สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูที่ 1 แห่งเอธิโอเปีย
สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูที่ 1 | |||||
---|---|---|---|---|---|
จักรพรรดินีนาถแห่งเอธิโอเปีย | |||||
ครองราชย์ | 27 กันยายน พ.ศ. 2459 – 2 เมษายน พ.ศ. 2473 | ||||
ก่อนหน้า | สมเด็จพระจักรพรรดิอิยาซูที่ 5 แห่งเอธิโอเปีย | ||||
ถัดไป | สมเด็จพระจักรพรรดิเฮลี เซลาสซีที่ 1 แห่งเอธิโอเปีย | ||||
พระราชสมภพ | 29 เมษายน พ.ศ. 2419 ณ อีเจอร์ซา โกโร,ฮาราร์, ประเทศเอธิโอเปีย | ||||
สวรรคต | 2 เมษายน พ.ศ. 2473 ประเทศเอธิโอเปีย (พระชนมายุ 53 พรรษา) | ||||
พระราชสวามี | อารายา เซลาสซี โยฮันเนส (พ.ศ. 2429 - พ.ศ. 2431) กักซา เวลเล (พ.ศ. 2443 - พ.ศ. 2473) | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | โซโลมอน | ||||
พระราชบิดา | สมเด็จพระจักรพรรดิเมเนลิกที่ 2 แห่งเอธิโอเปีย | ||||
พระราชมารดา | เวย์ซิโรอาเบชี |
สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูที่ 1 แห่งเอธิโอเปีย (Zewditu I, Zawditu หรือ Zauditu; อักษรกีเอส:ዘውዲቱ ; 29 เมษายน พ.ศ. 2419 - 2 เมษายน พ.ศ. 2473) ทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถแห่งเอธิโอเปียตั้งแต่พ.ศ. 2459 ถึงพ.ศ. 2473 ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐที่เป็นสตรีพระองค์แรกแห่งรัฐที่เป็นที่รู้จักอย่างสากลในทวีปแอฟริกาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 พระนางเป็นที่จดจำในฐานะทรงเป็นผู้ทำการต่อต้านการปฏิรูปของเจ้าชายตาฟารี มาคอนเนน (ต่อมาคือ สมเด็จพระจักรพรรดิเฮลี เซลาสซีที่ 1 แห่งเอธิโอเปีย) และพระนางทรงอุทิศเพื่อพระศาสนาอย่างแรงกล้า
ช่วงต้นพระชนม์ชีพ
[แก้]เจ้าหญิงประสูติในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2419 เจ้าหญิงได้รับการแบ็ฟติสท์ในพระนาม อัสคารา มาเรียม (แปลว่า "Askal of Mary" เป็นชื่อดอกไม้ชนิดหนึ่ง) แต่ทรงใช้พระนามจริงว่า เซาดีตู (ซึ่งมักถูกเข้าใจผิดว่ามีพระนามว่า จูดิธ [Judith] ในภาษาอังกฤษ) พระนางเป็นพระราชธิดาใน เนกัส (กษัตริย์) เมเนลิกแห่งชีวา ซึ่งทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิเมเนลิกที่ 2 แห่งเอธิโอเปียในอนาคต พระราชมารดาของพระนางคือ เวย์ซิโร (ท่านผู้หญิง) อาเบชี เป็นท่านผู้หญิงแห่งวอลโล และเป็นพระชายาของเนกัสเมเนลิกเพียงชั่วครู่ พระราชมารดาของพระนางทรงแยกทางกับเนกัสเมเนลิกเมื่อเจ้าหญิงเซาดีตูยังทรงพระเยาว์ และเจ้าหญิงทรงได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากพระราชบิดาและพระชายาอีกองค์หนึ่งของพระบิดาคือ บัฟฟานา หลังจากนั้นเนกัสเมเนลิกทรงอภิเษกสมรสกับเตย์ตู เบตุล แต่พระองค์ไม่มีพระโอรสธิดากับพระนางเตย์ตู เบย์ตุล เนกัสเมเนลิกมีพระโอรสธิดาซึ่งเป็นที่รู้จัก 3 พระองค์ได้แก่ เจ้าหญิงเซาดีตู, พระโอรส เจ้าชายอัสเฟา วอซเซน ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ และพระราชธิดาอีกพระองค์คือ เจ้าหญิงชีวา เร็กกา ซึ่งเป็นพระราชมารดาใน เจ้าชายลิจ อิยาซู ซึ่งในที่สุดเจ้าชายจะเป็นรัชทายาทของจักรพรรดิเมเนลิก อย่างไรก็ตามสมเด็จพระจักรพรรดิยังทรงสนิทสนมกับเจ้าหญิงเซาดีตู ซึ่งพระนางทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับพระมารดาเลี้ยงคือ สมเด็จพระจักรพรรดินีเตย์ตู และทรงเป็นส่วนหนึ่งของราชสำนักของพระราชบิดาในชั่วพระชนม์ชีพส่วนใหญ่ของพระนาง
ในปีพ.ศ. 2429 เจ้าหญิงเซาดีตูในพระชนมายุ 10 ชันษา ทรงอภิเษกสมรสกับ ราส อารายา เซลาสซี โยฮันเนส พระราชโอรสและทรงเป็นองค์รัชทายาทในสมเด็จพระจักรพรรดิโยฮันเนสที่ 4 แห่งเอธิโอเปีย เป็นการอภิเษกสมรสทางการเมืองซึ่งถูกจัดการเมื่อเนกัสเมเนลิกทรงยอมรับในพระราชอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดิโยฮันเนส ในที่สุดสมเด็จพระจักรพรรดิโยฮันเนสและเนกัสเมเนลิกทรงขัดแย้งกันอีกครั้ง ซึ่งเนกัสเมเนลิกทรงก่อการกบฏต่อต้านพระราชอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดิโยฮันเนส พระชนม์ชีพการอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงเซาดีตูไม่มีพระโอรสและพระธิดาร่วมกัน เนื่องจากยังทรงพระเยาว์เกินกว่าที่จะอภิเษกสมรส ถึงแม้ว่าพระสวามีของพระนางจะมีพระโอรสกับสตรีอื่น เมื่ออารายา เซลาสซีสิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ. 2431
พระนางทรงออกจากเมืองเมเคเลและทรงกลับไปยังราชสำนักของพระราชบิดาในชีวา แม้ว่าเนกัสเมเนลิกกับสมเด็จพระจักรพรรดิโยฮันเนสจะทรงเป็นอริต่อกัน เจ้าหญิงเซาดีตูทรงจัดการกับความขัดแย้งให้ทั้งสองพระองค์มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
เจ้าหญิงเซาดีตูทรงอภิเษกสมรสครั้งที่ 2 กับ ราส กักซา เวลเล กักซา เวลเลเป็นพระราชนัดดาในพระนางเตย์ตู พระมารดาเลี้ยงของเจ้าหญิงเซาดีตู เจ้าหญิงเซาดีตูทรงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระนางเตย์ตู แต่การสร้างความสัมพันธ์ทางตรงกับทั้งสองสามารถทำให้ความสัมพันธ์แนบแน่นขึ้นได้ ไม่มีพระชนม์ชีพในการสมรสของพระนางเมื่อครั้งก่อน การอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงเซาดีตูกับกักซา เวลเลคาดว่าเป็นไปอย่างมีความสุข
ก้าวขึ้นสู่พระราชอำนาจ
[แก้]จากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิโยฮันเนสที่ 4 ในสมรภูมิกัลลาบัต (หรือ "สมรภูมิเมเต็มบา") จากการที่ทรงสู้รบกับมุสลิมมะห์ดีแห่งซูดาน เนกัสเมเนลิกแห่งชีวาทรงรับพระราชอำนาจและทรงดำรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิเมเนลิกที่ 2 แห่งเอธิโอเปียในปีพ.ศ. 2432 เหตุการณ์ครั้งนี้ถ่อเป็นการฟื้นฟูสายสืบราชสันตติวงศ์บุรุษ ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิโยฮันเนสทรงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ผ่านสายสันตติวงศ์สตรี ในฐานะที่เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระจักรพรรดิเมเนลิกที่ 2 พระนางเซาดีตูจึงทรงสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถพระองค์สุดท้ายซึ่งเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์จากบุรุษแห่งราชวงศ์โซโลมอน เนื่องจากรัชทายาทของพระนางคือ สมเด็จพระจักรพรรดิเฮลี เซลาสซีที่ 1 แห่งเอธิโอเปีย ทรงสืบราชสันตติวงศ์ผ่านทางสตรี
สมเด็จพระจักรพรรดิเมเนลิก พระราชบิดาของพระนางทรงสถาปนาพระราชอำนาจสูงสุดภายในและพระเกียรติยศสู่ภายนอก โดยพระองค์ทรงทำการขยายอาณาเขตของจักรวรรดิและสถาปนาจักรวรรดิสมัยใหม่ได้สำเร็จในปีพ.ศ. 2441[1] นอกจากนี้สมเด็จพระจักรพรรดิเมเนลิกทรงมีชัยชนะเหนือกองทัพจักรวรรดินิยมอิตาลีภายใต้สมเด็จพระเจ้าอุมแบร์โตที่ 1 แห่งอิตาลีที่ทรงต้องการยึดเอธิโอเปียเป็นอาณานิคมซึ่งทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิมีพระเกียรติยศขจรขจายไกลจาก ชัยชนะในสงครามอิตาลี-เอธิโอเปียครั้งที่ 1 ณ สมรภูมิแอดวา ถือเป็นการรับรองอิสรภาพของเอธิโอเปียจากมหาอำนาจภายนอกและเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตด้วยตัวแทนในราชสำนักสมเด็จพระจักรพรรดิเมเนลิกและสามารถอธิบายเขตแดนกันชนกับอาณานิคมอื่น ๆ ได้[1]
สมเด็จพระจักรพรรดิเมเนลิกที่ 2 เสด็จสวรรคตในปีพ.ศ. 2456 เจ้าชายลิจ อิยาซู พระราชโอรสในเจ้าหญิงชีวา เร็กกา พระขนิษฐาต่างมารดาของเจ้าหญิงเซาดีตู ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นองค์รัชทายาทอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ. 2452 ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระจักรพรรดิอิยาซูที่ 5 แห่งเอธิโอเปียแต่ยังไม่ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษก สมเด็จพระจักรพรรดิอิยาซูทรงเกรงว่า เจ้าหญิงเซาดีตูผู้เป็นพระมาตุจฉาทรงทำการคุกคามพระราชอำนาจโดยชอบธรรมของพระองค์ พระองค์จึงมีพระราชโองการให้เนรเทศเจ้าหญิงเซาดีตูและพระสวามีออกไปอยู่ชนบท อีกทั้งสมเด็จพระจักรพรรดิอิยาซูยังทรงเนรเทศสมเด็จพระจักรพรรดินีเตย์ตู เบตุล ผู้เป็นพระอัยยิกาเลี้ยงออกจากพระราชวังหลวงและให้ไปประทับที่พระราชวังเก่าบนภูเขาเอ็นโตโต
จากความกลัวในความวุ่นวายที่อาจจะเกิด คณะรัฐมนตรีได้ตัดสินใจไม่ประกาศข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิเมเนลิกที่ 2 ต่อสาธารณะ เป็นผลให้สมเด็จพระจักรพรรดิอิยาซูที่ 5 ทรงไม่ได้รับการประกาศเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิอย่างเป็นทางการ หรือ ยังไม่ได้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ในเหตุการณ์ที่สมเด็จพระจักรพรรดิเมเนลิกสวรรคตและการที่สมเด็จพระจักรพรรดิอิยาซูทรงปกครองโดยพฤตินัยได้กลายเป็นที่รับรู้และยอมรับไปในวงกว้าง
ผู้มีอำนาจในศาสนจักร ลอร์ดผู้สำเร็จราชการ ราส เทสเซมา และคณะรัฐมนตรีเห็นด้วยกับแผนการพระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระจักรพรรดิอิยาซูว่าควรเลื่อนออกไปจนกว่าที่สมเด็จพระจักรพรรดิทรงเจริญพระชันษามากกว่านี้ อย่างไรก็ตามสมเด็จพระจักรพรรดิอิยาซูทรงต้องประสบกับปัญหาอย่างทันทีด้วยการที่ทรงปกครองแต่มิได้ทำการราชาภิเษก พระองค์ทรงถูกชิงชังโดยชนชั้นสูงจากการที่ทรงมีพฤติกรรมที่แปรปรวน และทางคริสตจักรสงสัยและกล่าวหาพระองค์ว่าทรงนิยมศาสนาอิสลาม หลังจากที่ทรงพบกับปัญหาในช่วงไม่กี่ปี สมเด็จพระจักรพรรดิอิยาซูทรงถูกรัฐประหารและทรงถูกถอดออกจากราชบัลลังก์ เจ้าหญิงเซาดีตูทรงถูกเรียกพระองค์กลับมายังเมืองหลวง และในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2459 ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาและคริสตจักรออร์ทอดอกซ์เอธิโอเปีย เทวาฮีโดได้ประกาศการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิเมเนลิกที่ 2 อย่างเป็นทางการและประกาศถอดถอนสมเด็จพระจักรพรรดิอิยาซูที่ 5 ออกจากราชบัลลังก์ตามพระราชประสงค์ของพระนางเซาดีตู[2] พระนางเซาดีตูทรงเฉลิมพระนามอย่างเป็นทางการว่า "ราชินีแห่งปวงราชันย์" ("Queen of Kings"; Negiste Negest) เป็นการเปลี่ยนแปลงจากตำแหน่งเดิมคือ "ราชาแห่งปวงราชันย์" ("King of Kings"; Nəgusä Nägäst)
ในขั้นต้น สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูไม่มีพระราชอำนาจในการปกครองด้วยพระนางเอง พระราชอำนาจทรงถูกแทนที่ด้วยพระญาติของพระนาง เจ้าชาย (ราส) ตาฟารี มาคอนเนน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และนายพลอาวุโสในสมัยพระราชบิดาของพระนาง ฟิตาวารี (ผู้บัญชาการทัพหน้า) ฮัปเต จิออร์จิส ดินักเด ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เจ้าชายราสตาฟารีได้กลายเป็นองค์รัชทายาทในสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตู เนื่องจากพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระนางเซาดีตูสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ทั้งสิ้น ในปีพ.ศ. 2471 หลังจากที่พระนางทรงพยายามถอดถอนเจ้าชายราสตาฟารีออกจากอำนาจแต่แผนการของพระนางล้มเหลว สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูทรงถูกบังคับให้สถาปนาพระญาติองค์นี้ขึ้นเป็น เนกัส (กษัตริย์)
รัชสมัย
[แก้]กลอุบายทางการเมือง
[แก้]ในขณะที่ชนชั้นสูงเอธิโอเปียซึ่งเป็นพวกอนุรักษนิยมโดยทั่วไปได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตู ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้แสดงความกระตือรือร้นน้อยเกี่ยวกับพระญาติของพระนางซึ่งมีมากมาย สมเด็จพระจักรพรรดินี พระพันปีหลวงเตย์ตู เบตุล
พระมารดาเลี้ยงของพระนางเซาดีตูและเป็นพระปิตุจฉาในพระสวามีของพระนาง ได้เสด็จออกจากเมืองหลวงหลังการสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิเมเนลิกที่ 2 แต่ยังทรงมีความคลางแคลงพระทัยจากการที่ทรงทำการเล่นพรรคเล่นพวกอย่างเห็นได้ชัดซึ่งพระนางทรงกระทำการเป็นประจำในรัชสมัยของอดีตพระราชสวามี จากความพยายามที่จะขจัดอิทธิพลของสมเด็จพระจักรพรรดินี พระพันปีหลวง กลุ่มชนชั้นสูงได้กระทำการแต่งตั้งพระนัดดาของพระนาง (เจ้าชาย[ราส] กักซา เวลเล พระสวามีของสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตู) ให้ไปเป็นข้าหลวงปกครองในที่ห่างไกลเพื่อขจัดเจ้าชายออกจากอิทธิพลในราชสำนัก การกระทำการครั้งนี้ถือเป็นการต่อต้านสมเด็จพระจักรพรรดินี พระพันปีหลวงเตย์ตู เบตุลแทนที่จะต่อต้านสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูซึ่งเชื่อว่าสร้างความขุ่นเคืองพระทัยสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูอย่างมาก สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูยังต้องทรงทนรับความรู้สึกผิดต่อการที่ทรงยึดพระราชบัลลังก์มาจากสมเด็จพระจักรพรรดิอิยาซู ซึ่งขณะนี้คือ เจ้าชายลิจ อิยาซู ผู้ซึ่งพระราชบิดาของพระนางมีพระราชประสงค์ให้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ ในขณะที่พระนางทรงเชื่อว่าการยึดอำนาจสมเด็จพระจักรพรรดิอิยาซูเป็นสิ่งที่จำเป็น พระนางทรงมีความเคารพในพระราชบิดาของพระนางอย่างมาก และไม่ทรงมีความสุขจากการที่ขัดพระราชประสงค์ของพระราชบิดา การที่ทรงต้องแยกจากพระราชสวามีและทรงรู้สึกผิดต่อการยึดราชบัลลังก์สมเด็จพระจักรพรรดิอิยาซูทำให้พระนางเซาดีตูไม่ทรงมีความสุขในขณะที่ดำรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถ เป็นที่น่าสนใจแม้ว่า อดีตสมเด็จพระจักรพรรดิอิยาซูทรงปฏิบัติต่อพระนางอย่างน่ารังเกียจ แต่พระนางทรงให้ความรักและเอ็นดูอดีตสมเด็จพระจักรพรรดิอิยาซู พระราชนัดดาองค์นี้ยิ่ง และมีการกล่าวกันว่าทรงร่ำไห้อย่างข่มขื่นพระราชหฤทัยเมื่อมีการกล่าวว่าพระนางได้กลายเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถในขณะที่พระราชนัดดาของพระนางทรงถูกบัพพาชนียกรรมจากการที่ทรงเลิกศรัทธาในศานาคริสต์ สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูทรงพยายามละออกจากความรับผิดชอบหลัก ๆ เหล่านี้อย่างมากขึ้นโดยทรงเข้าสู่โลกทางธรรมโดยการถือศีลอดและการสวดมนต์ จากการที่ทรงเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่ทรงได้รับการสืบทอดมา เจ้าชายราสตาฟารี มาคอนเนนจึงสามารถเข้ามามีอำนาจและอิทธิพลในราชสำนักได้
สงครามต่อต้านอดีตสมเด็จพระจักรพรรดิอิยาซู
[แก้]ช่วงต้นรัชกาลของสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูได้มีการทำสงครามต่อต้านเจ้าชายลิจ อิยาซู อดีตจักรพรรดิ ซึ่งทรงหลบหนีออกจากสถานที่คุมขัง ทรงกลับไปพบพระราชบิดาของพระองค์ เนกัส มิคาเอลแห่งวอลโล อดีตจักรพรรดิอิยาซูทรงเข้าร่วมเพื่อแย่งชิงราชบัลลังก์คืน แต่ทั้งสองพระองค์ไม่สามารถประสานกำลังได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่ประสงค์ อย่างไรก็ตามหลังจากได้รับชัยชนะในขั้นต้น พระราชบิดาของอดีตจักรพรรดิอิยาซูได้พ่ายแพ้และทรงถูกจับกุมในสมรภูมิเซกาเล องค์เนกัสทรงถูกล่ามโซ่ตรวนแห่ประจานรอบกรุงแอดดิส อบาบา ทรงต้องแบกหินสำนักผิดไว้บนพระอังสาก่อนที่จะทรงเข้าท้องพระโรงและทรงต้องจุมพิตพระบาทของสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูเพื่อวิงวอนขอพระเมตตา องค์รัชทายาทแห่ราชบัลลังก์ เจ้าชายราสตาฟารี มาคอนเนนไม่ทรงอยู่ทอดพระเนตรเหตุการณ์นี้เพราะทรงเห็นพระทัยพระชายา ผู้ซึ่งเป็นพระราชนัดดาในองค์เนกัสมิคาเอล หลังจากที่ทรงทราบเรื่องการพ่ายแพ้ของพระราชบิดา อดีตจักรพรรดิอิยาซูทรงหลบหนีไปยังแคว้นอะฟาร์ หลังจากหลายปีของการหลบหนี อดีตจักรพรรดิอิยาซูทรงถูกจับกุมโดยเดจาซมาซ (ผู้บัญชาการแห่งประตู) กักซา อารายา เซลาสซี พระราชโอรสในพระสวามีพระองค์แรกของสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูที่ประสูติแต่พระชายาพระองค์อื่น กักซา อารายาได้รับการแต่งตั้งเป็น ราส (เจ้าชาย) จากอดีตพระมารดาเลี้ยง และทรงมอบเจ้าหญิงเยชาชีว็อค ยิลมา พระราชนัดดาในเจ้าชายตาฟารี มาคอนเนนให้เป็นพระชายา เมื่ออดีตจักรพรรดิอิยาซูทรงถูกจับกุม สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูทรงหลั่งพระเนตรร้องขอให้คุมขังอดีตจักรพรรดิไว้ในตำหนักพิเศษในบริเวณพระราชวังที่ซึ่งพระนางสามารถเห็นสภาพความเป็นอยู่และอดีตจักรพรรดิควรได้รับข้อเสนอแนะทางศาสนา พระนางต้องพบว่าเจ้าชายราสตาฟารีและฟิตาวารี (ผู้บัญชาการทัพหน้า) ฮัปเต จิออร์จิส ดินักเดยืนยันที่จะไม่รับข้อเสนอของพระนาง พระนางทรงกระทำได้เพียงให้อดีตจักรพรรดิได้รับพระกระยาหารที่พิเศษและทรงโปรดปรานและทรงจัดหาฉลองพระองค์และให้ความหรูหราเล็ก ๆ แก่เจ้าชายลิจ อิยาซู ในสถานที่คุมขังที่เซลลาเล ในวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพของพระนาง ทรงกล่าวถึงพระราชนัดดาที่ถูกถอดถอนพระองค์นี้ว่า "เกตาเย (องค์พระผู้เป็นเจ้า) อิยาซู"
การก้าวขึ้นสู่อำนาจของราสตาฟารี
[แก้]รัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูซึ่งมีความก้าวหน้าที่แตกต่างในภาพรวมที่ค่อย ๆ กว้างขึ้นระหว่างพระนางและรัชทายาทที่ทรงแต่งตั้ง เจ้าชาย (ราส) ตาฟารี มาคอนเนน เจ้าชายตาฟารีทรงเป็นนักปฏิรูป ทรงเชื่อว่าเอธิโอเปียจำต้องเปิดประเทศสู่โลกเพื่อให้อยู่รอดได้ ในเรื่องนี้พระองค์ได้รับการสนับสนุนจากขุนนางหนุ่มมากมาย อย่างไรก็ตามสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูทรงเป็นนักอนุรักษนิยมทรเชื่อในการปกปักรักษาวัฒนธรรมประเพณีเอธิโอเปีย พระนางทรงได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากคริสตจักรในความเชื่อนี้ แต่สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูทรงเริ่มถอนพระองค์จากบทบาททางการเมืองอย่างช้า ๆ และทรงปล่อยให้อำนาจของเจ้าชายตาฟารีมีมากขึ้นและมากขึ้น ภายใต้การบริหารราชการของเจ้าชายตาฟารี ทรงนำเอธิโอเปียเข้าร่วมสันนิบาตชาติและทรงประกาศยกเลิกระบบทาส สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูทรงเอาพระทัยใส่ในกิจกรรมทางศาสนา ดังเช่น ทรงสร้างโบสถ์มากมาย
ในปีพ.ศ. 2471 เกิดการลุกฮือเล็กน้อยเพื่อต่อต้านการปฏิรูปของเจ้าชายตาฟารี ในการรัฐประหารเอธิโอเปียปีพ.ศ. 2471โดยฝ่ายสนับสนุนสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตู แต่ไม่สำเร็จ สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูทรงถูกบังคับให้ยอมรับเจ้าชายตาฟารี ผู้ซึ่งตอนนี้สามารถควบคุมรัฐบาลส่วนใหญ่ได้แล้ว ด้วยตำแหน่ง เนกัส (กษัตริย์) ในขณะที่เนกัสตาฟารีทรงอยู่ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตู (ซึ่งตอนนี้ยังทรงเป็น Negiste Negest, "ราชินีแห่งปวงราชันย์" หรือ สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถ) ตอนนี้เนกัสตาฟารีสามารถปกครองเอธิโอเปียอย่างมีประสิทธิภาพ มีการพยายามหลายครั้งเพื่อมีอำนาจแทนที่พระองค์ แต่ทั้งหมดไม่ประสบความสำเร็จ ในปีพ.ศ. 2473 พระสวามีของสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตู เจ้าชาย (ราส) กักซา เวลเลทรงก่อกบฏในกบฏกักซา เวลเลเพื่อต่อต้านเนกัสตาฟารีที่เบเกมเดอร์เพื่อยุติการสำเร็จราชการของเนกัสตาฟารีทั้ง ๆ ที่พระมเหสีทรงทั้งอ้อนวอนและมีพระราชโองการให้พระองค์หยุดต่อต้าน แต่เจ้าชายกักซา เวลเลทรงพ่ายแพ้และสิ้นพระชนม์ในสนามรบโดยกองทัพปฏิรูปเอธิโอเปียในสมรภูมิอันเชมในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2473
เสด็จสวรรคต กรณีเหตุสวรรคต และการสืบราชบัลลังก์
[แก้]ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2473 หลังจากเจ้าชายกักซา เวลเลสิ้นพระชนม์ในสนามรบ สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน เป็นที่รู้กันในทุกวันนี้ว่าทรงพระประชวรด้วยโรคเบาหวานและทรงพระประชวนหนักด้วยไข้รากสาดน้อยแต่ในระดับสากลไม่เห็นด้วยกับสาเหตุการเสด็จสวรรคตของพระนาง ตามประวัติศาสตร์ที่เป็นที่นิยมบันทึกว่า สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูเสด็จสวรรคตจากพระอาการช็อกและความเสียพระทัยที่ทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระราชสวามี แต่ตามบันทึกอื่น ๆ โต้แย้งบันทึกนี้ ซึ่งบันทึกว่า สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูไม่ทรงได้รับทราบผลการสู้รบก่อนที่จะเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน จากหลักฐานของคณะทูตในกรุงแอดดิส อบาบารายงานว่าในช่วงนั้นสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูซึ่งทรงพระประชวรทรงแช่พระองค์ในภาชนะขนาดใหญ่ที่ใส่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เย็นในการรักษาพระอาการประชวรของพระนางแต่พระวรกายของพระนางช็อกและและพระนางเสด็จสวรรคตหลังจากนั้นไม่นาน[3] ช่วงเวลาการเสด็จสวรรคตของพระนางเกิดในทันทีหลังจากข่าวผลการสู้รบได้มาถึงในกรุงแอดดิส อบาบาได้ก่อให้เกิดการพิจารณาว่าเป็นสาเหตุที่พระนางเสด็จสวรรคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการวิพากษ์วิจารณ์องค์รัชทายาทของพระนางโดยฝ่ายอนุรักษนิยม สมเด็จพระจักรพรรดิเฮลี เซลาสซีทรงถูกกล่าวหาว่าเมื่อการจลาจลถูกปราบปรามอย่างเด็ดขาด พระองค์หรือผู้สนับสนุนพระองค์จะรู้สึกปลอดภัยยิ่งขึ้นในการวางยาพิษปลงพระชนม์สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตู การพิจารณาทฤษฎีการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
เนกัสตาฟารีได้สืบราชบัลลังก์ต่อจากการสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตู ในพระนาม สมเด็จพระจักรพรรดิเฮลี เซลาสซีที่ 1 แห่งเอธิโอเปีย
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Zewde, Bahru. A history of Ethiopia: 1855-1991. 2nd ed. Eastern African studies. 2001
- ↑ Marcus, Menelik II, pp. 278–281
- ↑ แม่แบบ:Ref Ethiopia
อ้างอิง
[แก้]- Biography
- Ethiopian Treasures – Empress Zawditu, Addis Ababa – Ethiopia เก็บถาวร 2016-05-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ก่อนหน้า | สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเซาดีตูที่ 1 แห่งเอธิโอเปีย | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระจักรพรรดิอิยาซูที่ 5 แห่งเอธิโอเปีย | สมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งเอธิโอเปีย (ราชวงศ์โซโลมอน) (27 กันยายน พ.ศ. 2459 – 2 เมษายน พ.ศ. 2473) |
สมเด็จพระจักรพรรดิเฮลี เซลาสซีที่ 1 แห่งเอธิโอเปีย |