ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 แห่งเนเปิลส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โจวันนาที่ 1 แห่งเนเปิลส์
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเนเปิลส์
เคานท์เตสแห่งพรอว็องส์และฟอร์คาลกีเยร์
พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 จากภาพศิลปะเฟรสโกโดย นิกโคโล ดี ตอมมาโซ ราวปีค.ศ. 1360
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเนเปิลส์
เคานท์เตสแห่งพรอว็องส์และฟอร์คาลกีเยร์
ครองราชย์20 มกราคม ค.ศ. 1343 -
12 พฤษภาคม ค.ศ. 1382
(39 ปี 112 วัน)
พระราชพิธีราชาภิเษก
28 กรกฎาคม ค.ศ. 1344 (เพียงพระองค์เดียว)
27 พฤษภาคม ค.ศ. 1352 (ร่วมกับกษัตริย์ลุยจิที่ 1)
ก่อนหน้าพระเจ้าโรแบร์โต
ถัดไปพระเจ้าคาร์โลที่ 3
ผู้สำเร็จราชการ
สมเด็จพระพันปีหลวงซานเชีย
ฟิลิปป์ เดอ คาบาสโซเลส
ฟิลิโป ดิ ซานกิเน็ตโต
กิฟเฟรโด ดิ มาร์ซาโน
ประสูติธันวาคม ค.ศ. 1325
เนเปิลส์
สวรรคต27 กรกฎาคม ค.ศ. 1382(1382-07-27) (56 ปี)
ซานเฟเล
ฝังพระศพซานตาชีอารา, เนเปิลส์
คู่อภิเษกเจ้าชายอันดราสแห่งฮังการี
แต่งค.ศ. 1333 - เป็นม่ายค.ศ. 1345
ลุยจิ เจ้าชายแห่งตารันโต
แต่งค.ศ. 1347 - เป็นม่ายค.ศ. 1362
ไชเมที่ 4 ผู้อ้างสิทธิในกษัตริย์มาจอร์กา
แต่งค.ศ. 1363 - เป็นม่ายค.ศ. 1375
ออตโต ดยุคแห่งเบราน์ชไวค์-กรูเบนฮาเกิน
แต่งค.ศ. 1376 - พระนางสวรรคต
พระราชบุตรคาร์โล มาร์แตล ดยุกแห่งคาลาเบรีย
คาทารินาแห่งตารันโต
ฟรานเชสกาแห่งตารันโต
พระนามเต็ม
โจวันนา อ็องชู
ราชวงศ์ราชวงศ์กาเปเตียง-อ็องชู
พระราชบิดาคาร์โล ดยุคแห่งคาลาเบรีย
พระราชมารดามารีแห่งวาลัวส์
ศาสนาโรมันคาทอลิก

สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 แห่งเนเปิลส์ หรือ โจแอนนาที่ 1 (๋Joanna I) โจวานนาที่ 1 แห่งนาโปลี หรือทรงเป็นที่รู้จักในพระนาม โจฮันนาที่ 1 (Johanna I) (อิตาลี: Giovanna I; ธันวาคม ค.ศ. 1325[1] - 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1382) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งราชอาณาจักรเนเปิลส์ [a] เคานท์เตสแห่งพรอว็องส์และฟอร์คาลกีเยร์ ในช่วงปีค.ศ. 1343 ถึง 1382 พระนางยังทรงเป็นเจ้าหญิงแห่งอาเชีย (Princess of Achaea) ระหว่างปีค.ศ. 1373 ถึง 1381 สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ในคาร์โล ดยุคแห่งคาลาเบรีย กับมารีแห่งวาลัวส์ ที่ทรงดำรงพระชนม์จวบจนเจริญพระชันษา พระราชบิดาของพระนางเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าโรแบร์โต ผู้ชาญฉลาด กษัตริย์แห่งเนเปิลส์ แต่พระราชบิดาของพระนางสิ้นพระชนม์ก่อนหน้าพระอัยกาในปีค.ศ. 1328 สามปีต่อมา กษัตริย์โรแบร์โตทรงแต่งตั้งเจ้าหญิงโจวันนาเป็นองค์รัชทายาทและทรงมีพระราชบัญชาให้เหล่าขุนนางถวายความจงรักภักดีต่อพระนาง ดังนั้นเพื่อทำให้สถานะของเจ้าหญิงโจวันนาแน่ชัดขึ้น กษัตริย์โรแบร์โตจึงทรงทำข้อตกลงกับพระนัดดาของพระองค์ คือ พระเจ้ากาโรยที่ 1 แห่งฮังการี เกี่ยวกับการเสกสมรสระหว่างเจ้าหญิงโจวันนากับเจ้าชายอันดราสแห่งฮังการี พระราชโอรสองค์รองของกษัตริย์ฮังการี กษัตริย์กาโรยที่ 1 มีพระราชประสงค์ที่จะครอบครองมรดกของพระปิตุลาให้ตกเป็นของเจ้าชายอันดราส แต่กษัตริย์โรแบร์โตกลับสถาปนาเจ้าหญิงโจวันนาให้เป็นรัชทายาทแต่เพียงผู้เดียวในวันที่สวรรคต ปีค.ศ. 1343 พระองค์ยังทรงประกาศแต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปกครองราชอาณาจักรจนกว่าสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาจะมีพระชนมายุครบ 21 พรรษา แต่ในความเป็นจริงแล้วคณะผู้สำเร็จราชการไม่สามารถบริหารราชอาณาจักรได้หลังกษัตริย์สวรรคต

พระชนม์ชีพส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาส่งผลกระทบอย่างมากต่อเสถียรภาพทางการเมืองของราชอาณาจักรเนเปิลส์ (การลอบปลงพระชนม์เจ้าชายอันดราส พระสวามีองค์แรกในค.ศ. 1345 การรุกรานของพระเจ้าลอโยชที่ 1 แห่งฮังการี ซึ่งล้างแค้นให้กับการสิ้นพระชนม์ของพระอนุชา และการอภิเษกสมรสอีกสามครั้งต่อมาของพระนาง ได้แก่ ลุยจิ เจ้าชายแห่งตารันโต, ไชเมที่ 4 ผู้อ้างสิทธิในกษัตริย์มาจอร์กา และออตโต ดยุคแห่งเบราน์ชไวค์-กรูเบนฮาเกิน) และได้บ่อนทำลายจุดยืนของพระนางกับสันตะสำนัก นอกจากนี้ในช่วงเหตุการณ์ศาสนเภทตะวันตก พระนางทรงเลือกสนับสนุนอาวีญงปาปาซี ต่อต้านสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 ผู้ทรงตอบโต้พระนางกลับ โดยประกาศว่าพระนางเป็นพวกนอกรีตและโค่นพระนางออกจากราชบัลลังก์ ในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1380

ด้วยพระโอรสธิดาของพระนางสิ้นพระชนม์ก่อนหน้าพระนาง รัชทายาทของพระนางจึงเป็นพระขนิษฐาเพียงพระองค์เดียวของพระนางคือ มาเรียแห่งคาลาเบรีย ซึ่งได้เสกสมรสครั้งแรกกับ พระญาติของพระนางโจวันนาเองคือ คาร์โล ดยุคแห่งดูราซโซ โดยไม่ได้ขอพระบรมราชานุญาตจากพระนาง คาร์โลและมาเรียกลายเป็นผู้นำฝ่ายการเมืองที่ต่อต้านสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนา ด้วยทรงพยายามคืนดีกับพวกตระกูลดูราซโซ เพื่อที่จะรักษาราชบัลลังก์ของพระนางไว้ พระนางโจวันนาทรงจัดแจงการเสกสมรสของพระนัดดา คือ มาร์เกอริตาแห่งดูราซโซ กับพระญาติชั้นหนึ่งของมาร์การิตา (และเป็นพระญาติชั้นสองของพระนางโจวันนา) คือ คาร์โลแห่งดูราซโซ ผู้ซึ่งต่อมาจับกุมพระนางโจวันนาได้ในที่สุด และได้สั่งการให้ปลงพระชนม์อดีตพระราชินีนาถโจวันนาในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1382[5][6]

ช่วงต้นพระชนม์ชีพ

[แก้]
ตราอาร์มราชวงศ์อ็องชู-เนเปิลส์

เจ้าหญิงโจวันนาเป็นพระราชบุตรองค์ที่สองในเจ้าชายคาร์โล ดยุคแห่งคาลาเบรีย (ซึ่งเป็นพระราชโอรสที่รอดพระชนม์เพียงพระองค์เดียวของพระเจ้าโรแบร์โต ผู้ชาญฉลาด กษัตริย์แห่งเนเปิลส์) กับมารีแห่งวาลัวส์ (พระขนิษฐาในพระเจ้าฟีลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศส[7] ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดถึงวันที่ประสูติ แต่คาดว่าพระนางอาจประสูติในปี 1326 หรือ 1327[7][8] โดนาโต อัคชิเอียโอลี นักประวัติศาสตร์ยุคเรอแนซ็องส์ อ้างว่า พระนางประสูติในฟลอเรนซ์ แต่ตามข้อคิดเห็นของแนนซี โกลด์สโตน นักวิชาการระบุว่า จริงๆแล้วพระนางอาจประสูติในระหว่างที่พระราชบิดาและพระราชมารดาเสด็จประพาสระหว่างเมืองต่างๆ[7] เจ้าหญิงเอลอยซา หรือ หลุยส์ พระเชษฐภคินีของพระนางสิ้นพระชนม์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1326 และเจ้าชายคาร์โล มาร์แตล พระอนุชาเพียงองค์เดียวของพระนางสิ้นพระชนม์ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1327 หลังจากประสูติมาได้เพียง 8 วัน[7]

เจ้าชายคาร์โลแห่งคาลาเบรียสิ้นพระชนม์โดยไม่มีใครคาดคิดในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1328[9] การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ทำให้กษัตริย์โรแบร์โตต้องเผชิญกับปัญหาการสืบราชบัลลังก์ เนื่องจากพระราชบุตรที่ประสูติหลังจากเจ้าชายคาร์โลสิ้นพระชนม์ไปแล้วก็ยังเป็นพระราชธิดา พระนามว่า เจ้าหญิงมาเรีย[7][10] แม้ว่ากฎมณเฑียรบาลของเนเปิลส์จะไม่ได้ห้ามสตรีครองบัลลังก์ แต่การมีสมเด็จพระราชินีนาถปกครองนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ[11] มีการทำข้อตกลงระหว่างสันตะสำนักและกษัตริย์โรแบร์โต ผู้ชาญฉลาด พระอัยกาของพระนาง ว่า มีการยอมรับเชื้อสายที่เป็นสตรีของพระเจ้าการ์โลที่ 1 แห่งเนเปิลส์ให้สามารถสืบราชบัลลังก์ได้ แต่มีข้อแม้ว่าสมเด็จพระราชินีนาถจะต้องอภิเษกสมรสและอนุญาตให้พระสวามีร่วมปกครองอาณาจักรด้วย[12] นอกเหนือจากนี้ราชวงศ์เนเปิลส์นั้นเป็นราชนิกุลสาขาของราชวงศ์กาแปแห่งฝรั่งเศสและกฎหมายของฝรั่งเศสเองได้ตัดสิทธิครองราชย์ของสตรี เรียกว่า กฎหมายแซลิก[10][13] พระนัดดาของกษัตริย์โรแบร์โตคือ พระเจ้ากาโรลที่ 1 แห่งฮังการี ได้ถูกกษัตริย์โรแบร์โตตัดสิทธิ์จากพระราชมรดกในปี 1296 แต่พระองค์ก็ไม่ได้ละทิ้งสิทธิที่พระองค์มีต่อ "Regno" (หรือ ราชอาณาจักรเนเปิลส์)[14] สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 22 ปฏิเสธข้อเรียกร้องของกษัตริย์กาโรยแห่งฮังการีมาเป็นเวลานานหลายปี แต่ด้วยกษัตริย์โรแบร์โตแห่งเนเปิลส์ทรงสนับสนุนคณะฟรันซิสกัน (ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาทรงมองว่าเป็นพวกนอกรีต) และการที่กษัตริย์เนเปิลส์ทรงละเลยในการจ่ายเงินสนับสนุนประจำปีให้สันตะสำนักก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างพระสันตะปาปาและเนเปิลส์[15] พระอนุชาสองพระองค์ของกษัตริย์โรแบร์โต ได้แก่ ฟิลิปโปที่ 1 เจ้าชายแห่งตารันโต และเจ้าชายโจวันนี ดยุกแห่งดูราซโซ สามารถที่จะอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ต่อต้านสมเด็จพระราชินีนาถได้[13]

กษัตริย์โรแบร์โตทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะปกป้องสิทธิในบัลลังก์ให้ตกอยู่แก่เชื้อสายของพระองค์ พระองค์จึงสถาปนาเจ้าหญิงโจวันนาและเจ้าหญิงมาเรียเป็นรัชทายาทของพระองค์ในพระราชพิธีที่ปราสาทนูโอโวในเนเปิลส์ วันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1330[16][17] เจ้าชายโจวันนี ดยุกแห่งดูราซโซและอักเนสแห่งเปรีกอร์ พระชายา ทรงยอมรับการตัดสินพระทัยของกษัตริย์โรแบร์โต (ด้วยทรงหวังว่าหนึ่งในพระโอรสทั้งสามจะเสกสมรสกับเจ้าหญิงโจวันนา) แต่ฟิลิปโปที่ 1 เจ้าชายแห่งตารันโตและแคทเทอรีนแห่งวาลัวส์ พระชายา ตัดสินพระทัยที่จะไม่เคารพพระราชโองการ[15] เมื่อเจ้าหญิงโจวันนาทรงได้รับพระราชทานสิทธิในการสืบบัลลังก์ต่อจากพระอัยกาในวันที่ 30 พฤศจิกายน เจ้าชายโจวันนีและอักเนสทรงอยู่ท่ามกลางเหล่าขุนนางเนเปิลส์ในการถวายความจงรักภักดีต่อรัชทายาทหญิง แต่เจ้าชายฟิลิปโปและแคทเทอรีนปฏิเสธไม่เข้าร่วมพระราชพิธี[18] แม้ว่าสมเด็จพระสันตะปาปาจะสามารถเกลี้ยกล่อมเจ้าชายฟิลิปให้ได้เพียงส่งตัวแทนไปยังเนเปิลส์เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อเจ้าหญิงโจวันนาแทนพระองค์เองในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1331[18]

กษัตริย์กาโรยที่ 1 แห่งฮังการีทรงทูลขอให้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเกลี้ยกล่อมกษัตริย์โรแบร์โตให้ฟื้นฟูดินแดนศักดินาทั้งสองแห่งของเจ้าชายชาลส์ มาร์เตล พระราชบิดาของพระองค์ในดินแดน "เร็กโน" (Regno) หรือ ราชรัฐซาแลร์โน และมองเตแห่งซันตันเจโล ให้คืนแก่พระองค์และพระราชโอรส[16] พระองค์ยังทรงผลักดันการเป็นพันธมิตรผ่านการอภิเษกสมรสโดยทรงสู่ขอเจ้าหญิงโจวันนาให้เป็นคู่ครองของหนึ่งในพระราชโอรสของพระองค์[16] สมเด็จพระสันตะปาปาทรงสนับสนุนแผนการนี้และทรงเร่งเร้าให้กษัตริย์โรแบร์โตยอมรับข้อตกลงนี้[18] แคทเทอรีนแห่งวาลัวส์ ผู้ซึ่งเป็นม่ายไม่นานทรงทราบแผนการ พระนางจึงรีบเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าฟีลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศส พระเชษฐาต่างมารดาของพระนาง เพื่อให้ทรงเข้าแทรกแซงและขัดขวางแผนการอภิเษกสมรสนี้[18] พระนางทรงเสนอให้พระโอรสของพระนางทั้งสองคือ โรแบร์โต เจ้าชายแห่งตารันโตและเจ้าชายลุยจิ เป็นคู่อภิเษกสมรสของเจ้าหญิงโจวันนาและเจ้าหญิงมาเรีย[18] สมเด็จพระสันตะปาปาทรงแน่วแน่ในแผนการเดิมโดยมีโองการของพระสันตะปาปาในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1331 มีพระบัญชาให้เจ้าหญิงโจวันนาและพระขนิษฐาต้องอภิเษกสมรสกับพระราชโอรสของกษัตริย์กาโรยที่ 1 แห่งฮังการี[19] ในช่วงแรก พระราชโอรสองค์โตของกษัตริย์กาโรยคือ เจ้าชายลอโยชแห่งฮังการี ทรงได้รับการเลือกให้เป็นพระสวามีในอนาคตของเจ้าหญิงโจวันนา[20] เจ้าชายอันดราสแห่งฮังการี พระอนุชาองค์รองของเจ้าชายลอโยช เป็นเพียงตัวเลือกสำรอง และจะขึ้นมาเป็นลำดับหนึ่งก็ต่อเมื่อพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ก่อนกำหนด[20] แต่เมื่อมีการตกลงเจรจากัน กษัตริย์กาโรยทรงตัดสินพระทัยเปลี่ยนให้เจ้าชายอันดราสอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงโจวันนาแทน[20]

จุลจิตรกรรมสลักภาพสมเด็จพระราชินีซานเชีย กำลังทรงปลอบประโลมพระนัดดาเลี้ยงทั้งสอง คือ โจวันนาและมาเรีย โดยมารีแห่งวาลัวส์ พระชนนีของเจ้าหญิงทรงพาพระธิดามาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระราชินีซานเชีย[21]

หลังจากเจ้าหญิงมารีแห่งวาลัวส์ พระราชชนนีของเจ้าหญิงโจวันนาสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1332 ขณะเสด็จจาริกแสวงบุญที่เมืองบารี[22] พระมเหสีองค์ที่สองในกษัตริย์โรแบร์โต (พระอัยยิกาเลี้ยงของเจ้าหญิงโจวันนา) คือ ซานเชียแห่งมายอร์กา ทรงเข้ามารับผิดชอบต่อการศึกษาของเจ้าหญิงโจวันนาแทน[8] สมเด็จพระราชินีซานเชียทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ที่มีศรัทธาแรงกล้าต่อคณะฟรันซิสกัน และทรงดำรงพระชนม์ชีพเหมือนแม่ชีคณะกลาริส แต่สมเด็จพระสันตะปาปาปฏิเสธที่จะให้การเสกสมรสของพระนางกับกษัตริย์โรแบร์โตเป็นโมฆะ[8][18] พยาบาลประจำองค์พระราชินีซานเชีย คือ ฟิลิปปาแห่งคาทาเนีย เป็นผู้มีอิทธิพลสูงสุดในการอบรมศึกษาเจ้าหญิงโจวันนา[23] สมเด็จพระราชินีซานเชียและฟิลิปปาเป็นสองสตรีผู้ทรงอิทธิพลในราชสำนักกษัตริย์โรแบร์โต กษัตริย์ไม่ทรงสามารถตัดสินพระทัยได้ถ้าไม่ได้ตรัสถามพระราชินีและพยาบาลของพระนาง ทั้งนี้เป็นคำกล่าวของโจวันนี บอกกัชโช นักเขียนคนสำคัญของอิตาลีในสมัยนั้น[24]

เจ้าหญิงโจวันนาทรงเจริญพระชันษาในราชสำนักที่มีวัฒนธรรมของพระอัยกา แม้ว่าจะไม่ทรงได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการ[8] หรืออาจจะทรงได้รับการศึกษา ซึ่งหลักฐานไม่ได้กล่าวถึงอย่างแม่นยำนัก เนื่องจากเอกสารของอานเจวินไม่ได้ระบุว่าใครคือเป็นผู้อบรมสั่งสอนพระนาง[25] พระนางอาจศึกษาจากหนังสือในหอสมุดหลวง ซึ่งมีงานเขียนของลิวี, เปาโล ดา เปรูเจีย, สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 1 และมาร์โก โปโล[25] อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเมื่อพระนางทรงเจริญพระชันษา พระนางทรงมีความสามารถด้านภาษาละติน (ในขณะที่ลายพระหัตถ์ที่เหลือของพระนางสามารถพิสูจน์ได้ว่า [b]) ฝรั่งเศส อิตาลีและภาษาถิ่นพรอว็องส์ ดอมินิโก ดา กราวินา นักพงศาวดาร ยืนยันว่าทั้งสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนา และเจ้าหญิงมาเรีย พระขนิษฐา ได้รับ "การเรียนรู้ทางศิลปะและคุณธรรมจรรยาทุกประการจากทั้งฝ่าพระบาทพระเจ้าโรแบร์โตและจากสมเด็จพระราชินีซานเชีย"[28]

กษัตริย์กาโรยที่ 1 แห่งฮังการีเสด็จมาเนเปิลส์เป็นการส่วนพระองค์เพื่อทำการเจรจากับพระปิตุลาของพระองค์ในเรื่องการเสกสมรสระหว่างเจ้าหญิงโจวันนากับเจ้าชายอันดราสในฤดูร้อนปีค.ศ. 1333[29] พระองค์ไม่ทรงใช้พระราชทรัพย์ในการเดินทางเลย เพื่อเป็นการแสดงถึงอำนาจและความมั่งคั่งของพระองค์[30] กษัตริย์ทั้งสองจึงเข้าเจรจากัน[31] เจ้าชายอันดราสและเจ้าหญิงโจวันนาจะต้องหมั้นกันตามข้อตกลง แต่กษัตริย์โรแบร์โตและกษัตริย์กาโรยที่ 1 ยังทรงกำหนดอีกว่า ถ้าเจ้าชายอันดราสมีพระชนมายุยืนยาวกว่าเจ้าหญิงโจวันนา ก็ให้เสกสมรสกับเจ้าหญิงมาเรีย ผู้เป็นพระขนิษฐาต่อ และพระโอรสองค์ที่เหลือของกษัตริย์กาโรยที่ 1 คือเจ้าชายลอโยช หรือ อิชต์วาน จะได้เสกสมรสกับเจ้าหญิงโจวันนา เมื่อยามเจ้าชายอันดราสสิ้นพระชนม์ก่อน[31] สัญญาการอภิเษกสมรสได้มีการลงนามอย่างพิธีการในวันที่ 26 กันยายน[32] วันถัดมากษัตริย์โรแบร์โตสถาปนาเจ้าหญิงโจวันนาและเจ้าชายอันดราสให้ครองศักดินาดัชชีคาลาเบรียและราชรัฐซาแลร์โน[33] สมเด็จพระสันตะปาปาทรงได้รับการแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์สำหรับการอภิเษกสมรสในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1333[31] แต่การอภิเษกสมรสก็ไม่ได้เสร็จสมบูรณ์พร้อมเป็นเวลาหลายปี เนื่องมาจากเจ้าชายอันดราสยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ[34] แต่มันก็ทำให้เกิดความขัดแย้งในกลุ่มตระกูลสาขาของราชวงศ์อ็องชู[35]

เจ้าชายอันดราสเจริญพระชันษาในเนเปิลส์ แต่พระองค์และผู้ติดตามชาวฮังการียังคงถูกมองว่าเป็นพวกต่างชาติ[36] เหล่าญาติวงศ์เนเปิลส์ (โอรสของฟิลิปโปแห่งตารันโต และโจวันนีแห่งดูราซโซ) หรือแม้กระทั่งเจ้าหญิงโจวันนาเองต่างเย้ยหยันเจ้าชายอันดราส[37] ทั้งนักเขียนร่วมสมัยและนักเขียนในยุคหลังมองตรงกันว่า ในช่วงแรกกษัตริย์โรแบร์โตทรงตั้งพระทัยที่จะให้เจ้าชายอันดราสเป็นรัชทายาท[38] ยกตัวอย่างเช่น ตามงานเขียนของโจวันนี วีลานี ระบุว่า กษัตริย์ "มีพระราชประสงค์ให้พระราชนัดดา ผู้เป็นโอรสกษัตริย์ฮังการีขึ้นสืบราชบัลลังก์หลังจากพระองค์สวรรคต"[31] แต่มีภาพเขียนใน Anjou Bible ได้วาดภาพที่เห็นได้ชัดว่า มีเพียงโจวันนาเท่านั้นที่ได้สวมมงกุฎช่วงปลายทศวรรษ 1330[17][39] เป็นการระบุว่า กษัตริย์อาจจะไม่สนพระทัยในเรื่องสิทธิ์ราชบัลลังก์ของเจ้าชายอันดราส[17][39] ตามพระราชพินัยกรรมของพระองค์ พระองค์ระบุให้ โจวันนาเป็นรัชทายาทหนึ่งเดียวแห่งเนเปิลส์, พรอว็องซ์, ฟอร์คัลกีแยร์และปีดมอนต์ และรวมถึงสิทธิในราชบัลลังก์เยรูซาเลมให้ตกแก่พระนาง[40] พระองค์ยังระบุให้เจ้าหญิงมาเรียครองบัลลังก์ต่อถ้าหากพระนางโจวันนาสวรรคตโดยไร้ทายาท[40] กษัตริย์โรแบร์โตไม่ทรงมีพระราชบัญชาให้จัดพิธีครองราชย์ให้อันดราส ดังนั้นจึงเป็นการกีดกันพระองค์ออกจากกิจการของเนเปิลส์[40] กษัตริย์ผู้ใกล้สวรรคตยังทรงตั้งคณะผู้สำเร็จราชการ อันประกอบด้วยที่ปรึกษาที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย คือ รองเสนาบดี ฟิลิปป์ เดอ คาบาสโซเลส บิชอปแห่งคาวาอิลลง, ฟิลิโป ดิ ซานกิเน็ตโต ที่ปรึกษาใหญ่แห่งพรอว็องซ์ และนายพลเรือกิฟเฟรโด ดิ มาร์ซาโน โดยให้หัวหน้าคณะผู้สำเร็จราชการคือ สมเด็จพระราชินีซานเชีย[41][42] พระองค์กำหนดให้โจวันนาสามารถปกครองได้ด้วยตนเองเมื่อผ่านวันคล้ายวันพระราชสมภพ 21 พรรษา โดยปฏิเสธที่จะใช้กฎตามธรรมเนียมทั่วไปที่บรรลุนิติภาวะด้วยอายุ 18 ปี[41]

รัชกาล

[แก้]

สืบราชบัลลังก์

[แก้]
ภาพจุลจิตรกรรมสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 และเจ้าชายอันดราสแห่งฮังการี

กษัตริย์โรแบร์โตสวรรคตในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1343 ขณะทรงมีพระชนมายุ 67 พรรษา พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เนเปิลส์มาเป็นเวลา 34 ปี[40] สองวันต่อมา เจ้าชายอันดราสแห่งฮังการีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัศวิน และพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระองค์กับสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาก็สำเร็จบริบูรณ์ตามพระราชประสงค์สุดท้ายของพระมหากษัตริย์ผู้สวรรคต[43] แต่ถึงกระนั้น ทั้งสองพระองค์เสด็จแยกกันไปโบสถ์ เสด็จเยือนต่างสถานที่กัน และพระนางโจวันนาทรงถึงกับห้ามพระราชสวามีเข้าห้องบรรทมโดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระนาง[43] เจ้าชายอันดราส พระชนมายุ 15 พรรษา ไม่ทรงมีคลังสมบัติของพระองค์เอง และข้าราชบริพารของสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาได้ทำหน้าที่ควบคุมการใช้จ่ายของเจ้าชาย[43]

เปตราก ได้เขียนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในงานเขียนของเขา Regno บรรยายถึงสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาและเจ้าชายอันดราส ว่าเป็น "ลูกแกะสองตัวที่ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลหมาป่าจำนวนมาก และข้าพเจ้าได้ประสบเห็นถึงราชอาณาจักรที่ไร้พระราชา"[44] ฝักฝ่ายทางการเมืองส่วนใหญ่ไม่พอใจที่มีการจัดตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[41] สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาจึงเสด็จไปเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 และทรงกราบทูลขอให้พระสันตะปาปาพระราชทานพระอิสริยยศกษัตริย์แก่พระราชสวามีของพระนาง อาจเป็นเพราะพระนางทรงต้องการแรงสนับสนุนจากพวกราชวงศ์อ็องชูแห่งฮังการี เพื่อช่วยสนับสนุนแนวทางลดระยะเวลาอายุบรรลุนิติภาวะของพระนาง[41] แม้ว่าสมเด็จพระสันตะปาปาทรงพิจารณาว่าการจัดตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการแย่งชิงสิทธิอำนาจการปกครองของพระสันตะปาปา แต่ถึงกระนั้นพระสันตะปาปาก็ทรงต้องการที่จะควบคุมการบริหารกิจการของราชอาณาจักรเนเปิลส์ด้วยพระองค์เอง[41] พระองค์จึงปฏิเสธข้อเสนอของพระนางโจวันนา แต่พระองค์ก็ทรงส่งพระราชสาส์นโดยตรงถึงสภาผู้สำเร็จราชการแบบนานๆ ครั้งแทน[41]

อักเนสแห่งเปรีกอร์ สมเด็จย่าสะใภ้องค์หนึ่งของพระนางโจวันนา ต้องการที่จะให้เจ้าหญิงมาเรีย พระขนิษฐาของพระนางโจวันนา เสกสมรสกับโอรสองค์ใหญ่ของพระนาง คือ การ์โลแห่งดูราซโซ[45] สมเด็จพระพันปีหลวงซานเชียและสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงสนับสนุนแผนการนี้ แต่ก็ทรงทราบว่า แคทเทอรีนแห่งวาลัวส์-กูร์เตอแน ที่ครองอิสริยยศ จักรพรรดินีละติน และเป็นสมเด็จย่าสะใภ้อีกองค์หนึ่งของพระราชินี จะต้องทรงขัดขวางแผนการสมรสนี้[46] พี่ชายของอักเนสคือ เฮลี เดอ ตาแลร็อง-เปรีกอร์ เป็นพระคาร์ดินัลผู้ทรงอิทธิพลในสันตะสำนักที่อาวีญง[45] เขาโน้มน้าวให้สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ออกสารตราพระสันตะปาปาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1343 อนุญาตให้การ์โลแห่งดูราซโซสามารถสมรสกับสตรีคนใดก็ได้[45] ด้วยสิทธิขาดจากตราสารพระสันตะปาปา เจ้าหญิงมาเรียจึงได้หมั้นหมายกับการ์โลแห่งดูราซโซในพิธีต่อหน้าพระนางโจวันนา สมเด็จพระพันปีหลวงซานเชียและสมาชิกสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนอื่นๆ ที่คาสเตล นูโอโว วันที่ 26 มีนาคม[47] การหมั้นหมายสร้างความเดือดดาลแก่แคทเทอรีนแห่งวาลัวส์-กูร์เตอแน จักรพรรดินีละติน อย่างมาก พระนางทรงร้องขอไปยังพระเจ้าฟีลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศสกับสมเด็จพระสันตะปาปา โดยเรียกร้องให้การหมั้นหมายเป็นโมฆะ[47] สองวันหลังจากหมั้นหมาย การ์โลแห่งดูราซโซลักพาตัวเจ้าหญิงมาเรียไปยังปราสาทของเขา ซึ่งนักบวชได้ลอบจัดพิธีเสกสมรสให้ และในไม่ช้าการสมรสก็สำเร็จบริบูรณ์[48]

ลุยจิแห่งตารันโต บุตรชายของแคทเทอรีนแห่งวาลัวส์ ยกกองทัพบุกที่ดินศักดินาของการ์โลแห่งดูราซโซ ผู้ลูกพี่ลูกน้อง[48] การ์โลแห่งดูราซโซก็รวบรวมกำลังพลเพื่อปกป้องที่ดินของเขา[48] การเสกสมรสอย่างลับๆ ของเจ้าหญิงมาเรีย พระขนิษฐา สร้างความเดือดดาลแก่สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาอย่างมาก พระนางจึงส่งพระราชสาส์นถึงสมเด็จพระสันตะปาปากราบทูลขอให้ยกเลิกการเสกสมรส[48] สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ทรงปฏิเสธ และทรงบัญชาให้พระคาร์ดินัลตาแลร็อง-เปรีกอร์ส่งคณะทูตไปยังเนเปิลส์เพื่อไกล่เกลี่ยประนีประนอม[49] คณะทูตพระคาร์ดินัลเกลี้ยกล่อมให้ทั้งสองฝ่ายลงนามในข้อตกลงวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1343[50] โดยการเสกสมรสระหว่างการ์โลแห่งดูราซโซกับเจ้าหญิงมาเรียถูกต้องตามกฎหมายเป็นที่ยอมรับ แต่แคทเทอรีนแห่งวาลัวส์และลูกชายของพระนางจะได้รับเงินชดเชยจากคลังของราชวงศ์[51] สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจต่อพระขนิษฐาและพระญาติสายดูราซโซ และพระนางทรงริเริ่มส่งเสริมข้าราชบริพารที่ทรงไว้เนื้อเชื่อพระทัยขึ้นแทนพระญาติวงศ์ ซึ่งได้แก่ โรแบร์โต เดอ คาบานนี บุตรชายของฟิลิปปาแห่งคาทาเนีย และการ์โล อาร์ตุส สมเด็จอาของพระนาง (โอรสนอกสมรสของพระเจ้าโรแบร์โต)[51]

ความขัดแย้ง

[แก้]

ผู้ดูแลชาวฮังการีของเจ้าชายอันดราสได้กราบทูลต่อสมเด็จพระพันปีหลวงแอร์เฌแบ็ตแห่งฮังการี พระราชชนนีของเจ้าชาย ในเรื่องสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของเจ้าชาย[52] พระนางและพระเจ้าลอโยชที่ 1 แห่งฮังการี พระราชโอรสองค์ใหญ่ ทรงส่งราชทูตไปยังอาวีญง เพื่อเรียกร้องให้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงประกอบพิธีราชาภิเษกให้เจ้าชายอันดราส[53] พระนางจึงเสด็จมายัง "เร็กโน" เพื่อเสริมให้สถานะของเจ้าชายอันดราสมั่นคงมากขึ้น[53] ก่อนเสด็จออกจากฮังการี พระนางแอร์เฌแบ็ตทรงรวบรวมทองคำ 21,000 มาร์ก และเงิน 72,000 มาร์กจากคลังของฮังการี เพราะพระนางทรงพร้อมใช้ทรัพย์จำนวนมากเพื่อซื้อแรงสนับสนุนจากทางสันตะสำนักและขุนนางเนเปิลส์ให้สนับสนุนพระราชโอรส[52] พระนางและข้าราชบริพารเสด็จเทียบท่ามันฟรีดอนยาในฤดูร้อน ค.ศ. 1343[52] พระนางทรงพบกับพระราชโอรสที่เบเนเวนโต แต่สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาเสด็จไปพบพระนางแอร์เฌแบ็ตที่เมืองซอมนา เวสุเวียนาในวันถัดมา[52] เมื่อทรงพบกับพระสัสสุ สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงสวมมงกุฎเพื่อเน้นย้ำสถานะทางราชวงศ์ของพระนาง[52]

สมเด็จพระพันปีหลวงแอร์เฌแบ็ตพร้อมคณะเสด็จเข้าเนเปิลส์ในวันที่ 25 กรกฎาคม[51] เมื่อแรกถึงพระนางแอร์เฌแบ็ตเสด็จเข้าพบสมเด็จพระอัยยิกาเลี้ยงของพระนางโจวันนา แต่สมเด็จพระพันปีหลวงซานเชียแห่งมายอร์กาที่กำลังทรงประชวร ไม่ทรงเข้าไปช่วยเหลือเรื่องของเจ้าชายอันดราสมากนัก[43] สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาไม่ทรงต่อต้านการราชาภิเษกพระสวามีของพระนางอย่างเปิดเผย แต่ในไม่ช้าพระสัสสุก็ทรงตระหนักว่า พระนางโจวันนาใช้วิธีการถ่วงเวลา[54] สมเด็จพระพันปีหลวงแอร์เฌแบ็ตเสด็จออกจากเนเปิลส์ไปยังกรุงโรมและส่งทูตไปยังอาวิญง เพื่อเรียกร้องให้สมเด็จพระสันตะปาปาแทรกแซงการราชาภิเษกของเจ้าชายอันดราส[55] เปตราก ซึ่งเยือนเนเปิลส์ในเดือนตุลาคมในฐานะคณะทูตของพระคาร์ดินัล โจวันนี โคลอนนา ได้ประสบพบเห็นว่าอาณาจักรได้เคลื่อนไปสู่ภาวะอนาธิปไตยหลังจากการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์โรแบร์โต[56][57] เขาบันทึกว่า กลุ่มชนชั้นขุนนางรังแกข่มเหงไพร่ฟ้าในตอนค่ำ และมีการจัดเกมกลาดิเอเตอร์ขึ้นประจำต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาและเจ้าชายอันดราส[56] นอกจากนี้เขายังอ้างว่ามีนักบวชฟรังซิสกัน ผู้หน้าซื่อใจคด อย่างพระโรแบร์โต ที่กุมอำนาจสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีการบรรยายว่า เขาเป็น "สัตว์ร้ายสามเท้าที่น่ากลัว เท้าเปล่า หัวโล้น เย่อหยิ่งอหังการเหนือผู้ยากไร้ด้วยความเพลิดเพลินใจ"[58]

เปตรากต้องมามาทำภารกิจให้มีการปล่อยตัวญาติของโคลอนนาที่ถูกคุมขัง คือ พี่น้องปิปินี ซึ่งถูกคุมขังเนื่องจากก่ออาชญากรรมมากมายในค.ศ. 1341[59] ทรัพย์สินของพวกเขาถูกนำมาแจกจ่ายให้กับเชื้อพระวงศ์และชนชั้นสูงเนเปิลส์ และเปตรากสามารถเกลี้ยกล่อมให้สภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นิรโทษกรรมแก่พวกเขาได้[60] สมเด็จพระพันปีหลวงแอร์เฌแบ็ตยังทรงประทับอยู่ในกรุงโรม ตระหนักดีว่าความขัดแย้งระหว่างพระคาร์ดินัลผู้ทรงอิทธิพลกับผู้นำชาวเนเปิลส์ ได้เปิดโอกาสให้พระโอรสของพระนางอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งขึ้น[61] เจ้าชายอันดราสไปเข้าฝ่ายกับพี่น้องปิปินีและสัญญาว่าจะให้พวกเขาได้รับอิสรภาพ[61] รายงานของเปตรากทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเชื่อว่า สภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่สามารถบริหารอาณาจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ[57] ด้วยทรงเน้นย้ำว่า สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนายังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระสันตะปาปาจึงทรงแต่งตั้งพระคาร์ดินัลเอเมอรี เดอ ชาลูส เป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระสันตะปาปาเข้าทำการฟ้องร้องเรียนรัฐบาล เร็กโน (Regno) ด้วยโองการของพระสันตะปาปาในวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1343[62][57] คณะทูตของพระนางโจวันนาได้พยายามหลายครั้งที่จะถ่วงเวลาคณะผู้แทนของสมเด็จพระสันตะปาปาที่เดินทางมาจากอาวีญง[63]

การเจรจากันระหว่างพระสัสสุของพระนางกับทางสันตะสำนักทำให้สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงตื่นตระหนก และทรงมีลายพระหัตถ์ถึงสมเด็จพระสันตะปาปาฉบับหนึ่งในวันที่ 1 ธันวาคม ขอให้ทรงหยุดพูดคุยเรื่องของเนเปิลส์กับพวกทูตฮังการี[58] สมเด็จพระสันตะปาปาทรงปรารภถึงเจ้าชายอันดราสว่าเป็น "พระมหากษัตริย์ผู้รุ่งโรจน์แห่งซิชิลี"และเรียกร้องให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกในลายพระหัตถ์เมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1344 แต่ไม่นานพระองค์ก็ทรงเน้นย่ำถึงสิทธิในการปกครองตามสายโลหิตอันชอบธรรมของพระนางโจวันนา[64] ห้าวันถัดมา สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงเรียกร้องให้สมเด็จพระสันตะปาปาถอนคณะผู้แทนของพระองค์ออกไป และประทานอนุญาตให้พระนางปกครองเพียงลำพัง[65] สมเด็จพระสันตะปาปาทรงตอบในไม่ช้าโดยประกาศว่า สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาจะปกครองราชอาณาจักรแต่เพียงผู้เดียว "ราวกับว่าพระนางเป็นบุรุษ" แม้ว่าพระนางและพระสวามีจะทรงราชบัลลังก์ร่วมกันก็ตาม[66] ในช่วงเวลาเดียวกัน สมเด็จพระพันปีหลวงแอร์เฌแบ็ตเสด็จกลับเนเปิลส์ และข้าราชบริพารของเจ้าชายอันดราสแจ้งแก้พระนางแอร์เฌแบ็ตว่า พวกเขาล่วงรู้แผนการที่พยายามลอบปลงพระชนม์เจ้าชาย[67] พระนางตัดสินพระทัยพาพระโอรสเสด็จกลับฮังการี แต่สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนา อักเนสแห่งเปรีกอร์และแคทเทอรีนแห่งวาลัวส์ ร่วมกันเกลี้ยกล่อมพระนาง[67] พระนางโจวันนาและเหล่าพระอัยยิกาของพระนาง (ทั้งสองเป็นน้องสะใภ้ของปู่พระนางโจวันนา) มักจะเกรงว่า เจ้าชายอันดราสอาจจะกลับมายังเนเปิลส์พร้อมกองทัพจากฮังการี[67] สมเด็จพระพันปีหลวงแอร์เฌแบ็ตเสด็จออกจากอิตาลีในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ โดยไม่ให้พระโอรสเสด็จไปด้วย[68] ฝ่ายอ็องเฌอแว็ง ศัตรูทางตอนเหนือของอิตาลีฉวยโอกาสในช่วงที่อ่อนแอของรัฐบาล "เร็กโน"[69] โจวันนีที่ 2 มาร์ควิสแห่งมงแฟราและตระกูลวิสคอนติแห่งมิลานเข้ายึดครองเมืองอเลซซานเดรียและอัสติในแคว้นปีเยมอนเตและดำเนินการทางทหารต่อไปเรื่อยๆ โจมตีเมืองอื่นๆในปีเยมอนเตที่ยังยอมรับในอำนาจการปกครองของสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนา[70] พวกเขาบีบบังคับให้เมืองทอร์โทนา บราและอัลบาให้ยอมจำนนในค.ศ. 1344[70]

สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงเริ่มแจกจ่ายที่ดินขนาดใหญ่ของราชวงศ์แก่ผู้สนับสนุนที่ทรงไว้วางพระทัยที่สุด หนึ่งในนั้นมี โรแบร์โต เด คาบานนี ซึ่งมีเสียงเล่าลือว่าเป็นคู่รักของพระนาง[71] การแจกจ่ายที่ดินของพระนางโจวันนาทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงโกรธเคือง โดยทรงตรัสเป็นนัยว่า พระองค์ทรงพร้อมที่จะสนับสนุนบทบาทในการบริหารรัฐของเจ้าชายอันดราส[71] สมเด็จพระสันตะปาปาทรงสั่งให้พระคาร์ดินัลเอเมอรี เดอ ชาลูส เดินทางไปยังเนเปิลส์อย่างไม่รอช้า[63] ชาลูสเดินทางถึงเนเปิลส์ในวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1344[63] พระนางโจวันนามีพระราชประสงค์ที่จะกล่าวสัตย์สาบานจงรักภักดีต่อสมเด็จพระสันตะปาปาเพียงลำพังอย่างส่วนพระองค์ แต่ผู้แทนพระสันตะปาปากลับไม่ยินยอมตามข้อเรียกร้องของพระนาง[72] พระนางโจวันนาต้องทรงสาบานว่าจะเชื่อฟังพร้อมกับพระราชสวามีในลักษณะพิธีทางการ[72] พระนางโจวันนาทรงพระประชวร และด้วยทรงประชวรทำให้เจ้าชายอันดราสสามารถให้พี่น้องปิปินีได้รับอิสรภาพได้สำเร็จ แต่การกระทำของพระองค์ทำให้ขุนนางเนเปิลส์โกรธเคือง[73] วันที่ 28 สิงหาคม ผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปาได้รับรองพระนางโจวันนาอย่างเป็นทางการในฐานะรัชทายาทแห่งเนเปิลส์ แต่พระนางต้องยอมรับสิทธิของรัฐพระสันตะปาปาในการบริหารอาณาจักร[74] ชาลูสยุบสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และแต่งตั้งข้าราชการกลุ่มใหม่เพื่อปกครองแว่นแคว้น[74] อย่างไรก็ตาม ข้าราชสำนักของราชวงศ์ได้เพิกเฉยต่อคำสั่งของผู้แทน และสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงปฏิเสธที่จะจ่ายบรรณาการรายปีให้แก่สันตะสำนัก โดยทรงตรัสว่า พระนางทรงถูกลิดรอนสิทธิ์จาก "เร็กโน"[74]

พระคาร์ดินัลตาแลร็อง-เปรีกอร์ และทูตของพระนางโจวันนานำโดย ลุยจิแห่งดูราซโซ เรียกร้องให้สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ปลดผู้แทนพระองค์สันตะปาปา ซึ่งเขาเต็มใจที่จะสละตำแหน่งด้วยเช่นกัน[75] หลังจากพระเจ้าฟีลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศสเข้าแทรกแซงคณะผู้แทนพระสันตะปาปา ทำให้พระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ตัดสินพระทัยเรียกตัวเขากลับ โดยประกาศว่าสมเด็จพระราชินีนาถพระชันษา 18 พรรษา บรรลุนิติภาวะภายใต้การอุปถัมภ์ของคณะผู้แทนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1344[75][76] ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1345 พระสันตะปาปาทรงออกตราสารพระสันตะปาปาห้ามไม่ให้ ฟิลิปปาแห่งคาทาเนียกับเครือญาติของนางเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งพวกเขาเป็นผู้ที่พระนางโจวันนาไว้วางพระทัยที่สุด[77] และพระองค์ทรงเปลี่ยนตัวผู้แทนจากพระคาร์ดินัลชาลูสมาเป็นกีโญม ลามี บิชอปแห่งชาทร์[78] เพื่อทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาหายขุ่นเคืองพระทัย ทำให้พระนางโจวันนาตัดสินพระทัยประนีประนอมกับเจ้าชายอันดราสและคืนความสัมพันธ์ของคู่สมรส[79] ไม่นานนัก พระนางก็ทรงพระครรภ์[79]

ในขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงสั่งให้รีฟอซ ดากูลต์ ข้าราชการผู้ใหญ่แห่งพรอว็องส์ ยกทัพโจมตีปีเยมอนเต[70] ชาวเมืองชิเอรีและเจียโคโมแห่งซาวอยและอาเคียเข้าร่วมกองทัพของพรอว็องส์[70] พวกเขายึดครองเมืองอัลบาในฤดูใบไม้ผลิ แต่โจวันนีที่ 2 มาร์ควิสแห่งมงแฟราและตระกูลวิสคอนติ รวบรวมกองทัพใกล้เมืองชิเอรีและได้ชัยชนะเหนือกองทัพของดากูลต์ในยุทธการที่กาเมนาริโอในวันที่ 23 เมษายน[70] ดากูลต์ตายในสมรภูมิและเมืองชิเอรียอมจำนนต่อผู้ชนะ[70]

ความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนากับสมเด็จพระสันตะปาปาเริ่มตึงเครียด พระนางทรงเริ่มเข้าไปจัดการที่ดินของราชวงศ์และเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของสมเด็จพระสันตะปาปา[76] ในวันที่ 10 มิถุนายน สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 เรียกร้องให้พระนางหยุดขัดขวางการประกอบพิธีราชาภิเษกของเจ้าชายอันดราส แต่พระนางทรงตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ที่จะกีดกันพระสวามีออกจากการบริหารกิจการของรัฐ[76] ตามบันทึกของเอลิซาเบธ แคสทีน นักประวัติศาสตร์ ระบุว่า พระนางทรงตอบว่าพระนางทรงอยู่ในสถานะที่ดีที่สุดที่จะดูแลผลประโยชน์ให้แก่สวามีของพระนางเอง นั้นหมายความว่า "ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาททางเพศของชีวิตสมรส" ของพระนางนั้นผิดปกติ[78] ในวันที่ 9 กรกฎาคม สมเด็จพระสันตะปาปาทรงประกาศว่าพระองค์อาจจะบัพพาชนียกรรมพระนางออกจากศาสนา ถ้ายังคงโอนย้ายยุ่งเกี่ยวกับที่ดินราชวงศ์อยู่[78] สมเด็จพระพันปีหลวงซานเชียสิ้นพระชนม์ในวันที่ 28 กรกฎาคม[78] ไม่นาน สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงละทิ้งพระสวามีของพระนาง[78] มีข่าวลือว่าเกิดเรื่องอื้อฉาวกันระหว่างพระนางโจวันนากับลุยจิแห่งตารันโต แพร่หลายไปทั่วเนเปิลส์[78] แต่ความไม่ซื่อสัตย์ในชีวิตสมรสของพระนางก็ไม่ได้ถูกพิสูจน์ความจริง[80] สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ตัดสินใจจัดพิธีราชาภิเษกให้เจ้าชายอันดราสและทรงกำชับให้พระคาร์ดินัลชาลูสประกอบพิธี[81]

การปลงพระชนม์เจ้าชายอันดราส ดยุคแห่งคาลาเบรีย วาดโดย คาร์ล บรุยลอฟ

เมื่อได้ยินการกลับคำพูดของสมเด็จพระสันตะปาปา กลุ่มผู้สมรู้ร่วมคิดมีความมุ่งมั่นที่จะขัดขวางพิธีราชาภิเษกของอันดราส ระหว่างเสด็จไปล่าสัตว์ที่อแวร์ซาในค.ศ. 1345 เจ้าชายอันดราสเสด็จออกจากห้องบรรทมในกลางดึกคาบเกี่ยวระหว่างวันที่ 18 และ 19 กันยายน และตามแผนของกลุ่มผู้สมรู้ร่วมคิด คนรับใช้ผู้ทรยศได้ปิดประตูเบื้องหลังเจ้าชายไว้ และทรงอยู่ร่วมกับพระนางโจวันนาให้ห้องบรรทมของพระนางเอง และการต่อสู้ที่น่ากลัวได้เกิดขึ้น เจ้าชายอันดราสทรงปกป้องพระองค์เองอย่างดุเดือดและทรงร้องขอความช่วยเหลือ ในที่สุดเจ้าชายก็หมดกำลัง ทรงถูกรัดพระศอด้วยเชือก และถูกเหวี่ยงลงมาจากหน้าต่างโดยเชือกที่รัดอยู่ที่พระคุยหฐานของพระองค์ อิโซลเดอ ซึ่งเป็นพยาบาลของเจ้าชายอันดราส ได้ยินเสียงร้อง และวิ่งเข้ามาซึ่งเสียงร้องของเธอทำให้ฆาตกรหนีออกไป เธอนำพระศพของเจ้าชายไปที่โบสถ์ และอยู่กับพระศพจนถึงเช้าด้วยความโศกเศร้า เมื่ออัศวินฮังการีมาถึง เธอบอกพวกเขาทุกอย่างเป็นภาษาบ้านเกิด เพื่อไม่ให้คนอื่นรู้ความจริง และในไม่ช้าพวกอัศวินได้ออกจากเนเปิลส์และเดินทางไปกราบทูลกษัตริย์ฮังการีทุกอย่าง ความเห็นต่างๆ ถูกแบ่งออก บ้างก็ว่าพระราชินีนาถมีส่วนร่วมจริงจังในการวางแผนปลงพระชนม์ สำหรับบางคนมองว่า พระนางทรงยุยงให้เกิดการฆาตกรรม สำหรับความเห็นบางคน เช่น เอมิล-กีโญม ลีโอเนิร์ด อธิบายว่า การมีส่วนร่วมของโจวันนาในแผนการยังไม่ถูกพิสูจน์ว่าเป็นจริง[82]

สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงแจ้งต่อสันตะสำนัก รวมถึงหลายๆ รัฐในยุโรปเกี่ยวกับการฆาตกรรม โดยแสดงความรังเกียจเดียดฉันท์พระนางผ่านจดหมาย แต่ข้าราชบริพารสหายวงในของพระนางถูกมองว่าเป็นผู้ต้องสงสัยมากที่สุด ในวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1345 พระนางมีประประสูติกาลพระราชโอรส คือ เจ้าชายคาร์โล มาร์แตล เป็นบุตรที่ประสูติหลังมรณกรรมของบิดา ทารกได้รับการประกาศเป็นดยุกแห่งคาลาเบรียและเจ้าชายแห่งซาเลอโน ในวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1346 ในฐานะรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์เนเปิลส์

การฆาตกรรมและสงคราม

[แก้]

เมื่อพระนางโจวันนาครองราชบัลลังก์ ขุนนางหลายคนทางตอนเหนือของอิตาลีมองว่า เป็นโอกาสเหมาะที่จะขยายอาณาเขตของตนอันเป็นสิ่งที่พระนางต้องชดใช้ ในค.ศ. 1344 โจวันนีที่ 2 มาร์ควิสแห่งมงแฟรานำกองทัพเข้าโจมตีและยึดเมืองของพระนาง ได้แก่ อเลซซานเดรีย อัสติ ทอร์โทนา บราและอัลบา พระนางทรงส่งรีฟอซ ดากูลต์ ข้าราชการผู้ใหญ่ ไปรับมือกับกองทัพมงแฟรา เขาได้ต่อสู้กับผู้รุกรานในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1345 ในยุทธการที่กาเมนาริโอ แต่เขาพ่ายแพ้และถูกสังหาร[70]

มงแฟราเข้าไปยึดครองเมืองชิเอรี ซึ่งเป็นดินแดนของเจียโคโมแห่งปิเยมอนเต ซึ่งสนับสนุนพระนางโจวันนา เจียโคโมร้องขอความช่วยเหลือจากญาติและขุนนาง คือ อาเมเดโอที่ 6 เคานท์แห่งซาวอย ในค.ศ. 1347 พวกเขาสามารถขับไล่ผู้รุกรานให้ถอยกลับไปได้ในเดือนกรกฎาคม จากนั้นโจวันนีได้เพิ่มกองกำลังพันธมิตรของเขามากขึ้น โดยร่วมมือกับตอมมาโซที่ 2 มาร์ควิสแห่งซาลูซโซและอุมแบร์ที่ 2 แห่งเวียนนัวส์ พวกเขาร่วมกันยึดครองดินแดนของพระนางโจวันนาเกือบทั้งหมดในภูมิภาคนี่[83]

เมื่อพระนางทรงเปิดเผยแผนการอภิเษกสมรสของพระนางต่อสาธารณะ โดยจะอภิเษกกับพระญาติสายตารันโตของพระนาง และไม่อภิเษกกับพระอนุชาของเจ้าชายอันดราส คือ เจ้าชายอิชต์วาน ชาวฮังการีจึงกล่าวหาพระนางในเรื่องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม

ลุยจิแห่งตารันโตเป็นแม่ทัพที่โดดเด่น ผู้ซึ่งเข้าใจการเมืองของเนเปิลส์ด้วยประสบการณ์ทั้งพระชนม์ชีพของพระองค์ ลุยจิทรงถูกเลี้ยงดูในราชสำนักของแคทเทอรีนแห่งวาลัวส์-กูร์เตอแน สมเด็จย่าสะใภ้ของพระนางโจวันนา หลังจากพระนางโจวันนาทรงตั้งพระทัยที่จะอภิเษกสมรสกับลุยจิ พระเชษฐาของพระองค์คือ โรแบร์โต เจ้าชายแห่งตารันโตก็รวมกำลังกับการ์โลแห่งดูราซโซ พระญาติ (และเป็นศัตรูคู่แข่งในอดีต) เพื่อต่อต้านสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาและพระอนุชาของพระองค์เอง ข้าราชบริพารและคนรับใช้บางคนของพระนางโจวันนาถูกทรมานและถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งรวมทั้งฟิลิปปาแห่งคาทาเนีย พระอภิบาลในพระราชินีนาถและครอบครัวได้ถูกประหาร ลุยจิประสบความสำเร็จในการขับไล่กองทัพของพระเชษฐาให้ถอยทัพกลับไป แต่เมื่อพระองค์ไปถึงเนเปิลส์ ก็ล่วงรู้ว่าพวกฮังการีวางแผนที่จะรุกราน สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงทำสนธิสัญญากับราชอาณาจักรซิซิลีเพื่อป้องกันการรุกรานในเวลาเดียวกัน พระนางอภิเษกสมรสกับลุยจิในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1347 โดยไม่ทรงขอความเห็นชอบจากสมเด็จพระสันตะปาปาเนื่องจากเป็นญาติที่มีสายสัมพันธ์กันใกล้ชิด

การชิงอภิเษกสมรสเสียก่อน ลุยจิทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิทักษ์และผู้ปกป้องราชอาณาจักรร่วม (1 พฤษภาคม ค.ศ. 1347) ร่วมกับการ์โลแห่งดูราซโซ 1 เดือนถัดมา (20 มิถุนายน) ลุยจิได้รับการแต่งตั้งเป็นอุปมุขนายกแห่งราชอาณาจักร การอภิเษกสมรสครั้งนี้ทำให้พระเกียรติยศและชื่อเสียงของสมเด็จพระราชินีนาถต้องเสื่อมลงไป[84]

คาสเตลนูโวในเนเปิลส์

พระเจ้าลอโยซมหาราช พระเชษฐาของเจ้าชายอันดราสได้เหตุที่จะเข้ายึดครองราชอาณาจักรเนเปิลส์ พระองค์นำกองทัพแรกยกทัพเข้าเมืองลากวีลา วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1347[85]

ในวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1348 กองทัพฮังการีประจำการที่เบเนเวนโต พร้อมที่จะรุกรานอาณาจักรเนเปิลส์[86] เมื่อภัยคุกคามใกล้เข้ามา สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาเสด็จหนีไปประทัยที่คัาสเตลนูโว และทรงไว้วางพระทับในความภักดีของเมืองมาร์แซย์ ได้เตรียมการเสด็จหนีของพระนาง ต่อการไล่ล่าแก้แค้นโดยพระเจ้าลอโยช พระนางไม่ทรงรอให้พระสวามีกลับมา ทรงรีบเสด็จออกทางเรือในวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1348 ด้วยเรือแจวโบราณสองลำ ซึ่งเป็นของชาวเมืองมาร์แซย์ ชื่อ ฌัก เดอ กูร์แบร์ เดินทางไปยังพรอว็องซ์[87] โดยมีเอ็นริโก คารัคซิโอโล ผู้ขงรักภักดีติดตามพระนางไปด้วย ลุยจิแห่งตารันโตเดินทางมาถึงเนเปิลส์ในวันถัดมาและหลบหนีตามไปด้วยเรืออีกลำ[88]

เมื่อกองทัพฮังการีเข้ายึดครองเนเปิลส์ได้อย่างง่ายดาย พระเจ้าลอโยชมหาราชมีพระราชโองการให้ประหารชีวิตการ์โลแห่งดูราซโซ พระญาติของพระนางโจวันนา และเป็นพระเทวันในพระราชินี เขาถูกตัดหัวในวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1348 ในสถานที่เดียวกับที่เจ้าชายอันดราส พระอนุชาในกษัตริย์ลอโยชถูกปลงพระชนม์ พระราชโอรสสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ประสูติแต่เจ้าชายอันดราส คือ เจ้าชายการ์โล มาร์แตลโล (ซึ่งได้หมั้นหมายกับบุตรสาวของการ์โลแห่งดูราซโซ) ได้ถูกพระราชชนนีทอดทิ้งไว้ ได้ถูกส่งไปประทับกับกษัตริย์ฮังการี พระปิตุลาที่เมืองวิแชกราด ในราชอาณาจักรฮังการี[89][90][91] ซึ่งเจ้าชายสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1348 ขณะมีพระชนมายุเพียง 2 ชันษา

หลังจากประทับพักที่ป้อมเบรแกนซง สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาก็เสด็จถึงมาร์แซย์ในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1348 ซึ่งพระนางทรงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น[92] พระนางทรงให้สัตย์สาบานว่าจะปฏิบัติตามสิทธิพิเศษของเมืองและทรงได้รับการถวายความจงรักภักดีจากชาวเมือง พระนางได้ลงพระปรมาภิไธยในเอกสารสิทธิ์ที่รวมเมืองตอนบนและเมืองตอนล่างเข้าด้วยกัน เพื่อให้บริหารเมืองได้ง่ายยิ่งขึ้น จากนั้นพระนางได้เสด็จไปยังแอ็กซ็องพรอว็องส์ ที่ซึ่งพระนางได้รับการต้อนรับที่แตกต่างไปมาก ขุนนางชาวพรอว็องส์แสดงตนเป็นศัตรูกับพระนางอย่างชัดเจน พระนางต้องทรงให้สัตย์สาบานว่าจะไม่ทรงทำอะไรกับพรอว็องซ์และต้องทรงแต่งตั้งเฉพาะคนท้องถิ่นเข้าประจำยศตำแหน่งของท้องถิ่นเท่านั้น[93]

สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาเสด็จถึงอาวีญงในวันที่ 15 มีนาคม โดยได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นการส่วนพระองค์ ลุยจิแห่งตารันโตเดินทางมาสมทบกับพระนางที่เอกูมอร์ต และทั้งคู่ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 การเข้าเฝ้าฯ ของพระนางโจวันนามีวัตถุประสงค์สามประการ ประการแรก ทรงต้องการเงินชดเชยสำหรับการสมรสของพระนางกับลุยจิแห่งตารันโต ประการที่สองทรงต้องการได้รับการอภัยโทษให้พ้นจากบาป หรือการปลดเปลื้องจากข้อกล่าวหาการปลงพระชนม์เจ้าชายอันดราส และประการที่สาม ทรงต้องการทวงคืนราชอาณาจักรของพระนาง สมเด็จพระสันตะปาปาทรงพระราชทานเงินชดเชยให้แก่ทั้งคู่ และทรงตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนข้อกล่าวหาในการปลงพระชนม์เจ้าชายอันดราส และทรงซื้อเมืองอาวีญงในราคา 80,000 ฟลอริน ทำให้มีการบริหารที่แยกออกจากพรอว็องซ์[84][94] ในที่สุดพระนางโจวันนาก็ได้รับการปลดเปลื้องจากข้อกล่าวหาโดบสมเด็จพระสันตะปาปา[84] ระหว่างที่ทรงประทับในอาวีญงจนสิ้นสุดเดือนมิถุนายน พระนางโจวันนาทรงมีพระประสูติกาลพระบุตรองค์ที่สอง และเป็นองค์แรกที่ประสูติแต่ลุยจิแห่งตารันโต มีพระนามว่า เจ้าหญิงคาทารินา

เมื่อทรงทราบว่าพระเจ้าลอโยซแห่งฮังการีทรงละทิ้งเนเปิลส์หลังจากการละบาดของกาฬมรณะ พระนางโจวันนา พร้อมพระราชสวามีและพระราชธิดา เสด็จออกจากอาวีญงในวันที่ 21 กรกฎาคม และประทับที่มาร์แซย์ในวันที่ 24-28 กรกฎาคม จากนั้นย้ายไปประทับที่ซานารีซูร์แมร์ในวันที่ 30 กรกฎาคม จากนั้นเสด็จไปยังป้อมเบรเกนซงในวันที่ 31 กรกฎาคม และสุดท้ายได้เสด็จถึงเนเปิลส์ในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1348[95] หนึ่งเดือนหลังจากมาถึง พระนางก็ทรงผิดสัญญาโดยในวันที่ 20 กันยายน พระนางทรงปลดเรย์มอนด์ ดากูลต์ ออกจากตำแหน่งข้าราชการผู้ใหญ่และแต่งตั้งโจวันนี บาร์รีลี ชาวเนเปิลส์ดำรงตำแหน่งแทน กระแสความไม่พอใจของสาธารณชนมีมากขึ้นจนพระนางโจวันนาต้องทรงแต่งตั้งดากูลต์กลับคืนสู่ตำแหน่ง[96]

เมื่อเวลาผ่านไป ชาวฮังการีถูกมองว่าเป็นคนป่าเถื่อนโดยชาวเนเปิลส์ รวมถึงโจวันนี บอกกัชโช (บรรยายถึงพระเจ้าลอโยซมหาราชว่าเป็นพวก "บ้าคลั่ง" หรือ "ชั่วร้ายยิ่งกว่างู")[97] ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถและพระราชสวามีได้รับความนิยมกลับคืนมาได้ เมื่อเสด็จกลับเนเปิลส์

ลุยจิแห่งตารันโต

[แก้]
เหรียญของพรอว็องซ์สลักว่า "พระเจ้าลุยจิและสมเด็จพระราชินีโจวันนา" (L· REX- E· I· REG) ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1349 ถึง 1362

ตั้งแต่ต้นปีค.ศ. 1349 เป็นต้นมา เอกสารทั้งหมดของราชอาณาจักรได้ออกพระปรมาภิไธยในนามของทั้งพระสวามีและพระมเหสี และลุยจิทรงควบคุมปราการทางทหารทั้งหมดโดยไม่มีใครต้านทานได้[98] เหรียญมีการออกชื่อรัชสมัยร่วมกัน พระนามของลุยจิอยู่นำหน้าพระนามของโจวันนา[99] แม้ว่าลุยจิจะไม่ได้ทรงได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ในฐานะพระมหากษัตริย์และพระประมุขร่วมจนถึงค.ศ. 1352 มีแนวโน้มว่าชาวเนเปิลส์ถือว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ของพวกเขาตั้งแต่เวลาแรกที่พระองค์ได้แสดงตนเป็นประมุข[98]

กษัตริย์ลุยจิทรงฉวยโอกาสในช่วงที่อาณาจักรวุ่นวายจากการถูกกองทัพฮังการีโจมตีในการแย่งชิงอำนาจราชวงศ์มาจากพระหัตถ์ของสมเด็จพระราชินีนาถ[99] พระองค์ทรงกวาดล้างกลุ่มผู้สนับสนุนสมเด็จพระราชินีนาถในราชสำนัก[100] และน่าจะทรงประหารเอนริโก การัคซิโอโล คนโปรดของพระนางโจวันนา ด้วยข้อกล่าวหาว่าผิดประเวณีในเดือนเมษายน ค.ศ. 1349[98] สองเดือนถัดมา ในวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1349 เจ้าหญิงคาทารินา พระราชธิดาได้สิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุ 1 ชันษา

หลังจากเกิดการรุกรานของฮังการีอีกครั้งหนึ่งซึ่งนำไปสู่การสร้างกำแพงเนเปิลส์ในปีค.ศ. 1350 สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ทรงส่งผู้แทนพระองค์คือ เรย์มอนด์ ซาเกต์ บิชอปแห่งแซ็งโอแมร์ พร้อมกองเรือที่บัญชาการทัพโดยอูกส์ เด โบซ์ มายังเนเปิลส์[101] ด้วยเหตุนี้ กษัตริย์ลุยจิทรงสัญญาว่าจะเคารพความเป็นอิสระของพระนางโจวันนา หลังจากนั้นไม่นาน พระเจ้าลอโยซมหาราชทรงบาดเจ็บสาหัส ก็เสด็จกลับประเทศของพระองค์เอง

ภาพศิลปะเฟรสโกสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 และลุยจิแห่งตารันโต หรือ กษัตริย์ลุยจิที่ 1

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1351 สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดาองค์ที่สอง คือ เจ้าหญิงฟรานเชสกา ห้าเดือนหลังจากนั้น วันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1352 กษัตริย์ลุยจิทรงได้รับการยอมรับจากสมเด็จพระสันตะปาปาอย่างเป็นทางการในฐานะเป็นพระประมุขร่วมกับพระมเหสีในทุกอาณาจักรของพระนาง ในวันที่ 27 พฤษภาคม กษัตริย์ลุยจิทรงได้รับการสวมมงกุฎจากอาร์คบิชอปแห่งบรากาที่โฮเตลดิตารันโตในเนเปิลส์[102] ไม่กี่วันหลังจากนั้น วันที่ 2 มิถุนายน เจ้าหญิงฟรานเชสกา พระราชธิดาของทั้งสองพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ขณะมีพระชันษาได้ 8 เดือน

ในปีค.ศ. 1356 กษัตริย์ลุยจิและสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงริเริ่มพิชิตคืนเกาะซิชิลีอีกครั้ง ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จเข้าเมืองเมสซีนาอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1356 หลังจากชัยชนะของนิกโคโล อัคซิโอลี ซึ่งต่อมาเขาถูกสั่งให้ออกไปรบอีกครั้งแต่พ่ายแพ้ทางทะเลอย่างหนักต่อกองทัพกาตาลัน (24 มิถุนายน ค.ศ. 1357) ที่อาชิเรอาเล[103]

ในเวลาเดียวกัน กองทหารรับจ้างของอาร์โนด์ เดอ แซร์โวล (ถูกเรียกว่า "อัครสังฆราช") เคลื่อนทัพข้ามแม่น้ำดูรันซ์ในวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1357 และเข้าปล้นสะดมพรอว็องซ์[104] ฟิลิปโปแห่งตารันโต พระอนุชาของกษัตริย์ลุยจิ (และเป็นพระสวามีองค์ที่สามของมาเรีย พระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินีนาถ ตั้งแต่เมษายน ค.ศ. 1355) ถูกส่งไปยังพรอว็องซ์ในฐานะนายพลเพื่อต่อสู้กับกองทัพที่เข้าปล้นสะดมพรอว็องซ์ เขาได้ซื้อการสนับสนุนทางทหารจากเคานท์แห่งอาร์มาญัก ซึ่งทำให้คนในท้องถิ่นหวั่นกลัว ในที่สุดสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 6 ทรงปลดประจำการกองทหารรับจ้างนี้โดยจ่ายเงินให้

กษัตริย์ลุยจิที่ 1 ทรงพระประชวรเป็นหวัดหลังจากสรงน้ำ พระอาการของพระองค์เลวร้ายลงตลอดเวลาหนึ่งเดือนและสิ้นพระชนม์ในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1362[105]

การปกครองแต่เพียงผู้เดียว

[แก้]
ไชเมที่ 4 แห่งมาจอร์กา

การเสด็จสวรรคตของกษัตริย์ลุยจิที่ 1 พระสวามีผู้โหดเหี้ยมและเผด็จการ ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาได้โอกาสยึดพระราชอำนาจคืน หลังจากทรงถูกกีดกันมา ในช่วงสามปีถัดมาสมเด็จพระราชินีนาถทรงใช้พระราโชบายหลายอย่างเพื่อให้ได้รับความนิยม ได้แก่ ทรงพระราชทานอภัยโทษแก่เรย์มงด์ เด โบซ์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1363 ทรงปลดโรเจอร์แห่งซานเซเวรีโน และแทนที่ด้วยฟูก ดากูลต์ ในตำแหน่งข้าราชการผู้ใหญ่แห่งพรอว็องซ์ และทรงประกาศใช้กฎหมายต่างๆเพื่อป้องกันความไม่สงบภายในประเทศ

ในวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1362 พระนางโจวันนาทรงอภิเษกสมรสโดยฉันทะในการสมรสครั้งที่สามของพระนางกับไชเมที่ 4 ผู้อ้างสิทธิในกษัตริย์มาจอร์กาและเจ้าชายแห่งอาเซีย ซึ่งอ่อนพระชันษากว่าพระนาง 10 ปี พระราชพิธีอภิเษกสมรสจัดขึ้นในอีกห้าเดือนถัดมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1363 ที่คาสเตลนูโว โชคร้ายที่การอภิเษกสมรสครั้งที่สามนี้ก็ตามมาด้วยความวุ่นวายเช่นกัน พระราชสวามีพระองค์ใหม่ของพระนาง ทรงเคยถูกพระเจ้าเปโดรที่ 4 แห่งอารากอน พระมาตุลา หรือสมเด็จอาฝ่ายพระชนนี จำคุกกักขังเป็นระยะเวลาเกือย 14 ปีในกรงเหล็ก ซึ่งเป็นเหตุให้พระองค์มีจิตฟั่นเฟือน[106] นอกจากสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ของพระองค์แล้ว ยังมีความขัดแย้งของทั้งคู่อีก โดยไชเมที่ 4 แห่งมาจอร์กาทรงต้องการมีส่วนร่วมในคณะรัฐบาล[107] แม้ว่าในสัญญาการสมรสจะระบุว่าพระองค์จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในรัฐบาลของเนเปิลส์ก็ตาม แม้ว่าคู่สมรสจะมีปัญหากัน แต่ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1365 สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงพระครรภ์พระบุตรของกษัตริย์ไชเม แต่โชคร้ายที่ในเดือนมิถุนายน พระราชินีทรงแท้งพระบุตร โดยมีหลักฐานเป็นพระราชสาสน์แสดงความเสียพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 5 ในวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1365[108][109] พระนางไม่ทรงตั้งพระครรภ์อีกเลย

ด้วยพลาดหวังที่จะได้เป็นพระมหากษัตริย์เนเปิลส์ ไชเมที่ 4 เสด็จออกจากเนเปิลส์ไปยังสเปนปลายมกราคม ค.ศ. 1366 และพยายามยึดคืนมาจอร์กาแต่ล้มเหลว พระองค์ถูกจับกุมโดยพระเจ้าเอนริเกที่ 2 แห่งกัสติยาซึ่งส่งตัวพระองค์ไปให้แก่แบร์ทรองด์ ดู เกส์คลินโดยคุมขังไว้ที่มงเปอลีเย สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงจ่ายค่าไถ่ตัวพระราชสวามีในค.ศ. 1370 และได้ประทับอยู่ร่วมกันเวลาสั้นๆ แต่ก็แยกจากกันอีก ไชเมที่ 4 ล้มเหลวในการยึดแคว้นรูซิยงและเซอร์ดานยาในค.ศ. 1375 และพระองค์หนีไปยังกัสตียา จากนั้นสิ้นพระชนม์ด้วยพระประชวรหรือทรงถูกวางยาพิษที่ซอเรียในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1375[110]

เพื่อยืนยันสิทธิ์ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เหนือราชอาณาจักรอาร์ล จักรพรรดิคาร์ลที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และกษัตริย์แห่งโบฮีเมียเสด็จฯ ข้ามอาวีญงและราชาภิเษกในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1365 เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาร์ลที่โบสถ์แซงต์โทรฟิม แต่รับรองสิทธิ์ของพระนางโจวันนาเหนือพรอว็องซ์[111]

เจ้าชายหลุยส์ที่ 1 ดยุคแห่งอ็องฌูพระราชอนุชาในพระเจ้าชาร์ลที่ 5 แห่งฝรั่งเศสและแม่ทัพแห่งล็องก์ด็อก ได้อ้างสิทธิ์ในการถือครองพรอว็องซ์ ด้วยความช่วยเหลือจากกองทัพของแบร์ทรองด์ ดู เกส์คลิน พระองค์จึงเข้าโจมตี เมืองอาวีญงถูกเรียกค่าไถ่ ส่วนเมืองอาร์ลและทาร์อัสคงถูกปิดล้อม แต่แล้วเมืองอาร์ลถูกยึดครอง ส่วนทาร์อัสคงได้รับการช่วยเหลือจากทหารพรอว็องซ์หลังจากถูกปิดล้อมเป็นเวลาสิบเก้าวันและยึดเมืองไม่สำเร็จ[112] กองทัพของเรย์มอนด์ที่ 2 ดากูลต์ ข้าราชการผู้ใหญ่พ่ายแพ้ที่เมืองเซเลสเต[113] การเข้าแทรกแซงของสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 5 และพระเจ้าชาร์ลที่ 5 รวมถึงการขับไล่ ดู เกส์คลินออกจากศาสนาในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1368 ทำให้กองทัพของเขาล่าถอย และลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเมื่อวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1369 ซึ่งตามมาด้วยการลงนามสงบศึก วันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1370

ภาพศิลปะเฟรสโกจากซ้าย สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนา (สวมมงกุฎ) นักบุญแคทเทอรีนแห่งวัดสเตอนา นักบุญบริจิตแห่งสวีเดน (สวมชุดคลุม) และลาปา บวนเดลมอนเต อัคเชียยูโอลี ซึ่งทั้งหมดเป็นพระสหายของพระนางโจวันนา

หลังจากช่วงเวลาความไม่สงบนี้ รัชกาลของพระนางโจวันนาค่อนข้างสงบ ซึ่งอันเนื่องมาจากความสัมพันธ์อันดีของพระนางกับสันตะสำนักภายใต้สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 5 และสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 11 เอลเซียร์แห่งซาบราน[114]ได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปีค.ศ. 1371 บริจิตแห่งสวีเดนเดินทางเยือนเนเปิลส์ในปค.ศ. 1372 ด้วยการไกล่เกลี่ยจากสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 11 ได้มีการทำสนธิสัญญาสันติภาพครั้งสุดท้ายกับหลุยส์ที่ 1 ดยุคแห่งอ็องฌูในวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1371 ซึ่งหลุยส์ทรงสละสิทธิเหนือเมืองทาร์อัสคง[115] นอกจากนี้สมเด็จพระราชินีนาถทรงฟื้นฟูเขตศักดินาของพระองค์ในปีเยมอนเต โดยความสำเร็จของออตโตแห่งเบราน์ชไวค์ ทหารรับจ้างอิตาลี ซึ่งพระนางได้อภิเษกสมรสกับเขาในเวลาต่อมา

ตามสนธิสัญญาวิลเลอนูเวอ (ค.ศ. 1372) สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงยอมรับการสูญเสียอำนาจการครองเกาะซิซิลีอย่างถาวร ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากมากว่า 90 ปีก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ค.ศ. 1282 จากนั้นพระนางโจวันนาทรงมุ่งมั่นในการบริหารราชอาณาจักรของพระนาง และทรงมีความสุขที่ได้ปกครองคณะรัฐบาล แม้ว่าพระนางจะเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยุติธรรมและรอบคอบแต่ก็ไม่มีการออกกฎหมายหรือตราคำสั่งใดๆ เลยที่จะดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุมัติและประทับตราส่วนพระองค์ รัชกาลของพระนางโจวันนามีความโดดเด่นจากการสนับสนุนและปกป้องธุรกิจท้องถิ่น การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ และทรงปฏิเสธที่จะลดค่าสกุลเงิน อาชญากรรมลดลงอย่างมาก และพระนางทรงเป็นผู้สนับสนุนสันติภาพภายในราชอาณาจักรอันกว้างใหญ่อย่างกระตือรือร้น

แม้ว่าสมเด็จพระราชินีนาถทรงมีความเชื่อเรื่องจิตและวิญญาณอย่างลึกซึ้งและเป็นมิตรกับกาเตรีนาแห่งซีเอนากับบริจิตแห่งสวีเดน แต่ราชสำนักของพระนางมีความโดดเด่นเรื่องความโก้หรู ด้วยการสะสมสัตว์หายากของพระนางและคนรับใช้จากหลากหลายเชื้อชาติเช่น ชาวตุรกี ซาราเซนและแอฟริกัน

นักเขียนร่วมสมัยอย่างโจวันนี บอกกัชโช ได้อธิบายถึงสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 ในงานเขียนเดอมูลีเอรีบัสคลารีส ว่า "โจวันนา ราชินีแห่งซิซิลีและเยรูซาเลม มีชื่อเสียงมากกว่าสตรีคนอื่นๆ ในยุคสมัยของพระนาง ในเรื่องเชื้อสาย อำนาจและอุปนิสัย" ภาพเขียนของพระนางที่ยังหลงเหลืออยู่แสดงให้เห็นว่าพระนางมีพระเกศาสีบลอนด์และผิวขาว

ศาสนเภทตะวันตก

[แก้]
ตราพระราชลัญจกรสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1

ด้วยปราศจากพระราชโอรสพระราชธิดา สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงพยายามหาทางแก้ปัญหาการสืบราชสมบัติ โดยทรงให้มีการเสกสมรสในเดือนมกราคม ค.ศ. 1369 ระหว่างพระนัดดาของพระนางคือ มาร์เกอริตาแห่งดูราซโซ (พระธิดาองค์สุดท้องของเจ้าหญิงมาเรีย พระขนิษฐาของพระนางโจวันนา ที่ประสูติแต่คาร์โล ดยุคแห่งดูราซโซ สวามีองค์แรก) กับพระญาติชั้นหนึ่งของพระนางคือ คาร์โลแห่งดูราซโซ (โอรสของลุยจิ เคานท์แห่งกราวินา)[116] แม้ว่าพระราชินีจะไม่ทรงเห็นด้วยแต่ก็ด้วยความจำเป็น การเสกสมรสครั้งนี้ถูกต่อต้านโดยอดีตพระเทวัน (น้องเขย) ของพระนาง และเป็นบิดาเลี้ยงในมาร์เกอริตา คือ ฟิลิปป์ที่ 2 เจ้าขายแห่งตารันโต ในระหว่างที่เขาป่วยหนักจนเกือบถึงแก่ชีวิตในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1373 เขาได้ยกมรดกและการอ้างสิทธิ์ให้แก่พี่เขย คือ ฟร็องซัวแห่งบูซ์ ดยุคแห่งอันเดรีย และบุตรชายของเขาคือ ฌัคแห่งบูซ์ ฟร็องซัวอ้างสิทธิ์ของฟิลิปป์ที่ 2 โดยใช้กองกำลัง ซึ่งพระนางโจวันนาสามารถปกป้องบัลลังก์เหมือนเดิมได้ พระนางโจวันนาจึงยึดทรัพย์สินของเขาด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1374[117]

สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงเริ่มบ่อนทำลายสถานะของคารโลแห่งดูราซโซในฐานะองค์รัชทายาทของราชบัลลังก์ โดยพระนางอภิเษกสมรสใหม่เป็นครั้งที่ 4 โดยการลงพระนามสัญญาสมรสวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1375 กับออตโต ดยุคแห่งเบราน์ชไวค์-กรูเบนฮาเกิน ผู้เคยช่วยปกป้องสิทธิ์ของพระนางในปีเยมอนเต โดยได้รับการอนุญาตจากสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 11 และมีการจัดพิธีอภิเษกสมรสในอีกสามเดือนถัดมา ในวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1376 ที่คาสเตลนูโว[116][118] แม้ว่าพระสวามีใหม่ของพระนางจะถูกลดพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายพระราชสวามี แต่คาร์โลแห่งดูราซโซไม่พอใจการอภิเษกสมรสครั้งนี้ของสมเด็จป้าของมาร์เกอริตา ผู้เป็นชายา จึงหันเข้าหาพระเจ้าลอโยซมหาราชแห่งฮังการี ศัตรูของสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนา

ในช่วงนี้เกิดศาสนเภทตะวันตก หนึ่งในเหตุการณ์ความแตกแยกทางศาสนาคริสต์ครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปยุคกลาง มีการเลือกสมเด็จพระสันตะปาปาขึ้นมาสองพระองค์ ได้แก่ บาร์โทโลเมโอ ปริกนาโน อาร์คบิชอปแห่งบารี (เลือกพระนามว่า สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6) กับโรแบร์ พระคาร์ดินัลแห่งเจนีวา (เลือกพระนามว่า สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7) พระสันตะปาปาองค์แรกประทับในโรม พระสันตะปาปาองค์หลังประทับในอาวีญง หลังจากที่ทรงลังเลอยู่พอสมควร สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงตัดสินพระทัยสนับสนุนคลีเมนต์ที่ 7 และสนับสนุนเงินจำนวน 50,000 ฟลอริน[119] สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 ได้สนับสนุนศัตรูของพระนางโจวันนา ได่แก่ กษัตริย์ฮังการี ดยุคแห่งแอนเดรีย และคาร์โลแห่งดูราซโซ เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤต สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงยื่นอุทธรณ์ต่อสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 ซึ่งพระองค์แนะนำให้พระนางหันไปหาหลุยส์ที่ 1 แห่งอ็องฌู ฝรั่งเศสและอาวีญงตั้งมั่นให้เนเปิลส์เป็นเขตหลักในอิตาลี หากจำเป็นต้องแก้ปัญหาศาสนเภทด้วยการใช้กำลัง อย่างไรก็ตามจุดมุ่งหมายหลักของพระนางโจวันนาที่ทรงสนับสนุนคลีเมนต์ ก็คือทรงต้องการป้องกันความพยายามของเออร์บันที่ 6 ที่จะช่วงชิงบัลลังก์เนเปิลส์ไปจากพระนาง และยกดินแดนของอาณาจักรให้แก่ฟรานเชสโก ปริกนาโน พระนัดดาของสันตะปาปา ในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1380 สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 ได้ประกาศให้พระนางโจวันนาเป็นคนนอกรีต และราชอาณาจักรของพระนางถือเป็นศักดินาของสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งจะต้องถูกริบราชบัลลังก์และมอบให้แก่คาร์โลแห่งดูราซโซ[120]

เพื่อแลกเปลี่ยนกับการขอความช่วยเหลือ สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 ทรงรับหลุยส์ที่ 1 แห่งอ็องฌูเป็นรัชทายาทในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1380[121] แทนที่คาร์โลแห่งดูราซโซ ข้อตกลงนี้สะท้อนความทะเยอทะยานของดยุคแห่งอ็องฌูที่เก็บงำมานาน คาร์โลแห่งดูราซโซยกทัพบุกเนเปิลส์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1380 โดยผู้นำกองทัพส่วนใหญ่เป็นชาวฮังการี

หลุยส์ที่ 1 แห่งอ็องฌู อาจจะไม่ทรงเข้าใจสถานการณ์ที่ร้ายแรงในเนเปิลส์ และพระองค์ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงในทันทีเพราะพระองค์ถูกบังคับให้ประทับอยู่ในฝรั่งเศสหลังการเสด็จสวรรคตของพระเชษฐา โดยต้องทรงดำรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แก่กษัตริย์พระองค์ใหม่ คือ พระเจ้าชาร์ลที่ 6 แห่งฝรั่งเศส พระราชนัดดา

การพิชิตเนเปิลส์ของคาร์โลแห่งดูราซโซ โดยได้ทำลายกองทัพของออตโตแห่งเบราน์ชไวค์ในปีค.ศ. 1381

สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงมอบหมายให้ออตโตแห่งเบราน์ชไวค์ เจ้าชายพระราชสวามีควบคุมกองกำลังซึ่งเท่าที่จะรวบรวมได้และมีไม่มาก แต่ออตโตไม่สามารถต้านทานกองทัพของคาร์โลแห่งดูราซโซได้ ซึ่งได้ข้ามพรมแดนเนเปิลส์ในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1381 หลังจากกองทัพของออตโตพ่ายแพ้ที่อานาญี คาร์โลได้อ้อมแนวป้องกันที่เมืองอแวร์ซาเข้าสู่กรุงเนเปิลส์วันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 19.00 น. และปิดล้อมปราสาทคาสเตลนูโวของสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนา[122] เมื่อปราศจากความช่วยเหลือ สมเด็จพระราชินีนาถทรงยอมจำนนในวันที่ 25 สิงหาคม และทรงถูกคุมขัง ครั้งแรกคุมขังที่คาสเตลเดลโลโว และหลังจากนั้นในเดือนสิงหาคมทรงถูกย้ายไปประทับที่คาสเตลเดลพาร์โคในโนเซรา อินเฟรีโอเร [123]

นักบุญกาเตรีนาแห่งซีเอนามองว่าสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาเป็นผู้ปกครองที่ถูกปีศาจทำให้เข้าใจผิดซึ่งลวงหลอกให้พระนางไปสนับสนุนคลีเมนต์ที่ 7 แทนที่ควรสนับสนุนเออร์บันที่ 6[124] ในจดหมายของเธอที่เขียนถึงพระนางโจวันนา กาเตรีนากราบทูลให้พระนางพิจารณาว่า สถานะทางโลกียวิสัยของพระนางจะไม่ถูกต้องถ้าหากยังทรงสนับสนุนสมเด็จสันตะปาปาจากอาวีญง โดยเขียนจดหมายว่า "และถ้าข้าพเจ้าพิจารณาสถานการณ์ของฝ่าพระบาท ก็เหมือนกับสินค้นทางโลกียวิสัยที่ไม่แน่นอนซึ่งจะผ่านเลยไปเหมือนลมพัดไหว ฝ่าพระบาททรงพรากทำลายสิทธิ์ของพระองค์ออกไปด้วยตัวพระองค์เอง"[125] สิ่งที่นักบุญกาเตรีนาหมายถึงคือสถานะทางนิตินัยของเนเปิลส์ที่เกี่ยวข้องกับสันตะสำนัก แม้ว่าสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทางได้รับการสถาปนาเป็นผู้ปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมายของเนเปิลส์ แต่พระนางยังทรงอยู่ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระสันตะปาปาแห่งกรุงโรม ราชบัลลังก์เนเปิลส์อยู่ภายใต้การคุ้มครองทางกฎหมายของสมเด็จพระสันตะปาปา "นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 13 และราชอาณาจักรนี้เป็นแหล่งรายได้ เป็นศักดิ์ศรี เป็นกองกำลังที่ทรงคุณค่าสำหรับศาสนจักร"[126]

ถูกปลงพระชนม์

[แก้]
ภาพนูนต่ำของสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ แซงต์-แม็กซิแมง-ลา-แซงต์-โบม
ภาพปัจจุบันของทางเข้าปราสาทมูโร ลูคาโน สถานที่ที่พระนางโจวันนาถูกปลงพระชนม์

ในที่สุดหลุยส์ที่ 1 แห่งอ็องฌู ตัดสินพระทัยที่จะดำเนินการและเสด็จไปยังอาวีญงในฐานะผู้บัญชาการกองทัพที่มีอำนาจเต็มในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1382 เพื่อช่วยเหลือพระนางโจวันนา[127] พระองค์ยกทัพผ่านตูรินและมิลาน ในช่วงต้นเดือนกันยายน ขณะที่หลุยส์เสด็จถึงเมืองอามาทริเช ใกล้กรุงโรม แต่ในเวลานั้นสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาเสด็จสวรรคตแล้ว คาร์โลแห่งดูราซโซคาดการณ์ว่าไม่สามารถต้านทานกองทัพของเจ้าชายหลุยส์ได้ จึงตัดสินใจในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1382[128][129] ให้ย้ายสมเด็จพระราชินีนาถจากคาสเตลเดลพาร์โคมายังปราสาทมูโร ลูคาโนซึ่งพาลาเมเด บอซซูโต เป็นเจ้าของ ที่นี่สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 ทรงถูกปลงพระชนม์ในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1382 ขณะมีพระชนมายุ 56 พรรษา[5][6]

ในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ คาร์โลอ้างว่าสมเด็จป้าในชายาของเขาสวรรคตด้วยสาเหตุธรรมชาติ อย่างไรก็ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า สมเด็จพระราชินีนาถถูกปลงพระชนม์ เนื่องจากทรงถูกย้ายไปยังที่ห่างไกลและมีการกระทำที่ลึกลับ เรื่องราวการปลงพระชนม์พระนางโจวันนาถูกเล่าอย่างแตกต่างกันไป โดยแหล่งข้อมูลที่ใกล้เคียงข้อเท็จจริงมากที่สุดสองแหล่ง ได้แก่

  • โทมัสแห่งเนียม ราชเลขาในสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 กล่าวว่า สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 ทรงถูกรัดพระศอด้วยผ้าไหมขณะที่ทรงประทับนั่งสวดมนต์ในโบสถ์ส่วนพระองค์ที่ปราสาทมูโร โดยผู้ลงมือคือทหารชาวฮังการี
  • มารีแห่งบัวส์ พระชายาในเจ้าชายหลุยส์ที่ 1 แห่งอ็องฌู บันทึกว่า สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงถูกปลงพระชนม์โดยบุรุษสี่คน ซึ่งน่าจะเป็นชาวฮังการี ทรงถูกมัดพระกรและพระบาท และอุดลมหายใจด้วยเบาะรองที่นอนขนนกสองหลัง

เนื่องจากไม่มีคำให้การจากพยานในชั่วขณะที่พระนางถูกปลงพระชนม์ จึงไม่สามารถสรุปรายงานอย่างแน่ชัดถูกต้องได้ บางแหล่งอ้างว่าพระนางทรงถูกอุดลมหายใจด้วยพระเขนย[130]

พระบรมศพของพระนางถูกนำไปเนเปิลส์และนำไปแสดงต่อหน้าสาธารณชนเป็นเวลาหลายวัน เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าสมเด็จพระราชินีนาถเสด็จสวรรคตแล้ว เนื่องจากสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 ได้บัพพาชนียกรรมพระนางโจวันนา จึงไม่สามารถประกอบพิธีทางศาสนาในโบสถ์ได้ พระบรมศพจึงถูกโยนลงไปในบ่อน้ำลึกของโบสถ์ซานตาคีอารา ราชอาณาจักรเนเปิลส์ถูกทิ้งให้ประสบกับสงครามสืบราชบัลลังก์ต่อเนื่องหลายทศวรรษ หลุยส์ที่ 1 แห่งอ็องฌูสามารถรักษาพรอว็องซ์และฟอร์คัลกีเยร์บนแผ่นดินใหญ่ได้ ฌัคแห่งบูซ์ หลานชายของฟิลิปป์แห่งตารันโตอ้างสิทธิ์ในราชรัฐอาเซียหลังจากพระนางถูกปลงจากราชบัลลังก์ในปีค.ศ. 1381

ในวรรณกรรม

[แก้]
A crowned women wearing a long veil sits on a throne at a window through which an old man watches him
จุลจิตรกรรมของสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาในต้นฉบับDe mulieribus claris ของโจวันนี บอกกัชโช ปัจจุบันอยู่ที่ หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส
จุลจิตรกรรมอีกชิ้นหนึ่งของสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาในต้นฉบับDe mulieribus claris ของโจวันนี บอกกัชโช ปัจจุบันอยู่ที่ หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส
  • โจวันนี บอกกัชโช เขียนชีวประวัติของสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 ในชุดชีวประวัติที่มีชื่อว่า "De Mulieribus Claris" (สตรีผู้มีชื่อเสียง) บอกกัซโซทุ่มเทเขียนชีวประวัติในส่วนของพระนางโจวันนา เพื่อต้องการทำลายความคิดที่บอกว่า พระนางโจวันนาไม่ใช่ผู้ปกครองที่ชอบธรรมของเนเปิลส์ ซึ่งบอกกัซโซประกาศว่าพระนางโจวันนาทรงสืบสายเลือดที่สูงส่ง โดยอ้างว่าสายเลือดของพระนางสามารถสืบไปได้ถึง "ดาร์ดานุส ผู้สร้างกรุงทรอย ซึ่งบิดาของเขาคือ เทพจูปิเตอร์" บอกกัซโซได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า พระนางโจวันนาเป็นพระประมุขที่ถูกต้องตามกฎหมายของเนเปิลส์โดยอภิปรายถึงลักษณะการที่พระนางได้ครองบัลลังก์เนเปิลส์ บอกกัซโซยังเปิดเผยความคิดส่วนตัวที่เขาสนับสนุนพระนางโจวันนาในช่วงความวุ่นวายและความขัดแย้งตลอดรัชสมัยของพระนาง ในมุมมองของบอกกัซโซมีคำถามว่าผู้หญิงสามารถครองราชย์ได้หรือจะมีผู้สูงศักดิ์คนอื่นที่เหมาะสมกว่าในการปกครองนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ตรงประเด็นสำหรับกรณีของโจวันนา บอกกัซโซ ยังได้กล่าวถึงความสามารถของพระนางในรัชสมัยที่ทำให้พระนางกลายเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ในสายตาของเขา เมื่อบอกกัซโซสรุปพื้นที่และแว่นแคว้นทั้งหมดที่พระนางโจวันนาปกครองอยู่ เขาบรรยายถึงเนเปิลส์ว่าเป็นเมืองที่น่าทึ่ง มีทุ่งนาที่อุดมสมบูรณ์ มีขุนนางที่ยิ่งใหญ่ และความมั่งคั่งมากมาย แต่เขายังเน้นย้ำว่า "จิตวิญญาณของพระนางโจวันนา [คือ] การปกครองอย่างเท่าเทียมกัน" นอกจากนี้ บอกกัซโซ อ้างว่าสาเหตุที่เนเปิลส์เป็นราชอาณาจักรที่รุ่งเรืองนั้นก็เพราะว่าไม่มีพวกราชวงศ์ฮังการีและผู้สนับสนุนฮังการีมาอยู่อาศัย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เขาไม่ชอบ บอกกัซโซอ้างว่า พระนางโจวันนา "โจมตีและกวาดล้างกลุ่มคนเหล่านั้นอย่างกล้าหาญ" ซึ่งคนพวกนั้นเข้ามายึดครองเนเปิลส์[131]
  • อาแล็กซ็องดร์ ดูว์มา เขียนนิยายโรแมนติกชื่อ โจนแห่งเนเปิลส์ (Joan of Naples) เป็นบทที่ 8 ของนิยายชุด Celebrated Crimes (ค.ศ.1839-40)[132]
  • เรื่องราวชีวิตที่เป็นนิยายของพระนางถูกเขียนในนวนิยายชื่อ Queen of Night โดย อลัน ซาเวจ[133]
  • László Passuth wrote a novel Napolyi Johanna (Joanna of Naples, 1968) about her life.[134]
  • ลาสโล ปัสซุท เขียนนิยายชื่อ Napolyi Johanna (โจวันนาแห่งเนเปิลส์, ค.ศ. 1968) เกี่ยวกับพระชนม์ชีพของพระนาง[135]
  • มาร์เซล บริอง เขียนหนังสือ La reine Jeanne ของสมาคมคนรักหนังสือแห่งพรอว็องซ์ ค.ศ. 1936 (หนังสือที่แสดงภาพแกะสลักโดยศิลปินชาวฝรั่งเศสที่เกิดในฮังการี ลาสโล บาร์ตา), ค.ศ. 1944 (ตีพิมพ์โดย โรแบร์ ลาฟ์ฟงต์)[136]
  • เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เฟรเดอริค มิสตัล เขียนบทละครในปีค.ศ. 1890 ชื่อ La Rèino Janoโดยบรรยายเรื่องราวของพระนางบนศักดินาของพระนางที่พรอว็องซ์ระหว่างมาจากเนเปิลส์

พระราชอิสริยยศ

[แก้]

พระนามเต็มของพระนางโจวันนา คือ โจวันนา ด้วยพระคุณของพระเจ้า สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเยรูซาเลมและซิชิลี ดัชเชสแห่งอาปูเลีย เจ้าหญิงแห่งคาปัว และเคานท์เตสแห่งพรอว็องซ์, ฟอลคาลกีเยร์และปีเยมอนเต[137]

อรรถาธิบาย

[แก้]
  1. ในความเป็นจริง โจวันนาทรงได้รับการสวมมงกุฎเป็น "สมเด็จพระราชินีนาถแห่งซิชิลี" แม้ว่าผู้สืบบัลลังก์ก่อนหน้าพระนางจะสูญเสียการควบคุมเกาะหลังสงครามพิธีศาสนายามสายัณห์ซิชิลี คำว่า "ราชอาณาจักรเนเปิลส์" ถูกใช้เพื่อให้เข้าใจง่ายตั้งแต่ ค.ศ. 1805 โดยประวัติศาสตร์นิพนธ์เพื่อบ่งชี้ว่า ทางตอนใต้ของคาบสมุทรอิตาลียังคงอยู่ภายใต้รัฐบาลอานเจวิน หรือ อ็องชู และขณะนั้นรู้จักในนามว่า ราชอาณาจักรซิชิลี ซิตราฟารุม หรือ อัลดิคัวเดลฟาโร (ฝั่งนี้ของฟาโร) หมายถึง จุดฟาโรซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเมสซีนา—.[2][3] อีกส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรที่มีเพียงเกาะซิชิลีนั้น เรียกว่า ราชอาณาจักรซิชิลี อัลตราฟารุม หรือ ดิลาเดลฟาโร (อีกฟากหนึ่งของฟาโร) ที่ถูกปกครองโดยราชวงศ์บาร์เซโลนา [3] รัฐบาลนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากราชวงศ์อ็องชู-เนเปิลส์ จนกระทั่งสนธิสัญญาวิลเลอนูเวอซึ่งได้รับการให้สัตยาบันจากสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาและพระเจ้าเฟเดริโกที่ 4 แห่งซิชิลี ในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1373 ณ เมืองอเวอร์ซา ต่อหน้าผู้แทนองค์พระสันตะปาปา คือ ฌ็อง เดอ รีวิลยง บิชอปแห่งซาร์ลา[4]
  2. ตรงกันข้ามกับทฤษฎีของเอมิล กีโยม เลโอนาร์ด พิจารณาว่า สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาเป็นผู้ไม่รู้หนังสือ เพราะพระนางทรงกล่าวถึงพระนางเองว่าทรงเป็น "สตรีที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาน้อย ดังนั้นจึงทรงถูกหลอกลวงอยู่บ่อยครั้ง" ในลายพระหัตถ์ที่ทรงมีไปถึงสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ในค.ศ. 1346[26] ตามคำกล่าวของมาริโอ กากลีโอเน มองว่าอาจเป็นการกล่าววลีเชิงโวหารเท่านั้น[25] แนนซี โกลด์สโตนได้โต้แย้งว่า ซานเชียแห่งมายอร์กา พระพันปีหลวง ยังเคยกล่าวถึงพระนางเองในลักษณะเดียวกันและสามารถเขียนหนังสือได้ ดังนั้นเธอจึงเชื่อว่า พระนางโจวันนาอาจจะทำเช่นเดียวกัน[27] ภาษาละตินที่เขียนหวัดๆ ในลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเป็นต้วบ่งชี้ว่า พระนางทรงเขียนลายพระหัตถ์ด้วยพระนางเอง[27]

เชิงอรรถอ้างอิง

[แก้]
  1. Kiesewetter, Andreas (2001). "GIOVANNA I d'Angiò, regina di Sicilia". Dizionario Biografico degli Italiani - Volume 55 (ภาษาอิตาลี). www.treccani.it. สืบค้นเมื่อ 5 October 2020.
  2. "Ministero per i Beni Culturali: Bolla dall'Archivio di Stato di Napoli-Regnum Siciliae citra Pharum." (PDF) (ภาษาอิตาลี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-01-23. สืบค้นเมื่อ 6 February 2022.
  3. 3.0 3.1 Grierson & Travaini 1998, p. 255.
  4. Grierson & Travaini 1998, p. 270.
  5. 5.0 5.1 Léonard 1954, p. 468.
  6. 6.0 6.1 Eugène Jarry: La mort de Jeanne II, reine de Jérusalem et de Sicile, en 1382., Bibliothèque de l'école des chartes, 1894, pp. 236-237.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 Goldstone 2009, p. 15.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Casteen 2015, p. 3.
  9. Goldstone 2009, pp. 17–18.
  10. 10.0 10.1 Casteen 2015, pp. 2–3.
  11. Casteen 2015, p. 9.
  12. Duran 2010, p. 76.
  13. 13.0 13.1 Monter 2012, p. 61.
  14. Goldstone 2009, pp. 38–39.
  15. 15.0 15.1 Goldstone 2009, pp. 40–41.
  16. 16.0 16.1 16.2 Lucherini 2013, p. 343.
  17. 17.0 17.1 17.2 Casteen 2015, pp. 9–10.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 Goldstone 2009, p. 40.
  19. Goldstone 2009, p. 41.
  20. 20.0 20.1 20.2 Lucherini 2013, p. 344.
  21. Casteen 2015, p. 10.
  22. Léonard 1932, p. 142, vol.1.
  23. Goldstone 2009, pp. 31–33.
  24. Goldstone 2009, p. 33.
  25. 25.0 25.1 25.2 Gaglione 2009, p. 335.
  26. Léonard 1932, p. 172, vol.1.
  27. 27.0 27.1 Goldstone 2009, pp. 321–322.
  28. da Gravina 1890, p. 7.
  29. Lucherini 2013, pp. 347–348.
  30. Goldstone 2009, p. 42.
  31. 31.0 31.1 31.2 31.3 Lucherini 2013, p. 350.
  32. Lucherini 2013, pp. 348–349.
  33. Goldstone 2009, p. 45.
  34. Goldstone 2009, pp. 63–64.
  35. Abulafia 2000, p. 508.
  36. Casteen 2015, pp. 32–33.
  37. Casteen 2015, p. 33.
  38. Lucherini 2013, pp. 350–351.
  39. 39.0 39.1 Duran 2010, p. 79.
  40. 40.0 40.1 40.2 40.3 Goldstone 2009, p. 65.
  41. 41.0 41.1 41.2 41.3 41.4 41.5 Casteen 2015, p. 34.
  42. Léonard 1932, p. 335, vol.1.
  43. 43.0 43.1 43.2 43.3 Goldstone 2009, p. 78.
  44. Casteen 2015, p. 37.
  45. 45.0 45.1 45.2 Goldstone 2009, p. 70.
  46. Goldstone 2009, pp. 71–72.
  47. 47.0 47.1 Goldstone 2009, p. 73.
  48. 48.0 48.1 48.2 48.3 Goldstone 2009, p. 74.
  49. Goldstone 2009, p. 75.
  50. Goldstone 2009, pp. 75–76.
  51. 51.0 51.1 51.2 Goldstone 2009, p. 76.
  52. 52.0 52.1 52.2 52.3 52.4 Goldstone 2009, p. 77.
  53. 53.0 53.1 Engel 2001, p. 159.
  54. Goldstone 2009, pp. 78–79.
  55. Goldstone 2009, p. 79.
  56. 56.0 56.1 Casteen 2015, p. 39.
  57. 57.0 57.1 57.2 Goldstone 2009, p. 89.
  58. 58.0 58.1 Casteen 2015, p. 38.
  59. Goldstone 2009, p. 85.
  60. Goldstone 2009, pp. 85–86.
  61. 61.0 61.1 Goldstone 2009, p. 88.
  62. Casteen 2015, p. 40.
  63. 63.0 63.1 63.2 Goldstone 2009, p. 95.
  64. Casteen 2015, pp. 39–40.
  65. Goldstone 2009, pp. 90–91.
  66. Goldstone 2009, p. 91.
  67. 67.0 67.1 67.2 Goldstone 2009, p. 92.
  68. Goldstone 2009, p. 93.
  69. Cox 1967, pp. 62–63.
  70. 70.0 70.1 70.2 70.3 70.4 70.5 70.6 Cox 1967, p. 63.
  71. 71.0 71.1 Casteen 2015, p. 41.
  72. 72.0 72.1 Goldstone 2009, p. 96.
  73. Goldstone 2009, pp. 96–97.
  74. 74.0 74.1 74.2 Goldstone 2009, p. 97.
  75. 75.0 75.1 Goldstone 2009, p. 98.
  76. 76.0 76.1 76.2 Casteen 2015, p. 42.
  77. Goldstone 2009, pp. 101–102.
  78. 78.0 78.1 78.2 78.3 78.4 78.5 Casteen 2015, p. 43.
  79. 79.0 79.1 Goldstone 2009, p. 102.
  80. Goldstone 2009, p. 100.
  81. Casteen 2015, p. 44.
  82. Léonard 1954, p. 347.
  83. Cox 1967, p. 63-68.
  84. 84.0 84.1 84.2 Casteen 2011, p. 193.
  85. Léonard 1932, p. 351, vol.1.
  86. Léonard 1932, p. 359, vol.1.
  87. Paul Masson (dir.), Raoul Busquet et Victor Louis Bourrilly: Encyclopédie départementale des Bouches-du-Rhône, vol. II: Antiquité et Moyen Âge, Marseille, Archives départementales des Bouches-du-Rhône, 1924, 966 p., chap. XVII (« L'ère des troubles : la reine Jeanne (1343-1382), établissement de la seconde maison d'Anjou : Louis Ier (1382-1384) »), p. 391.
  88. Paladilhe 1997, p. 78.
  89. Pál Engel: The Realm of St Stephen: A History of Medieval Hungary, 895–1526, I.B. Tauris Publishers, 2001, p. 160.
  90. László Solymosi, Adrienne Körmendi: "A középkori magyar állam virágzása és bukása, 1301–1506 [The Heyday and Fall of the Medieval Hungarian State, 1301–1526]" [in:] László Solymosi: Magyarország történeti kronológiája, I: a kezdetektől 1526-ig [Historical Chronology of Hungary, Volume I: From the Beginning to 1526] (in Hungarian). Akadémiai Kiadó, 1981, p. 210.
  91. Nancy Goldstone: The Lady Queen: The Notorious Reign of Joanna I, Queen of Naples, Jerusalem, and Sicily. Walker&Company, 2009, p. 151.
  92. Léonard 1932, p. 52, vol.2.
  93. Thierry Pécout: « Marseille et la reine Jeanne » dans Thierry Pécout (dir.), Martin Aurell, Marc Bouiron, Jean-Paul Boyer, Noël Coulet, Christian Maurel, Florian Mazel et Louis Stouff: Marseille au Moyen Âge, entre Provence et Méditerranée : Les horizons d'une ville portuaire, Méolans-Revel, Désiris, 2009, 927 p., p. 216.
  94. Paladilhe 1997, p. 87-89.
  95. Léonard 1932, p. 143-144, vol.2.
  96. Busquet 1978, p. 128.
  97. Casteen 2011, p. 194.
  98. 98.0 98.1 98.2 Samantha Kelly: The Cronaca Di Partenope: An Introduction to and Critical Edition of the First Vernacular History of Naples (c. 1350), 2005, p. 14.
  99. 99.0 99.1 Philip Grierson, Lucia Travaini: Medieval European Coinage: Volume 14, South Italy, Sicily, Sardinia: With a Catalogue of the Coins in the Fitzwilliam Museum, Cambridge, Volume 14, Part 3. Cambridge University Press, 1998, pp. 230, 511.
  100. Michael Jones, Rosamond McKitterick: The New Cambridge Medieval History: Volume 6, C.1300-c.1415. Cambridge University Press, 2000, p. 510.
  101. Léonard 1954, p. 362.
  102. D'Arcy Boulton, Jonathan Dacre: The Knights of the Crown: The Monarchical Orders of Knighthood in Later Medieval Europe, 1325–1520, Boydell Press, 2000, p. 214.
  103. Léonard 1954, p. 380.
  104. Busquet 1954, p. 193.
  105. Busquet 1954, p. 195.
  106. Busquet 1954, p. 196.
  107. Paladilhe 1997, p. 135.
  108. Casteen 2015, p. 130.
  109. Goldstone 2009, pp. 235–236.
  110. Paladilhe 1997, p. 138-139.
  111. Busquet 1954, p. 197.
  112. Jean-Marie Grandmaison: Tarascon cité du Roi René, Tarascon, 1977, 98 p., p. 5.
  113. Busquet 1954, p. 198.
  114. เขาเป็นครูและเป็นผู้บังคับบัญชาปราสาทของคาร์โล ดยุคแห่งคาลาเบรีย พระราชบิดาในสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนา และเขาได้เป็นเอกอัครราชทูตไปยังราชสำนักของกษัตริย์ฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1323 เพื่อสู่ขอมารีแห่งวาลัวส์มาอภิเษกกับคาร์โล
  115. Léonard 1954, p. 429.
  116. 116.0 116.1 Busquet 1954, p. 199.
  117. Léonard 1954, p. 448.
  118. Paladilhe 1997, p. 149.
  119. Léonard 1954, p. 452.
  120. Casteen 2015, p. 203.
  121. Busquet 1954, p. 200.
  122. Léonard 1954, p. 464.
  123. Léonard 1954, p. 465.
  124. Benincasa, Catherine. "Letters of Catherine Benincasa". Project Gutenberg. สืบค้นเมื่อ 31 October 2014.
  125. Benincasa, Catherine. "Letters of Catherine Benincasa". Projectgutenberg.org. สืบค้นเมื่อ 31 October 2014.
  126. Casteen 2011, p. 187.
  127. Paladilhe 1997, p. 168.
  128. Chronicon Siculum incerti authoris ab anno m 340 ad annum 1396: in forma diarij ex inedito codice Ottoboniano Vaticano, p. 45
  129. ที่นี่โจวันนี บอกกัชโชเข้าใจผิดว่าพระนางโจวันนาสวรรคตDe mulieribus claris, CVI. DE IOHANNA, IERUSALEM ET SYCILIE REGINA.
  130. "Joanna". Chestofbooks.com. สืบค้นเมื่อ 31 May 2013.
  131. Giovanni Boccaccio (2011). On famous women. แปลโดย Guido A. Guarino (2nd ed.). New York: Italica Press. pp. 248–249. ISBN 978-1-59910-266-5.
  132. Dumas, père, Alexandre (2015). Joan of Naples 1343 - 1382 (Celebrated Crimes Series). White Press. ISBN 9781473326637.
  133. Savage, Alan (1993). Queen of Night. Time Warner Books UK. ISBN 978-0316903097.
  134. Passuth, László (2010). Nápolyi Johanna. Könyvmolyképző Kiadó Kft. ISBN 9789632452777.
  135. Passuth, László (2010). Nápolyi Johanna. Könyvmolyképző Kiadó Kft. ISBN 9789632452777.
  136. Brion, Marcel (1944). La reine Jeanne. Robert Laffont (réédition numérique FeniXX). ASIN B07MDLBN1P.
  137. Pearson's Magazine, Volume 5, Issue 1, Page 25

อ้างอิง

[แก้]

อ่านเพิ่มเติม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 แห่งเนเปิลส์ ถัดไป
โรแบร์โต
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเนเปิลส์
ร่วมกับ
ลุยจิที่ 1 (1352-1362)

(ค.ศ. 1343 - ค.ศ. 1382)
คาร์โลที่ 3
เคานท์เตสแห่งพรอว็องส์และฟอร์คาลกีเยร์
ร่วมกับ
ลุยจิที่ 1 (1352-1362)

(ค.ศ. 1343 - ค.ศ. 1382)
หลุยส์ที่ 2
ฟิลิปโปที่ 2 เจ้าหญิงแห่งอาเซีย
(ค.ศ. 1373 - ค.ศ. 1381)
เกียโคโม