ข้ามไปเนื้อหา

สหกรณ์นิยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สหกรณ์นิยม, สหการนิยม หรือ ซินดิคัลลิสต์ (อังกฤษ: syndicalism) เป็นกระแสปฏิวัติภายในขบวนการแรงงาน ซึ่งผ่านสหภาพแรงงานอุตสาหกรรม มุ่งหวังที่จะรวมกลุ่มแรงงานตามอุตสาหกรรม และเรียกร้องความต้องการผ่านการนัดหยุดงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมปัจจัยการผลิตและเศรษฐกิจ โดยรวมผ่านความเป็นเจ้าของทางสังคม ขบวนการสหภาพแรงงานถูกพัฒนาขึ้นในฝรั่งเศสช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และมีอิทธิพลสูงสุดในขบวนการสังคมนิยมในสมัยระหว่างสงครามและก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะปะทุ

องค์กรณ์สหกรณ์นิยมที่สำคัญ ได้แก่ สมาพันธ์แรงงานสาธารณชน (CGT) ในประเทศฝรั่งเศส, สมาพันธ์กรรมกรแห่งชาติ (CNT) ในสเปน, สหภาพสหกรณ์นิยมอิตาลี (USI), สหภาพกรรมกรอิสระเยอรมนี (FAUD), และสหพันธ์แรงงานภูมิภาคอาร์เจนตินา (FORA) ส่วนคนงานอุตสาหกรรมแห่งโลก (IWW) (ชื่อเล่น "วอบบลี่ส์") สหภาพการขนส่งและแรงงานสาธารณชนไอร์แลนด์ (ITGWU) และสหภาพใหญ่เดียวแคนาดา (OBU) นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ถือว่าจัดอยู่ในกลุ่มกระแสนี้

การเดินขบวนโดยสหภาพสหกรณ์นิยมอาร์เจนตินา (FORA) ในปี ค.ศ. 1915

สมาคมแรงงานระหว่างประเทศ – International Workers' Association (IWA–AIT) ในสเปน, ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1922, เป็นสหพันธ์สหภาพแรงงานระหว่างประเทศของสหภาพแรงงานต่างๆ จากประเทศต่างๆ ในช่วงรุ่งเรือง เป็นตัวแทนของคนงานหลายล้านคน และเป็นคู่แข่งโดยตรงกับสหภาพแรงงานและพรรคการเมืองแนวประชาธิปไตยสังคมนิยมเพื่อครองใจชนชั้นแรงงาน องค์กรสหภาพแรงงานจำนวนหนึ่งยังคงเชื่อมโยงกับ IWA–AIT จนถึงทุกวันนี้ และองค์กรสมาชิกบางส่วนได้ออกเพื่อเข้าร่วมกับสมาพันธ์แรงงานนานาชาติ (ICL–CIT) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2018

ศัพท์บัญญัติ

[แก้]

สหกรณ์นิยม มีต้นกำเนิดมาจากภาษาฝรั่งเศส ในภาษาฝรั่งเศส Syndicat แปลความหมายว่าสหภาพแรงงาน ซึ่งโดยปกติจะเป็นสหภาพแรงงานท้องถิ่น คำยังคงสอดคล้องกันในภาษาสเปน และโปรตุเกสคือ Sindicato และในภาษาอิตาลีคือ Sindacato มีความคล้ายคลึงกัน โดยขยายความ สหภาพแรงงานฝรั่งเศสสื่อหมายความถึงสหภาพแรงงานโดยทั่วไป[1] แนวคิดเรื่อง Syndicalisme Révolutionnaire หรือสหภาพแรงงานปฏิวัติ ปรากฏขึ้นในวารสารสังคมนิยมฝรั่งเศสในปี 1903[2] และสมาพันธ์แรงงานสาธารณชน (Confédération générale du travail, CGT) ก็เริ่มใช้คำนี้เพื่ออธิบายลัทธิสหภาพแรงงานของตน สหภาพแรงงานปฏิวัติ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าสหภาพแรงงานที่มีนัยปฏิวัติ ได้รับการดัดแปลงให้เข้ากับภาษาต่างๆ มากมายโดยสหภาพแรงงานตามแบบของฝรั่งเศส[3][หมายเหตุ 1]

นักวิชาการหลายคน รวมถึง ราล์ฟ ดาร์ลิงตัน, มาร์เซล ฟาน เดอร์ ลินเดน และ เวย์น ธอร์ป นำลัทธิสหกรณ์นิยมไปใช้กับองค์กรหรือกระแสต่างๆ จำนวนหนึ่งภายในขบวนการแรงงานที่ไม่ได้ระบุตัวตนว่าเป็นสหภาพแรงงาน พวกเขาใช้คำนิยามเรียกกลุ่มสหภาพแรงงานใหญ่หรือสหภาพแรงงานภาคอุตสาหกรรมกลุ่มหนึ่งในอเมริกาเหนือและออสเตรเลีย กลุ่มลาร์กิน (ตั้งชื่อตามเจมส์ ลาร์กิน ผู้นำ ITGWU ชาวไอริช) ในไอร์แลนด์ และกลุ่มที่ระบุตัวตนว่าเป็นนักอุตสาหกรรมปฏิวัติ กลุ่มสหภาพแรงงานปฏิวัติ กลุ่มอนาธิปไตยสหภาพแรงงาน หรือกลุ่มสมาชิกสภา ซึ่งรวมถึงคนงานอุตสาหกรรมแห่งโลก (IWW) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งอ้างว่าสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมของตนเป็น “องค์กรแรงงานปฏิวัติประเภทที่สูงกว่าที่สหกรณ์นิยมเสนอ” แวน เดอร์ ลินเดนและธอร์ปใช้สหกรณ์นิยมเพื่ออ้างถึง "องค์กรปฏิวัติที่มุ่งเน้นการปฏิบัติโดยตรง" ดาร์ลิงตันเสนอว่าสหกรณ์นิยมควรถูกกำหนดให้เป็น "สหภาพแรงงานปฏิวัติ"[หมายเหตุ 2] เขาและแวน เดอร์ ลินเดนโต้แย้งว่า การรวบรวมองค์กรต่างๆ ที่หลากหลายเช่นนี้เข้าด้วยกันเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เนื่องจากรูปแบบการดำเนินการหรือแนวปฏิบัติที่คล้ายคลึงกันนั้นมีน้ำหนักมากกว่าความแตกต่างทางอุดมการณ์ขององค์กรเหล่านั้น[4]

คนอื่นๆ เช่น แลร์รี ปีเตอร์สัน และเอริก โอลเซ่น ไม่เห็นด้วยกับคำจำกัดความกว้างๆ นี้ ตามที่โอลเซ่นกล่าว การเข้าใจความหมายเชิงนี้ "มีแนวโน้มที่จะทำให้ความแตกต่างระหว่างสหภาพแรงงานอุตสาหกรรม, สหกรณ์นิยม และสังคมนิยมปฏิวัติเลือนลางลง"[5] ปีเตอร์สันให้คำจำกัดความของสหกรณ์นิยมกำชัดยิ่งขึ้นโดยอิงตามเกณฑ์ห้าประการ:

  1. เลือกระบอบสหพันธรัฐเหนือกว่าระบบรวมศูนย์
  2. การต่อต้านพรรคการเมือง
  3. มองว่าการนัดหยุดงานทั่วไปเป็นเครื่องมืออาวุธปฏิวัติอันสูงสุด
  4. สนับสนุนการแทนที่รัฐด้วย “องค์กรเศรษฐกิจสังคมระดับสหพันธ์”
  5. เห็นสหภาพแรงงานเป็นพื้นฐานของสังคมหลังทุนนิยม

คำจำกัดความนี้ไม่รวม IWW และ สหภาพใหญ่เดียวแคนาดา (OBU) ซึ่งมุ่งที่จะรวมคนงานทั้งหมดไว้ในองค์กรเดียว ปีเตอร์สันเสนอขอบเขตของกลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมปฏิวัติในหมวดหมู่ที่กว้างขึ้นเพื่อรวมกลุ่มสหกรณ์นิยม และกลุ่มต่างๆ เช่น IWW และ OBU และอื่นๆ

หลักการ

[แก้]

สหกรณ์นิยมมิได้มาจากทฤษฎีหรืออุดมการณ์ที่มีการเสริมรายละเอียดอย่างเป็นระบบอย่างเดียวกับที่นักลัทธิมากซ์ได้รับจากสังคมนิยม แม้ว่าการศึกษาของกรรมกรมีความสำคัญอยู่ต่อนักกิจกรรมที่ยึดมั่นบางส่วน แต่นักสหกรณ์นิยมไม่เชื่อใจปัญญาชนกระฎุมพี โดยต้องการคงการควบคุมของกรรมกรเหนือขบวนการ ความคิดของนักสหกรณ์นิยมมีการสาธยายในจุลสาร ใบปลิว สุนทรพจน์และในหนังสือพิมพ์ของขบวนการเอง งานเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยการเรียกร้องให้ลงมือและการอภิปรายยุทธวิธีในการต่อสู้ทางชนชั้น งานเรื่อง การสะท้อนเรื่องความรุนแรง ของนักปรัชญา ฌอร์ฌ โซแรล เผยแพร่ความคิดสหกรณ์นิยมต่อสาธารณชนในวงกว้าง

ขอบเขตว่าจุดยืนสหกรณ์นิยมสะท้อนถึงทัศนะของผู้นำ และพลพรรครับจุดยืนเหล่านั้นมากน้อยเพียงใดนั้นยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ นักประวัติศาสตร์ ปีเตอร์ สเติร์นส์ ออกความเห็นต่อสหกรณ์นิยมในฝรั่งเศส และสรุปว่ากรรมกรส่วนใหญ่ไม่รับเป้าหมายระยะยาวของสหกรณ์นิยม และว่าการใช้อำนาจครอบงำของสหกรณ์นิยม (syndicalist hegemony) เป็นเหตุให้ขบวนการกรรมกรฝรั่งเศสเติบโตค่อนข้างช้าในภาพรวม เขาอ้างว่ากรรมกรที่เข้าร่วมขบวนการสหกรณ์นิยมไม่ยินดียินร้ายต่อปัญหาเรื่องหลักนิยม สมาชิกภาพในองค์การสหกรณ์นิยมเป็นเรื่องบังเอิญเสียบางส่วน และผู้นำไม่สามารถชักจูงกรรมกรให้รับความคิดสหกรณ์นิยมได้ ฝ่ายนักรัฐศาสตร์ เฟร็ด ริดลีย์ มองว่า ผู้นำมีอิทธิพลมากในการร่างความคิดสหกรณ์นิยม แต่สหกรณ์นิยมไม่ใช่เพียงเครื่องมือของผู้นำไม่กี่คน แต่เป็นผลผลิตอย่างแท้จริงของขบวนการกรรมกรฝรั่งเศส ดาร์ลิงตัน เสริมว่า สมาชิกส่วนใหญ่ในสหภาพการขนส่งและแรงงานสาธารณชนไอร์แลนด์ (ITGWU) ไอร์แลนด์รับปรัชญาการปฏิบัติโดยตรงของสหภาพ เบิร์ต อัลเทน่า แย้งว่า แม้มีหลักฐานความเชื่อของกรรมกรทั่วไปน้อย แต่บ่งชี้ว่าพวกเขาตระหนักถึงข้อแตกต่างทางหลักนิยมระหว่างกระแสต่าง ๆ ในขบวนการกรรมกรและสามารถปกป้องทัศนะของพวกตนได้ เขาชี้ว่ากรรมกรน่าจะเข้าใจหนังสือพิมพ์สหกรณ์นิยมและถกเถียงประเด็นการเมืองได้

นักสหกรณ์นิยมเห็นด้วยกับการเรียกรัฐว่าเป็น "คณะกรรมการบริหารของชนชั้นปกครอง" ของคาร์ล มากซ์ โดยมองว่าระเบียบทางเศรษฐกิจของสังคมตัดสินระเบียบทางการเมือง และตัดสินว่าระเบียบเศรษฐกิจไม่สามารถโค่นได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงระเบียบการเมือง พวกเขามองว่าแวดวงเศรษฐกิจเป็นสนามหลักสำหรับการต่อสู้ด้านปฏิวัติ และการเข้าร่วมในการเมืองอาจเป็นได้อย่างมากก็เป็น "เสียงสะท้อน" ของการต่อสู้ทางอุตสาหกรรม พวกเขารู้สึกกังขาต่อการเมืองแบบรัฐสภา สหภาพแรงงานสหกรณ์นิยมประกาศตนว่าเป็นกลางทางการเมืองและปลอดจากการควบคุมของพรรคการเมือง โดยให้เหตุผลว่าพรรคการเมืองรวมกลุ่มคนตามทัศนะทางการเมือง ซึ่งประกอบด้วยคนหลายชนชั้น ส่วนสหภาพแรงงานเป็นองค์การของชนชั้นกรรมกรเท่านั้น ฉะนั้นจึงไม่แบ่งแยกด้วยเหตุผลทางการเมือง

นักสหกรณ์นิยมสนับสนุนการปฏิบัติโดยตรง รวมทั้งการทำงานให้พอตามกฎ (working to rule) การขัดขืนเงียบ การบ่อนทำลายและการนัดหยุดงาน โดยเฉพาะการนัดหยุดงานทั่วไปเป็นยุทธวิธีในการต่อสู้ทางชนชั้น แทนการปฏิบัติโดยอ้อมเช่นการเมืองแบบเลือกตั้ง นักสหกรณ์นิยมมองว่าขั้นสุดท้ายก่อนการปฏิวัติจะเป็นการนัดหยุดงานทั่วไป

นักสหกรณ์นิยมยังคงคลุมเครือในเรื่องสังคมที่จะเข้ามาแทนที่ทุนนิยม โดยอ้างว่าเป็นไปไม่ได้ในการพยากรณ์ในรายละเอียด สหภาพแรงงานถูกมองว่าเป็นตัวอ่อนของสังคมใหม่นอกเหนือจากเป็นวิธีการต่อสู้ในสังคมเก่า นักสหกรณ์นิยมโดยทั่วไปเห็นตรงกันว่าในสังคมเสรี กรรมกรจะเป็นผู้จัดการการผลิตเอง กลไกต่าง ๆ ของรัฐจะถูกแทนที่ด้วยการปกครองขององค์การกรรมกร ในสังคมเช่นว่าปัจเจกชนจะได้รับการปลดปล่อย ทั้งในวงเศรษฐกิจและในชีวิตส่วนตัวและสังคม

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. Of frequent criticism has been the transplantation of the term into languages in which the etymological link to unionism was lost. Opponents of syndicalism in Northern and Central Europe seized upon this to characterize it as something non-native, even dangerous. When the Free Association of German Trade Unions (Freie Vereinigung deutscher Gewerkschaften, FVdG) endorsed syndicalism in 1908, it did not at first use the term for fear of using "foreign names".
  2. Darlington adds that this definition does not encompass communist or socialist unions because, in his own words, the syndicalist conception "differed from both socialist and communist counterparts in viewing the decisive agency of the revolutionary transformation of society to be unions, as opposed to political parties or the state and of a collectivized worker-managed socio-economic order to be run by unions, as opposed to political parties or the state."

อ้างอิง

[แก้]

กล่าวอ้าง

[แก้]
  1. Darlington 2008, p. 4; Thorpe 2010b, p. 25.
  2. Gervasoni 2006, p. 57.
  3. Darlington 2008, pp. 4–5; Thorpe 2010b, p. 25.
  4. van der Linden & Thorpe 1990, pp. 1–2; Darlington 2008, pp. 5–7; van der Linden 1998, pp. 182–183.
  5. Olssen 1992, p. 108.

แหล่งที่มา

[แก้]