคล้ายคลึงกัน โดยขยายความ สหภาพแรงงานฝรั่งเศสสื่อหมายความถึงสหภาพแรงงานโดยทั่วไป[1] แนวคิดเรื่อง Syndicalisme Révolutionnaire หรือสหภาพแรงงานปฏิวัติ ปรากฏขึ้นในวารสารสังคมนิยมฝรั่งเศสในปี 1903[2] และสมาพันธ์แรงงานสาธารณชน (Confédération générale du travail, CGT) ก็เริ่มใช้คำนี้เพื่ออธิบายลัทธิสหภาพแรงงานของตน สหภาพแรงงานปฏิวัติ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าสหภาพแรงงานที่มีนัยปฏิวัติ ได้รับการดัดแปลงให้เข้ากับภาษาต่าง ๆ มากมายโดยสหภาพแรงงานตามแบบของฝรั่งเศส[3][หมายเหตุ 1]

นักวิชาการหลายคน รวมถึง ราล์ฟ ดาร์ลิงตัน, มาร์เซล ฟาน เดอร์ ลินเดน และ เวย์น ธอร์ป นำลัทธิสหการนิยมไปใช้กับองค์กรหรือกระแสต่าง ๆ จำนวนหนึ่งภายในขบวนการแรงงานที่ไม่ได้ระบุตัวตนว่าเป็นสหภาพแรงงาน พวกเขาใช้คำนิยามเรียกกลุ่มสหภาพแรงงานใหญ่หรือสหภาพแรงงานภาคอุตสาหกรรมกลุ่มหนึ่งในอเมริกาเหนือและออสเตรเลีย กลุ่มลาร์กิน (ตั้งชื่อตามเจมส์ ลาร์กิน ผู้นำ ITGWU ชาวไอริช) ในไอร์แลนด์ และกลุ่มที่ระบุตัวตนว่าเป็นนักอุตสาหกรรมปฏิวัติ กลุ่มสหภาพแรงงานปฏิวัติ กลุ่มอนาธิปไตยสหภาพแรงงาน หรือกลุ่มสมาชิกสภา ซึ่งรวมถึงคนงานอุตสาหกรรมแห่งโลก (IWW) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งอ้างว่าสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมของตนเป็น “องค์กรแรงงานปฏิวัติประเภทที่สูงกว่าที่สหการนิยมเสนอ” แวน เดอร์ ลินเดนและธอร์ปใช้สหการนิยมเพื่ออ้างถึง "องค์กรปฏิวัติที่มุ่งเน้นการปฏิบัติโดยตรง" ดาร์ลิงตันเสนอว่าสหการนิยมควรถูกกำหนดให้เป็น "สหภาพแรงงานปฏิวัติ"[หมายเหตุ 2] เขาและแวน เดอร์ ลินเดนโต้แย้งว่า การรวบรวมองค์กรต่าง ๆ ที่หลากหลายเช่นนี้เข้าด้วยกันเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เนื่องจากรูปแบบการดำเนินการหรือแนวปฏิบัติที่คล้ายคลึงกันนั้นมีน้ำหนักมากกว่าความแตกต่างทางอุดมการณ์ขององค์กรเหล่านั้น[4]

คนอื่น ๆ เช่น แลร์รี ปีเตอร์สัน และเอริก โอลเซ่น ไม่เห็นด้วยกับคำจำกัดความกว้าง ๆ นี้ ตามที่โอลเซ่นกล่าว การเข้าใจความหมายเชิงนี้ "มีแนวโน้มที่จะทำให้ความแตกต่างระหว่างสหภาพแรงงานอุตสาหกรรม, สหการนิยม และสังคมนิยมปฏิวัติเลือนลางลง"[5] ปีเตอร์สันให้คำจำกัดความของสหการนิยมกำชัดยิ่งขึ้นโดยอิงตามเกณฑ์ห้าประการ:

  1. เลือกระบอบสหพันธรัฐเหนือกว่าระบบรวมศูนย์
  2. การต่อต้านพรรคการเมือง
  3. มองว่าการนัดหยุดงานทั่วไปเป็นเครื่องมืออาวุธปฏิวัติอันสูงสุด
  4. สนับสนุนการแทนที่รัฐด้วย “องค์กรเศรษฐกิจสังคมระดับสหพันธ์”
  5. เห็นสหภาพแรงงานเป็นพื้นฐานของสังคมหลังทุนนิยม

คำจำกัดความนี้ไม่รวม IWW และ สหภาพใหญ่เดียวแคนาดา (OBU) ซึ่งมุ่งที่จะรวมคนงานทั้งหมดไว้ในองค์กรเดียว ปีเตอร์สันเสนอขอบเขตของกลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมปฏิวัติในหมวดหมู่ที่กว้างขึ้นเพื่อรวมกลุ่มสหการนิยม และกลุ่มต่าง ๆ เช่น IWW และ OBU และอื่น ๆ

หลักการ

[แก้]

สหการนิยมมิได้มาจากทฤษฎีหรืออุดมการณ์ที่มีการเสริมรายละเอียดอย่างเป็นระบบอย่างเดียวกับที่นักลัทธิมากซ์ได้รับจากสังคมนิยม แม้ว่าการศึกษาของกรรมกรมีความสำคัญอยู่ต่อนักกิจกรรมที่ยึดมั่นบางส่วน แต่นักสหการนิยมไม่เชื่อใจปัญญาชนกระฎุมพี โดยต้องการคงการควบคุมของกรรมกรเหนือขบวนการ ความคิดของนักสหการนิยมมีการสาธยายในจุลสาร ใบปลิว สุนทรพจน์และในหนังสือพิมพ์ของขบวนการเอง งานเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยการเรียกร้องให้ลงมือและการอภิปรายยุทธวิธีในการต่อสู้ทางชนชั้น งานเรื่อง การสะท้อนเรื่องความรุนแรง ของนักปรัชญา ฌอร์ฌ โซแรล เผยแพร่ความคิดสหการนิยมต่อสาธารณชนในวงกว้าง

ขอบเขตว่าจุดยืนสหการนิยมสะท้อนถึงทัศนะของผู้นำ และพลพรรครับจุดยืนเหล่านั้นมากน้อยเพียงใดนั้นยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ นักประวัติศาสตร์ ปีเตอร์ สเติร์นส์ ออกความเห็นต่อสหการนิยมในฝรั่งเศส และสรุปว่ากรรมกรส่วนใหญ่ไม่รับเป้าหมายระยะยาวของสหการนิยม และว่าการใช้อำนาจครอบงำของสหการนิยม (syndicalist hegemony) เป็นเหตุให้ขบวนการกรรมกรฝรั่งเศสเติบโตค่อนข้างช้าในภาพรวม เขาอ้างว่ากรรมกรที่เข้าร่วมขบวนการสหการนิยมไม่ยินดียินร้ายต่อปัญหาเรื่องหลักนิยม สมาชิกภาพในองค์การสหการนิยมเป็นเรื่องบังเอิญเสียบางส่วน และผู้นำไม่สามารถชักจูงกรรมกรให้รับความคิดสหการนิยมได้ ฝ่ายนักรัฐศาสตร์ เฟร็ด ริดลีย์ มองว่า ผู้นำมีอิทธิพลมากในการร่างความคิดสหการนิยม แต่สหการนิยมไม่ใช่เพียงเครื่องมือของผู้นำไม่กี่คน แต่เป็นผลผลิตอย่างแท้จริงของขบวนการกรรมกรฝรั่งเศส ดาร์ลิงตัน เสริมว่า สมาชิกส่วนใหญ่ในสหภาพการขนส่งและแรงงานสาธารณชนไอร์แลนด์ (ITGWU) ไอร์แลนด์รับปรัชญาการปฏิบัติโดยตรงของสหภาพ เบิร์ต อัลเทน่า แย้งว่า แม้มีหลักฐานความเชื่อของกรรมกรทั่วไปน้อย แต่บ่งชี้ว่าพวกเขาตระหนักถึงข้อแตกต่างทางหลักนิยมระหว่างกระแสต่าง ๆ ในขบวนการกรรมกรและสามารถปกป้องทัศนะของพวกตนได้ เขาชี้ว่ากรรมกรน่าจะเข้าใจหนังสือพิมพ์สหการนิยมและถกเถียงประเด็นการเมืองได้

นักสหการนิยมเห็นด้วยกับการเรียกรัฐว่าเป็น "คณะกรรมการบริหารของชนชั้นปกครอง" ของคาร์ล มากซ์ โดยมองว่าระเบียบทางเศรษฐกิจของสังคมตัดสินระเบียบทางการเมือง และตัดสินว่าระเบียบเศรษฐกิจไม่สามารถโค่นได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงระเบียบการเมือง พวกเขามองว่าแวดวงเศรษฐกิจเป็นสนามหลักสำหรับการต่อสู้ด้านปฏิวัติ และการเข้าร่วมในการเมืองอาจเป็นได้อย่างมากก็เป็น "เสียงสะท้อน" ของการต่อสู้ทางอุตสาหกรรม พวกเขารู้สึกกังขาต่อการเมืองแบบรัฐสภา สหภาพแรงงานสหการนิยมประกาศตนว่าเป็นกลางทางการเมืองและปลอดจากการควบคุมของพรรคการเมือง โดยให้เหตุผลว่าพรรคการเมืองรวมกลุ่มคนตามทัศนะทางการเมือง ซึ่งประกอบด้วยคนหลายชนชั้น ส่วนสหภาพแรงงานเป็นองค์การของชนชั้นกรรมกรเท่านั้น ฉะนั้นจึงไม่แบ่งแยกด้วยเหตุผลทางการเมือง

นักสหการนิยมสนับสนุนการปฏิบัติโดยตรง รวมทั้งการทำงานให้พอตามกฎ (working to rule) การขัดขืนเงียบ การบ่อนทำลายและการนัดหยุดงาน โดยเฉพาะการนัดหยุดงานทั่วไปเป็นยุทธวิธีในการต่อสู้ทางชนชั้น แทนการปฏิบัติโดยอ้อมเช่นการเมืองแบบเลือกตั้ง นักสหการนิยมมองว่าขั้นสุดท้ายก่อนการปฏิวัติจะเป็นการนัดหยุดงานทั่วไป

นักสหการนิยมยังคงคลุมเครือในเรื่องสังคมที่จะเข้ามาแทนที่ทุนนิยม โดยอ้างว่าเป็นไปไม่ได้ในการพยากรณ์ในรายละเอียด สหภาพแรงงานถูกมองว่าเป็นตัวอ่อนของสังคมใหม่นอกเหนือจากเป็นวิธีการต่อสู้ในสังคมเก่า นักสหการนิยมโดยทั่วไปเห็นตรงกันว่าในสังคมเสรี กรรมกรจะเป็นผู้จัดการการผลิตเอง กลไกต่าง ๆ ของรัฐจะถูกแทนที่ด้วยการปกครองขององค์การกรรมกร ในสังคมเช่นว่าปัจเจกชนจะได้รับการปลดปล่อย ทั้งในวงเศรษฐกิจและในชีวิตส่วนตัวและสังคม

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. การวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งคือการถ่ายเทคำนี้ไปใช้ในภาษาที่ขาดความเชื่อมโยงทางนิรุกติศาสตร์กับลัทธิสหการนิยม ฝ่ายต่อต้านลัทธิสหการนิยมในยุโรปตอนเหนือและตอนกลางใช้คำนี้เพื่อระบุว่าเป็นสิ่งที่ไม่ใช่พื้นเมืองหรือเป็นอันตราย เมื่อสมาคมเสรีแห่งสหภาพแรงงานเยอรมัน (Freie Vereinigung deutscher Gewerkschaften, FVdG) รับรองลัทธิสหการนิยมในปี ค.ศ. 1908 ในตอนแรกสมาคมไม่ได้ใช้คำนี้เพราะกลัวว่าจะเป็นการใช้ "ชื่อภาษาต่างประเทศ"
  2. ดาร์ลิงตันกล่าวเสริมว่าคำจำกัดความนี้ไม่ครอบคลุมถึงสหภาพแรงงานสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ เนื่องจากแนวคิดของสหการนิยม "แตกต่างจากแนวคิดของทั้งสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ ในมุมมองเกี่ยวกับหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจในการปฏิวัติเปลี่ยนผ่านสังคมให้เป็นสหภาพแรงงาน ซึ่งตรงข้ามกับพรรคการเมืองหรือรัฐ และมองว่าระเบียบสังคม-เศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ถูกควบคุมโดยสหภาพแรงงานที่คนงานเป็นผู้บริหารจัดการ ซึ่งตรงข้ามกับการควบคุมโดยพรรคการเมืองหรือรัฐ"

อ้างอิง

[แก้]

กล่าวอ้าง

[แก้]
  1. Darlington 2008, p. 4; Thorpe 2010b, p. 25.
  2. Gervasoni 2006, p. 57.
  3. Darlington 2008, pp. 4–5; Thorpe 2010b, p. 25.
  4. van der Linden & Thorpe 1990, pp. 1–2; Darlington 2008, pp. 5–7; van der Linden 1998, pp. 182–183.
  5. Olssen 1992, p. 108.

แหล่งที่มา

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]