สมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทระแห่งเนปาล
สมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทระ | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระมหากษัตริย์แห่งเนปาล | |||||
ครั้งที่ 1 | 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 – 7 มกราคม พ.ศ. 2494 | ||||
ราชาภิเษก | 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 | ||||
ก่อนหน้า | สมเด็จพระเจ้าตริภูวัน | ||||
ถัดไป | สมเด็จพระเจ้าตริภูวัน | ||||
ครั้งที่ 2 | 4 มิถุนายน พ.ศ. 2544 – 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 | ||||
ราชาภิเษก | 4 มิถุนายน พ.ศ. 2544 | ||||
ก่อนหน้า | สมเด็จพระราชาธิบดีทีเปนทระ | ||||
ถัดไป | ราชาธิปไตยถูกล้มล้าง (คิริชา ประสาท โกอิราลา รักษาการ ประมุขแห่งรัฐ) (พ.ศ. 2551) | ||||
พระราชสมภพ | 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 กาฐมาณฑุ ราชอาณาจักรเนปาล | ||||
คู่อภิเษก | โกมล ราณา | ||||
พระราชบุตร | มกุฎราชกุมารปารัส เจ้าหญิงเปรรณา | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | ศาหะ | ||||
พระราชบิดา | สมเด็จพระเจ้ามเหนทระ | ||||
พระราชมารดา | เจ้าหญิงอินทรา มกุฎราชกุมารีแห่งเนปาล |
พระราชวงศ์แห่งเนปาล |
---|
พระราชสันตติวงศ์ในสมเด็จพระเจ้ามเหนทระ: พระราชสันตติวงศ์ในสมเด็จพระเจ้าตริภูวัน: เจ้าหญิงตรีโลกยา |
สมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทรวีรวิกรมศาหเทวะ (เนปาล: ज्ञानेन्द्र वीर बिक्रम शाहदेव; Jñānendra Vīra Vikrama Śāhadeva; ชญาเนนฺทฺร วีร พิกฺรม ศาหเทว) หรือ สมเด็จพระราชาธิบดีคยาเนนทรพีรพิกรมศาหเทว์ (Gyanendra Bir Bikram Shah Dev) เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรเนปาลในราชวงศ์ศาห์ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราชาธิบดีมเหนทระ ประสูติแต่เจ้าหญิงอินทระ มกุฎราชกุมารีแห่งเนปาล
พระราชประวัติ
[แก้]สมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทระเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ณ พระราชวังนารายัณหิตี ในกรุงกาฐมาณฑุ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองของมกุฎราชกุมารมเหนทระ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) กับ เจ้าหญิงอินทระ มกุฎราชกุมารีแห่งเนปาล (สกุลเดิม: ราณา) หลังประสูติกาลโหรหลวงได้ทำนายทายทักว่าพระราชโอรสที่ประสูติใหม่จะนำโชคร้ายสู่พระชนก ดังนั้นพระองค์เมื่อยังทรงพระเยาว์จึงถูกส่งไปให้พระอัยยิกาทรงอุปถัมภ์อำรุง[1]
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2493 สมเด็จพระเจ้าตริภูวันและมกุฎราชกุมารมเหนทระรวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นทรงลี้ภัยทางการเมืองไปยังประเทศอินเดีย โดยปล่อยให้เจ้าชายชญาเนนทระอยู่ลำพังพระองค์ ที่ต่อมาโมหัน ศัมเศร์ นายกรัฐมนตรีเนปาล ได้นำเจ้าชายเข้ามาในกาฐมาณฑุเพื่อตั้งเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนปีเดียวกันนั้นเอง และนายกรัฐมนตรียังให้งบประมาณ 300,000 รูปีเป็นรายได้ของพระองค์ต่อปี[2] แต่การขับไล่สมเด็จพระเจ้าตริภูวันของนายกรัฐมนตรีจากตระกูลราณานั้น ทำให้สถานะพระมหากษัตริย์ของชญาเนนทระมิได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ[3]
พระองค์เข้ารับการศึกษาที่วิทยาลัยเซนต์โจเซฟ เมืองดาร์จีลิง ประเทศอินเดียเช่นเดียวกับพระเชษฐา และสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยตริภูวัน กรุงกาฐมาณฑุ เมื่อปี พ.ศ. 2512[4]
ในปี พ.ศ. 2518 พระองค์เป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีพีเรนทระ พระเชษฐา และเป็นกรรมการขององค์การมเหนทระเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่ต่อมาคือองค์การอนุรักษ์แห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (National Trust for Nature Conservation) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จนกระทั่งพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2544[5]
สมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทระ อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีโกมล (สกุลเดิม: ราณา) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 มีพระราชโอรส 1 พระองค์ และพระราชธิดา 1 พระองค์ ได้แก่
- เจ้าชายปารัส มกุฎราชกุมารแห่งเนปาล[6] (ประสูติ: 30 ธันวาคม พ.ศ. 2514) เสกสมรสกับเจ้าหญิงหิมานี มกุฎราชกุมารีแห่งเนปาล มีพระบุตรสามพระองค์
- เจ้าหญิงเปรรณา (ประสูติ: 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521) เสกสมรสกับกุมาร ราช พหาทุร สิงห์ มีพระบุตรหนึ่งคน
เสด็จขึ้นครองราชย์
[แก้]พระองค์ได้เสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเนปาล 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 ถึงวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2494 ครั้งที่สองคือเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2544 เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย ทรงเป็นนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด หลังเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่พระราชวงศ์เนปาล ท่ามกลางข้อกังขาว่าพระองค์อาจมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ดังกล่าว
ทรงยึดอำนาจจากรัฐบาล
[แก้]ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 สมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทร์ได้ทรงยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลเนปาล โดยมีพระราชโองการให้รัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตยสิ้นสุดลง และทรงปกครองประเทศด้วยพระองค์เอง ทำให้ทรงต้องเผชิญกระแสต่อต้านจากในประเทศอย่างรุนแรง
ทรงถูกถอดถอน
[แก้]เมื่อมีการฟื้นฟูรัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งในเดือนเมษายน พ.ศ. 2549 พระองค์จึงทรงถูกลดพระราชอำนาจและพระราชสถานะลง[7] โดยก่อนการสละราชบัลลังก์ ก็ได้มีกระแสข่าวเกี่ยวการสละราชบัลลังก์และเสด็จไปประทับต่างประเทศ โดยจะยกราชสมบัติแก่เจ้าชายหริทเยนทรา พระราชนัดดา เนื่องจากทรงไม่พอพระทัยในตัวมกุฎราชกุมารมากนัก[8] และทรงสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เนื่องจากสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งเนปาล (Constituent Assembly of Nepal) ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศจากรูปแบบราชอาณาจักรมาเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2538 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Chowdhuri, Satyabrata Rai (27 July 2001). "Monarchy in Nepal". The Hindu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-30. สืบค้นเมื่อ 25 December 2007.
- ↑ "Homeward Bound". Time Magazine. 22 January 1951. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-30. สืบค้นเมื่อ 25 December 2007.
- ↑ Buyers, Christopher. "Nepal". Royal Ark. สืบค้นเมื่อ 25 December 2007.
- ↑ Staff writer (2006-04-20). "Troubled times saw king's rise". CNN.
- ↑ "Royal Biography of Nepal". MeroNepal.com.np. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-30. สืบค้นเมื่อ 25 December 2007.
- ↑ Royal Family Of Nepal - Shah dynasty
- ↑ ราชวงศ์เนปาลปัดกษัตริย์สละบัลลังก์ เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 11:49 น.
- ↑ ล้มราชวงศ์เนปาล ข่าวสด วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2550 02:01 น.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทระแห่งเนปาล
ก่อนหน้า | สมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทระแห่งเนปาล | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระเจ้าตริภูวัน | พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเนปาล (ครั้งที่ 1) (พ.ศ. 2493-2498) |
สมเด็จพระเจ้ามเหนทระ | ||
สมเด็จพระราชาธิบดีทิเปนทระ | พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเนปาล (ครั้งที่ 2) (พ.ศ. 2544-2551) |
ยกเลิกระบอบกษัตริย์ | ||
ยกเลิกระบอบกษัตริย์ | ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์เนปาล (28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551-ปัจจุบัน) |
ปัจจุบัน เจ้าชายปารัส มกุฎราชกุมารแห่งเนปาล |